นักเขียนมือใหม่มาฟัง เขียนจบเรื่องแรกแล้วทำไงต่อ…?

นักเขียนมือใหม่มาฟัง เขียนจบเรื่องแรกแล้วทำไงต่อ…?
 
สวัสดีค่ะ ชาวนักเขียนเด็กดีของเราทุกคน เราเชื่อว่า การเขียนนิยายจบเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจอย่างที่สุด ถ้าหากใครทำได้ เราเชื่อว่าคุณจะตื่นเต้นยินดี อยากจุดพลุฉลอง อยากร้องอวดคนไปสามบ้านแปดบ้าน แต่เดี๋ยวก่อน รอก่อน การเขียนนิยายจบไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จ ขั้นตอนต่อจากนั้นก็สำคัญมากๆ เช่นกัน และเราเรียกมันว่าขั้นตอนการรีไรท์! หรือตรวจแก้ต้นฉบับนั่นเอง  
 
สำหรับนักเขียนมือใหม่ การรีไรท์หรือแก้ไขต้นฉบับน่าจะทำให้เกิดความสับสนได้ไม่น้อย ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี มาเลย เรามีขั้นตอนการรีไรท์นิยายมาแนะนำให้ เผื่อจะได้ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น
 

 
1. แก้ไปจนกว่าจะพอใจ
อ่านแล้วอาจจะฟังดูง่าย แต่จริงๆ แล้วไม่ง่ายเลย เพราะการแก้จนกว่าจะพอใจอาจนำไปสู่การที่เนื้อหานิยายไม่เหมือนเดิมเลยก็เป็นได้ แต่ก็นั่นแหละสิ่งที่เราต้องการสื่อ ถ้าหากตัวคุณยังรู้สึกไม่พอใจ ไม่โอเคกับฉากบางฉาก คำบางคำ ก็คงได้เวลาที่ต้องแก้ไข เพราะถ้าตัวคุณที่เป็นเจ้าของเรื่องยังไม่ชอบเนื้อหา คนอ่านคนอื่นก็คงไม่ชอบเช่นเดียวกัน คำแนะนำเบื้องต้นคือ แก้ไขจุดเล็กๆ น้อยๆ อ่านทวนรอบแรก ตรวจสอบคำผิดต่างๆ การจัดหน้า การจัดช่องไฟ การเว้นวรรค บทสนทนา กระจุกกระจิก ระหว่างนั้นก็จดส่วนเนื้อหาที่เป็นปัญหาหลักเอาไว้ด้วยว่าอยู่ที่หน้าที่เท่าไหร่ ส่งผลต่อพล็อตหรือเส้นเรื่องของเราอย่างไรบ้าง แก้ส่วนย่อยก่อนแล้วค่อยแก้ส่วนหลักในภายหลัง ถ้าหากต้องการเพิ่มฉากใหม่เข้าไป ก็ลองจดข้อมูลออกมาคร่าวๆ จากนั้นก็ทิ้งนิยายเอาไว้สักหนึ่งอาทิตย์ แล้วค่อยกลับมาอ่านทวนก่อนจะแก้ไขอีกครั้ง

2. ทบทวนกับเนื้อหาเก่า เช็กลิสต์ว่าตรงกันไหม
ก่อนเขียนนิยาย เราเชื่อว่านักเขียนส่วนมากทำพล็อตต่างๆ เอาไว้อยู่แล้ว เมื่อเขียนนิยายจบ แนะนำให้คุณกลับมาทบทวนว่าเส้นเรื่องนั้นตรงกันไหม แก่นเรื่อง ลักษณะนิสัยตัวละคร ถ้าหากว่าเหมือนกัน ก็ผ่านไป แต่ถ้ามีจุดที่แตกต่างกัน อาจต้องมาดูความสมจริงว่ามันกลมกลืนไหม เปลี่ยนอะไรไปบ้าง และสิ่งที่เปลี่ยนนั้นดีกว่าหรือว่าไม่เหมาะสม ควรตัดออกหรือควรคงไว้ ถ้าหากมั่นใจแล้ว ก็เก็บเอาไว้ได้ แต่ถ้าไม่มั่นใจ อาจจะปรับแก้ไปเป็นแบบเดิม หรือถ้าขยันมากหน่อย ลองเขียนหลายๆ เวอร์ชั่นแล้วนำมาเลือกเวอร์ชั่นที่ชอบที่สุด

3. พิมพ์ออกมาบนกระดาษ เพื่อตรวจสอบบรรทัดต่อบรรทัด
ในช่วงโลกร้อนนักเขียนหลายๆ คนอาจมองว่าวิธีนี้สิ้นเปลือง แต่ถ้าเป็นไปได้ เราก็แนะนำว่าลองพิมพ์เนื้อหาออกมาบนกระดาษ จะได้ตรวจสอบอย่างละเอียดลออ ใช้กระดาษรียูสก็ได้ ระหว่างที่อ่านก็หยิบปากกามาสักด้าม ตรงไหนไม่เหมาะสมก็วงแดง เขียนรายละเอียดเพิ่มเติม ใส่ความคิดเห็นต่างๆ เชื่อไหมว่า คุณจะทำความเข้าใจนิยายตัวเองได้มากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ หลายคนก็อาจจะคิดว่าทำไปทำไมเหนื่อยจังเลย แต่อยากให้คิดถึงจิตใจนักอ่านมากๆ พวกเขารอผลงานที่ดีของคุณอยู่ ถ้าคุณทำให้ดีที่สุด รับรองว่าทุกคนจะต้องพอใจกับผลงานที่ตั้งใจเต็มที่ของคุณ

4. หาคนอ่านส่วนตัว
นักเขียนหลายคนบอกว่า หาคนอ่านเหรอยากจัง ยิ่งหาคนวิจารณ์ยิ่งยากกว่า แต่เราเชื่อว่าถ้าคุณชอบเขียน มันต้องมีเพื่อนสักคนแหละที่ชอบอ่าน ลองหาเพื่อนคนนั้นดู และขอร้องให้เขาช่วยอ่านนิยายของเราเป็นคนแรก คุณสมบัติที่เหมาะสมคือ คนคนนี้ต้องกล้าพูด กล้าตำหนิ กล้าวิจารณ์ ในส่วนของคุณเอง ก็ต้องกล้าเปิดใจรับฟังด้วยเช่นกัน จำไว้ว่าเขาวิจารณ์กลับมา ดีกว่าเขาอ่านเฉยๆ แล้วไม่ออกความคิดเห็น อยากจะเป็นนักเขียนต้องหัดเปิดใจและต้องกล้าที่จะรับความจริงจากปากนักอ่าน
 
หลายคนถามว่าจะต้องใช้เวลาแก้ไขงานนานเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม อันนี้เราตอบได้เลยว่า ไม่มีคำตอบ เพราะนักเขียนแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่มีกฎที่ชัดเจน แต่ทุกอย่างมันอยู่ที่ความพอใจของคุณ อยู่ที่ว่าคุณจะจบที่ตรงไหน มันอาจจะยากหน่อยถ้าคุณเป็นนักเขียนหน้าใหม่ แต่ถ้าคุณเขียนหลายเรื่องเข้าก็จะพอจับจุดได้และเห็นภาพมากขึ้น อาจจะใช้เวลาน้อยลง และกระชับมากขึ้น วางแผนได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างที่บอกว่าทุกอย่างมันอยู่ที่การฝึกฝน อยากจะเป็นนักเขียนที่เก่งก็ต้องฝึกฝนและอดทน แล้วสุดท้าย วันของคุณก็จะมาเอง

สุดท้ายนี้ แก้งานให้สนุกนะคะ

ทีมงานนักเขียนเด็กดี

Deep Sound แสดงความรู้สึก
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด