จูนิเปอร์ทรี : เทพนิยายที่พูดถึงการทำร้ายร่างกายในครอบครัว


จูนิเปอร์ทรี : เทพนิยายที่พูดถึงการทำร้ายร่างกายในครอบครัว 
 
สวัสดีค่ะ นักเขียนนักอ่านทุกคน ถ้าใครชอบอ่านเทพนิยาย น่าจะเคยได้ยินชื่อเรื่องจูนิเปอร์ทรีมาบ้างไม่มากก็น้อย เทพนิยายเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในผลงานสุดดาร์กของพี่น้องกริมม์ และแม้จะไม่ค่อยแพร่หลายเหมือนเรื่องอื่นๆ เช่น ซินเดอเรลล่า เจ้าหญิงนิทรา แต่ถ้าได้อ่านเนื้อหาแล้ว เชื่อว่าคนอ่านจะสัมผัสได้ว่า มีเสน่ห์แบบแปลกประหลาดแฝงอยู่ในเนื้อหาของมัน อ่านแล้วก็ชวนขนลุกอยู่ไม่น้อย   
 
แม่เลี้ยงฆ่าลูกชายตายและเอาศพไปต้มสตูว์ให้พ่อกิน
 
ฉันโดนแม่เลี้ยงฆ่า และโดนพ่อกิน 
เรื่องย่อมีอยู่ว่า สามีภรรยาคู่หนึ่งรักกันมาก วันหนึ่งภรรยาตั้งครรภ์ แต่เสียชีวิตหลังคลอดบุตร ก่อนตาย นางขอร้องให้สามีฝังศพของนางไว้ที่ต้นจูนิเปอร์นั้น หลังจากนางตายไม่นาน สามีแต่งงานใหม่ กับภรรยาซึ่งมีลูกติดมาด้วยคนหนึ่ง แน่นอนว่าภรรยาใหม่ไม่ชอบลูกเลี้ยงของนาง และเฝ้าคิดหาทางที่จะกำจัดเขาไปให้พ้น เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างตกเป็นของลูกสาวของนาง  
ต่อมาวันหนึ่ง นางคิดแผนสุดโหดได้ เมื่อลูกสาวของนางร้องขอแอปเปิ้ลที่อยู่ในหีบ นางสัญญากับลูกสาวว่าจะยกแอปเปิ้ลให้ลูกเลี้ยงด้วย โดยให้เขายื่นหน้าเข้าไปในหีบ และเมื่อเขาทำเช่นนั้น นางก็กระแทกฝาหีบปิดใส่จนเด็กชายถึงแก่ความตาย ด้วยความกลัวว่าสามีจะไม่พอใจ นางนำผ้าเช็ดหน้าสีขาวมาผูกรอบคอของเด็กชาย และจับร่างของเขาวางไว้บนเก้าอี้ พร้อมยัดแอปเปิ้ลไว้ในมือ เมื่อเด็กหญิงเห็นพี่ชาย ก็พยายามพูดคุยด้วย แต่แน่นอนว่าศพไม่อาจตอบคำถามได้ เด็กหญิงทนไม่ไหว ก็เผลอยกมือขึ้นตบหน้าพี่ชาย ทันทีที่เธอทำเช่นนั้น ศีรษะของเขาก็ร่วงหล่นลงมา เด็กหญิงวิ่งร้องไห้ไปหามารดา ผู้ซึ่งได้โอกาส รีบโยนความผิดให้ลูกน้อยว่าเป็นคนทำให้พี่ชายตาย แม่เลี้ยงใจร้าย อำพรางศพของเด็กชายด้วยการนำมาทำสตูว์ให้ผู้เป็นสามีกิน อันเป็นที่มาของบทกลอนแสนเศร้า
 
"My mother she killed me,
My father he ate me,
My sister, little Marlinchen,
Gathered together all my bones,
Tied them in a silken handkerchief,
Laid them beneath the juniper-tree,
Kywitt, kywitt, what a beautiful bird am I!"
 
ซึ่งหมายถึง แม่ (เลี้ยง) ฆ่าฉัน พ่อกินฉัน... และเนื้อหาต่อมา ก็เป็นไปตามบทกลอนที่เราเคยได้ยินกัน สาวน้อยได้นำกระดูกที่เหลือจากมื้ออาหารห่อผ้าเช็ดหน้า แล้วไปฝังไว้ใต้ต้นจูนิเปอร์ทรี ทันใดนั้นเอง นกตัวหนึ่งบินไปทั่ว และร้องเพลงตามบทกลอนดังกล่าวให้ได้ยินไปทั้งเมือง ช่างทอง ช่างทำรองเท้า และเจ้าของโรงโม่ได้ยินเสียงร้องของนกน้อย ก็ได้มอบสร้อยทอง, รองเท้าแดง และโม่หินให้เป็นการตอบแทน นกน้อยบินกลับบ้าน และมอบสร้อยทองกับรองเท้าแดงให้ผู้เป็นพ่อกับน้องสาว แต่เมื่อแม่เลี้ยงก้าวออกจากบ้าน มันก็ทิ้งโม่หินลงบนศีรษะของนาง จนถึงแก่ความตาย ทันใดนั้นเอง เปลวไฟก็ลุกขึ้น และควันไฟก็กระจายไปทั่ว เมื่อทุกอย่างสงบลง เด็กชายก็ยืนอยู่ตรงนั้น และพวกเขาก็กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
 
น้องสาวเอาศพพี่ชายไปฝังใต้ต้นจูนิเปอร์
 
แม่เลี้ยงหลอกลูกสาว ให้เชื่อว่าตัวเองเป็นคนฆ่าพี่ชาย
 
พี่ชายโดนฆ่าตาย
 
นักวิจารณ์เชื่อว่า จูนิเปอร์ทรี น่าจะดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของจิตรกรคนหนึ่ง 
อย่างที่บอกไปว่า เทพนิยายเรื่องนี้ เป็นผลงานของพี่น้องกริมม์ เนื้อหาต้นฉบับนั้นสั้นมากๆ แค่ราวๆ สองหน้าเท่านั้น พี่น้องกริมม์ให้เครดิตแก่จิตรกรที่ชื่อว่า ฟิลลิป ออตโต รันช์ (ค.ศ. 1777-1810) ว่าเป็นคนถ่ายทอดเรื่องนี้ให้พวกเขาฟัง ซึ่งก็สอดคล้องกันดี เพราะนักประวัติศาสตร์ / นักวิจารณ์ต่างก็เชื่อว่า นิยายเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เล่าขานกันปากต่อปาก และแทบไม่มีบันทึกไว้ให้เห็น บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องที่เกิดจากแรงบันดาลใจของจิตรกรรันช์ก็เป็นได้ 
 
รันช์คนนี้ เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง ความที่สุขภาพไม่แข็งแรง ทำให้ไม่ได้เข้าโรงเรียน แต่ว่าเป็นคนมีพรสวรรค์ด้านงานศิลปะและงานประดิษฐ์ พี่ชายเห็นพรสวรรค์นี้ก็เลยจ่ายค่าเรียนศิลปะที่โคเปนเฮเกน อคาเดมี่ให้ น่าเสียดายที่รันช์ป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิตเสียก่อน ทำให้หมดโอกาสจะพัฒนาพรสวรรค์ไปได้ไกลกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนตาย รันช์วาดภาพไว้เยอะมาก ล้วนแต่เป็นภาพที่เชื่อมโยงกับดนตรี เชื่อกันว่า ภาพเขียนของรันช์ ถ่ายทอดผลงานเรื่องที่เขาเล่าให้พี่น้องกริมม์ฟัง และเรื่องนั้นก็คือ “จูนิเปอร์ทรี” นั่นเอง 
 
แน่นอนความพีคที่สุดของเรื่องคือ เมื่อแม่เลี้ยงฆ่าเด็กน้อยซึ่งเป็นพี่ชายแล้ว ก็พยายามป้ายความผิดให้กับน้องสาว ทำให้น้องสาวคิดว่าตัวเองเป็นคนฆ่าพี่ชาย แล้วเด็กหญิงตัวเล็กๆ จะไปรู้เรื่องอะไร นอกจากกลัวแทบบ้า จนต้องหลงเชื่อคำขู่ของแม่เลี้ยง และทำตามคำขอของแม่เลี้ยง นั่นคือ เอาศพพี่ชายไปทำสตูว์ให้พ่อกิน อ่านแล้วชวนให้ขนลุก... อ่า แปลว่าพ่อกินศพของลูกชายเข้าไปหรือนี่ พ่อต้องหิวจัดขนาดไหน ถึงแยกแยะเนื้อไม่ได้เลย แถมยังกินอย่างเอร็ดอร่อยเสียด้วย เนื้อเพลงก็ช่างน่าสยดสยอง ตั้งแต่ประโยคแรก "My mother she killed me และ My father he ate me” แม่เลี้ยงฆ่าฉัน และพ่อก็กินฉันเข้าไป... นี่เป็นเทพนิยายหรือแท้จริงแล้ว เป็นฉากในหนังสยองขวัญกันแน่ ถ้าอ่านให้เด็กๆ ฟังก่อนนอน มันจะปลูกฝังอะไรลงในจิตใจบ้าง 
 
แต่... สิ่งหนึ่งที่เทพนิยายเรื่องนี้สื่อสารอย่างชัดเจนก็คือ การทารุณเด็ก อย่างที่เราเคยได้อ่านข่าวกันในทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าโลกจะสวยงามและทุกครอบครัวจะอยู่กันอย่างผาสุกไม่ใช่หรือ มีหลายบ้าน ที่เด็กๆ ถูกทารุณกรรมอยู่เงียบๆ โดยไม่มีการปริปากให้ใครรู้ เราเองได้ยินข่าวเรื่องพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง หรือแม้แต่พ่อแม่ที่แท้จริง ข่มขืนหรือทำร้ายทุบตีลูกกันอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในหลายๆ หน และจูนิเปอร์ทรีก็คือตัวแทนของเรื่องราวเหล่านั้น เมื่อแม่เลี้ยงเลือกที่จะทารุณกรรมเด็ก ซึ่งอยู่ในฐานะลูกเลี้ยงของนางเอง และเลือกที่จะปิดข่าวด้วยการนำศพเด็กไปปรุงอาหาร แทนการฆ่าหั่นศพหรือนำศพไปทิ้ง จะพูดว่าเป็นแค่เรื่องแต่ง ไม่มีจริง มันก็ไม่เต็มปากนัก เพราะเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นในชีวิตจริงของเราในทุกๆ วันน่ะแหละ เพียงแต่อาจไม่มีใครพูดออกมาตรงๆ เท่านั้น 
 
เนื่องจากพี่น้องกริมม์ให้เครดิตแก่รันช์โดยตรง ว่าเป็นเจ้าของเรื่อง ทำให้นักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์ตั้งข้อสันนิษฐานไปว่า เรื่องเล่านี้ อาจเป็นชีวิตจริงของรันช์ก็เป็นได้ ความที่เขาเป็นคนอ่อนแอ ร่างกายไม่แข็งแรง ชวนให้เราอดคิดไม่ได้ว่า หรือจริงๆ แล้ว ชีวิตของเขาจะไม่ได้สวยสดงดงามอย่างที่ควรจะเป็น พ่อแม่ของรันช์เองก็ไม่ได้ดูดำดูดีเขาสักเท่าไหร่ แต่ทิ้งเขาไว้ให้เป็นภาระของพี่ชาย และการที่รันช์ระบายอะไรหลายๆ อย่างผ่านงานศิลปะ ก็ชวนให้คิดว่า... แท้จริงแล้ว ปัญหาของเขาคืออะไรกันแน่ สถานการณ์ในครอบครัวเป็นอย่างไร 
 
อย่างที่เล่าเรื่องย่อไปแล้วว่า ตอนจบของเรื่อง แม่เลี้ยงตาย และลูกชายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ต่อจากนั้น พ่อก็คงแต่งงานใหม่อีกครั้ง เพราะมีสมบัติอยู่มากมายแล้ว เราควรจะสงสัยในตัวพ่อหรือไม่ว่า... เขาจะเลือกผู้หญิงแบบไหนมาเป็นภรรยา จะเป็นไปได้ไหมว่า วงจรการโดนรังแกของเด็กๆ จะเริ่มต้นอีกครั้ง บางที พ่ออาจจะสนใจแต่เรื่องของผู้หญิงสาวสวย แต่ไม่ได้สนใจคุณสมบัติ และไม่ได้ดูว่าเข้ากับลูกๆ ได้หรือไม่ เรื่องของแม่เลี้ยงใจร้ายอาจไม่ได้สำคัญกับผู้เป็นพ่อเลย เพราะสิ่งที่เขาสนใจก็คือ การได้แต่งงาน ได้มีภรรยาใหม่... 
 
อ่านเทพนิยายเรื่องนี้แล้ว ก็ชวนให้คิดว่า... แท้จริงแล้ว เทพนิยายในอดีตนั้น ล้วนแล้วแต่เขียนขึ้นจากเรื่องจริงที่เป็นปัญหาสังคมทั้งนั้น ไม่มีเรื่องไหนเขียนแบบเล่นๆ โลกสวยงดงามเลยสักเรื่องจริงๆ ก็ได้แต่หวังว่า เหตุการณ์เด็กๆ ที่ถูกทารุณกรรมจะเอาตัวรอดได้ และไม่เจ็บปวดจนเกินไปนัก... 
    
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Juniper_Tree_(fairy_tale) 
https://www.theguardian.com/books/2009/oct/10/fairytales-juniper-tree
https://www.pitt.edu/~dash/grimm047.html 
https://www.tor.com/2018/06/21/abuse-and-revenge-in-grimms-fairy-tales-the-juniper-tree/  
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด