รู้เท่าทัน! 4 วรรณกรรมระดับโลกที่อ่านแล้วเข้าใจการเมืองมากขึ้น


รู้เท่าทัน! 4 วรรณกรรมระดับโลก ที่อ่านแล้วเข้าใจการเมืองมากขึ้น  
 
สวัสดีค่ะ ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า “การเมืองนั้นเข้าใจยากยิ่งกว่าฟิสิกส์” แอดมินเองก็เห็นด้วยตามนั้น แต่อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ แม้เราจะคิดว่ามันเข้าใจยากหรือไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับมัน แต่สุดท้าย มันก็อยู่ในชีวิตของเรา เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเลี่ยงไม่ได้ เราก็ควรทำความเข้าใจมันไปเลย จะได้อยู่กับมันอย่างรู้เท่าทัน และไม่ต้องเครียดจนเกินไป 
 
มาค่ะ วันนี้แอดมินได้เตรียมวรรณกรรมเกี่ยวกับการเมืองเอาไว้ให้ 4 เรื่อง อยากให้ไปลองอ่านกัน เชื่อว่าจะทำให้เข้าใจและรู้เท่าทันการเมืองมากขึ้น บวกกับปลงมากขึ้นด้วยค่ะ   
 

 
1984 : การล้างสมอง, เผด็จการ และโลกที่ผู้คนห้ามคิดต่าง 
ผู้เขียน จอร์จ ออร์เวลล์ 
หนึ่งในผลงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุดตลอดกาล 1984 จอร์จ ออร์เวลล์เขียนเรื่องนี้ขึ้นในช่วงที่คอมมิวนิสต์กำลังเฟื่องฟู และระบบเผด็จการกำลังครองโลก ช่วงที่เต็มไปด้วยสงคราม ความวุ่นวาย และมีการเข้ายึดครองอำนาจของประเทศมหาอำนาจ การแย่งพื้นที่การปกครอง การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ของคนที่แตกต่างจากตัวเอง 1984 ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ครบถ้วน ทว่าแกนหลักของมันคือ การพูดถึงความเป็นจริงของระบบการปกครองแบบเผด็จการ การที่เราไม่สามารถคิดอะไรได้เอง แต่ต้องเชื่อและรับฟังคำสั่งอยู่ตลอดเวลา จนสุดท้าย เรากลายเป็นคนที่คิดไม่เป็น และไม่อาจมั่นคงกับความเชื่อของตัวเอง เพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ มองผ่านๆ เหมือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ คนที่ทำให้เกิดคือ ผู้ปกครอง เพราะพวกเขาอยากจะใช้อำนาจอย่างง่ายดาย ไม่ต้องมีคนมาขัดแย้ง การเข้าควบคุมคน ทำให้ทุกคนคิดแบบเดียวกัน ไม่อาจมองอะไรที่แตกต่างหรือคิดอะไรได้เอง จะทำให้สังคมสงบนิ่ง และสุดท้ายคนได้ประโยชน์ก็คือผู้ปกครอง และนี่แหละคือ การเมืองแบบเบ็ดเสร็จที่อันตรายที่สุด แต่ที่น่าเศร้าและน่ากลัวไปพร้อมๆ กันคือบทสรุปของเรื่อง ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เมื่ออยู่ในระบบการปกครองแบบนี้ การต่อต้านเป็นอันตราย และเราควรจะอยู่นิ่งๆ ใช้ชีวิตไปวันๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง น่าจะดีที่สุด เป็นการจบที่สมจริงจนน่าขนลุก...  อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ 1984 หนังสือเสียดสีการเมืองที่นักเขียนตายหลังตีพิมพ์เพียง 7 เดือน 
 
จุดเด่น 3 ข้อ 
สโลแกน “พี่เบิ้มกำลังจับตามองคุณ” หรือ “Big Brother is watching you” ที่ทำให้ตัวละครในเรื่องไม่เป็นอิสระ แต่เหมือนโดนบังคับกดดันให้ต้องทำอะไรซ้ำๆ แบบเดิมๆ ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะคิดต่าง ไม่มีสิทธิ์คิดอะไรใหม่ๆ ไม่มีสิทธิ์สนใจเรื่องอื่นนอกจากใช้ชีวิตไปวันๆ ทำอะไรวนลูปไป แนวคิดที่ปรากฏคือ Panoticism ของเบนแธม ที่เป็นเรื่องการสร้างบรรยากาศความกลัว ทำให้นักโทษรู้สึกเหมือนโดนผู้คุมจับตาอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เราต้องระวังพฤติกรรมตลอดเวลา ไม่อาจทำอะไรแตกต่างจากเดิม เพราะกลัวจะถูกจับไปลงโทษ 
2+2=5 เป็นสูตรที่ถูกนำมาใช้เวลาล้างสมอง เมื่อใดที่มีตัวละครเริ่มคิดต่างหรือออกนอกกรอบ จะต้องมีการ “ปรับทัศนคติ” ในกระทรวงแห่งความรัก โดยใช้วิธีป้อนข้อมูลเข้าไป หนึ่งในข้อมูลนั้นคือ 2+2=5 ใครๆ ก็รู้ว่า 2+2=4 แต่เมื่อ “พรรค” ให้ข้อมูลมาว่า 2+2=5 ทุกคนก็ต้องเชื่อตามนั้น และต้องเชื่ออย่างสนิทใจ ไม่ใช่เชื่อโดยยังมีข้อกังขาในใจ จะมีการตรวจจับว่า... คุณเชื่อหมดใจแล้วหรือยัง หากว่ายัง ก็จะต้องโดนทรมานวนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีสมองที่ว่างเปล่าพอจะเชื่อว่า 2+2=5 และนั่นคือการเชื่อแบบไม่มีเหตุผล ไม่สามารถคิดเองได้ เหมือนโดนล้างสมองโดยแท้ 
ข้อจำกัดทางภาษา ตัวละครในเรื่องไม่อาจใช้ถ้อยคำได้หลากหลาย ต้องคิดอะไรซ้ำๆ ซากๆ วนๆ อยู่จุดเดิม มีการสร้างข้อจำกัดทางภาษา ให้หลงเหลือเพียงคำที่จำเป็น คำที่ฟุ่มเฟือยกว่านั้นจะโดนตัดทิ้ง เพื่อไม่ให้คนคิดอะไรได้มากเกินไป และอาจลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นหรือต่อต้านรัฐ 
 

 
แอนิมอล ฟาร์ม : การเอาเปรียบ, ผู้ปกครองกดขี่ และชนชั้นแรงงานต้องทำงานเพื่อชนชั้นปกครอง 
ผู้เขียน จอร์จ ออร์เวลล์
ผลงานที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมไทยตอนนี้ และกลายเป็นที่ถกเถียงกันว่า... แท้จริงแล้วมันหมายถึงอะไร หรือหมายถึงใคร มีการตีความมากมาย มีการพูดถึงมากมาย แล้วแต่คนจะคิดคนจะออกความเห็น ทุกอย่างก็อยู่ที่แนวคิด ทัศนคติและสภาพแวดล้อมรอบตัวของคนคนนั้น แต่หลักๆ จอร์จ ออร์เวลล์สร้างผลงานนี้เนื่องจากเขาเคยอยู่ในวงจรของคนใช้อำนาจ จึงเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และเข้าใจได้ดีว่า เมื่อคนเราได้อำนาจมา มันจะมีช่องโหว่ให้เผลอตัวทำอะไรไม่เหมาะสม หรือโดนกลืนได้อย่างง่ายดาย นักเขียนเลือกใช้สัตว์ต่างๆ มาเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของผู้คนในสังคม เราจะเห็นสัตว์ที่เป็นผู้ปกครองและสัตว์ที่โดนกดขี่ และได้เห็นชะตากรรมอันน่าเศร้าของสัตว์ทั้งสองประเภทนี้ เพราะแม้หมูในเรื่องจะได้เป็นผู้ปกครองฟาร์ม แต่ก่อนหน้านี้ มันก็เลยถูกมนุษย์กดขี่มาก่อน แทนที่เมื่อได้ปกครองมันจะสำนึกตัวหรือคิดได้ มันกลับเลือกที่จะทำตัวไม่แตกต่างจากมนุษย์ นั่นคือเลือกกดขี่สัตว์อื่นๆ ต่อไป ผลงานเรื่องนี้จึงสอนให้เรารู้ว่า... บางครั้ง ที่คนเราไม่กดขี่ใครหรือไม่โกงใคร อาจไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนดี แต่เป็นเพราะเขาไม่มีโอกาส การเมืองก็เหมือนกัน เมื่อเราอยู่ห่างจากมัน เราอาจจะก่นด่าต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่ออำนาจเข้ามาอยู่ในมือ เมื่อเราได้ควบคุม เราก็อาจจะทำตัวไม่แตกต่างจากคนที่เราวิจารณ์ก็ได้เช่นกัน อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ มาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์รัสเซียผ่านหนังสือกัน! ใครเป็นใครใน แอนิมอล ฟาร์ม และ 9 ความจริงเจ็บๆ จากวรรณกรรมการเมือง รัฐสัตว์ (Animal Farm) 
 
จุดเด่น 3 ข้อ  
การยึดอำนาจ ปฏิวัติ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในเรื่อง สัตว์ในฟาร์มต้องทนกับการกดขี่จากมนุษย์ เจ้าของฟาร์มคือมิสเตอร์โจนส์ หาประโยชน์จากผลผลิตของสัตว์ต่างๆ ทำให้เขาได้เงินและร่ำรวย จนกระทั่งวันหนึ่ง หมูผู้เฒ่าทนไม่ไหว จึงได้พูดถึงการปฏิวัติ และมันเหมือนเป็นประกายไฟ ทำให้สัตว์ต่างๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้ ด้วยหวังว่าจะได้ในสิ่งที่ดีกว่า ที่ไหนได้ พวกสัตว์กลับต้องพบความยากลำบากมากกว่าเดิม ทั้งที่ในตอนแรก ทุกคนคิดว่า สี่ขาดี สองขาเลว แต่ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นว่าไม่ว่าสี่ขาหรือสองขาก็เลวได้เหมือนกัน 
ความหลากหลายของตัวละครที่สมจริงเหมือนสังคมของเรา ตัวละครในเรื่องแบ่งเป็นหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็เหมือนในชีวิตจริง มีทั้งคนที่คิดเอาเปรียบผู้อื่นอย่างพวกหมู คนที่โดนหลอกใช้อย่างม้า วัวและไก่ คนที่ฉลาดแต่ไม่พูดอย่างลา หรือคนที่กลายเป็นมือเท้าของผู้ปกครองอย่างหมา คงเพราะสังคมเต็มไปด้วยความหลากหลาย จึงทำให้มีคนที่แตกต่างกัน แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือ ส่วนใหญ่แล้ว คนที่มองเห็นหนทางขึ้นไปสู่อำนาจ มักไม่ใช่คนดี  
สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกันแต่มีสัตว์บางตัวที่เท่าเทียมกว่าสัตว์ตัวอื่นๆ เป็นวลีที่โด่งดังและอธิบายผลงานเรื่องนี้ได้ครบจบกระบวนความ สัตว์ต่างๆ ในฟาร์มคาดหวังต้องการความเท่าเทียม อยากอยู่อย่างสบาย จึงได้ทำการปฏิวัติ แต่ไปๆ มาๆ พวกหมูที่เป็นผู้ปกครองกลับมีอำนาจเหนือสัตว์อื่นๆ และยังเก็บเอาผลผลิตต่างๆ ไปใช้อยู่เพียงกลุ่มเดียว และกลุ่มนั้นก็ไม่ได้หมายถึงใคร แต่หมายถึงชนชั้นปกครองนั่นเอง 
 

 
เรื่องเล่าของสาวรับใช้ : โลกที่ชนชั้นสูงเป็นใหญ่, ชนชั้นล่างเป็นแค่ที่รองรับอารมณ์ และเด็กไม่ต้องเกิดจากความรัก  
ผู้เขียน มาร์กาเร็ต แอทวู้ด 
เรื่องเล่าของสาวรับใช้ หรือ Handmaid’s Tales เป็นผลงานที่เขียนขึ้นเพื่อเสียดสีระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับสองเรื่องก่อนหน้า นักเขียนเขียนมันขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความที่อาศัยอยู่ในเยอรมัน ทำให้เธอเข้าถึงความเจ็บแค้นของการเหยียดชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี เรื่องเล่าของสาวรับใช้นำเสนอประเด็นเรื่องนี้ ด้วยภาพของสาวรับใช้ที่ต้อยต่ำไร้ค่า ต้องกลายมาเป็นแรงงานของชนชั้นสูงหรือที่เรียกกันว่าชนชั้นปกครอง พวกเธอต้องอุทิศร่างกายเพื่อให้พวกเขาได้มีทายาท พวกเธอไม่มีบ้านของตัวเอง และไม่มีชีวิตของตัวเอง แต่ต้องทำตามคำสั่งของผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว เป็นชีวิตที่น่าหดหู่เงียบเหงาเหลือเกิน และเป็นระบบการปกครองที่น่ากลัวอย่างที่สุด เมื่อเราไม่เห็นค่าของมนุษย์ด้วยกัน แต่มองว่าพวกเขาไม่มีความเท่าเทียมกับเรา และการกระทำร้ายๆ ที่พวกเราทำเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรเสียใจหรือรู้สึกเลวร้ายใดๆ อ่านแล้วทำให้เรานึกถึงนาซีกับยิว คนยิวไร้โอกาส ไร้บ้าน ถูกตราหน้าว่าน่ารังเกียจ ในขณะที่คนอารยันยิ่งใหญ่และได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเราเลือดเย็นจนทำร้ายคนอื่นได้ถึงขนาดนั้น ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร... สมควรแล้วหรือที่เราจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นแบบนั้น สมควรแล้วหรือที่เราจะพูดว่าคนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน และคนที่ต้อยต่ำกว่าก็ต้องยอมรับสถานะของตน... อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ เรื่องเล่าของสาวรับใช้ อ่านแล้วสงสัยเรื่องสิทธิเสรีภาพและความหมายของเพศหญิง 
 
จุดเด่น 3 ข้อ 
ชนชั้นแรงงานไม่มีชื่อ แต่ทุกคนจะถูกเรียกว่า ของ... ตามด้วยชื่อเจ้านายคนนั้น เป็นไอเดียที่น่าเศร้าและน่าหดหู่ไปพร้อมๆ กัน ตัวละครเอกในเรื่องเรารู้จักเธอในชื่อ ออฟเฟร็ด มาจาก of ที่ว่าเป็นของและเจ้านายของเธอมีชื่อว่าเฟร็ด เธอไม่มีสิทธิ์แม้จะมีชื่อของตัวเอง แต่ถูกเรียกในฐานะคนของบ้านนี้ๆ แนวคิดการไม่อนุญาตให้มีชื่อนี้ แสดงถึงการไม่ให้ความสำคัญกับตัวตน และแบ่งแยกระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นล่างอย่างชัดเจน 
ชนชั้นล่างไม่มีสิทธิ์มีลูก มีแต่ชนชั้นสูงที่มีได้ ในเรื่องการสืบสกุล ในเรื่องนี้มีการจำกัดไว้ด้วย ใครเป็นชนชั้นล่าง ไม่มีสิทธิ์สืบทอด ร่างกายของผู้หญิงชนชั้นแรงงานกลายเป็นเหมือน ‘รัง’ ของผู้หญิงชนชั้นสูง เนื่องจากผู้หญิงชนชั้นสูงส่วนใหญ่เป็นหมันหรือมีลูกไม่ได้ พวกเธอจึงใช้ร่างกายของผู้หญิงชนชั้นล่างในการตั้งท้องลูกของสามี และนำเอาเด็กคนนั้นมาเลี้ยงเป็นลูกของตัวเอง ส่วนแม่ๆ ที่เป็นชนชั้นล่าง เมื่อคลอดลูกเสร็จแล้ว ก็ต้องถูกส่งวนเวียนไปตั้งท้องลูกคนใหม่เพื่อชนชั้นสูงคนอื่นๆ ไม่อาจคิดไม่อาจเลี้ยงลูกของตัวเองได้ 
การแขวนคอบนกำแพง สัญลักษณ์ของการเชือดไก่ให้ลิงดู อีกหนึ่งในฉากที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกหดหู่มากที่สุดในเรื่อง คงไม่พ้นฉากแขวนคอบนกำแพง คนที่ต่อต้าน คิดต่าง หรือหนีไม่ยอมทำตามคำสั่งของสาธารณรัฐ จะถูกจับยัดใส่กระสอบแล้วนำมาแขวนคอบนกำแพง และทุกคนที่อยู่ด้านล่างจะมองเห็นฉากนี้ ความน่ากลัวของเรื่องคือ การบรรยายว่าทุกคนเห็นจนชินชา สามารถเดินผ่านไป แล้วก็มองภาพนั้นๆ ได้อย่างปกติ เหมือนเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ถ้าหากเราได้เจออะไรแบบนี้ทุกวัน เราอาจไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องน่ากลัวก็ได้ 
 

 
ฮังเกอร์เกม : คนเราเห็นค่ากันน้อยลง, อำนาจเหมือนขนมหวาน และความรักตัวกลัวตายทำให้คนเราไม่กล้าลุกขึ้นพูดความจริง 
ผู้เขียน : ซูซานน์ คอลลินส์
หนึ่งในวรรณกรรมการเมืองยุคใหม่ที่นักเขียนบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากบรรดาซีรี่ส์ประเภทถ่ายทอดสดทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือ เซอร์ไวเวอร์ ที่ได้นำตัวละครมาแข่งขันกัน จนได้ผู้ชนะเพียงหนึ่ง และเพื่อเรียกเรตติ้งจากคนดู จึงต้องมีการสร้างสถานการณ์หรือเหตุการณ์ดราม่าที่ทำให้คนดูตื่นเต้นหรืออยากจะดูต่อ ฮังเกอร์เกมมีจุดเริ่มต้นจากตรงนั้น การบังคับให้แต่ละเขตการปกครองส่งเด็กหนุ่มสาวสองคนเข้าสู่สนามประลองที่สร้างออกมาทันสมัย พร้อมด้วยอุปกรณ์ทำลายล้าง เพื่อให้เข่นฆ่ากันเอง และให้คนรวยๆ ได้เป็นสปอนเซอร์ มีการหาเสื้อผ้าสวยๆ โดดเด่น หาอาวุธแบบใหม่ที่จะทำให้คนดูตื่นเต้นกับการฆ่า การหาทางสร้างสถานการณ์ให้ผู้แข่งขันมาเจอกันและต้องฆ่ากัน เหล่านี้ล้วนทำให้เราสัมผัสได้ว่า “คนเราเห็นค่ากันน้อยลง” และต่างก็มองอีกฝ่ายเป็นเพียงของเล่น ฮังเกอร์เกมยังมีแคปิตอล เมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง มีคนรวย ชนชั้นปกครองอาศัยอยู่ และวันๆ ก็อยู่ดีกินดีจากผลผลิตของเขตการปกครองอื่นๆ ในขณะที่ทุกคนยากลำบาก และแทบไม่มีอันจะกิน เราจะเห็นได้ว่าแคปิตอลหรือเมืองหลวง เต็มไปด้วยความสุขสบาย และมีแต่สิ่งดีๆ เต็มไปหมด สิ่งนี้สะท้อนว่าการปกครองแบบเหลื่อมล้ำ การกดดันคนมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการระเบิด เมื่อแคตนิสพูดว่า “ไฟได้ไหม้แล้ว และแกต้องไหม้ไปกับเรา” เมื่อนั้นมันทำให้เราได้รู้ว่า ถ้าคนเราเครียดจนทนไม่ไหว ไม่มีทางเลือกและลุกขึ้นมาต่อสู้ เมื่อนั้นสถานการณ์จะยากควบคุม อย่างไรก็ตาม ความที่มีลักษณะเป็นวรรณกรรมแนว YA ทำให้ฮังเกอร์เกมจะมุ่งเน้นไปที่เรื่อง ความรัก แฟนตาซี และความรู้สึกมากกว่าวรรณกรรมสามเรื่องด้านบน แต่ขณะเดียวกันมันก็เต็มไปด้วยอารมณ์ และทำให้เราเข้าถึงตัวละครในหลายๆ แง่มุม ตัวละครมีความเป็นคน ไม่ได้เป็นหุ่นยนต์อย่างเรื่องด้านบน บางทีอาจเพราะแคตนิสเป็นวัยรุ่น อายุเพียง16 ปี จึงเต็มไปด้วยพลังและชีวิตชีวา ที่แน่ๆ วรรณกรรมเรื่องนี้ ทำให้เราได้รู้ว่า... พลังของชนชั้นแรงงานนั้นยิ่งใหญ่เพียงไหน ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูสัญลักษณ์การชูสามนิ้วที่ปรากฏในเรื่องก็ได้ มันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในตัวบุคคลที่จะมาเปลี่ยนแปลงสังคม และความเจ็บปวดจากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี อ่านแล้วเราควรกลับมาคิดว่าการปกครองควรเน้นไปที่ความเท่าเทียมหรือไม่ หรือว่าจะปล่อยให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้นไปเรื่อยๆ จนช่องว่างเพิ่มมากขึ้น และทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันไป จนทำให้สังคมไม่สมานสามัคคีในที่สุด อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ ฮังเกอร์เกม เกมล่าชีวิต 
 
จุดเด่น 3 ข้อ 
การเสียสละเพื่อผู้อื่นแม้ในสถานการณ์เลวร้าย แคตนิสเสนอตัวเข้าแข่งขันแทนพริม น้องสาวของเธอ หากว่าอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คนใกล้ชิดโดนจับชื่อขึ้นมาเพื่อเข้าร่วมเหตุการณ์สังหารหมู่ คิดว่าตัวคุณจะมีความกล้าพอที่จะยกมือขึ้นขอเสนอตัวไปแทนหรือไม่ แคตนิสทำให้เราต้องตั้งคำถามในเรื่องนี้ จุดเด่นของเธอคือเป็นคนที่กล้าทำเพื่อคนอื่น และสิ่งนั้นทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวังในสังคม หากว่ามีคนที่กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อคนอื่น กล้าที่จะประท้วง กล้าที่จะพูดความจริง แทนที่จะเอาแต่เก็บเงียบหรือยอมให้ถูกรังแก ถูกเลือกบรรณาการซ้ำๆ ทุกปี สถานการณ์คงจะเปลี่ยนแปลงไปได้ไม่น้อย จะเห็นได้ว่า ถ้าเราปล่อยให้ผู้ปกครองทำลายไม่จบไม่สิ้น และเลือกที่จะนิ่งเฉย ทำตามไปเรื่อยๆ ก็มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น บางทีเราจึงควรลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเองบ้างเหมือนกัน รวมไปถึงสู้เพื่อคนอื่นด้วย  
การที่ตัวละครตระหนักได้ว่า... ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คน แต่อยู่ที่ระบบ แคตนิสเลือกยิงธนูใส่อัลม่า คอยน์ แทน ประธานาธิบดี สโนว์ ฉากนี้ทำให้เราเห็นถึงคำตอบหลายๆ อย่าง แคตนิสมองเห็นแล้วว่า สโนว์ไม่ใช่คำตอบของปัญหาทั้งหมด แม้ว่าที่ผ่านมา เธอจะถูกฝังหัวด้วยความเชื่อที่ว่า... สโนว์คือคนเลว คนชั่ว ถ้ากำจัดสโนว์แล้ว ทุกอย่างจะอยู่ในความสงบ ประเทศจะดีขึ้น แต่เมื่อมองการกระทำของคอยน์หัวหน้าคณะปฏิวัติ ความหลงระเริงอำนาจ ความอยากได้อยากมี ก็ทำให้แคตนิสก็ตระหนักได้ว่า แท้จริงแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวสโนว์ แต่อยู่ที่ระบบและอำนาจที่เกินมือของเธอ อะไรที่เธอไม่อาจเอื้อมถึงหรือจัดการได้ เธอจึงเลือกที่จะฆ่าคอยน์ เพื่อป้องกันอำนาจใหม่ๆ ที่จะขึ้นมาปกครอง ยอมให้บาปตกเป็นของเธอเอง 
ความปลงตกในเรื่องการเมือง และการเปรียบเทียบโดยใช้ผู้ชายสองคน แคตนิสอยากใช้ชีวิตอย่างสงบ แทนที่จะเข้าร่วมเป็นชนชั้นปกครอง บทสรุปของฮังเกอร์เกมคือแคตนิสเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างสงบกับคนที่เธอรัก นักเขียนเลือกใช้วิธีเขียนถึงผู้ชายสองคนที่แตกต่างกันคนละขั้ว คนนึงเหมือนไฟ อีกคนเหมือนน้ำ นางเอกของเรารู้ตัวว่า... เธอเป็นไฟ อยากทำลาย อยากฆ่า อยากเผาผลาญ แน่นอนแคตนิสไม่พอใจที่เคยโดนกดขี่ทำร้าย และโกรธที่น้องสาวของเธอต้องตาย แต่เธอก็คิดได้ว่า... เหตุผลที่น้องสาวของเธอต้องตายเป็นเพราะความเกลียดชังและความแค้นไม่จบไม่สิ้น เธอจึงเลือกที่จะไม่ดำเนินรอยตามเกล ชายที่เหมือนไฟ คนที่พร้อมล้างแค้น แก้แค้นทุกอย่าง สำหรับแคตนิส การแก้แค้นไม่ใช่คำตอบ และเธอไม่อยากทำร้ายใครอีกต่อไปแล้ว หากทุกคนในสังคมคิดได้อย่างแคตนิส และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้คงจะดีไม่น้อย แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะสังคมย่อมประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย แต่อย่างน้อยๆ การที่แคตนิสตัดสินใจเลือกพีต้า ชายผู้ใจดี มีน้ำใจ และพร้อมจะให้อภัย รวมถึงเข้าใจว่าแม้จะเกิดสถานการณ์เลวร้ายในชีวิต แต่เราก็ไม่ควรโกรธหรือแค้น และไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงเรา ก็เป็นตอนจบที่สวยงามไม่เลวทีเดียว 
 
 ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://www.weforum.org/agenda/2015/11/the-20-most-influential-books-in-history/ 
https://theswamp.media/10-best-political-books-ever-written
https://www.businessinsider.com/11-books-that-will-make-you-smarter-about-politics-2018-6  
https://bookriot.com/2018/10/03/must-read-books-about-american-politics/
  
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น