จากคุ้งกระเพาะหมู สู่คุ้งบางกะเจ้า ปอดใหญ่ปากอ่าวไทย แหล่งเที่ยว เรียนรู้ วิถีธรรมชาติ และชุมชน

       คุ้งบางกะเจ้า อยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เกิดจากการตวัดโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่รูปกระเพาะหมู ล้อมรอบด้วยลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาผู้คนในพื้นที่เรียกว่า “คุ้งกระเพาะหมู”

“คุ้งกระเพาะหมู”  ในอดีตเป็นป่าชายเลนและสวนผลไม้ มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติแบบหลากหลาย ในพื้นที่มีคลองและร่องสวนน้ำขึ้นน้ำลงเพราะไม่ไกลจากปากอ่าวไทย บริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ป่า ที่นี่มี 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม พื้นที่ประกอบด้วย 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลทรงคนอง ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางยอ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางกอบัว และตำบลบางกะเจ้า รวมพื้นที่ประมาณ 11,819  ไร่ ด้วยสภาพที่เป็นคุ้งโค้งทำให้การไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อออกสู่ปากอ่าวไทยเกิดความล่าช้า คุ้งบางกะเจ้าจึงเกิดน้ำท่วมขังยาวนาน การใช้ชีวิตของผู้คน การสัญจร การทำกินได้รับผลกระทบในทุกปี แม้จะมีลำคลองภายในพื้นที่หลายสายก็ตามซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือคลองลัดโพธิ์ รวมอยู่ด้วยสำหรับคลองลัดโพธิ์นั้น เป็นชื่อคลองเดิม อยู่บริเวณตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมตื้นเขิน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "เบี่ยงน้ำ" ให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่ปากอ่าวไทยได้เร็วขึ้น และกั้นน้ำเค็มจากอ่าวไทยในช่วงน้ำขึ้นไม่ให้เอ่อล้นเข้ามายังพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การดูแลของ 3  หน่วยงานคือ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

 

 จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดเคี้ยวมีความยาวถึง 18  กิโลเมตร ทำให้การระบายน้ำของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน  การใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งมีความยาว 600  เมตร เป็นช่องทางการระบายน้ำหลากและน้ำที่ท่วมทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันท่วงทีก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลให้ขึ้นไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18  กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้น้ำไม่ขึ้นไปท่วมตัวเมือง  ขณะที่คุ้งบางกะเจ้าก็ไม่ได้รับผลกระทบจากสายน้ำ สามารถอยู่อาศัยทำกินได้อย่างปกติตลอดทั้งปี พืชผัก ไม้ผลก็สมบูรณ์ขึ้น ปัจจุบันเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน

นางดวงใจ  ฉายายนต์  หัวหน้ากลุ่มหอมป่าจาก ศูนย์เรียนรู้บ้านบางกระสอบ (หอมป่าจาก) ซอยเพชรหึงษ์ 22  ตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เล่าว่าที่นี่นับแต่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คลองลัดโพธิ์เกิดความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีต้นจากจำนวนมากขึ้นตามแนวลำคลอง จึงทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องวิถีจากในพื้นที่ 3  น้ำ คือน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ที่บ่งบอกถึงความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ของคุ้งบางกระเจ้า มีสัตว์น้ำ และพืชป่าชายเลนมากมาย นอกจากนี้ไม้ผลที่ขึ้นในพื้นที่ 3 น้ำ จะมีรสชาติจัดจ้าน โดยเฉพาะมะม่วงจะมีรสชาติอร่อยมาก ซึ่งศูนย์ฯ ได้นำวัสดุต่าง ๆ จากพืชในท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดหลายอย่าง เช่น การทำพัดใบจาก การเพ้นท์ใบไม้ หรือการทำอาหาร ทำขนมใบจาก ชาจาก เป็นต้น

“ประชาชนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังสามารถพายเรือล่องไปตามลำคลองผ่านอุโมงค์จาก และดื่มด่ำกับธรรมชาติของป่า 3 น้ำ ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีอาหารพื้นถิ่นที่มีชื่อเสียง คือ แกงส้มพริกสด เมี่ยงพริกกับเกลือ  ซึ่งเป็นอาหารที่มีให้กินที่นี่เท่านั้น โดยศูนย์ฯ จะเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจศึกษาดูงานทุกวัน โดยต้องโทรมานัดหมายก่อนล่วงหน้า เพื่อกลุ่มซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนจะได้เตรียมตัว และเตรียมอาหารให้ท่านที่จะมาเยี่ยมชม ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ศูนย์เรียนรู้บางกระสอบ เบอร์ติดต่อ 065-441-6493” นางดวงใจ  ฉายายนต์ กล่าว 

         นอกจากในพื้นที่นักท่องเที่ยวยังจะได้พบกับภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น ที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นตลอดถึงประเพณีและวัฒนธรรม ไทย มอญ และ จีน  ปัจจุบันที่นี่จัดเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้เมืองที่มีความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม เสมือนปอดของคนเมือง มีผู้คนเดินทางเข้าเที่ยวชมทัศนียภาพสูดอากาศบริสุทธิ์ พร้อมเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2549  นิตยสาร Time Magazine ได้ประกาศยกย่องให้พื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้าเป็น “The Best Urban Oasis of Asia” ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ เหมาะกับการท่องเที่ยวแบบวันเดียวจบ  ท่านที่สนใจสามารถเดินทางได้ทั้งรถส่วนตัว รถโดยสารสาธารณะ โดยลงที่ตลาดบางน้ำผึ้ง หรือ นั่งเรือจากท่าเรือบางนาแล้วไปขึ้นที่ท่าเรือวัดบางน้ำผึ้งนอกก็ได้

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น