เคยหวาดระแวงกันบ้างไหม?

      สวัสดีครับ น้อง ๆ ชาว Dek-D.com น้อง ๆ เคยรู้สึกระแวงกันบ้างไหมครับ? ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกคิดมาก คิดไปเอง มีอาการหวาดระแวง โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่กับกลุ่มเพื่อน หรืออยู่กับใครก็ตามก็จะชอบคิดนู่นนี่ไปหมด หรือชอบคิดไปก่อนล่วงหน้า และก็บางทีจะชอบคิดว่าตัวเองนั้นเป็นผู้ที่ตกเป็นเป้าความสนใจของคนอื่น ๆ

ถ้าเกิดความรู้สึกแบบนั้นบ่อย ๆ ไม่แน่นะครับ น้อง ๆ อาจจะกำลังเจอกับอาการ Paranoria หรือ อาการหวาดระแวงอยู่ก็ได้นะครับ

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

อาการ Paranoia

      Paranoia หรือ อาการหวาดระแวง เป็นความรู้สึกที่ไร้เหตุผลอย่างต่อเนื่องว่าคนอื่นนั้นกำลังเพ่งเล็งมาที่เราอยู่ อาจทำให้เกิดความไม่วางใจโดยไร้เหตุผลได้ ซึ่งความไม่ไว้วางใจนี้แหละครับ อาจจะทำให้ใช้ชีวิตในสังคมได้ยากขึ้น โดยเฉพาะกับความสัมพันธ์ของเพื่อนในโรงเรียน ของแฟน และในการทำงานครับ และบางครั้งอาจจะทำให้น้อง ๆ รู้สึกเหมือนกำลังถูกคุกคามในทางใดทางหนึ่ง หรือบางครั้งก็รู้สึกว่าเพื่อนที่กำลังคุยกับเรานั้น เขาโกหกเราอยู่ หรือพยายามเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์กับเรา 

อาการที่แสดงออกของ Paranoia

      อาการที่แสดงออกจากความหวาดระแวงมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง ขึ้นอยู่กับสาเหตุแต่โดยทั่วไปแล้ว คนที่หวาดระแวงก็จะชอบมีอาการอย่างนี้ครับ

  • หงุดหงิดง่าย
  • เชื่อใจคนยากมาก
  • ไม่ค่อยรับฟังคำติชมจากใคร
  • รู้สึกว่าชอบโลกกลั่นแกล้งรังแกเรา
  • ให้อภัยและลืมเรื่องราวต่าง ๆ ได้ยาก
  • ก้าวร้าว ชอบโต้แย้ง
  • ชอบคิดว่าคนอื่นกำลังโกหกเรา โกงเรา

มันเกิดขึ้นได้ยังไงกันนะ?

      จริง ๆ แล้วสาเหตุของ Paranoia หรือ อาการหวาดระแวง นั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจนครับ ว่าเกิดขึ้นมาจากอะไรกันแน่ แต่จากเท่าที่พี่เฟมไปหาข้อมูลมาส่วนใหญ่ สาเหตุก็จะเกิดขึ้นจากสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ครับ

นอนน้อย

  • การนอนน้อย หรือการนอนดึกบ่อย ๆ ทำให้เรามีความรู้สึกที่ไม่แน่นอนในระหว่างวัน และสามารถทำให้เรารู้สึกเบลอ ๆ ได้ และถ้ายิ่งนอนน้อยบ่อย ๆ บางครั้งก็อาจทำให้น้อง ๆ ได้ยินหรือมองเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงหรือว่าเป็นภาพหลอนครับ และมันก็จะทำให้น้องรู้สึกหวาดระแวง เช่น ได้ยินว่ามีคนเรียกชื่อตัวเอง หรือว่ามองเห็นอะไรแปลก ๆ แบบตาฝาดไปเองครับ

ความเครียด

  • ความเครียดก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดอาการหวาดระแวงได้ครับ จริง ๆ แล้วความเครียดมันก็เกิดได้ทั้งจากเรื่องแย่ ๆ และเรื่องดี ๆ ในชีวิตได้นะครับ อย่างเช่น เครียดเพราะคะแนนสอบน้อย เครียดเพราะเลือกไม่ถูกว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี ซึ่งความเครียดมันก็สามารถทำให้น้อง ๆ คิดหวาดระแวงไปได้นะครับ

ยีน

  • การศึกษาบางชิ้นชี้ให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงทางพันธุกรรม ว่าความบกพร่องทางพันธุกรรมถึงมีผลต่อการเกิดอาการหวาดระแวงได้ครับ แต่การศึกษานั้นก็ยังไม่ชัดเจนมากพอที่จะยืนยันว่าอาการหวาดระแวงนั้นมาจากพันธุกรรม 100% ครับ

สารเคมีในสมอง

  • ความผิดปกติจากสารเคมีในสมองทำให้เกิดอาการหวาดระแวงขึ้นได้ครับ สารเคมีในสมองหรือสารสื่อประสาทในสมองคนเรานั้น มันเป็นพื้นฐานของความคิดและความรู้สึก เมื่อการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมองเกิดขึ้น มันก็ทำให้เราเกิดอาการหวาดระแวงได้ครับ

เหตุการณ์ในชีวิต

  • ประสบการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของแต่ละคนก็มีผลต่อความหวาดระแวง ซึ่งเหตุการณ์ชีวิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันนะครับ บางคนมีประสบการณ์แย่ ๆ อย่างการถูกคุกคามมาก่อนทำให้หวาดระแวง หรือหลังจากเข้าค่ายลูกเสือ ค่าย รด. เราก็จะมีอาการหวาดระแวงเสียงนกหวีดครับ

ปัจจัยหลายอย่างรวมกัน

  • เพราะอาการหวาดระแวงนี้มันยังไม่มีข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนครับว่าสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ ดังนั้นมันจึงสามารถเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัยรวมกันครับ ทางปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ของน้อง ๆ เองครับ
(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

6 สัญญาณสำรวจตัวเองว่าเรามีอาการหวาดระแวงเพื่อนหรือคนรอบข้างหรือเปล่า

        ถ้าหากน้อง ๆ กำลังสงสัยอยู่ว่าตัวเองเป็น Paranoia หรือมีอาการหวาดระแวงอยู่หรือเปล่า วันนี้พี่เฟมจะพามาดู 6 สัญญาณสำรวจตัวเองกันครับ ว่าเรามีอาการหวาดระแวงอยู่ไหม

ชอบสงสัยว่าเพื่อนเข้าหาเราเพราะผลประโยชน์

 ผู้ที่มีอาการหวาดระแวงหรือมีความเสี่ยง มักจะชอบคิดว่าเพื่อนหรือคนอื่นเขาเข้ามาหาเรา เพราะต้องการผลประโยชน์จากเราแน่ ๆ หรือว่าเขาเข้ามาเพื่อทำร้ายเรา หลอกลวงเรา

เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับความเชื่อใจ

 อีกหนึ่งสัญญาณที่เตือนว่าเราอาจจะมีอาการหวาดระแวงก็คือ เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องความเชื่อใจจากเพื่อนหรือคนรอบข้าง ซึ่งบางทีมันก็ดูหมกมุ่นหรือว่าเยอะเกินไปครับ อย่างไม่ว่าเค้าจะทำอะไรก็ตาม

ลังเลที่จะแชร์ข้อมูลบางอย่าง

    เวลาจะทำงานบางอย่างหรือเวลามีไอเดียอะไรที่บางทีมันก็ไม่ได้จริงจังมาก แต่ก็จะชอบกังวลไปเองว่าถ้าเราบอกไอเดียอะไรไปแล้ว เราจะไม่ได้รับความยุติธรรมกลับมา เช่น กลัวว่าเพื่อนจะลอกงานไอเดีย หรือกลัวไปว่าคนจะมองว่าไอเดียเราแย่ หลัก ๆ ก็คือคิดไปในแง่ลบไว้ก่อนครับ

ไม่เห็นคุณค่า

 ผู้ที่มีอาการหวาดระแวงมักจะไม่เห็นคุณค่าของเพื่อนหรือคนอื่น และก็จะชอบคิดไปเองว่าเพื่อนชอบดูถูกเรา เหยียดเรา หรือว่าเพื่อนนั้นมีอะไรบางอย่างที่เป็นภัยคุกคามกับเรา

โกรธนาน ให้อภัยไม่ได้

 เวลาที่มีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นแล้วทำให้โกรธ ผู้ที่มีอาการหวาดระแวงนั้นมักจะมีความโกรธ และมีความคิดที่ขุ่นมัวเป็นเวลานาน และยากต่อการให้อภัยในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะกับความผิดพลาดจากคนอื่น

ชอบสงสัยในตัวเพื่อนโดยที่ไม่ดูสิ่งต่าง ๆ

    ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานหรือสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่าเพื่อนคนนั้นไม่ได้เข้าหาเราเพื่อหาผลประโยชน์จากเราจริง ๆ แต่เราก็ยังคงคิดว่าเขาไม่ซื่อสัตย์ และเป็นคนที่น่าสงสัย นี่อาจจะเป็นสัญญาณที่บอกเรากำลังตกอยู่ในอาการหวาดระแวงก็ได้นะครับ

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

แนวทางการรักษา

      สำหรับแนวทางการรักษาอาการหวาดระแวงนั้น ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการรักษาที่สมบูรณ์แบบ แต่จะเป็นการรักษาให้ผู้ที่มีอาการนั้น หัดรับมือกับความหวาดระแวงของตัวเองให้ได้มากกว่า ซึ่งการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นครับ

การปรับสมดุลภายในจิตใจ

         อย่างการออกกำลังกาย ทานอาหารที่ดี นอนหลับให้เพียงพอ ก็สามารถช่วยปรับสมดุลในจิตใจและช่วยปรับสารเคมีในสมองได้ครับ

เรียนรู้เทคนิคการเผชิญรับมือ

         หากอาการยังไม่รุนแรงมากนัก เราสามารถฝึกที่จะเรียนรู้ในการรับมือกับเพื่อน ผู้คนรอบข้าง และรับมือกับความคิดลบ ๆ ของตัวเองได้ โดยการลองปรับความคิดและพิจารณาจากหลาย ๆ สิ่งก่อนตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับผู้อื่น

การบำบัด

         พูดคุยหรือเข้ารับการรักษากับนักบำบัดมืออาชีพ แต่ว่าผู้ที่มีอาการหวาดระแวงอาจจะรักษาด้วยวิธีการนี้ได้ช้า เพราะก็จะไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลของตัวเองมากนัก

การใช้ยา

         สามารถใช้วิธีการรักษาด้วยยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ โดยจะเป็นยาต้านความวิตกกังวล ซึ่งจะสามารถบรรเทาอาการได้บางอย่างที่ส่งผลต่อการเกิดความหวาดระแวงได้

 

         น้อง ๆ คนไหนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการหวาดระแวงอยู่บ่อยครั้ง และมีอาการที่รู้สึกว่ารุนแรงกว่าที่จะหาทางแก้ไขด้วยตัวเองได้ พี่เฟมก็อยากจะให้ลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเลยจะดีกว่านะครับ เพราะถ้าปล่อยไว้นาน ๆ มันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของน้อง ๆ ได้นะครับ โดยเฉพาะสุขภาพจิต

         และใครที่เคยรู้สึกหวาดระแวงบ่อย ๆ ลองคอมเมนต์มาบอกกันหน่อยสิครับว่าส่วนมากหวาดระแวงกันเรื่องอะไร และมีวิธีการก้ไขกันอย่างไรบ้าง

ข้อมูลจากhttps://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/paranoiahttps://www.psychologytoday.com/intl/blog/lifetime-connections/202210/7-signs-paranoid-personality-disorderhttps://www.webmd.com/mental-health/why-paranoid

 

เฟม
เฟม - Columnist นักเขียนฝึกหัด ที่ไม่ค่อยได้เขียน ชอบเที่ยวคาเฟ่และการนอนเฉยๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น