​ชาวประมงกับภรรยา : หากใจเรารู้จักพอ ทุกอย่างก็จบ

 

ชาวประมงกับภรรยา : หากใจเรารู้จักพอ ทุกอย่างก็จบ 
 
ไม่แน่ใจว่า... นักอ่านของเราเคยได้ยินชื่อ ‘ชาวประมงกับภรรยา’ มากันบ้างไหมคะ ชื่อภาษาอังกฤษของเทพนิยายเรื่องนี้คือ The Fisherman and His Wife (ตรงตัวมากๆ) เป็นเรื่องราวของชาวประมงผู้ใจดี วันหนึ่งเขาออกไปจับปลา และบังเอิญจับได้ปลาพูดได้ ปลาขอชีวิตไว้ ชาวประมงก็เลยยอมปล่อยปลาไป และหลังจากนั้น ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนแปลงไป มีเรื่องแปลกใหม่เข้ามามากมาย  
 
ชาวประมงกับภรรยาเป็นผลงานการรวบรวมของ พี่น้องกริมม์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1812 และอย่างที่เรารู้กันว่า พี่น้องกริมม์ไม่ได้เขียนเรื่องขึ้นมาใหม่ พวกเขาเพียงแต่รวบรวมเรื่องเล่าต่างๆ ที่ได้ยินมารวมกันเท่านั้นเอง ชาวประมงกับภรรยาก็เป็นหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม นิทานเรื่องนี้มีจุดเด่นตรงที่พี่น้องกริมม์เขียนไว้เป็นกลอน และเป็นภาษาเยอรมัน ต่อมาภายหลัง เมื่อได้รับการเลือกไปแปลเป็นภาษาต่างๆ ผู้แปลก็ยังคงรักษาจุดเด่นในเรื่องนี้ไว้ครบถ้วน ด้วยการถอดออกมาเป็นคำกลอนภาษาอังกฤษ
 
ชาวประมงและเจ้าชายปลาพูดได้
 
Mandje, Mandje, Timpe Te!
Buttje, Buttje, in der See,
Meine Fru de Ilsebill
will nich so as if wol will. 
ตัวอย่างคำกลอนภาษาเยอรมันที่พี่น้องกริมม์ได้รวบรวมไว้  
 
Flounder, flounder, in the sea,
come, I pray thee, here to me,
for my wife, good Ilsabil,
wills not as I would have her will
ตัวอย่างคำกลอนภาษาอังกฤษที่ถูกถอดความจากภาษาเยอรมัน 
 
เรื่องราวมีอยู่ว่า ชาวประมงและภรรยาอาศัยอยู่ในกระท่อมริมทะเล ทั้งคู่มีฐานะยากจนและมีอาหารหลักคือปลาที่ชาวประมงจับมาได้ อยู่มาวันหนึ่ง ชาวประมงกลับโชคร้าย ตกปลาไม่ได้ติดต่อกันหลายวัน จนกระทั่ง โชคมาถึงเขา เมื่อจับปลาพูดได้ได้ และปลาตัวนั้นบอกกับเขาว่า ตัวเองเป็นเจ้าชาย ชาวประมงสงสารก็เลยปล่อยปลาไป และกลับบ้านมือเปล่า 
 
ภรรยาของชาวประมงโกรธมากที่เขาทำแบบนั้น และเมื่อซักไซ้ไล่เลียงกันแล้ว ชาวประมงก็เล่าความจริงให้ภรรยาฟัง และนั่นคือความผิดพลาดที่รุนแรงที่สุด เมื่อภรรยาจอมละโมบของเขา คิดแผนการขึ้นมาได้ (บางทีนางอาจจะอ่านเทพนิยายมากเกินไป) และขอให้ชาวประมงกลับไปขอพรจากปลาที่อ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าชาย โดยคำขอเบื้องต้นที่ภรรยาต้องการก็คือ กระท่อมใหม่ ซึ่งฟังแล้วก็... มีเหตุมีผลดี วันต่อมา ชาวประมงก็แล่นเรือออกไป และร้องเรียกเจ้าชายปลา ซึ่งโผล่มา และยอมทำตามคำขอโดยไม่โต้แย้ง เมื่อชาวประมงกลับมา ก็พบกระท่อมหลังใหม่ พร้อมด้วยแม่ไก่และเป็ด  
 
แต่มันก็ไม่พอ... 
 
ชาวประมงปล่อยเจ้าชายปลาลงทะเล
 
ชาวประมงและเจ้าชายปลา
 
ชาวประมงขอพรจากเจ้าชายปลา
 
ชาวประมงมีความสุขดี และใช้ชีวิตแบบเดิมได้โดยไม่มีปัญหา แต่ภรรยาของเขานี่แหละ ที่ไม่รู้จักพอ นางเริ่มรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างด้อยค่าเกินไป ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา นางก็ทนอยู่ในกระท่อมหลังใหม่ไม่ไหวและรบเร้าให้ชาวประมงออกไปขอปราสาทจากเจ้าชายปลา สามีก็ทำตาม และเจ้าชายปลาก็มอบปราสาทให้ทั้งคู่ตามคำขอ เรื่องก็หมุนวนไปเช่นนี้ ภรรยาอยู่ในปราสาทมาสักพักก็ไม่พอใจอีก นางเรียกร้องขอเป็นราชินี เมื่อได้มาก็ยังไม่พอใจ นางยังเรียกร้องต่อไม่จบไม่สิ้น จนกระทั่ง ชาวประมงได้คิด และได้ขอสิ่งสุดท้ายจากเจ้าชายปลานั่นคือ ขอให้ภรรยาของตนมีความสุข เจ้าชายปลามอบพรให้ตามคำขอนั่นคือ ริบทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนไป ทั้งคู่กลับมาอยู่ในกระท่อมเก่าๆ เช่นเดิม แต่ก็น่าแปลก เพราะภรรยาเปลี่ยนแปลงไป และกลายเป็นคนมีความสุข  
 
เมื่ออ่านเรื่องย่อสั้นๆ จบแล้ว เราคนอ่านตระหนักได้ดีว่า นิทานเรื่องนี้พูดถึงอะไร ความทะเยอทะยานที่ไม่พอดีนั่นเอง ภรรยาผู้ไม่รู้จักพอและเรียกร้องไม่จบไม่สิ้น นางไม่เคยมีความสุข ก็เพราะนางไม่พอ ไม่ว่านางจะได้อะไรมา นางก็ยังมองว่ามันต่ำต้อยด้อยค่า และไม่พออยู่ร่ำไป ภรรยาของชาวประมงคือตัวอย่างของคนจำนวนมากในยุคปัจจุบัน ที่หาเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ คนพวกนี้ เป็นคนที่อยู่ด้วยยากที่สุด เพราะเขาหรือเธอจะเรียกร้องไม่รู้จักจบ ทั้งเงินทอง ข้าวของ และทุกสิ่งทุกอย่าง ขอเพียงแค่เรียกร้องได้ เขาก็จะไม่จบ และแน่นอนว่า... ความสุขจะไม่มีวันมาถึงเขาได้เลย ไม่ว่าเราจะให้เขาเท่าไหร่ เขาก็จะเรียกร้องจากเราไปเรื่อยๆ เหมือนคนที่เรียกกันว่า ถมไม่เต็ม นั่นเอง  
 
นอกจากเรื่องของความทะเยอทะยานไม่รู้จักพอแล้ว อีกเรื่องที่เราเห็นได้ชัดคือ ความเห่อเหิมและกระหายอำนาจ จากคนสมถะยากจน เมื่อได้รับอำนาจมาไว้ในมือ เมื่อรู้ว่า... สามารถขออะไรก็ได้ เมื่อได้อำนาจวิเศษมาไว้ในมือ ภรรยาของชาวประมงก็รบเร้าไม่จบไม่สิ้น และเรียกร้องไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆ ก่อนหน้า นางก็เป็นคนหญิงยากจนคนหนึ่งเท่านั้นเอง มันแสดงให้เห็นว่า คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อเจอกับสิ่งยั่วใจ นิทานเรื่องนี้ยังแสดงให้เราเห็นถึงความแตกต่างของคนสองคน เพราะตัวชาวประมงนั้น ไม่เคยคิดเปลี่ยนตัวเองเลย ตรงกันข้ามกับภรรยา ซึ่งเปลี่ยนตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เราก็รู้แล้วสินะว่าคนมีหลายประเภท และอำนาจนั้น สามารถสั่นคลอนจิตใจคนได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังพอจะมีคนที่ไม่สนใจเรื่องอำนาจอยู่บ้าง (แม้จะน้อยมากๆ) แต่ชาวประมงนั้นก็ใช่ว่าจะไร้ข้อเสียเสียอย่างเดียว เพราะเขาเองก็กลายเป็นไม่เอาอะไรเลยจนกลายเป็นคนประเภทไม่รู้จักคิด ดูสิ เขาตามใจภรรยาทุกอย่าง ภรรยาบอกให้ไปขออะไรเจ้าชายปลา เขาก็ไป แทนที่จะห้ามปรามภรรยา ขัดขวางไม่ให้นางใช้อำนาจในทางไม่ถูกต้อง เขากลับปล่อยให้นางเอาเปรียบเขาและเจ้าชายปลาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายต่อหลายหน คนอย่างชาวประมงก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนดี เพราะเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภรรยาเห่อเหิมและบ้าอำนาจเช่นกัน ก็ดูสิรู้ทั้งรู้ว่านางทำผิด ก็ยังตามใจนางอยู่ได้ น่าเอือมระอาจริงๆ  
 
อย่างไรก็ตาม นิทานเรื่องนี้ จบลงด้วยดี เมื่อชาวประมงตระหนักถึงความจริงขึ้นมาได้ นั่นคือ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ใจ เขาคงดูจากตัวเองนั่นเอง และเขาก็ได้แบ่งปันสิ่งดีๆ นี้ให้ภรรยาของตนด้วย ไม่ว่าเรื่องดำเนินมาอย่างไร ตอนจบมันได้ให้ข้อคิดกับเราว่า... ถ้าใจเรารู้จักพอ เราก็จะมีความสุข 
 
แล้ววันนี้ เรารู้จักพอแล้วหรือยัง...?
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
https://www.pitt.edu/~dash/grimm019.html
https://www.tor.com/2017/07/06/hubris-and-poetry-the-fisherman-and-his-wife/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Fisherman_and_His_Wife 
https://germanstories.vcu.edu/grimm/fischer_e.html 
https://www.duchas.ie/en/cbes/4602676/4594540/4614984?ChapterID=4602676
 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น