รู้จักกับ ‘CFA’ ข้อสอบด้านการเงินที่ยากสุดๆ แต่ได้รับการยอมรับทั่วโลก!

เงินเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ในการดำรงชีวิต ยิ่งมีเงินก็ยิ่งมีโอกาส และถ้ายิ่งลงทุนมากก็มีสิทธิได้รับผลตอบแทนมาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยค่ะที่ช่วงนี้คนหันมาสนใจ ‘สายอาชีพทางการเงิน’ กันมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ เพราะการแข่งขันในตลาดแรงงานนี้สูงมากๆ เลยทีเดียว

ดังนั้นหลายคนที่เรียนจบหรือทำงานสายนี้ จึงเลือกสอบ “Chartered Financial Analyst" หรือ "CFA" ซึ่งเป็นข้อสอบทางการเงินที่ยากและได้รับการยอมรับโดยทั่วโลก ถ้าสอบผ่านแล้วการันตีเลยว่าโอกาสจะเข้ามารัวๆ เพราะได้ทั้งงาน เลื่อนขั้น แถมเงินเดือนก็อัปขึ้นหลายเท่าตัวอีกด้วย 

เริ่มดูน่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะคะ? แต่กว่าจะได้มาก็ไม่ง่ายเลยล่ะ ถ้าอย่างนั้นเราไปรู้จักกับ CFA กันเลยดีกว่า!

……………

CFA คืออะไร?

ภาพโดย NikolayFrolochkin จาก Pixabay
ภาพโดย NikolayFrolochkin จาก Pixabay

สำหรับใครที่อยู่ในวงการนี้อาจจะคุ้นหูคุ้นตากับ ‘Chartered Financial Analyst’ หรือ CFA ซึ่งเป็นการสอบวิเคราะห์ด้านการเงินโดยเฉพาะ จัดโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง CFA Institute ของสหรัฐอเมริกา ในการสอบ CFA จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Level I, Level II และ Level III ค่ะ

เนื้อหาที่ครอบคลุมในการสอบ

  • การจัดการและวิเคราะห์พอร์ตการลงทุน
  • สินทรัพย์
  • เครื่องมือบริหาร
  • จริยธรรมวิชาชีพ

มองเผินๆ เหมือนเป็นการสอบวัดความรู้ทั่วไปของคนที่เรียนจบหรือทำงานสายการเงิน แต่ต้องบอกว่าจะเข้า CFA นี้ยากสุดๆ เลยค่ะ ขนาด Study International ยังจัดให้ว่าเป็นหนึ่งในการสอบสุดโหดของโลกใบนี้ อย่างในปี 2021 ที่ผ่านมา ก็มีอัตราผู้ที่สอบผ่านในระดับ 1 นั้นมีอยู่แค่ 25% เท่านั้น แถมยังมีคำแนะนำจากสถาบัน CFA ว่าจะสอบให้ผ่านระดับนึงควรอ่านถึง 300 ชั่วโมง และถ้าจะสอบให้ครบ 3 ระดับควรใช้เวลาราวๆ 4 ปี! (อันนี้เป็นรายงานจากทางสถาบันเองเลยนะคะ) เรียกว่านานพอๆ กับเรียนปริญญาตรี แถมใช้เวลามากกว่าเรียน MBA ซะอีก!

หลังจากที่เราสอบ CFA ผ่านจนถึง Level III และมีคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ประสบการณ์ทำงาน การเข้าร่วมสมาคม CFA ฯลฯ จากนั้นเราจึงมีสิทธิ์ยื่นเรื่องเพื่อขอเป็น “CFA Charterholder” ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ประวัติของเราได้เป็นอย่างดี

คุณสมบัติผู้สมัครสอบ

ภาพโดย F1 Digitals จาก Pixabay
ภาพโดย F1 Digitals จาก Pixabay

อย่างน้อยที่สุดเลยคือต้องมั่นใจว่าเราผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นของการสอบ Level I ค่ะ เพราะหากผ่าน Level I แล้วก็จะสามารถสอบ Level II และ III ได้ตามลำดับขั้น

คุณสมบัติผู้สมัครสอบ CFA: Level I

  1. มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
  2. มีวุฒิปริญญาตรี
  3. กำลังศึกษาปริญญาตรีปีสุดท้าย (อย่างน้อย 11 เดือนก่อนจบการศึกษา)
  4. ประสบการณ์การทำงานรวมมากกว่า 4,000 ชั่วโมง
  5. มีหนังสือเดินทาง
  6. อาศัยอยู่ในประเทศที่ CFA ทำงานด้วยได้ (ประเทศไทยสอบได้ค่ะ)

ความแตกต่างของ CFA แต่ละระดับ

 Level ILevel IILevel III
คุณสมบัติผู้สอบตามด้านบนของตารางผ่าน CFA Level Iผ่าน CFA Level II
ลักษณะข้อสอบเลือกตอบบทความสั้นและเลือกตอบบทความและเขียนตอบ, บทความสั้นและเลือกตอบ
ระยะเวลาประกาศผลภายใน 60 วันหลังสอบเสร็จภายใน 60 วันหลังสอบเสร็จภายใน 90 วันหลังสอบเสร็จ
อัตราการสอบผ่าน ในช่วง 10 ที่ผ่านมา42%45%54%

สอบ CFA แล้วคุ้มจริงไหม?

ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ค่ะว่าการสอบ CFA คุ้มค่าจริงไหม เพราะแม้จะการันตีความรู้ด้านการเงิน แต่หลายคนมองว่าไม่คุ้มหากต้องทุ่มเวลาเตรียมตัวนานขนาดนั้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนค่ะ   ว่าแล้วเราลองมาดูตัวอย่างความคิดเห็นในมุมมองของผู้เข้าสอบ CFA กันดีกว่าค่ะ

ข้อดี

  • ความรู้ - การเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเผชิญข้อสอบ CFA จะทำให้ผู้สอบเชี่ยวชาญและแข็งแกร่งขึ้นไปในตัว ความเยอะและยากของ CFA ทำให้เราต้องเตรียมตัวอย่างหนักก่อนสอบ กระบวนการนี้จะทำให้เราได้ความรู้และแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
  • โอกาส - CFA เป็นวุฒิที่ใช้ได้ทั่วโลก และการันตีถึงความเจ๋งของผู้สอบ ดังนั้นจึงช่วยเรื่องโอกาสพิจารณางาน เงินเดือนเริ่มต้น และความก้าวหน้าในอาชีพสายการเงิน
  • โอกาสเป็นผู้จัดการกองทุน - ในเมืองไทยมีกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นว่า “ผู้จัดการกองทุน” ต้องสอบ CFA ระดับ 3 ผ่าน (แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ผ่านจะได้เป็น)
  • (อาจ)ประหยัดกว่าการเรียน MBA - การจะเรียนจบหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต หรือ Master of Bussiness Administration (MBA) เพื่อนำวุฒิไปสมัครงานสายธุรกิจหรือการเงิน อาจมีค่าใช้จ่ายหลายแสนเลยค่ะ แต่ถ้าเตรียมตัวแน่นๆ แล้วสอบผ่าน CFA ได้ในครั้งเดียว อาจจ่ายเพียงหลักหมื่นถึงแสนต้นๆ อย่างไรก็ตามราคาของ MBA รวมค่าเรียนด้วย แตกต่างจาก CFA ที่เป็นแค่การสอบอย่างเดียว
  • คอนเนกชัน - หลังจากสอบผ่าน CFA แล้วจะสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคม CFA ต่างๆ ได้ ซึ่งจะช่วยเสริมให้คอนเนกชันแข็งแกร่งขึ้น!
  • นามสกุล CFA ต่อท้าย - หลังจากเป็น CFA Charterholder เราสามารถนำคำว่า CFA มาต่อท้ายชื่อได้

ข้อเสีย

  • ใช้เวลาเตรียมตัวสอบนาน - ถึงจะมีข้อดีแค่ไหน แต่เมื่อพิจารณาจากเวลาที่ต้องเสียไปประมาณ 2-5 ปีเพื่อเตรียมตัวสอบแล้ว ก็อาจจะนานเกินไปสำหรับหลายคนได้
  • ใช้กับสายอาชีพอื่นนอกจากการเงินไม่ได้ - ถึง CFA จะเป็นวุฒิชั้นนำระดับโลก แต่ก็เป็นวุฒิทางด้านการเงินที่หากไม่ได้ทำงานสายนี้ก็อาจจะไม่รู้จัก ถ้าเป้าหมายของเราไม่ใช่การทำงานได้สายการเงิน วุฒินี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ค่ะ
  • ไม่การันตีว่าจะได้งาน - แม้ CFA จะเพิ่มโอกาสการได้งาน แต่ไม่ได้หมายความว่านายจ้างจะต้องเลือกเราเสมอเพราะอาจมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ผู้เข้าสมัครคนอื่นก็มีวุฒินี้เช่นกัน หรือบางคนถูกใจบริษัทมากกว่า

การเตรียมตัวสอบ

ภาพโดย StartupStockPhotos จาก Pixabay
ภาพโดย StartupStockPhotos จาก Pixabay

เมื่อชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียแล้วมั่นใจแล้วว่าจะสอบแน่ๆ ขั้นตอนต่อไปก็คือต้องเตรียมตัวค่ะ สถาบันแนะนำให้ใช้เวลาเตรียมตัวสอบราวๆ 300 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามยังมีคนที่ใช้เวลาเตรียมตัวน้อยกว่าด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานและความสามารถในการเรียนรู้ของแต่ละคน

คำแนะนำก่อนสอบ

  1. ทักษะภาษาอังกฤษต้องแข็งแรง - เพื่อให้เข้าใจคำถามในข้อสอบ และถ่ายทอดความคิดของเราออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้
  2. ใช้เครื่องคิดเลขการเงิน (Finance Calculator) ให้คล่อง - เครื่องมือนี้จะช่วยทุ่นเวลาทำข้อสอบ และนำไปประยุกต์กับการทำงานจริงได้
  3. อย่าโฟกัสการคำนวณอย่างเดียว - ข้อสอบ CFA โดยเฉพาะในระดับ 1 จะเป็นเชิงแนวคิดหรือทฤษฎีค่อนข้างเยอะ ผู้สอบจึงควรให้ความสำคัญกับแนวคิด (Concept) ควบคู่กับฝึกฝนทักษะคณิตศาสตร์ด้วย
  4. ศึกษาโครงสร้างและรูปแบบข้อสอบ - ข้อสอบของแต่ละสถาบันจะมีโครงสร้างที่แตกต่างกันค่ะ ถ้าเราเข้าใจโครงสร้างอัตราส่วนของคะแนนในแต่ละเนื้อหา ก็จะวางแผนได้ถูกว่าควรจะเน้นที่จุดไหนมากที่สุด (ศึกษาโครงสร้างของ CFA Level I ที่นี่)
  5. จับเวลา & ฝึกทำข้อสอบจำลอง (Mock Exam) - อาจเป็นข้อสอบเก่า ข้อสอบจำลองฟรีที่พอจะหาได้ หรือ อาจเป็นข้อสอบที่มากับคอร์สเตรียมสอบ CFA
ตัวอย่างข้อสอบ Level I 

สอบ CFA แล้วไปทำอาชีพอะไรดี?

ภาพโดย Ronald Carreño จาก Pixabay
ภาพโดย Ronald Carreño จาก Pixabay

มาดูตัวอย่างกันว่าส่วนใหญ่ CFA Charterholder ประกอบอาชีพอะไรบ้าง (จริงๆ แล้วเรื่องอาชีพขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาจแนะนำครอบคลุมไม่ได้ทั้งหมด แต่อาจดูลิสต์นี้ประกอบเป็นไกด์ไลน์ได้ค่ะ)

  1. ผู้บริหารพอร์ตลงทุน (Portfolio Manager)  - ตัดสินใจเกี่ยวกับจังหวะการซื้อขาย-ลงทุน และคิดค้นกลยุทธ์เพื่อช่วยเหลือลูกค้า
  2. นักวิเคราะห์ข้อมูล (Research Analyst) - แบ่งเป็น 2 สาย คือ นักวิเคราะห์สินเชื่อและนักวิเคราะห์หุ้น หลักๆ จะทำหน้าที่ประเมินมูลค่า รวบรวม และตีความข้อมูลในวงกว้าง เพื่อส่งต่อให้กับผู้บริหารพอร์ตลงทุนลุยต่อ
  3. ที่ปรึกษาการลงทุน (Investment Consultant) - เน้นให้คำปรึกษาลูกค้าเรื่องการลงทุนและจัดสรรสินทรัพย์ พร้อมกับ keep contact เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว
  4. นักวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk Analyst) - ลดแนวโน้มความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติหรือปัญหาเชิงจรรยาบรรณ

………..

ต้องบอกเลยว่าเป็นการสอบที่ยากสมคำร่ำลือจริงๆ ค่ะ แต่เราเชื่อว่าหากทุกคนมีความตั้งใจและเตรียมตัวพร้อมแล้ว ยังไง CFA ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน ขอให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เลือกนะคะ :)

*****************

Sources:https://www.cfainstitute.org/en/https://www.studyinternational.com/news/5-toughest-entrance-exams-world/ https://www.schweser.com/cfa/ https://300hours.com/benefits-of-cfa/ 
พี่พันตา
พี่พันตา - Columnist คนที่ไม่ได้มีพันตาแต่อยากทะลุมิติไปพันล้านพหุจักรวาล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น