8 เทคนิคแนะนำเขียนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จจากนักเขียนรางวัลโนเบล

8 เทคนิคแนะนำเขียนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
จากนักเขียนรางวัลโนเบล


 
สวัสดีชาวนักเขียนเด็กดีของเราทุกคนค่ะ ในฐานะนักเขียน สิ่งที่ทุกคนต้องการคือเขียนนิยายให้จบเล่ม มีนักอ่านเป็นของตัวเอง ผลงานเป็นที่นิยม มีคนอ่านเยอะๆ แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้ แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้แอดมินเปลี่ยนฝั่งหันไปเก็บคำแนะนำจากนักเขียนรางวัลโนเบลมาฝากค่ะ จะได้รู้ว่าคนที่เขาประสบความสำเร็จ มีเทคนิคดีๆ อย่างไรมาเล่าสู่กันฟังบ้าง
 

 
อย่าใช้ภาษาที่ตายแล้ว (คนไม่ใช้แล้ว)
โทนี่ มอร์ริสัน ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1993 ระบุไว้ว่า การใช้ภาษาที่ตายแล้ว หรือภาษาที่เก่าเกินไป จะส่งผลต่อผลงานของเรา ทำให้คนอ่านสับสนและไม่อยากอ่าน สำหรับนักเขียน อาวุธที่โดดเด่นที่สุดคือ “ภาษา” ดังนั้น นักเขียนต้องใส่ใจเรื่องภาษาให้มาก จะเขียนอะไรควรใช้ภาษาที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ และแน่นอน มอร์ริสันบอกด้วยว่า “ภาษาเปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่ช่วงเวลาของชีวิต ไม่ควรที่จะใช้ภาษาที่คนเขาไม่ใช้แล้ว ภาษาไม่ได้ตายตัว ไม่ได้เป็นแบบเดิมตลอด หน้าที่ของนักเขียนคือต้องเข้าถึงภาษาและใช้ภาษาที่ทันสมัยอยู่เสมอ”
 
ถ้าธีมใหญ่ การบรรยายต้องเห็นภาพชัดเจน
นักเขียนรางวัลโนเบลนามปากกา  Wislawa Szymborska ได้ชื่อว่าเขียนบทกวีได้ประณีตงดงาม อ่านแล้วจับใจคนอ่านเป็นที่สุด คำแนะนำของเธอคือเวลาเขียนงาน ถ้าธีมใหญ่ เป็นภาพกว้างๆ การบรรยายควรต้องชัดเจน ใช้คำที่ชัดเจนตรงไปตรงมา ควรเลือกใช้ภาษาที่งดงาม ไม่ใช่ภาษาแข็งๆ กระด้าง แต่ควรเป็นภาษาที่อ่านแล้วละมุนละไม ลื่นไหล อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงลักษณะของเนื้อเรื่องด้วย เนื่องจากเธอเป็นนักเขียนสายกวี การบรรยายจึงต้องงามประณีต เห็นภาพ ถ้าหากคุณเป็นนักเขียนสายอื่นๆ เช่น สืบสวนฆาตกรรม อาจต้องเปลี่ยนวิธีการใช้คำให้ฉับไว รวดเร็ว
 
เวลาเขียนไม่ออก ให้คิดงานต่อเนื่องในหัว
อลิซ มันโร นักเขียนชาวแคนาดา ผู้ชนะรางวัลโนเบลเมื่อปี 2013 ระบุว่า ตลอดชีวิตการเขียนเรื่องสั้นของเธอ เมื่อเขียนไม่ออก เธอจะทำอย่างไร มันโรบอกว่า “ส่วนใหญ่แล้วเธอจะคิดพล็อตคร่าวๆ ก่อนเขียน แต่แน่นอนว่าเธอก็เหมือนนักเขียนคนอื่นๆ ทั่วไปคือ เจอกับช่วงเวลาเขียนไม่ออกเสมอ และเมื่อใดที่เจอช่วงเวลานี้ เธอก็จะหยุดเขียน แล้วหันมาคิดวิเคราะห์พล็อตของตัวเองแทน ว่าจะสามารถใส่อะไรเพิ่มลงไปได้อีก หรือแก้ไขตรงไหน ปรับลดตรงไหน เมื่อคิดได้แล้ว เธอค่อยกลับมาเขียนต่ออีกครั้ง” บางครั้งเธอก็อัดเสียงของตัวเองเอาไว้ในโทรศัพท์ หรือบางครั้งก็พิมพ์ข้อความที่คิดลงไป แล้วกลับมาอ่านละเอียดหรือฟังอย่างละเอียดอีกครั้งเมื่อพร้อม
 
อ่านให้มากๆ แต่อย่าติดสำนวนคนอื่นมา
Wole Soyinka นักเขียนบทละครและกวีชื่อดังผู้ชนะรางวัลโนเบลเมื่อปี 1986 คนนี้บอกว่าตัวเองเป็นนักอ่าน เขาชอบอ่าน อ่านเยอะมากๆ “ผมอ่านนิยายหลากหลาย ทั้งฝั่งยุโรป เอเชีย อเมริกา ผมจะอ่านให้เยอะที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะมันทำให้ผมได้รับประสบการณ์ดีๆ จากทั่วทุกมุมทั่วโลก การเขียนเปรียบเสมือนการสื่อสาร ถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ ให้เราได้สัมผัส คนส่วนใหญ่ไม่คิดถึงเรื่องนี้ สำหรับผม การอ่านเยอะๆ ทำให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเขียนงานของตัวเอง ผมไม่ได้ยึดติดกับการเขียนแบบใดแบบหนึ่ง ผมอ่านเยอะ และนำมาย่อย วิเคราะห์ จากนั้นก็เขียนในแบบของผมเอง” ใช่แล้ว การจะเป็นนักเขียนได้ คุณต้องอ่านให้เยอะและหลากหลาย ยิ่งอ่านเยอะผลงานก็จะยิ่งประณีตและมีเสน่ห์ อยากเป็นนักเขียน อ่านเยอะๆ นะ

ทำให้คนอ่านเชื่อในผลงานของคุณก่อน แล้วอื่นๆ จะตามมาเอง
กาเบรียล การ์เซีย มาเควซ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1982 เคยเป็นนักข่าวมาก่อน แล้วจึงผันตัวมาเป็นนักเขียน เมื่อถูกถามว่า ความแตกต่างระหว่างนักข่าวและนักเขียนคืออะไร เขาตอบว่า “สำหรับนักข่าว สิ่งสำคัญคือข้อเท็จจริง แค่ข้อเท็จจริงข้อเดียวก็ขยายเป็นข่าวได้ใหญ่โต สำหรับนิยายก็จะแตกต่างออกไป เพราะมันเป็นเรื่องแต่งขึ้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ นักเขียนต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนอ่านเชื่อในผลงานของตน แม้จะเป็นการสร้างข้อเท็จจริงใหม่ๆ แต่หน้าที่ของเราคือ ต้องทำให้น่าเชื่อถือ และน่าสนใจ” มาเควซเพิ่มเติมว่า ไม่สำคัญว่าคุณจะเขียนนิยายร่วมสมัยที่ใช้ฉากปัจจุบัน หรือเขียนนิยายไซไฟจากดาวอังคาร สิ่งสำคัญคือสร้างความเชื่อ เมื่อคนอ่านเชื่อในผลงานของเรา เขาก็จะรักผลงานของเราเอง
 
อย่าคิดมากเรื่องผลตอบรับ เขียนให้เต็มที่ก็พอ
หนึ่งในคำแนะนำที่เป็นที่พูดถึงเรื่อยมาของจอห์น สไตน์เบค นักเขียนชื่อดังผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1975 ก็คือ “อย่าคิดมากเรื่องที่ว่าเขียนจบแล้วจะเป็นยังไงต่อ ระหว่างที่เขียนทำให้เต็มที่ ใส่ใจกับทุกๆ หน้าที่เขียน แค่นี้ก็พอแล้ว พอจบเรื่อง คุณจะแปลกใจเองว่าทำไมผลงานของตัวเองถึงออกมาดีนัก” มีหลายครั้งหลายหนที่ระหว่างเขียนเราคิดมากว่า… คนอ่านจะชอบไหม สนพ. จะรับผลงานของเราไหม จะประสบความสำเร็จหรือเปล่า สไตน์เบคบอกว่าอย่าเอาแต่คิดเรื่องพวกนี้ ให้เขียนอย่างตั้งใจที่สุด แค่นี้ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จในแบบของเราแล้ว
 
เขียนตลอดเวลาสม่ำเสมอ แล้วแรงบันดาลใจก็จะมาเอง
มาริโอ วาร์กัส ไลโอซ่า เจ้าของรางวัลโนเบลเมื่อปี 2010 บอกว่าสิ่งสำคัญคือเขียนให้ได้ต่อเนื่อง เพราะ “ถ้ามัวแต่รอแรงบันดาลใจ ผมคงไม่มีวันเขียนจบ แรงบันดาลใจมาได้นานๆ ที แต่การอดทนเขียนให้ต่อเนื่องจะทำให้ผลงานของเราประสบความสำเร็จ” ไลโอซ่ายังเพิ่มเติมว่านักเขียนควรสร้างตารางเวลาการเขียนแต่ละวันและใส่ใจทำตามตารางเวลาสม่ำเสมอ เหมือนกำหนดนัดหมายกับตัวเอง เมื่อทำต่อเนื่อง แรงบันดาลใจก็จะมาเอง
 
จงเขียนเพื่อเชื่อมโยงกับคนอื่น
ซอล เบลโลว์ ผู้ได้รับรางวัลในปี 1976 เชื่อว่าเสน่ห์ของการเป็นนักเขียนคือการสร้างความสัมพันธ์กับนักอ่าน เบลโลว์บอกว่า “เมื่อคุณเปิดนิยายอ่าน คุณก้าวเข้าสู่โลกของนักเขียนและใกล้ชิดสนิทสนมกับพวกเขาทางจิตวิญญาณ คุณได้ฟังเรื่องเล่าของพวกเขา ได้เห็นตัวตนของพวกเขาผ่านสำนวนภาษา ผ่านเรื่องเล่า บุคลิกของนักเขียนโดดเด่นในทุกตัวอักษร การเขียนนั้นทรงพลังมาก และทำให้เราเชื่อมต่อกันทางจิตวิญญาณ เวลาเขียนให้คิดว่าเราเขียนเพื่อเล่าเรื่องให้คนอ่านฟัง และพวกเขาโหยหาเรื่องเล่าของเรา การเขียนคือการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเราทำเต็มที่ คนอ่านจะสัมผัสได้ และจะรักเรื่องราวที่เราเขียน”
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี

Deep Sound แสดงความรู้สึก   
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด