คณะ มนุษยศาสตร์
สาขา บรรณาธิการศึกษา

ตอนที่ 2/3 : ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย
   
 

        
      
สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... เจอกับ พี่เป้ และคณะในฝันเช่นเคยทุกๆ วันพุธ สำหรับเดือนแห่งวันวาเลนไทน์ เรายังอยู่กันที่ "เอกบรรณาธิการศึกษา" เอาใจคนที่มีความรักให้แก่หนังสือค่ะ วันนี้จะพาน้องๆ ไปพูดคุยกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่จบเฉพาะทางด้านบรรณาธิการศึกษาและกำลังทำงานในกองบรรณาธิการอยู่ (งานในฝันของใครหลายๆ คน) โดยปัจจุบัน คณะและสถาบันที่เปิดสอนด้านนี้มีที่เดียวในเมืองไทย คือที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพานั่นเองค่ะ

 


สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ ที่กำลังอ่านหน่อยค่ะ ^^

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com พี่จ๋านะคะ มลฤดี สินสุพรรณ์ จบเอกบรรณาธิการศึกษา สาขาสารสนเทศศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพาค่ะ คงไม่คุ้นกันใช่ไหมว่าในเมืองไทยมีการเรียนการสอนเอกนี้ด้วยเหรอ ?? มีค่ะ เริ่มทำการสอนครั้งแรกเมื่อปี 2550 และอาจถือว่าเป็นการสอนที่เน้นผลิตบัณฑิตสำหรับวิชาชีพหนังสือเพื่อทำงานด้านสำนักพิมพ์โดยตรงเป็นครั้งแรก (ไม่นับรวมสาขาวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน และบรรณารักษศาสตร์นะคะ) โดยรุ่นของพี่คือรุ่นล่าสุดที่จบออกมา เป็นบรรณาธิการรุ่นที่ 2 ค่ะ  


ตอนนี้ทำงานอะไรแล้วหน้าที่งานแต่ละวันมีอะไรบ้างเหรอคะ ?

ตอนนี้เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารดาวคณะค่ะ (เอ!! หนังสือปกนี้คุ้นกันบ้างหรือเปล่านา?) สำหรับหน้าที่ในแต่ละวันคงถือได้ว่าเป็นนักเขียนควบกับการทำหน้าที่บรรณาธิการไปในตัว อารมณ์ประมาณว่าเขียนคอลัมน์ด้วย แล้วก็ตรวจทานงานเขียน ทั้งของตัวเองและของนักเขียนท่านอื่นไปด้วยค่ะ  


อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนบรรณาธิการศึกษาเหรอคะ เพราะตอนนั้นถือเป็นรุ่นแรกๆ เลย ?

อย่างที่บอกว่าเราเป็นบรรณาธิการรุ่นที่ 2 ตอนนั้นเอกบรรณาธิการยังไม่เป็นที่รู้จักสักเท่าไรและตัวเราเองก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับงานบรรณาธิการเลย แต่พอจะขึ้นปี 2 ต้องเลือกเอก เพราะสาขาสารสนเทศศึกษามี 3 เอก คือเอกการจัดการสารสนเทศ, บรรณารักษ์ และบรรณาธิการศึกษา จำได้ว่ามีอาจารย์และรุ่นพี่ในแต่ละสายงานมาแนะแนวเกี่ยวกับการเรียนการสอนของแต่ละเอก จบออกไปจะทำงานอะไร ความต้องการของตลาดอยู่ระดับไหน ฯลฯ เหมือนให้เราคิดว่าแท้จริงแล้วใจตัวเองต้องการเดินทางไหน 

ในตอนนั้นสมองคิดแค่ว่า จะให้เลือกการจัดการฯ เหรอท่าทางไม่น่ารอด เพราะเอกนี้เขาเน้นที่ระบบคอมพิวเตอร์ จบออกมาแล้วเป็นแอดมินบ้าง นักสารสนเทศบ้าง ด้วยความไม่ถนัดจึงตัดออกไปก่อน ทีนี้เหลือบรรณารักษ์กับบรรณาธิการ เอ! ถ้าจะเรียนบรรณารักษ์ก็คงต้องทำงานในห้องสมุด ต้องอยู่กับหนังสือกองมหึมา ต้องมาแบ่งหมวด เรียงเลขหนังสือ เราก็คิดว่ามันไม่ใช่อีก สุดท้ายเลยตกล่องปล่องชิ้นกับบรรณาธิการนี่แหละ ไม่รู้จะเรียกว่าแรงบันดาลใจได้หรือเปล่า :)  

แต่ครั้งหนึ่งครูมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และเป็นครูผู้สอนวิชาบรรณาธิการเคยเปรยว่า “แทบทุกศาสตร์ในโลกมีการเรียนการสอน แม้แต่วิชาปูผ้าปูที่นอนยังเปิดสอนในมหาวิทยาลัย ทว่าวิชาบรรณาธิการ วิชาของผู้ที่จะรับผิดชอบหนังสือ ซึ่งจะอยู่คู่กับคนอีกร้อย สองร้อยปีนั้น ยังไม่มีการสอนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ” 
 
เราก็เห็นพ้องกับคำของครูนะ แต่พอได้เข้ามาเรียนจริงๆ สัมผัสกับบรรณาธิการจริงๆ กลับต่างจากที่จินตนาการไว้มาก ทีนี้ซึ้งเลยว่ามันยาก มันเหนื่อย มันกดดันแค่ไหน ถึงกับเคยร้องไห้ในห้องเรียนต่อหน้าอาจารย์ก็มี บ่อยครั้งที่คิดว่าไม่น่าเลือกเอกนี้เลย ทั้งเพื่อนทั้งรุ่นพี่ต่างโอดครวญกันเป็นแถว อาจเพราะเป็นเอกน้องใหม่ ไม่เคยมีที่ไหนสอนมาก่อน เราก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร จะไปดูแนวทางจากที่ไหนเลยอาจเกิดความรู้สึกเช่นนั้นบ้าง แต่ด้วยกำลังใจจากเพื่อนๆ ในรุ่น 2 ซึ่งมีกันแค่ 6 คน ทำให้พวกเราสนิทสนมและคอยพูดคุยปรึกษากันตลอด ทั้งช่วยฉุดช่วยดึง ช่วยถีบกันจนเรือลำน้อยขึ้นถึงฝั่งมาได้ พอวันนี้หันกลับไปมองก็รู้สึกว่า อืม ดีเหมือนกันที่เรียนจบบรรณาธิการศึกษา รู้สึกภูมิใจและคิดว่าสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมา ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เกี่ยวกับวงการหนังสือที่ดีนั้น ควรจะปฏิบัติเช่นไร มาวันนี้เรามีความคิดอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอะไรหลายๆ อย่างในระบบหนังสือของเมืองไทย ถึงแม้ท้ายที่สุดจะทำได้เพียงเล็กน้อยก็ตาม 


ระหว่างเรียน 4 ปีมีความประทับใจอะไรเกิดขึ้นในเอกบรรณาธิการศึกษาบ้างคะ ?

เวลาเรียนเอกนี้จะพิเศษมากเลยค่ะ ไม่ใช่แค่เรียนในห้อง แต่มีไปนั่งเรียนในสวน เรียนที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่สำคัญยังได้เรียนกับนักเขียน นักแปล บรรณาธิการหลายท่านเลยค่ะ อาทิ ครูสุชาติ สวัสดิ์ศรี, ครูเวียง วชิระ บัวสนธ์, ครูเรืองเดช จันทรคีรี, ครูจินดา จำเริญ นักเขียนก็มี ่น เดือนวาด พิมวนา, ประกาย ปรัชญา, บัญชา อ่อนดี ฯลฯ และได้ออกไปศึกษางานในสถานที่จริงด้วยค่ะ ทั้งที่ร้านทำเพลท โรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ ร้านสายส่งหนังสือ ฯลฯ

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบรรณาธิการต้องรอบรู้ในทุกกระบวนการก่อนได้มาซึ่งหนังสือสักหนึ่งเล่ม การได้ศึกษาในสถานที่จริงเราจะเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ได้ทดลองปฏิบัติจริง รู้ว่าเพลทคืออะไร วิธีการทำเพลท การยิงเพลท วัสดุที่ใช้ทำ วิธีการพิมพ์ การผสมสี วิธีทำงานของเครื่องพิมพ์ซึ่งมีตั้งแต่สีเดียว จนไปถึงเครื่องพิมพ์หลายสี ได้เรียนรู้วิธีเย็บกี่ ไสสันทากาว เข้าเล่ม ได้ลงมือห่อหนังสือจริงๆ จนกระบวนการไปสิ้นสุดที่บริษัทสายส่ง เราก็ต้องไปเรียนรู้ว่าขั้นตอนการทำงานที่นั่นเป็นยังไง ซึ่งในช่วงเวลานี้มีเรื่องประทับใจมากเลยค่ะ ต่อให้บรรยายเท่าไรก็คงไม่สู้ลองไปเรียนดูเองนะคะ ^__^ 

 

แต่เอาเป็นว่าพี่ขอเล่าเรื่องประทับใจพอเป็นน้ำจิ้มสักนิดละกันค่ะ คือวันแรกที่ได้เข้าเรียนวิชาบรรณาธิการกับครูมกุฏ คำสั่งแรกที่ต้องทำคือ คัดพยัญชนะไทยตัวเต็มบรรทัด และเขียนเรื่องราวชีวิตของตัวเอง 10 หน้ากระดาษ ต้องคัดจริงๆ นะ ทั้งตัวเต็มบรรทัด ครึ่งบรรทัด แล้วถ้าลายมือไม่สวย ไม่ผ่านก็ต้องคัดใหม่ เคยมีกรณีของรุ่นพี่เขาไม่ถนัดคัดลายมือสักเท่าไหร่ รู้ไหมคะ ครูสั่งให้ไปซื้อสมุดก.ไก่ ที่มีเส้นประไว้สำหรับเด็กอนุบาลคัดตัวอักษร อันนั้นล่ะค่ะ พี่เขาต้องคัดแบบนั้นไปส่ง :) และเวลาคัดจะต้องใช้ปากกาหมึกซึม หรือปากกาปากเป็ดเท่านั้น พี่เรียกว่าปากกาผู้บริหารค่ะ และห้ามใช้ปากกาลูกลื่นในการเรียนวิชานี้เด็ดขาด เพราะการใช้ปากกาลูกลื่นจะทำให้ลายมือไม่สวย อนุญาติให้ใช้ดินสอไม้ได้ ครูจะสอนวิธีเหลาดินสอ ตอนรุ่นแรกที่เรียนต้องสอบการเหลาดินสอด้วยนะ แต่สำหรับพี่ จนแล้วจนรอดก็ยังแอบใช้ดินสอกดอยู่ดี ^^ 

อีกเรื่องที่ประทับใจ เป็นช่วงทำโครงการวิจัยระบบหนังสือหมุนเวียนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ระบบหนังสือหมุนเวียนนี้มีแนวคิดคือ อยากให้เด็กได้อ่านหนังสือดีๆ เมื่อมีหนังสือดีเขาก็จะรู้สึกรักการอ่าน ในระบบนี้จะมีผู้พิจารณาหนังสือแต่ละเล่มว่าเหมาะกับเด็กไหม และไม่รับหนังสือบริจาค เพราะหนังสือที่บริจาคนั้นอาจไม่เหมาะกับเด็ก อาจเป็นหนังสือที่ไม่ดี ไม่มีสาระ ไม่สวยงาม อีกนัยหนึ่งคือเป็นของที่ไม่ต้องการแล้วนั่นเอง (ไม่ได้อคติกับการบริจาคนะคะ แต่ถ้าจะบริจาคก็ควรนึกถึงผู้รับ นึกถึงใจเขาใจเรา)

ซึ่งความสำคัญของระบบนี้คือการแลกเปลี่ยน เรามีหนังสือกองใหญ่หนึ่งกอง แบ่งเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน เมื่อครบ 3 เดือนจะมีกิจกรรมหมุนเวียนหนังสือเพื่อที่โรงเรียนต่อไปจะได้อ่านหนังสือในส่วนที่เหลือ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ เมื่อจบการวิจัยก็เท่ากับว่านักเรียนได้อ่านหนังสือกองโต โดยที่เราใช้งบประมาณเท่าเดิม นอกจากจะมีการหมุนเวียนแล้ว ยังมีกิจกรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจในการอ่านด้วย เช่น การเล่นเกมคำศัพท์ การเล่านิทานให้น้องฟัง และมีการประกวดบันทึกการอ่าน ใครจดบันทึกได้มากที่สุด อ่านหนังสือมากที่สุด ลายมือสวยที่สุดก็จะมีรางวัลตอบแทนความตั้งใจ


คำถามยอดฮิตเลย "บรรณาธิการ" ต่างจาก "นักเขียน" ยังไงบ้างเหรอคะ ?

เอาแบบเข้าใจง่ายๆ นะคะ หน้าที่สำคัญของบรรณาธิการคือตรวจทานและปรับปรุงต้นฉบับจากนักเขียนให้ถูกต้องสมบูรณ์ เป็นผู้มองภาพรวมหนังสือทั้งหมด คิดให้ลึก มองให้กว้างทั้งรูปเล่ม สีที่ใช้ ปกหน้า ปกหลัง คำโปรย ฟอนต์ ภาพประกอบ ทุกองค์ประกอบในหนังสือจะต้องพิจารณาทั้งสิ้น แต่ก็มีความเหมือนในความต่างนั้นด้วย เช่นว่า นักเขียนก็สามารถทำหน้าที่บรรณาธิการงานเขียนของตัวเองไปในตัว เพราะ ‘บรรณาธิการแยกจากนักเขียนไม่ได้ฉันใด นักเขียนก็แยกจากบรรณาธิการไม่ได้ฉันนั้น’ 


หลายคนชอบมองว่า คนที่จะทำงานด้านบรรณาธิการ ไม่จำเป็นต้องเรียนด้านนี้โดยตรงก็ทำได้ คิดยังไงกับตรงนี้บ้างคะ ?

ทุกวันนี้เรียกว่าขาดแคลนบรรณาธิการจริงๆ ก็ได้นะคะ ส่วนมากที่เห็นกันจะเป็นบรรณาธิการที่วัยวุฒิน้อย คุณวุฒิก็ยังไม่ถึงขั้นจะเป็นบรรณาธิการได้ แต่ขึ้นมานั่งตำแหน่ง ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจุบันมีการลงทุนธุรกิจนี้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มบันเทิง มองๆ ไป ทุกวันนี้บรรณาธิการก็เป็นได้ง่ายเสียเหลือเกิน แค่เอาตำแหน่งวางไว้ท้ายชื่อก็ได้เป็นแล้ว ไม่ได้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์มากพอ จึงทำให้มีสิ่งตีพิมพ์ทั้งดีไม่ดีเกลื่อนกันไปหมด ที่พูดตรงนี้ไม่ได้เหมารวมว่าบรรณาธิการจะเป็นเช่นนี้กันทุกคนนะคะ และไม่ได้คิดว่าจะต้องเรียนบรรณาธิการเท่านั้นจึงจะเป็นบรรณาธิการได้ สมัยก่อนบรรณาธิการถูกเทรนมาจากการตรวจปรู๊ฟ การเรียนรู้ทุกกระบวนการในการทำหนังสืออย่างแท้จริง เข้าใจอย่างถี่ถ้วน และสั่งสมประสบการณ์มานานถึงจะมาเป็นบรรณาธิการ แต่ปัจจุบันหาเช่นนั้นได้ยากเต็มที

แน่นอนว่าไม่จำเป็นต้องเรียนบรรณาธิการโดยตรงก็เป็นบรรณาธิการได้ เพียงแต่ต้องรักในการเป็นบรรณาธิการที่ดี รักในการทำหนังสือ เพราะแม้ตอนนี้พี่เองจะมีคำต่อท้ายตำแหน่งว่าบรรณาธิการ แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นบรรณาธิการได้ เพราะประสบการณ์ยังน้อยมาก และสิ่งเรียกว่า ‘ประสบการณ์’ ก็เป็นหัวใจสำคัญของบรรณาธิการเลยล่ะ  


คุณสมบัติของคนที่จะเป็นบรรณาธิการที่ดีมีอะไรบ้างคะ ?

ครูมกุฏ เคยกล่าวไว้ว่า “คนทำหนังสือไม่ใช่คนปกติ เพราะคนทำหนังสือต้องก้าวเหนือกว่าคนอื่นหนึ่งก้าวเสมอ อยู่สูงกว่าคนอื่นหนึ่งชั้น เป็นบุคคลซึ่งต้องรับผิดชอบคนอื่น” นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณสมบัติเด่นของบรรณาธิการจะต้องเป็นผู้ที่รักการอ่านหนังสือมากถึงมากที่สุด ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ซึ่งสำคัญมากเพราะการปรู๊ฟอักษร แต่ละวรรค แต่ละบรรทัดจะต้องถูกต้องทั้งเนื้อหาและรูปประโยค และรู้ลึก หมายถึง ลงลึกไปในศาสตร์อย่างชัดเจน ไม่ใช่รู้มาอย่างผิดๆ ถูกๆ 


น้องๆ ที่อยากเป็นบรรณาธิการ ควรเริ่มต้นยังไง ควรฝึกฝนด้านไหนบ้างคะที่พอจะทำได้ในช่วงวัยนี้ ?

เริ่มจากการอ่านตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ เริ่มจากอ่านหนังสือที่ชอบ อาจเป็นการ์ตูน นิยาย เรื่องสั้น ฯลฯ แล้วค่อยเพิ่มระดับการอ่านขึ้นทีละนิดๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอ่านด้วยหัวใจรักการอ่าน อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ เช่น คำนี้แท้จริงแล้วสะกดอย่างไร และสิ่งสำคัญคือจดบันทึกการอ่าน วันนี้อ่านเรื่องอะไร เนื้อเรื่องแบบไหน ประทับใจตอนไหน คำศัพท์ต่างๆ ฯลฯ พี่เชื่อว่าทุกอย่างไม่ยากเกินไปสำหรับน้องๆ หรอกค่ะ ขอเพียงมีความกล้าที่จะเริ่มเท่านั้น


สุดท้ายแล้ว อยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจด้านนี้ค่ะ

สำหรับน้องๆ ที่สนใจงานบรรณาธิการ อยากเป็นส่วนหนึ่งในการทำหนังสือ พี่ขอให้น้องเริ่มรักหนังสือ รักตัวอักษร รักการอ่าน เริ่มรักทีละนิดๆ แล้ววันนึงความรักเหล่านั้นจะตอบแทนน้องอย่างคาดไม่ถึง ไม่ได้แนะให้หวังผลนะคะ แต่ถ้าน้องมีโอกาสทำหนังสือสักเล่ม มีคนอ่าน มีคนชอบในสิ่งที่เราเขียน สนับสนุนในสิ่งที่เราคิด รู้ไหมว่ามันเป็นความรู้สึกที่บรรยายเท่าไรก็ไม่หมด และถ้าหนังสือที่ทำนั้นดี มีคุณค่า วันหนึ่งน้องๆ อาจเห็นหนังสือของตัวเองแปลเป็นภาษาต่างๆ อาจได้จารึกลงในประวัติศาสตร์ หรือมากกว่านั้นอาจถึงขั้นสร้างสรรค์สังคมจนดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ก็ได้นะจ๊ะ

“การทำหนังสือ ควรมีความรักปูเป็นพื้น และซ้อนทับด้วยความรักหลายๆ ชั้น
รักฅนอ่าน รักฅนเขียน รักฅนแปล รักฅนทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ
ตั้งแต่หัวแถวชั้นต่ำไปจนถึงท้ายแถวชั้นสูง ฅนทำความสะอาดสำนักพิมพ์
ฅนรับส่งเอกสาร ฅนเรียงพิมพ์ต้นฉบับ ตรวจทาน ช่างแท่น ช่างพิมพ์ ช่างพับ
ฅนเย็บกี่ไสกาว ฅนออกแบบปก ฅนวาดรูปประกอบ ฅนขายสายส่ง ฅนซื้อฅนอ่าน ฯลฯ
ต้องระลึกนึกถึงทุกฅนด้วยความกตัญญูรู้คุณ รักด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแท้จริง
ไม่ใช่รักอย่างเอารัดเอาเปรียบ รักหนเดียวตอนนึกถึงผลประโยชน์”
(ส่วนหนึ่งจากบทความ ‘ฝากสำหรับฅนทำหนังสือ’ - มกุฏ อรฤดี)
  

 

 เด็กดีดอทคอม :: 28 วันใน  
ภาพจาก ปริญญา ชาวสมุน หนึ่งในนิสิตบรรณาธิการรุ่น 2

 
พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

21 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
jennyzzzz Member 16 ก.พ. 55 19:05 น. 2
ชอบมากมาย<3 อยากรู้ข้อมูลให้มากกว่านี้อะค่ะ คราวหน้าขอข้อมูลอีกเยอะๆเลยนะคะ อยากทราบว่าอยากเป็นบรรณาธิการนี่ต้องเรียนสายอะไรค่ะ แล้วต้องเข้าคณะอะไร สามารถเข้านิเทศฯ สาขาวรสารศาสตร์ได้ไหม หรือว่าต้องเป็นคณะเฉพาะโดยตรง ขอบคุณล่วงหน้านะค่ะ^^
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ผู้วิเศษในคราบมนุษย์ Member 10 เม.ย. 55 21:05 น. 5
ขอบคุณค่ะ อยากเป็นแต่เป็นคนไม่ค่อยละเอียดเท่าไร แฮ่ๆ=w=;; แต่จะพยายามค่าา~
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
INGFYINGFA 10 ต.ค. 55 22:26 น. 8
อยากรู้ค้ะ ว่าก่อนเป็นบรรณาธิการได้ ต้องอยู่ในตำแหน่งอื่นมาก่อนหรือเปล่า หรือสมัครเป็นบรรณาธิการได้เลย แล้วอยากเป็นบรรณาธิการจบจากคณะอะไรได้บ้าง ต้องรู้ภาษาที่สามที่สี่ไหม? เงินเดือนเท่าไหร่ ความต้องการของตลาดเป็นยังไง?
ขอบคุณล่วงหน้านะค้ะ
1
chocofrozen 19 พ.ค. 60 23:16 น. 8-1

บ.ก.คนแรกของพี่ เป็นนักแปลมาก่อน แล้วขึ้นมาเป็นบ.ก.

บางคนที่รู้จัก ก็เป็นนักพรูฟมาก่อน แล้วก้าวขึ้นมาเป็นบ.ก.

ส่วนจำเป็นต้องรู้ภาษาที่สามที่สี่ไหม ขึ้นอยู่กับหนังสือที่ทำ ถ้าเป็นหนังสือแปลจากภาษาต่างประเทศ ก็ควรต้องรู้ภาษาที่สามที่สี่ค่ะ


0
กำลังโหลด
alice 26 พ.ย. 55 00:42 น. 9
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ
ตอนนี้ได้มีโอกาสทำวารสาร
ของสภานักเรียนอยู่
ได้มาอ่านแล้ว มันเป็นการเริ่มต้น
ที่ดีมากๆเลยค่ะ
จะทำให้สุดฝีมือเลยค่ะ ^_^
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
น่ารัก 16 ก.พ. 57 22:15 น. 12
อาชีพ นี้ เงินเดือนดี ไหม???คร๊ แล้วทำงาน เกี่ยวกับบรฺษัทไหม?? ถ้ายุ้วๆๆไม่อยากทำงานนี้ แล้วทำงานไหรได้อีกคร๊ ขอช่วยตอบหน่อยคร๊
0
กำลังโหลด
unnu Member 16 เม.ย. 57 01:18 น. 13

มันคือความฝันเลย บอกตรงๆ ตอนนี้ไม่ทันแล้ว เพราะจบป.ตรีแล้ว ได้อ่านบทความนี้ยิ่งทำให้รู้ว่าอยากเรียนเอกมาก ถ้าจะต่อป.โท อยากทราบว่ามีมหาวิทยาลัยไหนเปิด สาขานี้บ้าง

1
กำลังโหลด
Khambabo Member 30 เม.ย. 57 20:25 น. 14

ประทับใจเกี่ยวกับคอลัมนี้มากค่ะ เป็นการสื่อมาใจมากค่ะ ทำให้สนใจเกี่ยวกับการเป็นบรรณาธิการเลยค่เยี่ยมซึ้งยิ้ม

0
กำลังโหลด
NiNo 10 พ.ค. 57 15:35 น. 15
อยากเป็นบรรณาธิการมากค่ะ แต่ไม่ได้เรียนเอกนี้ พ่อไม่ยอมให้เรียนบูรพาฯเพราะมันไกล แต่เราตั้งใจแล้วว่าจะเป็นบก.ให้ได้ ต่อให้จบมาไม่ตรงสาขาก็ตาม ขอบคุณสำหรับบทความนี้นะคะ ทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆสนใจอาชีพบก.มากขึ้นด้วย *-*
0
กำลังโหลด
Blue Raymond Member 13 ก.ย. 57 20:25 น. 16

อยากเป็นบรรณาธิการค่ะ อยากทำงานกับหนังสือ อยู่กับหนังสือ แต่ไม่รู้จะคุยกับที่บ้านยังไงดี TOT

0
กำลังโหลด
ปลาคังน้อย Member 16 ต.ค. 57 11:50 น. 17

นอกเหนือจากเรื่องหนังสือแล้ว
ยังมีอีกเรื่องคือต้องพร้อมรับมือกับปัญหา รู้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บางครั้งต้องอดตาหลับขับตานอนทำงาน ไม่ใช่งานแบบตอกบัตรเข้าเช้าออกเย็นตรงเวลา (ทั้งที่ความจริงแล้วการบริหารงานให้เสร็จภายในเวลาเป็นเรื่องสำคัญนะ) แต่ก็ไม่เห็นสนพ.ไหนจะทำได้สักที แบบไม่ต้องโต้รุ่งเป็นผีช่วงานหนังสือเนี่ย พูดแล้วมันก็เหนื่อยนะครับเสียใจ

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
goguma09 Member 7 พ.ค. 58 17:40 น. 19

กรี๊ดดดดดด!! พี่ค่ะ หนูชอบคณะนี้มากๆๆๆๆเลยค่ะ และกำลังจะสมัครเข้าม.บูรด้วยคะ จะพยายามให้ดีที่สุดเลยค่ะ ><!!!

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด