ค้นหาอาชีพที่ใช่ นอกจากความชอบ ยังต้องดูอะไรอีกบ้าง?
  
 
 


         ในการตัดสินใจเรียนในคณะใดคณะหนึ่งนั้น มีผลต่ออาชีพและอนาคตของเรา และการจะเลือกคณะนอกจากเรื่องความสนใจ ความชอบของตนเอง บุคลิกภาพที่เหมาะสม และความพึงพอใจของผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นปัจจัยส่วนบุคคลของแต่ละคนแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่พี่เกียรติจะขอนำเสนอ เป็นปัจจัยที่น้องๆ ชาว Dek-D.com ควรคำนึงถึงและนำมาใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเรื่องคณะด้วย เพราะบางคณะ อาจทำงานได้หลากหลาย แต่บางคณะก็เป็นคณะทางวิชาชีพเฉพาะ จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ เหมือนอ่านฉลากก่อนกินยานั่นแหละ ไม่ดูข้อมูลก่อนก็เกิดความผิดพลาดได้ง่ายๆ นะคะ                    

   ดังนั้น จึงต้องศึกษาคณะและอาชีพด้วย รีบหาลู่ทางและคณะที่ใช่ อาชีพที่ชอบไว้แต่ตอนที่ยังเรียนในโรงเรียนนี้นะ คิดได้ตอนอยู่ปีหนึ่งปีสองก็อาจยังพอกลับลำได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นขึ้นไป นอกจากเรื่องหัวใจ ความกล้าเผชิญสิ่งใหม่ และเวลาที่เสียไป ยังต้องมีกำลังสนับสนุนจากครอบครัว อย่างเรื่องเงินด้วย เพราะฉะนั้นต้องตัดสินใจให้ดีค่ะ และนี่คือปัจจัยที่ควรหาข้อมูลไว้ประกอบกับความชอบของเรา เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับอนาคตที่สดใสของเราค่ะ



  
        1. ลักษณะงาน
น้องๆ ต้องศึกษาลักษณะของงานต่างๆ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะงานในกลุ่มที่น้องๆ สนใจ เช่น น้องสายวิทย์ ชอบทางวิศวกรรม ก็ต้องศึกษาว่ามีอาชีพวิศวกรมีด้านใดบ้าง ทั้งวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรสิ่งแวดล้อม วิศวกรธรณี วิศวกรโยธา ฯลฯ น้องๆ ต้องศึกษาถึงลักษณะของงาน ว่าเป็นงานประจำ หรืองานอิสระ มีหน้าที่รับผิดชอบด้านใด ต้องใช้เครื่องมือเครื่องไม้ใดบ้าง เป็นงานภาคสนามหรืองานนั่งโต๊ะ ต้องทำงานร่วมกับใคร กับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องสภาพแวดล้อมว่าทำงานที่ไหน นี่สำคัญมากๆ ค่ะ งานที่ต้องพบฝุ่น เจอรังสีต่างๆ มีสารพิษหรือไม่ เพราะเดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่อย่างเราๆ มีภาวะภูมิแพ้กันมาก งานที่เราสนใจก็ควรไม่มีบรรยากาศของสิ่งที่เราแพ้นะ เกิดใครแพ้ฝุ่น อยากไปทำงานกลางทะเลทราย แบบนี้จะแย่นะ การศึกษาลักษณะงานในกลุ่มที่น้องๆ สนใจ อาจช่วยเพิ่มทางเลือกหรือเพิ่มการตัดสินตัดออก หรือมั่นใจในอาชีพนั้นๆ ได้มากขึ้นก็ได้ค่ะ


        2. คุณสมบัติของผู้ที่จะทำอาชีพนั้น  งานแต่ละงานมีการกำหนดอายุเริ่มต้นในการทำงานไว้ และงานบางอาชีพอาจทำได้จนอายุช่วงหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง เช่น แอร์โฮสเตส เป็นต้น ดังนั้นนอกจากอายุเริ่มงานแล้ว อายุเกษียณของงานก็ควรศึกษาไว้ด้วย แม้ส่วนใหญ่จะเกษียณที่ 60 ปี แต่จริงๆ ก็อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือให้ออกก่อนหน้านั้นก็ได้ค่ะ  เรื่องเพศในแต่ละอาชีพก็สำคัญไม่แพ้กัน มีทั้งงานที่รับเฉพาะบางเพศ งานที่ให้โอกาสแก่ทั้งหญิงทั้งชาย หรือให้โอกาสแก่เพศใดเพศหนึ่งมากกว่า เพราะ หากงานนั้นๆ เหมาะกับผู้ชายมากกว่า แต่น้องๆ ผู้หญิงชอบและสนใจ จะได้เตรียมการรับมือไว้ได้ค่ะ อย่างงานวิศวกรไงล่ะ รวมถึงเรื่องสภาพร่างกาย ส่วนสูง ว่ายน้ำเป็น ฯลฯ และสิ่งที่สำคัญ คือ วุฒิหรือคณะที่จบค่ะ ต้องตรงตามที่คุณสมบัติของอาชีพนั้นๆ กำหนดค่ะ


 
  
3. แนวโน้มของตลาดแรงงาน น้องๆ ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพที่กำลังจะได้รับความนิยมในสามถึงห้าปีข้างหน้า อาชีพที่ไม่ตกงาน หรืออาชีพที่มีความสำคัญในยุคอาเซียนเบิกบาน เป็นต้น ข้อมูลด้านนี้ต้องศึกษาจากข่าวสารบ้านเมือง ข่าวจากห้องแนะแนว บทความวิจารณ์จากนักวิชาการด้านการศึกษาา ด้านการตลาดที่ออกมาวิจัยหรือแสดงทัศนะถึงแนวโน้มอาชีพที่จะเป็นที่้ต้องการองตลาดแรงงงานในอนาคตค่ะ แนวโน้มของตลาดแรงงานในที่นี้ ยังรวมถึงการกระจายของอาชีพด้วยนะ บางอาชีพทำได้เฉพาะพื้นที่หนึ่ง อย่างใครอยากทำสวน ทำไร่ ใช้ชีวิตแต่พอเพียง จะมาทำกลางกรุงเทพฯ คงไม่ได้



           4. การเข้าสู่อาชีพนั้น หมายถึงช่องทางการเข้าทำงานนั้นหรือการสมัครนั่นเอง เช่น ต้องสมัครงานกับบริษัท หรือต้องมีการสอบผ่านวิชาชีพหรือระดับทางภาษาก่อน เพราะบางหน่วยงานต้องใช้คุณสมบัติบางอย่างที่ไม่ได้โดยตรงจากมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ เช่น สอบ กพ. สอบวัดระดับทางภาษา TOEFL IELTS เป็นต้น และส่วนมากแต่ละหน่วยงานจะมีการสอบข้อเขียนของหน่วยงานเอง และการสัมภาษณ์ต่างๆ ด้วยค่ะ ไม่ใช่ว่าทุกอาชีพเมื่อเรียนจบปุ๊บ จะได้รับบรรจุในหน่วยงานอย่างจบจากโรงเรียนทหาร ตำรวจ หรือจบแพทย์นะจ๊ะ แต่ถ้าเป็นการประกอบอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย ก็ต้องศึกษาว่าต้องใช้ทุนทรัพย์เพื่อดำเนินกิจการมากน้อยเพียงใด ขายทางไหน มีตลาดรองรับหรือไม่ เป็นต้นจ้า


         5. ความก้าวหน้า แต่ละอาชีพมีรูปแบบการเจริญหรือก้าวหน้าทางอาชีพแตกต่างกัน ทางราชการและรัฐวิสาหกิจมีการเลื่อนยศหรือตำแหน่ง อาชีพในออฟฟิซมีการเลือกไปผู้จัดการ บางอาชีพมีเลื่อนตำแหน่งทางวิชาความรู้เป็นสำคัญ อย่างอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือแพทย์เฉพาะทาง บางอาชีพเลื่อนจากงานภาคสนามไปเป็นงานนั่งโต๊ะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องศึกษาข้อมูลไว้ก่อน เราจะได้เตรียมการให้พร้อม อาจเป็นการเรียนเพิ่มเติม เสริมปริญญา หรือเพื่อก้าวสู้อาชีพเสริมใหม่ๆ ก็ได้ค่ะ



 
       6. รายได้ 
เรื่องใหญ่แล้วแต่ละคนจะพิจารณา มีทั้งเรื่องค่าเงินตราและค่าอุดมการณ์ บางคนก็เลือกเงินตรามาก่อน บางคนก็เลือกอุดมการณ์มาก่อน บางคนก็เลือกความมั่นคงมาก่อน ดังนั้น ไม่ว่าจะสนใจอาชีพกลุ่มไหน ก็ต้องศึกษาว่า      อาชีพนั้นๆ มีรายได้อย่างไร     บางคนกินอุดมการณ์ก็อิ่มอกอิ่มใจพอแล้ว แต่บางคนก็มีภาระหรือปัจจัยทางบ้านให้ต้องคำนึงถึงก่อนค่ะ ไม่ใช้เรื่องง่ายๆ เลย เรื่องเงินเนี้ย บางอาชีพแรกเริ่มต้น อาจได้รายได้ไม่มาก แต่ถ้าก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ จะได้รายได้สูงเลยก็ได้ แต่ทุกอาชีพมีความสำคัญค่ะ ทุกอาชีพต้องมีเพื่อเกื้อกูลหนุนกันตามวัฏจักรสังคม และไม่ว่าเงินจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตของเราค่ะ ไม่ใช่ว่ามีน้อยให้ใช้น้อย หรือมีมากจะใช้มากได้นะ แต่เราต้องรู้จักพอเพียงจ้า


           7. จุดเด่นและจุดด้อย ข้อนี้สำคัญ น้องควรนำข้อมูลที่น้องๆ ศึกษาแล้วตามข้อที่ผ่านมาแยกจุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละอาชีพตามความเห็นตัวเอง เพราะแต่ละอาชีพย่อมมีจุดเด่น จุดด้อยที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใของแต่ละคนด้วย เช่น 
- นาย ก อยากเป็นนักบัญชี เพราะว่าเงินดี ชอบเลข แต่ไม่ชอบงานนั่งโต๊ะ ในขณะที่ 
- นาย ข ก็อยากเป็นนักบัญชี เพราะเงินดี ชอบอาชีพนั่งโต๊ะ แต่ไม่ค่อยชอบตัวเลข 
ดังนั้น จุดเด่นหรือจุดด้อยของแต่ละคนก็ต่างกันด้วย
    
     พี่เกียรติแนะนำน้องๆ เขียนออกมาเป็นรายการ แบ่งเป็นสองช่อง จุดดี และจุดด้อย ของแต่ละอาชีพที่น้องสนใจเลยจ้า นอกจากได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว น้องๆ ยังสามารถหาทางแก้ไขจุดด้อยของอาชีพนั้นๆ ก็ได้ ถ้าน้องต้องการทำงานอาชีพนั้นจริงๆ



       หากน้องๆ ยังไม่แน่ใจว่าอาชีพอะไรทำอะไรบ้าง ก็ให้ดูภาพรวมของแต่ละอาชีพก่อน แล้วค่อยศึกษาลงลึกในอาชีพที่น้องๆ สนใจก็ได้จ้า และหากศึกษาได้ครบทุกข้อแล้ว...พี่เกียรติเชื่อว่าน้องๆ จะเจออาชีพที่ถูกใจ และพบคณะที่อยากเลือกเรียน มีหลายคนที่เลือกคณะให้พอมีเรียนไปก่อน และไปคิดอาชีพเอาดาบหน้า ระวังดาบจะหันคมเข้าตัวเองแทนนะจ๊ะ ฮี่ๆ



 
แหล่งข้อมูล:
http://www.doe.go.th/vgnew/guide/guide2.asp
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

35 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Mega-cool Member 30 ก.ย. 54 09:47 น. 3
อืม..อนาคตคิดไว้แต่เนิ่นๆก็ดีเพราะจะได้เตรียมตัวสู่อนาคตทัน.. แต่ไม่ว่าอนาคตจะทำงานอะไรแต่ขอให้เป็นคนดีของสังคมนั่นก็ถือว่าใช้ได้แล้วล่ะมั้ง!?
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ซ่อนนาม Member 30 ก.ย. 54 14:59 น. 9
อย่าว่างู้นงี้เลย
แค่คำว่า "ชอบ" หลายคนยังเข้าใจผิดกันเลย
เพราะยังศึกษาไม่ดีพอ ก็เหมาไปแล้วว่าสิ่งที่ตัวเองเห็นนั้นมันต้องดีต้องงามต้องเหมาะกับตนเอง
พอเจอความเป็นจริงเข้าหน่อยว่ามันไม่ใช่อย่างที่เราคิดก็เซย์กู๊ดบายกันเป็นแถว ๆ
แล้วไปมองอย่างฉาบฉวยที่สิ่งใหม่และก็ทึกทักไปเองว่ามันดีเหมาะสมกับตนเองใหม่
ซึ่งเพราะไม่ยอมศึกษาให้ดีแล้วใจเร็วด่วนได้นี่แหละ สุดท้ายก็วนลูปเดิมต่อเรื่อย ๆ
และที่สำคัญ เวลามันไม่รอใครนะ อย่ามัวคิดว่าลองก่อนแล้วค่อยหาผลสรุปทีหลัง
มนุษย์น่ะแตกต่างจากสัตว์ตรงที่ไม่ต้องลองผิดลองถูกแต่ใช้สมองไตร่ตรองก็หาคำตอบได้แล้ว
(สัตว์ชั้นสูง"รู้"จากการลองผิดลองถูก แต่มีมนุษย์อย่างเดียวที่"รู้"จากการวิเคราะห์ข้อมูล)

และไม่ใช่แค่นี้นะ ทุกสิ่งล้วนมีแต่ด้านไม่ดีกันทั้งนั้น
พออยู่แล้วก็ต้องเผชิญกับความไม่พอใจหรือความยากลำบากบ้างมันก็เป็นเรื่องปรกติ
ถ้าไม่ยอมอดทน ถึงมันจะดีจะสบายจะเหมาะกับเราแค่ไหน เราก็อยู่กับสิ่งนั้นได้ไม่ยืดหรอก

ด้วยเหตุนี้ต้องทำ 2 อย่างต่อไปนี้ก่อนเสมอ
1 ศึกษาสิ่งที่ชอบให้ดีที่สุด ให้เข้าใจมันได้มากที่สุด อย่ามองแต่ภายนอกอย่างฉาบฉวย
2 อดทนและฝ่าฟันไปพร้อมกับสิ่งนั้น
ถ้ามีสองอย่างนี้ยังไงก็ไปรอด แต่ถ้ามี 1 ไม่มี 2 อยู่ไม่ยืด ถ้ามี 2 ไม่มี 1 อยู่อย่างไม่มีความสุข

ไม่ได้พูดแค่เรื่องคณะ แต่พูดในทุกเรื่อง เรื่องชีวิต เรื่องคู่ครอง ฯลฯ ใช้ได้หมดแหละ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ซ่อนนาม Member 30 ก.ย. 54 18:19 น. 12
ขอเสริมเพิ่ม
1 เรื่องของตลาด
เน้นย้ำอีกครั้งจากเนื้อหาคอลัมน์ ต้องดูที่อนาคต อย่าดูที่ปัจจุบัน
เพราะมีหลายอาชีพที่พอจบไปแล้วสภาพของตลาดจะเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างเช่นวิศวะ สถาปัตย์ พวกนี้จะขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก
เศรษฐกิจดีงานหาง่าย เศรษฐกิจตกเดินเตะฝุ่น
และเศรษฐกิจมันจะมีลูปของมัน ทุก  5 - 10 ปีมันจะขึ้นแล้วก็ตก
ซึ่งก็พอดีกับเวลาที่เรียนจบนั่นแหละ 4 ปี 5 ปี พอดีกับลูปเศรษฐกิจเลย
ดังนั้นหากเศรษฐกิจกำลังรุ่งอยู่แล้วคิดว่าอยากเป็นวิศวะเพราะอยากรวยเร็ว ขอให้คิดใหม่
เพราะกว่าจะจบรับรองว่าเศรษฐกิจตกแล้วแน่ ๆ

2 จบคณะนั้นแล้วไม่จำเป็นต้องทำงานในอาชีพนั้น
ตัวอย่างเช่นวิศวะ สถาปัตย์ (อีกแล้ว) จะมีอัตราที่เรียนจบไปแล้วทำงานต่อในสายนั้นน้อยมาก
ว่ากันว่ามีไม่ถึงครึ่งเลยทีเดียว เพราะเหตุนี้อย่าหวังว่าแค่เรียนแล้วจะได้ทำอาชีพนั้น
แต่หากอยากจะทำอาชีพนั้นจริง อย่ามัวแต่เรียนอย่างเดียว
ลองหางานพิเศษ หรือลงงานประกวดแข่งขันเกี่ยวกับของสายอาชีพนั้น ๆ ดู
มันจะทำให้เรารู้ช่องทาง รู้จักคน และมีโอกาสทำให้เราได้หางานได้เวลาจบออกไปมากขึ้น

3 ระวังให้ดี บางคณะเรียนไปเพื่อรู้เพิ่ม ไม่ใช่ให้มีวุฒิเพื่อไปสมัครงาน
เคยเห็นหลายคนทีเดียว ที่อยากทำอาชีพบางอย่างแล้วจ้องจะเรียนคณะนั้น
แต่ความจริงแล้วอาชีพนั้นไม่ต้องจบทางนั้นก็ได้ หากมีความรู้มีโอกาสก็ไปสมัครงานได้เลย

และข้อสามนี่แหละที่สำคัญ ถ้าอยากทำอาชีพนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องเรียนคณะนั้นก็ได้
ตัวอย่างเช่น อยากเป็นนักเขียนเลยต้องเข้าอักษร ขอบอกว่าไม่จำเป็นเลยนะ
เพราะการเป็นนักเขียนไม่ต้องใช้วุฒิในการสมัครรับเลือกเพื่อเป็นนักเขียน ดังนั้นเด็กป.6 ก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้ ถ้าอยากเป็นนักเขียนก็เป็นไปเลยไม่ต้องรอให้จบอักษรก่อน มันไม่จำเป็น
แต่หากอยากจะเพิ่มความสามารถในการเขียน รู้ซึ้งในศาสตร์ของภาษา จะเข้าอักษรก็ไม่เป็นไร
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ซ่อนนาม Member 30 ก.ย. 54 22:03 น. 15
#13
นักเขียนอาชีพ หรือคนที่มีกินด้วยการเขียนนิยายเป็นหลัก เชื่อกันว่ามีจำนวนน้อยกว่าดาราเสียอีก
ว่ากันว่าหากจะเป็นมืออาชีพได้จริง อย่างน้อยต้องเขียนได้สองถึงสามเดือนเล่ม ไม่งั้นไม่พอกิน

ดังนั้นหากใครจะเป็นมืออาชีพทางด้านนี้ ขอบอกว่าต้องเก่งยิ่งกว่าเก่งเท่านั้นถึงอยู่รอดได้
ด้วยเหตุนี้ ทำอาชีพนี้เป็นงานอดิเรกจะดีกว่า
0
กำลังโหลด
DeK-lnw`ZODIAC Member 1 ต.ค. 54 02:30 น. 16
แล้วความต้องการของตลาดดูที่เศรษฐกิจ แล้วดูยังไงอ่ะ ++ ก็เข้าใจนะว่าเศรษฐกิจดีจะมีงาน แต่ถ้าเศรษฐกิจดีแต่ดันไม่มีงาน ล่ะทำไง =_= มันเป็นเรื่องของอนาคตคาดเดามิได้
0
กำลังโหลด
ซ่อนนาม Member 1 ต.ค. 54 03:41 น. 17
#16
เศรษฐกิจดีงาน"ภายในประเทศ"จะมีเยอะ ทำให้ลดโอกาสการตกงานได้
ทว่าหากหางานไม่ได้แม้แต่ตอนเศรษฐกิจดี แปลว่าเราไม่มีความสามารถแล้วล่ะ
ถ้ายิ่งเศรษฐกิจแย่เราจะยิ่งหางานยากเข้าไปใหญ่
(ดังนั้นถึงได้บอกให้ทำงานพิเศษหรือกิจกรรมตั้งแต่ตอนที่เรียน ไม่ใช่จบไปแล้วค่อยหา)

ทว่าก็มีบางอย่างที่มันตรงกันข้ามกันอยู่นะ
เช่นนำเข้ากับส่งออก
ถ้านำเข้าดีส่งออกจะแย่ ถ้านำเข้าแย่ส่งออกจะดี (จากเงินบาทแข็งตัวอ่อนตัว)
ความจริงก็มีอาชีพประมาณนี้อยู่เหมือนกัน ลองศึกษาให้ดีคงจะพบ (ทว่าคงไม่ใช่พวกที่ใช้วุฒิ)
นอกจากนี้ยังมีพวกอาชีพที่ไม่ขึ้นกับเศรษฐกิจด้วย เช่นพวกหมอ หรือสัตว์แพทย์

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ซ่อนนาม Member 1 ต.ค. 54 15:24 น. 19
#18
ก็เป็นอาจารย์สอนในมหาลัยสิ ไม่ก็เป็นนักวิจัยหรือนักสถิติก็ได้
(กลุ่มนี้แหละที่เข้าข่าย "นักวิทยาศาสตร์" ที่คนทั่วไปเข้าใจกัน)
ซึ่งถ้าคิดว่าถนัดจริงก็ลองเข้าวิทยาศาสตร์สาขาคณิตศาสตร์เลย สายนี้คนยังขาดแคลนอยู่มาก

แต่ว่าพอเข้าไป คณิตศาสตร์ที่เข้าใจกับคณิตศาสตร์ที่เจอจริงมันจะเป็นคนละเรื่องกันเลยนะ
เพราะมันจะสโคปวิชานี้ให้แคบลง แต่เจาะลึกลงไปมาก ๆ


ปล. แม้ครูในปัจจุบันเงินเดือนน้อย แต่ติวเตอร์กับอาจารย์ในมหาลัย เงินเดือนดีนะ
และไม่ต้องจบครุก็ไปสอนได้ (แต่ถ้าจะตั้งศูนย์ติวเตอร์เองต้องจบครุ)
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด