คิมจียอง เกิดปี 82 : ‘เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง’ #ไอรีนอ่าน



คิมจียอง เกิดปี 82
‘เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง’



สวัสดีนักอ่านชาวเด็กดีทุกคนค่ะ หลังจากที่ห่างหายกันไปนานกับบทความวิจารณ์หนังสือ วันนี้พี่ก็ได้โอกาสเหมาะที่จะมาเขียนบทความนี้ให้น้องๆ ทุกคนได้อ่านกันแล้ว และสำหรับหนังสือที่พี่เลือกหยิบมาวิจารณ์กันในวันนี้ได้แก่หนังสือของ โชนัมจู ที่มีชื่อว่า ‘คิมจียอง เกิดปี 82สารภาพเลยว่าครั้งแรกที่เห็นพี่เดาไม่ออกเลยว่าเนื้อหาภายในเล่มนั้นจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร รู้แต่ว่าจะต้องเป็นคนเกาหลีเขียนแน่นอน! (ก็แหม ชื่อออกจะชัดเจนขนาดนี้) แต่ความน่าสนใจที่ทำให้พี่เกิดความรู้สึกอยากอ่านขึ้นมานั่นก็คือ… เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ #ไอรีนอ่าน ยังไงล่ะ!


 

ภาพจาก : HuffPostKorea


 
ถ้าน้องๆ คนไหนได้ติดตามข่าวสารวงการเพลงเกาหลีกันก่อนหน้านี้ คงจะได้ทราบข่าวเกี่ยวกับสมาชิกวง Red Velvet อย่างไอรีน ที่ถูกแฟนเพลงผู้ชายแสดงความไม่พอใจด้วยการเผารูปของเธอ โดยสาเหตุของการเผารูปนั้นก็มาจากการที่เธออ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งมารู้กันในภายหลังว่ามันเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับ ‘เฟมินิสต์’ หรือสตรีนิยมอย่าง ‘คิมจียอง เกิดปี 82นั่นเอง ในขณะเดียวกันแฟนคลับอีกกลุ่มหนึ่งก็ออกโรงปกป้องไอรีนด้วยการแสดงความคิดเห็นแก่คนที่เผารูปของเธอว่าได้กระทำการในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงที่ว่า เธอไม่มีอิสระที่จะอ่านอะไรที่เธอต้องการเลยหรอ?


 


 

คิมจียอง เกิดปี 82

โชนัมจู เขียน
ตรองสิริ ทองคำใส แปล
earnest สำนักพิมพ์

 
‘คิมจียอง เกิดปี 82 คืองานเขียนที่ตีแผ่สภาพชีวิตจริงของผู้หญิงในสังคมเกาหลีใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในงานเขียนชิ้นนี้เราจะได้เห็นชีวิตที่ดำเนินไปท่ามกลางความกลัว ความอ่อนล้า และสับสน ซึ่งถ้าถามว่าเหตุการณ์ในงานเขียนชิ้นนี้เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหรือเปล่า ก็ต้องตอบเลยว่าไม่ แต่มันออกไปในแนวที่ทุกคนในสังคมล้วนต่างรับรู้ แต่ทว่ากลับไม่มีใครกล้าที่จะพูดถึงมัน และนอกจากเนื้อหาจะสื่อถึงสภาพสังคมในประเทศเกาหลีใต้ได้ดีแล้ว สำหรับตัวพี่นั้นคิดว่าเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางสิทธิ และเสรีภาพ นั้นเป็นเรื่องที่คนทุกคนในสังคมควรให้ความสำคัญ และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับรู้เรื่องราวจากสังคมอื่นๆ ถ้าหากเราไม่ได้มีโอกาสได้อ่านงานเขียนในลักษณะเดียวกันนี้ แต่พี่ก็เชื่อว่า เราทุกคนล้วนเกิดมาเป็นคิมจียอง กันทั้งนั้น


 



 

จุดเริ่มต้น… อาการประหลาดจากสายตาของผู้เป็นสามี


เนื้อหาใน ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ นั้นเริ่มต้นที่การแนะนำให้เรารู้จักกับ ‘คิมจียอง’ หญิงสาวชาวเกาหลีวัย 34 ปีที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่ประกอบไปด้วย ชองแดฮยอน สามี และชองจีวอน ลูกสาว โดยพวกเขาทุกคนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุข จนกระทั่งวันหนึ่งที่ตรงกับวันแพ็งโน (วันที่เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวของเกาหลี) สามีอย่างชองแดฮยอนได้สังเกตเห็นพฤติกรรมของภรรยาที่แปลกประหลาดไปจากทุกวัน (ที่จริงเขาก็เริ่มสังเกตอาการมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ดูเหมือนจะมาหนักเอาตอนนี้) พฤติกรรมแปลกประหลาดที่ว่าก็คือ ภรรยาของเขาเริ่มเหม่อ ตาลอย มักจะชอบจ้องค้างกลางอากาศราวกับคนไม่รู้สึกตัว แถมบางวันก็ชอบทำตัวเป็นเด็กๆ บางวันก็ชอบบอกว่าตัวเองเป็นคนรู้จักคนอื่นๆ จนนับวันๆ ตัวตนที่แท้จริงของคิมจียองก็แทบไม่ปรากฏออกมาเลย 
 
สัญญาณประหลาดยังคงแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แดฮยอนสามารถจับสังเกตได้จากอะไรหลายๆ อย่าง อาทิเช่น สำนวนภาษาเวลาส่งข้อความหากัน, ฝีมือการทำอาหาร หรือแม้แต่รสนิยมก็ไม่เหมือนเดิมไปสักทีเดียว จนมารู้ตัวอีกที คิมจียองที่เขาเคยรู้จักกับผู้หญิงคนนี้นั้นไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไปแล้ว… 


 


 

 

อดีต (ที่ขมขื่น) ของคิมจียอง


เนื้อหาส่วนสำคัญที่สุดของหนังสือนั้นอยู่ที่ตรงนี้นี่แหละจ้ะ เพราะเราจะได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลีใต้จากตรงนี้ ตั้งแต่ตัวละครของคิมจียองยังเด็ก กระทั่งเธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จากการมองเห็น 'อะไร' ตั้งแต่รุ่นแม่สู่รุ่นเธอ ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้พี่สามารถสปอยล์ให้กับน้องๆ นักอ่าน (ที่ยังไม่เคยอ่าน) ได้คร่าวๆ ดังนี้ 
 
คิมจียองเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีสมาชิกทั้งหมด 6 คน โดยสมาชิกในครอบครัวนั้นประกอบไปด้วย เธอ, พ่อที่ทำอาชีพรับราชการ, แม่ที่เป็นแม่บ้าน, ย่า, พี่สาวที่แก่กว่าเธอ 2 ปี และน้องชายที่อ่อนกว่าเธอถึง 5 ปี และเมื่อเราได้อ่านเนื้อหาไปบางส่วนแล้ว เราจะเริ่มสัมผัสถึงความรู้สึกที่ว่า สังคมเกาหลีเขาให้ความสำคัญกับเพศและอายุกันมาก โดยผู้ชายกับผู้สูงอายุจะถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ (ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าอะไรนำเป็นอันดับหนึ่ง) ผู้ชายแทบทุกคนล้วนไม่เคยได้สัมผัสกับการ ‘ทำงานหนัก’ เพราะคนที่ทำทุกอย่างแทนมักจะเป็นผู้หญิง แต่เวลามีอะไรที่น่ายกย่องชื่นชม คนที่จะได้รับคำชมเป็นคนแรกก็จะหนีไม่พ้นผู้ชาย และทุกครอบครัว (ถ้าเป็นไปได้) ควรจะมีลูกชายอย่างน้อย 1 คน นั่นคือสิ่งที่คนในสังคมเชื่อและยึดถือปฏิบัติกันมาโดยตลอด แถมการทำแท้งเด็กผู้หญิงก็เป็นเรื่องที่เปิดเผยกันทั่วไป การทำแท้งไม่ผิด ถ้าการทำแท้งนั้นจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีกว่า
 
และถึงแม้ว่าตัวละครของคิมจียองในตอนนั้นจะเด็กมาก แต่เธอก็ได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความแตกต่าง’ มาโดยตลอด ตั้งแต่ยังไม่เข้าเรียน จนกระทั่งโตเป็นสาว ซึ่งคนอ่านอย่างเราจะค่อยๆ ซึมซับ และทำความรู้จักกับความเป็นสังคมเกาหลีกันเรื่อยๆ จนเราอาจจะมองเห็นในสิ่งเดียวกันว่า อดีตของคิมจียองนั้นเป็นอดีตที่น่าขมขื่นมากเลยทีเดียว


 



 



 

จุดพลิกผัน (ที่สุด) ของชีวิต


คิมจียองเริ่มสับสนในตัวเองเป็นครั้งแรกเมื่อแม่บอกให้เธอสู้ แถมเมื่อตอนที่เธอตัดสินใจว่าจะแต่งงานกับชองแดฮยอน สามีคนปัจจุบัน อะไรๆ มันก็เริ่มสับสนและดูเหมือนยากที่จะทำความเข้าใจอีกต่อไป  นับตั้งแต่หลังแต่งงาน ฝ่ายผู้ใหญ่มักจะเข้ามาคะยั้นคะยอถามเธอว่าเมื่อไหร่จะมีน้อง แม้เธอจะตอบพวกเขาไปแล้วว่ายังไม่มีแผน แต่พวกเขาก็ไม่ได้สนใจคำตอบของเธออยู่ดี เหมือนยิ่งเรามีข้อผูกมัดกับสังคมใหม่ๆ เราก็จะยิ่งวางตัวลำบาก ตัดสินใจด้วยตัวเองได้ยาก และเวลาที่เธอต้องการความช่วยเหลือจากผู้เป็นสามี เขาก็กลับปิดปากเงียบ ไม่กล้าแม้แต่จะออกโรงปกป้องเธอ
 
สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันยิ่งทำให้คิมจียองเก็บไปคิดกดดันตัวเอง เพราะในตอนนี้เธอไม่ใช่เด็กน้อยที่มีชีวิตอยู่เพื่อเดินตามเส้นทางที่ผู้ใหญ่วางไว้อีกต่อไปแล้ว หากเธอเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ ที่จดทะเบียนสมรสแล้วด้วย แล้วทำไมเธอถึงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจอะไรเองได้เลยอยู่เลยล่ะ?


 



 


ดูเท่าไหร่ก็ไม่ใช่ว่าคุณคิมจียองแค่ปั่นหัวคนอื่นหรือแกล้งอำเล่น
เธอกลายเป็นคนคนนั้นอย่างแท้จริง หมดจด และสมบูรณ์แบบ

 



 
นับจนถึงตรงนี้น้องๆ ทุกคนก็ยังหาคำตอบของความผิดปกติของคิมจียองกันไม่ได้ ซึ่งพี่อยากจะให้ทุกคนเข้าไปอ่าน เข้าไปทำความรู้จักกับผู้หญิงที่ชื่อว่าคิมจียองกันเอาเองมากกว่า เพราะแค่มาอ่านบทความที่เป็นความรู้สึกและสิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ของพี่อย่างเดียวมันคงจะไม่ได้ช่วยอะไร เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้หลังจากที่ได้อ่าน (เอง) ของเรามากกว่า แต่ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้คุ้มค่ากับการหาซื้อมาอ่านมากไหม พี่ต้องตอบตามตรงในฐานะนักอ่านที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งว่า ‘มาก’ เพราะพี่เป็นคนนึงที่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อนกับสังคมของประเทศเกาหลีใต้ ดังนั้นพี่เลยค่อนข้างที่จะชอบเป็นพิเศษ หรือถ้าน้องๆ นักอ่านคนไหนเคยเจอประสบการณ์แบบนี้ หรือไม่เคยเจอแต่อยากลองอ่านดู ก็ขอให้อย่าลังเล เพราะเราไม่ได้อ่านเพื่อให้มันมีผลต่อความคิดของเรา แต่เราเพียงแค่อ่านเพื่อที่เปิดมุมมองใหม่ๆ โดยอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์เรามาเป็นบทเรียนก็เท่านั้น น้องๆ ที่เคยอ่าน ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ เล่มนี้กันแล้ว ก็สามารถเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์ไปด้วยกันได้ และพี่ก็หวังว่า ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ เล่มนี้จะสร้างการรับรู้อะไรใหม่ๆ ให้เกิดแก่นักอ่านทุกคนกันนะจ๊ะ

 
พี่นัทตี้ :)

 

พี่นัทตี้
พี่นัทตี้ - Columnist บุคคลผู้เสพติดการดูหนังแนวสยองขวัญ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด