5 อันดับอาชีพแข่งขันสูง พร้อมปัญหาของเด็กจบใหม่ที่นายจ้างปวดหัว!


           วัสดีค่ะ ถ้าเทียบช่วงนี้ในปีก่อน จะเห็นว่าเริ่มมีข่าวรับตรงเปิดรับแล้ว แต่ปีนี้ก็ยังเงียบๆ อยู่ จะมีประกาศก็แต่เฉพาะโครงการที่ไม่เข้าร่วม TCAS 61 ถือว่าเป็นอีกช่วงเวลาที่ให้น้องๆ ให้คิด ได้ตัดสินใจ และค้นหาตัวเองให้เจอว่าคณะที่อยากเรียนจริงๆ คือคณะไหนกันแน่

           เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ก.ค.60) พี่แป้งได้ไปงานแถลงข่าวข้อมูล "โอกาสในโลกการทำงานของนักศึกาาจบใหม่ ปีการศึกษา 2559" โดยเว็บไซต์ JobThai.com มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายส่วนที่นำมาฝากน้องๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งข้อมูลช่วยในการตัดสินเลือกที่จะเรียนต่อ

           พี่เดือน แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อนตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านการปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เผยว่า ในปีนี้คาดว่าจะมีนักศึกษาจบใหม่ทั่วประเทศกว่า 468,000 คน (ข้อมูลจากกรมจัดหางาน) ในปีนี้มีผู้ว่างงานกว่า 4 แสนคน และในภาพรวมมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น พอมาดูที่นักศึกษาจบใหม่จะพบว่ามีอาชีพที่มีอัตราการแข่งขันสูง 5 อันดับ ดังนี้

 

5 อันดับอาชีพที่แข่งขันสูง

     อันดับที่ 1 งานทรัพยากรบุคคล  อัตราการแข่งขัน  1 : 44
     อันดับที่ 2 งานสื่อสารมวลชน  อัตราการแข่งขัน  1 : 25
     อันดับที่ 3 งานวิทยาศาสตร์ / วิจัยพัฒนา  อัตราการแข่งขัน  1 : 24
     อันดับที่ 4 งานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน  อัตราการแข่งขัน  1 : 15
     อันดับที่ 5 งานอาจารย์ / วิชาการ  อัตราการแข่งขัน  1 : 13

**คิดอัตราการรับเทียบกับจำนวนใบสมัครในระบบ JobThai.com

           จากสถิติจะเห็นว่างานทรัพยากรบุคคลมาแรงเป็นอันดับแรก เป็นงานที่จำเป็นต้องมีในทุกองค์ ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาที่จบทางด้านนี้สูงมาก และในบางองค์กรเปิดกว้างรับทุกสาขาวิชา ไม่จำกันเฉพาะแค่สาขาทรัพยากรบุคคล ทำให้อัตราการแข่งขันสูง อีกหนึ่งงานที่น่าจับตามองเลยก็คือ งานสื่อสารมวลชน ในปีที่แล้วงานสายนี้ไม่ติดใน 10 อันดับอาชีพที่แข่งขันสูง แต่ปีนี้กลับเด้งมาอยู่อันดับ 2 แสดงให้เห็นว่าเด็กนิเทศฯ ต้องแข่งขันสูงขึ้น นอกจากจะจบสายนิเทศฯแล้ว ต้องมีความสามารถพิเศษอื่นที่จะนำไปแข่งขันอีกด้วย

           นอกจากส่วนของอัตราการแข่งขันแล้ว มีข้อมูลอีกส่วนที่น่าสนใจคือ 5 อันดับอาชีพที่นักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรีสมัครงานมากที่สุด

     อันดับที่ 1 งานธุรการ / จัดซื้อ  คิดเป็นร้อยละ  15.3
     อันดับที่ 2 งานผลิต / ควบคุมคุณภาพ (QA)  คิดเป็นร้อยละ  9.2
     อันดับที่ 3 งานวิศวกรรม  คิดเป็นร้อยละ  9.2
     อันดับที่ 4 งานบัญชี / การเงิน  คิดเป็นร้อยละ  18.2
     อันดับที่ 5 งานทรัพยากรบุคคล  คิดเป็นร้อยละ  7.3

           มองในส่วนงานทรัพยากรบุคคลนอกจากจะมีอัตราการแข่งขันสูงแล้ว ยังติด Top 5 อาชีพที่เด็กจบใหม่สมัครมากที่สุดอีกด้วย จากสถิติทั้ง 2 ส่วนเห็นได้เลยว่าการแข่งขันในการทำงานมีสูงมากขนาดไหน แต่ในส่วนของผู้ที่ว่างงานก็ไม่ได้หมายความว่าจะว่างงานจริงๆ อาจจะทำธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นฟรีแลนซ์ ก็ได้ เพราะฉะนั้นตัวเลขของการว่างงานไม่ได้สะท้อนปัญหาจริงๆ ของการทำงานในปัจจุบัน

 

ปัญหาชีวิตการทำงานของเด็กจบใหม่

          ถ้าพูดลากยาวมาถึงเรื่องปัญหาในการทำงาน มีอีกข้อมูลที่น่าสนใจจากที่ JobThai.com ได้ร่วมพูดคุยกับเจ้าของบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาการทำงานของนักศึกษาจบใหม่ สรุปออกมาเป็น 5 ข้อ ดังนี้

1. เปลี่ยนงานบ่อย
           มีนักศึกษาจบใหม่จำนวนไม่น้อยเลยที่เปลี่ยนงานบ่อย ไม่ได้เปลี่ยนเป็นรายเดือน แต่เปลี่ยนรายสัปดาห์ บางคนทำงานได้ 3 เดือนเปลี่ยนงานแล้ว 5 ที่ ซึ่งการเปลี่ยนงานบ่อยๆ มันมีผลต่อต้นทุนของบริษัท ก็อยากให้เข้าใจ ส่วนเหตุผลการเปลี่ยนงาน ไปอ่านที่ข้อต่อไปได้เลยค่ะ

2. ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์
           ในชีวิตการทำงานจริงๆ ถ้าเกิดทำผิด ต้องต้องมีการตักเตือน การวิจารณ์ ไม่ได้จบแค่การไปทำใหม่แล้วเอามาส่งแบบตอนเรียนมหา'ลัย ซึ่งระดับของคำติ คำวิวิจารณ์ ของแต่ละองค์กรก็ไม่เหมือนกันค่ะ ทำให้หลายคนรับตรงนี้ไม่ได้ ก็ขอลาออก ซึ่งมันเป็นเพียงแค่ปัญหาเริ่มต้นเท่านั้นเอง ถ้าเรายอมรับฟัง ปรับปรุง ก็จะค่อยๆ ปรับตัวได้ อยู่ต่อไปสบายๆ เลยค่ะ

3. การปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงาน
           ด้วยชีวิตในมหา'ลัย ค่อนข้างที่จะอิสระและไม่ได้กดดันมากขนาดนั้น มีเรียนเช้า ว่างบ่าย สลับๆ กันบ้าง แต่ในการทำงานไม่เป็นแบบนั้น เราต้องทำงานเต็มวัน เข้าตรงเวลา มีเวลาพักอย่างจำกัด มีข้อกำหนดของการทำงานเยอะกว่า โดยเฉพาะเรื่องของเดทไลน์ ในมหา'ลัย ส่งไม่ทันก็แค่โดนหักคะแนน แต่ถ้าทำงานจริงมันไม่ใช่แค่นั้น ทั้งโดนว่า โดนมองไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบ จนไปถึงการหักเงินด้วยก็มีค่ะ

 

4. มีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป
           ความมั่นใจนี่ทำพังมาเยอะแล้วนะคะ ด้วยความที่สมัยเรียนอาจจะเป็นเบอร์ต้นๆ ของคณะ มั่นใจในความรู้ที่เรียนมามากๆ หรือเป็นรุ่นพี่ที่รุ่นน้องเคารพ หรืออะไรก็แล้วแต่ พอมาอยู่ในการทำงานจริงต้องเททุกอย่างทิ้งหมดเลยค่ะ เริ่มต้นใหม่กับสังคมใหม่ที่เขาเองก็ไม่ได้รู้จักเรามาก่อน ความรู้ที่เราเรียนมามันเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่คนที่มั่นใจมากๆ จะมั่นใจจนไม่ยอมมองอย่างอื่นเลย คิดว่าตัวเองถูกและดีที่สุด แบบนี้พี่ๆ ก็ไม่รู้จะสอนงานยังไงเหมือนกัน

5. การทำตามกฎระเบียบ
           นอกจากจะทำงานแล้ว ในแต่ละองค์กรก็มีกฎระเบียบที่ต้องเคารพ ปัญหาของนักศึกษาจบใหม่บางคนไม่สามารถทำตามกฎระเบียบได้ เช่น ให้ส่งงานก่อนบ่ายสามวันศุกร์ การเข้างานไม่เกิน 9.00 น. ตรง เป็นต้น บางคนก็อินดี้ไม่ทำตามกฎ ซึ่งจะกลายเป็นจุดเด่น(ในเรื่องไม่ดี) และนำไปสู่การตักเตือน ยังไงตอนไปทำงานจริงก็ต้องปรับตัวเนอะ

           ถ้ามองจริงๆ แล้ว การที่เรียนจบในรั้วมหาวิทยาลัยอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ยิ่งใครมีความสามารถพิเศษที่มากกว่า หรือเป็นที่โดดเด่น ก็จะมีโอกาสในการทำงานได้มากกว่า มีโอกาสเพิ่มค่าแรงได้เร็วกว่า รวมทั้งสาขาที่เลือกเรียนก็ต้องมองอนาคตด้วยว่าจะไปต่อยังไง ไปทางไหน มีงานไหนที่รองรับ การเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้นเอง กว่าจะฝ่าฟันไปถึง มันก็เหนื่อยจริงๆ นะ ชีวิตไม่สิ้นก็ดิ้นต่อไป^^



 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

สังคมชีวิตจริง 29 ก.ค. 60 19:12 น. 1

บางคนต้องลาออกบ่อย

เพราะเหตุที่ไม่คาดฝันกับชีวิตก็มีนะ(จำเป็นออก) การเดินทาง จะเรื่องครอบครัว บริษัทขาดกำไรก็ปลดพนักงานทิ้ง

ความรับผิดชอบเรื่องอื่นก็มี พอเอามาเขียนเรซูเม่ก็เลยดูไม่ดี ในสายตาฝ่ายบุคคลเพราะย้ายบ่อย เปลี่ยนสายงาน โดยจำเป็น

ปสก.ขาด ช่วง ทำให้ลำบากมากต่อการสมัครงานใหม่ เพราะไปสัมภาส บางทีเขาดูไม่ค่อยเชื่อเรานะว่าเราประสบปัญหาจริงๆไม่ใช่เราไม่สู้งาน

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด