11 เทคนิค ก้าวสู่ความเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้นไปอีก

 

11 เทคนิค ก้าวสู่ความเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้นไปอีก 

การเขียนนั้น ถ้าให้พูดกันจริงๆ แล้ว มันคือเอาคำมาต่อๆ ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน แต่ว่า… ใครจะเก่งแค่ไหน มันอยู่ที่ฝีมือแล้วล่ะ ว่าจะนำถ้อยคำมาใช้ได้อย่างไรให้สนุกและน่าสนใจ เรามีเทคนิคน่าสนใจ 20 วิธีมาฝาก เผื่อว่าจะช่วยให้คุณนำไปปรับแต่งและพัฒนาการเขียนได้ดีขึ้น

1 เขียนจริงจัง 

“การฝึกฝนไม่ใช่ทำแค่ครั้งสองครั้งเพื่อให้เก่ง 

แต่มันคือคุณพยายามทำสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เพื่อให้ตัวเองเก่งขึ้นไปอีกและอีก) 

เชื่อกันว่า คนเราต้องใช้เวลาประมาณ 10,000 ชั่วโมง ในการฝึกฝนให้ตัวเองเก่งกาจในทักษะใดทักษะหนึ่ง แต่ถึงแม้คุณจะเพิ่มเวลาแค่สองชั่วโมงต่อสัปดาห์ เขียนให้มากขึ้น มันก็สามารถช่วยพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับคุณได้แล้ว เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเวลาคุณเล่นเกมน่ะแหละ ยิ่งเล่นด่านซ้ำๆ คุณจะยิ่งเก่งและพัฒนาได้มากขึ้น สิ่งดีๆ ที่คุณได้รับคือ 

  • คุณจะเข้าใจนิสัยการเขียนของตัวเองได้มากขึ้น และได้รู้ว่าตัวเราชอบเขียนเวลาไหน เขียนตอนไหนถึงทำได้ดีที่สุด หรือชอบเขียนที่ไหนมากที่สุด
  • คุณจะพัฒนาวินัยการเขียนและทักษะอื่นๆ ได้ดีขึ้น
  • คุณจะมีไอเดียใหม่ๆ และฝึกฝนการคิดได้ดี เฉียบคมมากขึ้น

2 ตรวจทานคำซ้ำ (และลบทิ้ง) 

หนึ่งในหนทางที่ใช้ได้จริง และทำให้เรากลายเป็นนักเขียนที่ดีขึ้นได้คือวิเคราะห์งานเขียนด้วยระบบตรวจคำซ้ำ บางทีเวลาเขียนเราไม่รู้ตัว แต่เมื่อเราตรวจสอบดูตัวอย่างงานเก่าๆ แล้วค้นคำค้นที่เราใช้บ่อยๆ เราจะได้เห็นว่าตัวเองชอบใช้คำแบบไหน และเขียนอะไรซ้ำๆ ซากๆ บ้าง นักเขียนที่ดีควรเขียนให้หลากหลาย และไม่ควรใช้คำซ้ำซ้อนกัน 

3 ไม่เขียนพล็อตซ้ำๆ 

นักเขียนหลายคนเจอปัญหานี้เสมอ เวลาเขียนพล็อตซ้ำ มันทำให้เราตัน และเขียนไม่ออก เพราะไม่รู้ว่าควรไปทางไหนต่อ แนะนำว่าไม่ควรเขียนพล็อตซ้ำกับคนอื่น เพราะพล็อตซ้ำๆ นั้น ทำให้เราขี้เกียจ และถ้าเราเขียนไม่เก่งพอ ก็อาจทำให้น่าเบื่อได้ ทุกครั้งที่เขียนพล็อตซ้ำ คุณตัดโอกาสตัวเองที่จะเป็นต้นแบบ ไม่ว่ายังไง พยายามเขียนนิยายที่แตกต่าง แปลกใหม่ และเป็นตัวเอง 

4 สร้างงานที่มีเป้าหมาย  

บ่อยครั้งเวลาเขียนเราลืมเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการเขียนไป และเขียนออกนอกลู่นอกทาง มันจะกลายเป็นนิสัยที่แย่ได้ เวลาเขียนต้องจำไว้เสมอว่าเรามีเป้าหมายอย่างไร อย่าลืมทบทวนอยู่เสมอ สมมติคุณจะสร้างสิ่งก่อสร้างสักอย่าง คุณต้องคอยตรวจสอบเสมอว่ามันเหมือนแบบที่เขียนหรือไม่ การเขียนนิยายก็เป็นแบบนั้นแหละ

5 อ่านให้มากๆ

สตีเฟ่น คิงมักบอกให้นักเขียนอ่านให้มากๆ เขาบอกว่า “สิ่งสำคัญที่แท้จริงของการอ่านคือมันช่วยให้กระบวนการเขียนง่ายเข้า และถ้ามีคนอ่านเยอะๆ ก็จะมีนักเขียนเพิ่มขึ้อย่างแน่นอน” และเวลาอ่านก็ควรอ่านแบบนักเขียน นั่นคืออ่านเอาเรื่องด้วย อ่านโครงสร้างประโยคด้วย อ่านคำศัพท์ต่างๆ จับจังหวะเรื่องด้วย เวลาอ่านอ่านอย่างตั้งใจ และอ่านอย่างมีสติ คอยคิดคอยนำมาปรับใช้กับทักษะของตัวเอง พัฒนาตัวเองสม่ำเสมอ 

6 อ่านพร้อมดินสอปากกาในมือ 

เมื่ออ่านจบแล้วหนึ่งรอบ เราคิดว่าคุณน่าจะพอจดจำอะไรได้หลายอย่าง ก็อยากให้ลองอ่านเรื่องที่ชอบซ้ำอีกครั้ง พร้อมดินสอปากกาในมือ จดเอาสิ่งที่ชอบจากเรื่องออกมา เขียนตัวละครได้ดีมาก เขียนพล็อตแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร พรรณนาอาหารได้น่ากินสุดๆ บรรยายฉากได้เห็นภาพ ชอบอะไรก็เขียนจดออกมา เพื่อจะได้ลองไปปรับใช้กับนิยายตัวเอง

7 เขียนในแบบของตัวเอง ไม่ต้องไปทำตามใคร

การอ่านเคล็ดลับการเขียนก็ดี แต่ว่าคุณก็ต้องฟังความรู้สึกของตัวเองด้วย ไม่ใช่ไปเขียนตามคนอื่น ไปเชื่อคนอื่นเสียหมด ถ้าอยากเป็นนักเขียน ก็ควรเขียนในแบบที่ตัวเองชอบ เขียนจากใจ เขียนอย่างตั้งใจ ชอบอะไรสนใจอะไร ชอบสไตล์การเขียนแบบไหน จงทำมันออกมา ถ่ายทอดออกมาในงานเขียน อย่าลืมว่าโลกนี้มีคุณอยู่คนเดียว ไม่ว่าคุณเขียนอะไร ถ้าเป็นตัวของตัวเอง ยังไงก็สนุกและไม่เหมือนใคร

8 ทดสอบดูว่าการเขียนสไตล์คุณนั้นดีพอหรือไม่ 

ไม่ใช่ว่าเขียนแล้วชอบ โอเคอยู่คนเดียว คุณควรจะให้คนอ่านได้ทดลองอ่านงานของคุณดูด้วย อย่าเชื่อแต่ความคิดของตัวเอง ในฐานะคนเขียนคุณต้องรักงานตัวเองอยู่แล้ว แต่ว่าคนอ่านก็ควรมีสิทธิ์จะวิจารณ์และบอกความรู้สึกที่มีต่องานของคุณ เมื่อเขียนจบ ลองลงนิยายให้คนอื่นๆ ได้อ่านและวิจารณ์ จะได้รู้ข้อดีข้อด้อยและนำมาปรับใช้ในงานของตนได้ 

9 เปิดและปิดเรื่องให้คม 

ตอนเปิดเรื่องและปิดเรื่องสำคัญมาก ถ้าเปิดเรื่องมาเนิบๆ น่าเบื่อ คนอ่านก็จะเบื่อ และจะเทนิยายคุณ ดังนั้น ต้องเปิดเรื่องให้น่าสนใจตั้งแต่ประโยคแรก และปิดเรื่องให้น่าสนใจมากๆ เช่นกัน พยายามเขียนตอนเปิดและปิดให้ดีและน่าสนใจเสมอ ตอนเปิดควรทำให้คนอ่านอยากรู้ และตอนปิดก็เช่นกัน 

10 อย่าลืมภาพรวมใหญ่

เมื่อเริ่มเขียนนิยายแล้ว ก็อย่าลืมดูภาพรวมด้วยว่าเรื่องมันกลมกลืนกันไหม ไม่ใช่อยากเขียนอะไรก็เขียน อยากใส่อะไรก็ใส่ พยายามให้โทนเรื่องเป็นไปในทางเดียวกัน คนอ่านจะได้ไม่สับสนหรืองง

11 รีไรท์งานเสมอ ทั้งรีไรท์เองและหามืออาชีพช่วย

ไม่มีงานเขียนชิ้นไหนดีไม่มีที่ติ เราควรจะหาคนช่วย และเราก็ต้องรีไรท์เองด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรหาบรรณาธิการมืออาชีพ ที่สามารถวิเคราะห์งานเขียนของเราได้อย่างชัดเจนและช่วยเราพัฒนางานเขียนได้ดี

ทีมงานนักเขียนเด็กดี 

ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น