สวัสดีค่ะ ชั้นเรียนพิเศษ Dek-D's Admission Class ในวันนี้ พี่เมก้าจะพาน้องๆไปตอบข้อสงสัยในบทเรียนที่ใครหลายคนมักตั้งคำถามว่า "ทำไมต้องเรียน ไม่เห็นรู้เรื่อง!" อ่าฮ้า จะเป็นวิชาอะไรถ้าไม่ใช่ฟิสิกส์ ความจริงฟิสิกส์เป็นเรื่องใกล้ตัวน้องๆนะคะ ที่ใกล้มากๆก็ตรงที่จะสอบแล้วนี่แหละ งั้นเรารีบมาสวัสดีและต้อนรับอาจารย์ประจำคลาสในวันนี้กันเลยดีกว่า "อ.เผ่า นพ. ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์" แห่งโรงเรียนกวดวิชาแอพพลายด์ฟิสิกส์ค่ะ


 
         อ.เผ่า เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนฟิสิกส์มากว่า 30 ปีเลยนะคะน้องๆ แนว Concepts ที่เข้มข้น + Forms การคำนวณที่รวดเร็วจากอาจารย์ พาน้องๆคว้าคะแนนสอบฟิสิกส์แบบ 100% เต็มในการเข้ามหาวิทยาลัยมาหลายรุ่นเลย วันนี้ อ.เผ่ามาพร้อมกับหัวข้อพิเศษ "เทคนิคพิชิตข้อสอบฟิสิกส์ด้วยวิธีคิดที่เป็นระบบ" ถ้าน้องๆพร้อมแล้วเราไปทำความเข้าใจฟิสิกส์อย่างลึกซึ้งตั้งแต่วันนี้จะได้คว้าคะแนนเต็มกันยกเว็บเลยดีกว่า!

ธรรมชาติของวิชาฟิสิกส์

         ฟิสิกส์เป็นวิชาที่เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เป็นธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา สูตรและทฤษฏีที่มีผู้ค้นพบก็แค่การที่เขาอธิบายความจริงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติให้เรารู้นั่นเองครับ ดังนั้นถ้านักเรียนเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด และชอบทำแบบฝึกหัด วิชาฟิสิกส์จะไม่ใช่วิชาที่ยากเลย

         อ.เผ่ามองว่าวิชาฟิสิกส์ไม่ยากอย่างที่นักเรียนคิดกลับง่ายกว่าวิชาอื่นด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพราะ อ.เผ่าสอนฟิสิกส์ก็เลยบอกว่าง่ายนะครับ แต่ให้นักเรียนลองดูสถิติจากคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยย้อนหลังจะพบว่าวิชาที่มีคนเต็ม 100% มากที่สุดคือวิชาฟิสิกส์ และวิชาที่มีนักเรียนได้คะแนนเกิน 90% มากที่สุดก็คือวิชาฟิสิกส์ แต่อย่างไรก็ตามมีอยู่เพียง 2 วิชาที่นักเรียนได้ 0 คะแนนทุกปีและเต็ม 100% ทุกปีเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือวิชาคณิตศาสตร์กับ "ฟิสิกส์"  

         อ้าว! แล้วแบบนี้ หมายความว่ายังไงล่ะครับ? จากข้อมูลนี้จึงพอสรุปได้ว่า ฟิสิกส์เป็นวิชาที่ทำคะแนนได้ง่ายกว่าวิชาอื่นๆและนักเรียนที่รู้ก็รู้จริงเช่นกัน แต่คนที่ไม่รู้ก็ไม่รู้เรื่องจริงๆหรือรู้แบบผิดๆนั่นเองครับ วันนี้เราจึงต้องมาจัดระบบความคิดกัน


พิชิตข้อสอบ "ฟิสิกส์ PAT2+วิชาสามัญ" ด้วยวิธีคิดที่เป็นระบบ

        ข้อสอบฟิสิกส์ PAT2และวิชาสามัญ มีเนื้อหาและสูตรคือเรื่องเดียวกันทุกประการ เพียงแต่มีจุดเน้นต่างกันนะครับ "ฟิสิกส์ในวิชาสามัญชอบออกเป็นโจทย์ที่ติดตัวอักษรมากกว่าตัวเลข" ดังนั้นนักเรียนอย่ากังวลไปครับ ให้รู้ไว้ว่าถึงจะเป็นแบบนั้นแต่ทั้งสองสนามสอบก็คือความรู้ก้อนเดียวกันที่ต้องอาศัย "การจัดการความคิดอย่างเป็นระบบ"

Step1 : ประเมินตนเอง "ทำข้อสอบฟิสิกส์ไม่ได้เพราะเหตุใด?"
         การที่นักเรียนทำข้อสอบวิชาฟิสิกส์ไม่ได้น่าจะมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ

1. จับ CONCEPTS และสูตรสำคัญไม่ได้

2. ฝึกทำโจทย์ไม่มากพอ ทำให้มองไม่เห็นความเชื่อมโยงของแต่ละบท


Step2 : เติมเต็มความรู้ด้วยการ "เชื่อมโยงบทเรียน"
         เมื่อนักเรียนทราบแล้วว่าเหตุใดถึงทำข้อสอบไม่ได้ให้เติมเต็มความรู้ในส่วนที่ขาดอย่างมีระบบระเบียบครับ คิดอย่างนี้นะครับ นักเรียนต้องนำความรู้จากที่เข้าใจในแต่ละบทมาเชื่อมโยงกันให้ได้

          ยกตัวอย่างจากบทเรียนฟิสิกส์ 10 บท ที่นักเรียนได้สั่งสมความรู้มา ทั้งเรื่องการเปลี่ยนหน่วย การเคลื่อนที่แนวเส้นตรง แรงและกฏนิวตัน โพรเจคไทล์ วงกลม ซิมเปิลฮาร์มอนิก งานและพลังงาน โมเมนตัม การหมุน สมดุลกล รวมแล้วเรียกว่ากลศาสตร์และการเคลื่อนที่แบบต่างๆ การออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย อาจนำกลศาสตร์ที่กล่าวมาไปเชื่อมโยงกับไฟฟ้าก็ได้

          ดังนั้นนักเรียนที่เรียนแบบจำๆสูตรอย่างเดียว แต่ไม่เข้าใจจริง "ไม่มีความคิดที่เป็นระบบก็จะทำข้อสอบวิชาฟิสิกส์ไม่ได้" ฟิสิกส์ไม่ใช่ข้อสอบที่ยาก ไม่มีบทไหนยากที่สุดหรือง่ายที่สุดแต่ทุกบทมีความสัมพันธ์กันครับ นักเรียนต้องรู้จักเชื่อมโยงบทเรียนให้เป็นนะครับ


Step3 : ลองวิเคราะห์+ฝึกทำข้อสอบเก่า
         นักเรียนลองวิเคราะห์ข้อสอบตาม อ.เผ่า ดูนะครับ วิชาฟิสิกส์มีประมาณ 20 บท ออกข้อสอบ 25 ข้อ (วิชาสามัญ/กสพท.) และออกเฉลี่ยๆกันไป บทละ 1-2 ข้อเท่าๆกัน

          สำหรับการเตรียมตัวสอบ PAT2และวิชาสามัญ ในเวลาที่เหลือนี้อาจารย์อยากให้ใช้ไปกับการลองทำข้อสอบเก่าเยอะๆมากกว่าการนั่งอ่านหนังสือหรือท่องจำสูตรนะครับ คนส่วนใหญ่จะพยายามอ่านหนังสือให้จบก่อนแล้วจึงจะฝึกทำข้อสอบเก่า และก็คนส่วนใหญ่อีกนั่นแหละที่จะอ่านหนังสือไม่จบก็เลยไม่ได้ทำโจทย์ข้อสอบเก่าสักที เพราะแบบนี้ไงครับเลยทำให้ไม่รู้แนวข้อสอบว่าของจริงเขาออกอะไรกัน

          อ.เผ่าขอให้คิดสวนทางกับชาวบ้านนะครับ "ขอให้นักเรียนฝึกทำข้อสอบเก่าก่อนเลย แล้วลองวิเคราะห์
ดูว่าเราทำไม่ได้ตรงไหน สูตรไหน ให้กลับไปอ่านตรงนั้น" ลองทำดูนะครับ แรกๆจะติดขัดหน่อยเพราะทำไม่ค่อยได้ แต่หลังจากเปิดอ่านสูตรหรือทฤษฏีไปสักพักก็จะจำได้และทำได้เองครับ "จงทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำแล้วเราจะได้ในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ได้ครับ"

Step4 : ก้าวสู่สนามสอบโดยใช้ "ความรู้คู่เวลา"
         ในการสอบแข่งขันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งที่ใช้วัดคือความรู้กับเวลา นักเรียนควรคิดอยู่เสมอนะครับว่า "เราต้องทำได้และต้องทำได้ในเวลาที่จำกัดด้วย" อาจารย์อยากให้หลักง่ายๆว่า ในการสอบแข่งขันเป็นเวลาของการแสดงความรู้ที่เรามีนะครับ เวลานี้นักเรียนต้องเคยเห็นโจทย์มามากพอสมควรแล้ว สำหรับวิชาฟิสิกส์ควรเห็นบทละ 200 ข้อครับ

         ถ้าเจอข้อสอบฟิสิกส์ข้อไหนก็ตามแล้วไม่ทราบว่าอยู่ในเรื่องไหน บทไหน จะใช้สูตรอะไรดี ขอให้ข้ามข้อนั้นไปเลย เอาเวลาที่เท่ากันไปทำในข้อที่เคยเห็น เคยทำ อ่านแล้วนึกออกว่าจะทำอย่างไรจะดีกว่าครับ นักเรียนมีโอกาสได้คะแนนมากกว่า แล้วถ้าเหลือเวลาค่อยกลับมาทำข้อที่ข้ามไป อย่างนี้ดีกว่าแน่นอนครับ เพราะทุกข้อมีคะแนนเท่ากันไม่ว่าจะเป็นข้อง่ายหรือข้อยาก

         อ.เผ่า อยากจะเน้นอีกสักหน่อยคือ "3 ข้อแรกของการสอบต้องทำได้นะครับ" เปิดข้อสอบมาปุ๊บเลือกหาข้อที่ง่ายๆ อ่านแล้วมั่นใจว่าทำได้แน่ แล้วเลือกทำข้อนั้นก่อน ถ้าทำได้ 3 ข้อแรก กำลังใจจะมาเองครับ เราจะทำข้อต่อไปได้อย่างสบายใจ แต่บางคนยึดติดว่าต้องทำเรียงข้อ ถ้าเจอข้อสอบข้อแรกยาก ข้อสองยาก ทำไม่ได้ คราวนี้เหงื่อโง่มันจะไหลครับ มือไม้สั่น กำลังใจจะเสีย จะพาลทำข้อง่ายๆข้ออื่นผิดไปด้วยครับ


 
         ท้ายบทเรียนนี้ อ.เผ่า ก็ขอฝากถึงนักเรียนทุกคนนะครับว่า ขอให้เลือกคณะที่เราอยากเรียนจริงๆ ไม่ใช่เรียนตามกระแสสังคม เพราะการได้ทำในสิ่งที่ชอบคืออิสระและชอบในสิ่งที่ทำคือความสุข เราต้องอยู่กับวิชาชีพที่เราเลือกไปอีกเป็นสิบปี เราจะสนุกกับชีวิตได้ทุกวัน ก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยครับ

          แต่ถ้าเกิดเราทำสุดความสามารถแล้วยังไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยที่เราหวังได้จริงๆ ก็ขออย่าเสียใจหรือท้อแท้ มีคนอีกมากที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยชื่อดัง เราอาจไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัยเปิดก็ได้ ขอให้จบมาแล้วมีความรู้ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน เราก็สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพได้ครับ ด้วยรักและปรารถนาดีจาก อ.เผ่า ครับ

          จบคลาสวันนี้ก็อย่าลืมจัดระบบความคิดให้เตรียมพร้อมสอบนะคะ ฟิสิกส์เป็นวิชาที่น้องๆต้องใช้ความเข้าใจเยอะๆค่ะ อย่างที่ อ.เผ่าบอก ท่องสูตรอย่างเดียวแต่คิดไม่เป็นระบบ ประยุกต์ไม่ได้มันก็เท่านั้นเนอะ สำหรับวันนี้ต้องขอขอบคุณ อ.เผ่า มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

  
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
พี่เมก้า Member 15 ธ.ค. 58 16:50 น. 4-1
อย่าเพิ่งท้อสิ สู้ๆ ทุกปัญหาที่ผ่านเข้ามาจะทำให้เราเติบโตขึ้นนะ อีกไม่นานมันก็จะผ่านไป นึกถึงรอยยิ้มในวันข้างหน้า แล้วเราจะขอบคุณน้ำตาในวันนี้ :)
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด