ทายกันถูกไหม? ชื่อสาขา/คณะ 9 ชื่อนี้ เรียนเกี่ยวกับอะไร


     สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D.com ค่ะ...จนถึงวันนี้ ยังมีน้องๆ ม.6 ที่ล่องลอยยังไม่รู้ตัวว่าจะเรียนอะไรอีกมั้ยคะ ถ้าใครแอบยกมือในใจเบาๆ ขอให้อ่านบทความนี้ให้จบ เพราะวันนี้พี่มิ้นท์คัดรายชื่อสาขาทั้งวิทย์-ศิลป์ ที่ "อ่านแค่ชื่อก็ยังดูไม่ออกว่าเรียนอะไร หรือ ยังไม่ชัวร์ว่าจะเรียนเหมือนที่คิดไว้มั้ย" รับประกันว่าอ่านจบ จะช่วยเปิดโลกคณะให้น้องๆ ได้มากขึ้นแน่นอน ไม่แน่รับตรง/แอดมิชชั่นปีนี้ อาจได้ไปในอยู่ในคณะเหล่านี้ก็ได้
 

   1. สาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย
      คำถามแรกที่มักได้ยินจากน้องๆ คือ สาขาคณิตศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ประกันภัย มันต่างกันยังไง? ถ้าพูดแบบภาพรวม สาขาคณิตศาสตร์ก็จะเน้นไปทางทฤษฎี เรียนแคลคูลัส บทพิสูจน์ต่างๆ ซะส่วนใหญ่ แต่คณิตศาสตร์ประกันภัย จะเพิ่มในเรื่องของสถิติมาใช้ในการวิเคราะห์มากขึ้น ดังนั้นบางมหาวิทยาลัยคณิตศาสตร์ประกันภัยก็จะไปเป็นวิชาโทในสาขาสถิติอีกที
     สรุปแล้ว สาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย เราจะได้เรียนเกี่ยวกับการนำคณิตศาสตร์มาวิเคราะห์ ประเมิน ความเสี่ยงต่างๆ ให้ออกมาในรูปแบบของการเงิน เช่น การประกันความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การประกันความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เป็นต้น ในบ้านเราก็ยังมีตลาดงานด้านธุรกิจประกันภัยรองรับอยู่อีกเยอะเลยล่ะค่ะ
      ยกตัวอย่างวิชาของสาขาที่น่าสนใจ เช่น หลักการประกันภัยและการเกษียณ, ทฤษฎีดอกเบี้ย, การจำลองรูปแบบเชิงสถิติ, การประกันความไม่แน่นอนของชีวิต, การวิเคราะห์ความเสี่ยงและความน่าเชื่อถือ เห็นชื่อวิชาแล้ว อยากเรียนเพิ่มขึ้นมั้ยคะ^^

   2. สาขาสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
 

credit : www.tds.tu.ac.th/th/gallery/index.php?id=1

       สาขานี้ฟังชื่อดูทันสมัยมากๆ เลยใช่มั้ยคะ เป็นหลักสูตรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ นั่นเองค่ะ น้องๆ ลองสังเกตคอนโด หรือ ตึกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ ก็จะเห็นถึงพลังบางอย่าง นั่นก็คือ พลังความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง (อย่าเพิ่งคิดไปไกล) เพราะเดี๋ยวนี้ประโยชน์การใช้สอยต้องมาคู่กับความสวยงาม สถาปนิกจึงมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
       หลักสูตรนี้จะบูรณาการความรู้ทั้งสถาปัตยกรรม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริหารธุรกิจ เรียกว่าเรียน 1 ได้ถึง 3 เราจะได้เป็นสถาปนิกที่มีความสามารถในเชิงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สามารถสร้างมูลค่า เรียนรู้ข้อกฎหมาย และการสร้างการตลาด เพื่อรองรับการแข่งขันทางธุรกิจได้ เรามาดูวิชาเรียนกันค่ะ เช่น ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมโลก, การออกแบบสถาปัตยกรรม เพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, กฎหมายอาคาร เพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, การวิเคราะห์ตลาดเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, วัสดุและเทคนิคการก่อสร้าง โครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

   3. สาขาวาริชศาสตร์
       "วาริชศาสตร์" เป็นชื่อสาขาที่พี่มิ้นท์รู้สึกว่าชื่อเพราะมากๆ เลย ถ้าดูจากความหมายของคำก็คงจะเดาได้ไม่ยากว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร? เฉลยก็คือ เรียนเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำนั่นเอง น้องๆ สงสัยมั้ยว่า แค่เรื่อง "น้ำ" มีอะไรให้เรียนถึง 4 ปีเลยหรอ มีแน่นอนค่ะ!
      วาริชศาสตร์ จะเรียนหลายศาสตร์ที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่น้ำจืดไปจนถึงมหาสมุทร รวมถึงงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น สายการผลิตน้ำดื่ม เป็นต้น เรียนทั้งในด้านเทคนิคและการจัดการบริหาร เรียกว่าเรียนครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวกับน้ำจริงๆ ยกตัวอย่างวิชาเรียน เช่น หลักการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, สมุทรศาสตร์, อุตุนิยมวิทยาทางวาริชศาสตร์, นิเวศวิทยาชายฝั่ง, การจัดการทรัพยากรทางวาริชศาสตร์ เป็นต้น
      สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้ มี ม.บูรพา และ ม.สงขลานครินทร์ค่ะ แต่ก็มีสาขาที่เรียนคล้ายๆ กันในมหาวิทยาลัยอื่น ก็คือ สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล สาขานิเวศวิทยา ก็ได้ค่ะ

   4. สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์
       สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ มีหลักสูตรที่เรียนเหมือนกันแต่คนละชื่อ นั่นก็คือ สาขาเวชกิจฉุกเฉิน สาขานี้ทำงานในแวดวงการแพทย์เหมือนกันค่ะ ซึ่งมีเปิดสอนอยู่หลายที่ ทั้ง คณะแพทยศาสตร์ ม.พะเยา, คณะแพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม, คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ถึงแม้จะอยู่ในหลักสูตรแพทยศาสตร์ แต่เราไม่ได้เรียนมาเพื่อเป็นหมอนะคะ ที่สำคัญเราจะได้รับวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิตค่ะ แล้วเรียนอะไรล่ะ?
       สิ่งที่น้องๆ จะได้เรียนในสาขานี้ก็คือ หลักการปฏิบัติหน้าที่ฉุกเฉินการแพทย์ ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะต้องมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยก่อนที่จะส่งโรงพยาบาล แต่เราจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในระดับขั้นสูง ได้เรียนรู้ทั้งในการการดูแลผู้บาดเจ็บ การกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า การขนย้ายผู้บาดเจ็บ การให้น้ำเกลือ ฯลฯ สาขานี้ที่ต่างประเทศนั้นมีมานานแล้วค่ะ แต่ที่ไทยเองยังไม่ค่อยบูมเท่าไหร่ ถ้ามองถึงความสำคัญ ก็ต้องบอกว่าสำคัญมากเลย เพราะการดูแลตั้งแต่จุดเกิดเหตุได้ดีเท่าไหร่ ผู้ป่วยก็ยิ่งปลอดภัยขึ้นเท่านั้น
       สำหรับรายวิชาที่เราจะได้เรียนก็จะมี ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน, การดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน, หัตถการทางการแพทย์, การช่วยฟื้นคืนชีพ เป็นต้น
    
  
5. สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย
 

credit : www.youtube.com/watch?v=99vcjjaXbME

      คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ไม่ได้มีแต่แพทย์ที่เรียนเพื่อเป็นหมออย่างเดียวนะคะ แต่ยังมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์อีกหลายหลักสูตร หนึ่งในนั้นก็คือ สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมายนั่นเอง สาขานี้จะมีเอกย่อย 2 เอก คือ เอกแก้ไขการพูดและเอกแก้ไขการได้ยิน (โสตสัมผัสวิทยา) เรียนเพื่อไปเป็นนักแก้ไขการพูด และนักการแก้ไขการได้ยิน พูดให้เห็นภาพก็เช่น แก้ไขปัญหาเด็กที่พูดไม่ชัดจากสาเหตุปากแหว่งเพดานโหว่ หรือในเคสของผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องของการได้ยิน จากเส้นประสาทหูเสื่อม เป็นต้น มักจะทำงานในโรงพยาบาล ร่วมกับแพทย์หู คอ จมูก เป็นส่วนใหญ่ค่ะ
       มาดูวิชาเรียนกันค่ะ เช่น โรคหู คอ จมูกที่สัมพันธ์กับความผิดปกติของการสื่อความหมาย, หลักการฟื้นฟูสมรรถภาพการฟัง, หลักการเครื่องช่วยฟัง, ภาษา และการพูดในเด็กกลุ่มอาการออทิสติก, ปฏิบัติงานคลินิกการได้ยิน/คลินิกภาษา เป็นต้น
    
 
  6. สาขาการจัดประชุมนิทรรศการและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล
      สิ่งที่เรียนเกี่ยวกับสาขานี้ก็ตรงตามชื่อสาขาเลย นั่นก็คือ การจัดประชุมนิทรรศการและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล น้องๆ อาจจะคุ้นในชื่ออื่นๆ เช่น การจัดการโรงแรมและอีเว้นท์ หรือ การจัดการธุรกิจไมซ์ แนวๆ นี้ แต่โดยรวมจะเรียนคล้ายๆ กัน คือ มุ่งเน้นไปที่ ธุรกิจไมซ์ (MICE) ซึ่งย่อมาจาก ธุรกิจการจัดการประชุม (Meeting), การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel), การประชุมนานาชาติ (Convention) และงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ (Exhibition) น้องๆ รู้มั้ยคะว่าตอนนี้ธุรกิจแนวนี้ในประเทศไทยเติมโตเร็วมากกก และประเทศไทยเองก็มีสถานที่และทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะกับธุรกิจไมซ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
      สิ่งที่น้องๆ จะได้เรียนไม่ใช่แค่ด้านทฤษฎี เพราะงานด้านนี้เป็นงานที่อาศัยความตื่นตัว คล่องแคล่ว หลักสูตรนี้จึงเน้นการฝึกปฏิบัติค่อนข้างเยอะค่ะ เพื่อให้เห็นภาพ ลองมาดูวิชาเรียนกัน เช่น ความรู้เบื้องต้นในอุตสาหกรรมไมซ์, การจัดการสถานที่จัดงานและที่พัก, การเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว, การจัดการความเสี่ยงและวิกฤตสำหรับการท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมไมซ์ จะเห็นว่า เราจะได้เรียนกันแบบเจาะลึกลงไปในธุรกิจนี้ ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงดีเทลการจัดงานในรูปแบบต่างๆ เลยทีเดียว และแน่นอนว่าเรียนจบออกไป น้องๆ จะเป็นได้ทั้ง ผู้จัดงานอีเว้นท์ ผู้ออกแบบและจัดประชุม หรือแม้แต่มัคคุเทศก์ก็เป็นได้ค่ะ
 
  
7.สาขาสหศาสตร์ศิลป์
       สายศิลปะที่น้องๆ คุ้นเคย อาจจะอยู่ในวงจำกัด เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ฯลฯ แต่คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ มีสาขาสหศาสตร์ศิลป์ ที่ถือว่าเป็นสาขาที่น่าสนใจ และน้องๆ ถามเข้ามาเยอะว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร ถ้าน้องๆ ดูความหมายจากชื่อ "สห-" แปลว่าร่วม ดังนั้น สหศิลป์ ก็คือการเรียนรวมหลายๆ ศาสตร์ของศิลปะ เพราะทุกวันนี้กระแสโลกเปลี่ยนไป การสื่อสารต่างๆ ก็ไร้ขีดจำกัดมากขึ้น สหศาสตร์จึงเป็นการทำงานศิลปะที่ผสมผสานศิลปะแนวจารีตกับวิธีการและสื่อใหม่ๆ อย่างอุปกรณ์เสียง โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดงานศิลปะที่แสดงออกทางความคิดในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง
       ยกตัวอย่างวิชาเรียนที่น่าสนใจ เช่น ศิลปะทดลอง, ศิลปะบนฐานกาล/เทศะ : ถ้อยความและงานเขียน เสียงและภาพเคลื่อนไหวในบริบทศิลปะ, วิจัยสตูดิโอ : ศิลปะบนฐานกาล/เทศะ/พื้นที่, ศิลปะวิจารณ์ เป็นต้น
    
 
  8. สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก
       น้องๆ หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นกับชื่อสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาขานี้อยู่ในคณะสหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร ค่ะ เท่าที่พี่มิ้นท์รู้จะมีที่ ม.นเรศวร และ ในวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติค่ะ
       สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก เราจะได้เรียนเกี่ยวกับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ตั้งแต่กระบวนการตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา ผ่าตัด ไปจนถึงประคับประคองผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคอื่นๆ ของอวัยวะในช่องอก ซึ่งคนที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ต้องมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในเครื่องมือ เพราะเรามีผู้ป่วยอยู่ในความดูแล สาขานี้จึงเป็นสาขาที่น่าสนใจมากๆ เลยล่ะค่ะ แน่นอนว่าจบออกมา เราก็จะได้เป็นนักปฏิบัติการเครื่องหัวใจและปอดเทียมในห้องผ่าตัดหัวใจ เป็นนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก หรือจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกก็ได้
       ยกตัวอย่างวิชาบังคับเรียนของสาขานี้ เช่น วิชาเครื่องมือทางการแพทย์ วิสัญญีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและปอด  พยาธิสรีรวิทยาของหัวใจและหลอดเลือกใหญ่และปอด พื้นบานศัลยกรรมทางหัวใจและทรวงอก เป็นต้น เห็นชื่อวิชาแล้ว พี่มิ้นท์บอกเลยว่ามีความเฉพาะทางมากๆๆๆ
    
  
9. วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย
 

credit : http://bodhi.swu.ac.th/

       มาถึงคณะ/สาขาสุดท้าย ที่ในช่วงหลังได้ยินค่อนข้างบ่อย เพราะมีทั้งในระบบรับตรงและแอดมิชชั่นกลาง นั่นก็คือ โพธิวิชชาลัย ของมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ มีวิทยาเขตอยู่ที่สระแก้ว ด้วยชื่อที่ไม่คุ้นเคย น้องๆ ก็เลยเกิดคำถามมากกว่าคณะอื่น เพราะเรายังไม่รู้จักเลยว่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย คืออะไร
       ถ้าแปลกันตรงตัว โพธิวิชชาลัย จะหมายถึง ที่อยู่ของความรู้ ซึ่งที่นี่จะสอนการใช้ชีวิตเพื่อการดำรงตนเอง โดยสอนการคิดและฝึกให้ใช้ชีวิตพอเพียง พึ่งพาตนเองมากกว่าคนอื่น เปิดสอนอยู่ 2 สาขา คือ สาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม และ สาขาการจัดการภูมิสังคม จบไปสามารถไปเป็นนักพัฒนาชุมชน นักจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม มัคคุเทศก์ หรือจะไปประกอบอาชีพอิสระก็ได้
      ยกตัวอย่างวิชาเรียนในสาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม ก็เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, การจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้, ภูมิสารสนเทศเพื่อวัฒนธรรมและศิลปะ เป็นต้น
      ส่วนสาขาการจัดการภูมิสังคม วิชาเรียนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและปรัชญาร่วมสมัย, นิเวศวิทยาและการจัดการป่าไม้, การสร้างพลังร่วม ชุมชน เป็นต้น
       

      เป็นยังไงบ้างคะกับ 9 สาขาที่พี่มิ้นท์คัดออกมาจากระเบียบการแอดมิชชั่นปี 59 ขอบอกว่าทุกสาขานี้มีอยู่จริงและเปิดรับสมัครจริงๆ นะคะ พี่มิ้นท์เองยังนึกอิจฉาน้องๆ สมัยนี้เลยว่ามีหลักสูตรใหม่ๆ น่าเรียนเพียบเลย ก็หวังว่าจะช่วยให้น้องๆ รู้จักหลักสูตรที่เปิดสอนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นนะ ถ้าน้องๆ ยังมีสาขาที่ไม่รู้จักอีก พิมพ์ไว้คอมเม้นท์ได้เลยน้า มีโอกาสพี่มิ้นท์จะหาคำตอบมาให้ค่ะ^^

 
 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น