วันนี้ พี่ลาเต้ มีประสบการณ์ชีวิตของน้องคนหนึ่งมาให้อ่านกันครับ...ใครจะไปรู้ว่าจากเด็กคนหนึ่ง ที่พูดน้อย ขี้อาย จะกลายเป็นนักโต้วาที นักพูดระดับชาติได้...ซึ่งจุดเปลี่ยนของเขาน่าสนใจทีเดียว...ไปตามอ่านกันเลยครับ...

 

จะมีสักกี่คนที่รู้สึกว่าตัวเองเกิดมาโชคดี แม้ว่าชีวิตนี้จะดีกว่าคนอื่นอีกนับหมื่นนับแสนบนดาวเคราะห์สีฟ้าที่ชื่อว่าโลกใบนี้ แต่บ่อยครั้ง...เรากลับเลือกมองคนที่อยู่เหนือกว่า พร้อมทั้งตัดพ้อโชคชะตามากกว่าจะหันไปมองดูคนที่โชคร้ายกว่าตัวเอง
       
          เด็กหนุ่มวัย 18 ปีคนหนึ่ง ประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ผมว่าชีวิตผมเกิดมาโชคดี” ดี...ในที่นี้ของเขา ในสายตาคนนอกคงหมายถึง ชาติตระกูล การศึกษา และฐานะของครอบครัว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนเกื้อหนุนให้เขาเป็นเขาอย่างทุกวันนี้ได้ ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ปฏิเสธ... อย่างที่บอก เขาคิดว่าตัวเองเกิดมาโชคดี แต่บนเวทีชีวิตลำพังแค่มี“โชค” อย่างเดียวคงไม่พอ
       


          จากเด็กชายที่ขี้อายและขลาดกลัวการเข้าสังคมในวัยเยาว์ วันนี้เขากลายเป็นแชมป์นักโต้วาทีและกล่าวสุนทรพจน์ระดับประเทศ แน่นอนว่า...รางวัลที่ได้มา ไม่ใช่ด้วยโชค แต่แลกมาด้วยการฝึกฝนตนเองอย่างหนัก พร้อมกับความมั่นใจที่พอกพูนขึ้นตามวันเวลาและประสบการณ์ของชีวิต โลกใบเดิมใบเดียวกันกับเมื่อตอนเขาเป็นเด็ก แสดงอีกด้านให้เขาได้เรียนรู้ว่า การสื่อสารผ่านทางคำพูด เป็นการสื่อสารที่ทรงพลังและเปี่ยมประสิทธิภาพมากเพียงใด
       
          หากมองแต่ภายนอก “เจิ้น” ธนวัศ เผ่าวิบูล ก็ไม่ต่างจากเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่มีโอกาสดีในสังคม เขาได้รับการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติ เป็นบุตรชายคนเดียวของชโลทร-วรรณธิดา เผ่าวิบูล อัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญและภรรยา เหตุนี้เองเจิ้นจึงได้ติดตามบิดาไปใช้ชีวิตและเรียนหนังสือ ณ ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษาปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยมหิดลอินเตอร์
       
          หากตัวตนของเจิ้นที่เราสัมผัสและพูดคุยกับเขานั้น มิได้เป็นเหมือน “เด็กนอก” บางคน เขาสุภาพ อ่อนน้อม มองโลกในแง่ดี และมีอารมณ์ขัน ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น โดยเฉพาะในสภาพสังคมไทยที่กำลังแล้งไร้รอยยิ้มในยามนี้
       
          เหนืออื่นใด เขาเป็นคนที่มองโลกอย่างเข้าใจและมีความหวัง

 

จุดเปลี่ยน
       
          “ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนขี้อาย” เจิ้นเล่าพร้อมยิ้มกว้าง ด้วยท่าทางคุยสนุกเข้ากับคนง่ายของเขา ขัดกับคำบอกเล่านั้นอย่างไม่น่าเชื่อ
       
         
แต่เมื่อลองนึกภาพตามว่าเด็กชายเล็กๆ ต้องย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียนไปเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อยู่ตลอด ก็ไม่แปลกใจถ้าในวัยเด็ก เจิ้นจะขี้อาย และไม่ค่อยกล้าพูดคุยกับคนแปลกหน้า
       
          “คุณพ่อทำงานกระทรวงต่างประเทศ ถ้าพ่อย้ายไปไหนก็ต้องย้ายตามไปด้วย” เจิ้นเล่าอดีตของเขาให้ฟัง ซึ่งอาจฟังดูน่าสนุก ตรงที่ได้พบเห็นอะไรใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกัน เจิ้นก็ต้องพยายามปรับตัวอย่างหนักให้เข้ากับสังคมใหม่ที่เขาไปอยู่ด้วย
       
          “พอ 4-5 ขวบ คุณพ่อย้ายไปอิตาลีก็เลยตามคุณพ่อไปอิตาลีด้วย กลับมาก็สักตอน 8-9 ขวบ ตอนนั้นจำได้แต่ว่าอากาศหนาวมากๆ เวลาคุณพ่อพาไปเดินพิพิธภัณฑ์ ผมก็ว่ามันก็น่าเบื่อ ด้วยความที่เราเป็นเด็ก แต่ว่ามองกลับไปดูผมก็ว่ามันเป็นที่ที่น่าสนใจ”
       


          เมื่อกลับมาเมืองไทย เจิ้นเข้าเรียนที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี เมื่อขึ้นเกรด 8 มารดาแนะนำให้เขาลองลงเรียนวิชากล่าวสุนทรพจน์ หรือ Public speaking ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเด็กขี้อายอย่างเขา
       
          “แม้จะเรียนโรงเรียนนานาชาติมาตลอด แต่ภาษาอังกฤษผมแย่มาก เพิ่งมาดีขึ้นตอนเกรด 8 มีคุณครูดีมากชื่อมิสไดแอน ตอนนี้เขาเสียชีวิตไปแล้ว แต่เป็นคนที่ช่วยผลักดันให้แรงบันดาลใจผมสนใจทางด้านภาษาอังกฤษ อ่านหนังสือเยอะๆ จนภาษาผมดีขึ้นมากทั้งพูดอ่านเขียน ต้องขอบคุณท่าน ส่วนครูอีกคนที่สอน Public speaking ผมก็เป็นครูที่ดี พูดกับเราเหมือนเป็นเพื่อน ไม่ค่อยเหมือนครูมากเท่าไหร่ ผมก็เลยรู้สึกว่าคลาสนี้มันก็สนุกเหมือนกัน”
       
          หัวข้อแรกในชีวิตนักพูดของเขา ก็คือ
“กล้วย” ซึ่งไม่ค่อยกล้วยสมชื่อ แต่เจิ้นก็เอาตัวรอดมาได้โดยการกินกล้วยโชว์หน้าชั้นเรียน
       
          “ในการกล่าวสุนทรพจน์ เวลาพูดผมก็ไม่อยากให้คนเบื่ออยู่แล้ว นั่นเป็นจุดประสงค์ของผม แต่พอหลังจากเรียนคลาสนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้เทคนิคอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ เทคนิคอย่างแรกเลยก็คือ เวลาขึ้นเวทีเราต้องรู้ว่าจุดประสงค์ของเราคืออะไร อยากจะพูดอะไรให้เขาเข้าใจ เราไม่จำเป็นต้องใช้คำใหญ่โตมากๆ เราแค่พูดให้คนฟังเข้าใจได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในระหว่างที่พูดต้องมองคนให้ทั่วทั้งห้อง คือมี eye contact แล้วก็ถ้าเกิดลืมขึ้นมา ก็อย่าพูดเออ..อา.. ถ้าเกิดลืมจริงๆ ก็ให้เงียบไว้ก่อน ตั้งสติอีกทีหนึ่ง แล้วค่อยพูดต่อไป นั่นคือสิ่งที่ครูเขาสอนไว้”
       
         
แม้วันนี้จะมีประสบการณ์พูดต่อหน้าสาธารณะชนเพิ่มขึ้นแล้ว แต่เจิ้นยอมรับว่าทุกครั้งเขายังมีอาการตื่นเต้นก่อนขึ้นเวทีอยู่เสมอ
       
          “มันจะตื่นเต้นก่อนพูด แต่เวลาพูดความตื่นเต้นก็จะค่อยๆ หายไป เราก็ตั้งใจพูดให้ผู้ฟังเขาฟังสารที่เราต้องการจะสื่อ”
       

          แต่หลังจากเรียนคลาสพูดสุนทรพจน์ได้ไม่นาน เจิ้นก็ต้องติดตามคุณพ่อซึ่งย้ายไปประจำสถานทูตไทย ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คราวนี้เจิ้นเข้าเรียนต่อที่โรงเรียน The American Community School of Abu Dhabi ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนต่างชาติที่ผู้ปกครองทำงานอยู่ที่นั่น
       
          “แม้จะเป็นประเทศมุสลิม แต่สังคมในโรงเรียนนั้นเป็นอเมริกันมากๆ ตั้งแต่ย้ายตามคุณพ่อไปเมืองนอกบ่อยๆ คุณแม่ก็ให้อ่านหนังสือพิมพ์ไทย อ่านหนังสือไทยอยู่บ่อยๆ คอยฝึกอยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ลืมภาษาไทย” สองปีต่อมา เจิ้นย้ายตามคุณพ่อกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง จนกระทั่งจบไฮสคูลที่นานาชาติร่วมฤดี
       
          หลังจากนั้น เจิ้นเลือกเรียนต่อสาขาสังคมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลอินเตอร์ ด้วยเหตุผลว่า “จริงๆ แล้วเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหิดลอินเตอร์ มันอยู่ในคณะสังคมศาสตร์ ผมก็ตั้งใจจะเรียนเรื่องรัฐศาสตร์อยู่แล้วเมื่อขึ้นปีสอง” เมื่อถูกถามว่า คุณพ่อคุณแม่มีส่วนแค่ไหนในการตัดสินใจเลือกวิชาที่เรียนของเขา เจิ้นบอกว่า
        
          “คุณพ่อคุณแม่เขาก็บอกผมอยู่เรื่อยว่า ถ้าอยากจะเรียนอะไร ให้แน่ใจว่าเราสนใจและชอบในสิ่งที่เราจะเรียนจริงๆ เพราะว่าถ้าเราไม่ชอบมันก็อาจจะเรียนยาก พ่อกับแม่ก็ว่าถ้าเลือกอะไรก็ให้เลือกในสิ่งที่เราสนใจไว้ก่อนก็แล้วกัน”
       
          การเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดลอินเตอร์นี่เอง ที่ทำให้เจิ้นได้ก้าวสู่เวทีการแข่งขันโต้เวทีและประกวดสุนทรพจน์ระดับประเทศเป็นครั้งแรก เขาเข้าร่วมกับชมรมโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ก่อนตัดสินใจลงสมัครในการแข่งขันการกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษในที่ชุมชนระดับชาติ ประจำปี 2551 ในหัวข้อ "New Horizons, New Frontiers"
       
           “มหิดลเค้ามีชมรมโต้วาที ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่าค่อนข้างดังเหมือนกันในเมืองไทย เพราะเคยชนะมาหลายที่ ประธานชมรมโต้วาทีก็แนะนำผมว่า มีการแข่งขันสุนทรพจน์สนใจไปไหม เขารับสมัครคนไทยอย่างเดียว เขาก็เลยเสนอให้ผม ผมก็ไปลองคนคว้าดู เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยลองเข้าไปทำดู”
       

         
ผลปรากฏว่า เจิ้นได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้วยสุนทรพจน์ที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งเขามองว่าเป็นเครือข่ายที่เชื่อมดินแดนและผู้คนจากขอบฟ้าต่างๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นชุมชนใหม่ในโลกไร้พรมแดน
        
          “ที่เลือกพูดเรื่องอินเทอร์เน็ต เพราะเผอิญตอนนั้นผมนั่งเล่นเน็ตแล้วไปเจอบทความเกี่ยวกับโปรแกรมใหม่ของ Google.com ซึ่งถ่ายรูปบ้าน ถนนทั่วทุกแห่งในเมืองเป็นรูปจริง เป็น street view เขาจะจ้างรถมาแล้วให้รถขับถ่ายรูปไปทั่วเมือง มันจะเห็นชัดมากๆ เหมือนเราไปอยู่ในเมืองนั้นเลย ผมก็เลยเขียนเป็นเรื่อง Violation of privacy ของคน ว่ามันอาจเป็นโปรแกรมที่ทำให้คนไม่มีความเป็นส่วนตัวเท่าไหร่”
       
          เดือนหน้านี้ เจิ้นจะเดินทางไปแข่งขันการประกวดสุนทรพจน์ระดับโลกที่ประเทศอังกฤษ โดยเตรียมปรับปรุงหัวข้อนี้จากร่างสุนทรพจน์เดิมที่เขาเก็บข้อมูลและเขียนขึ้นเองทั้งหมดใหม่อีกครั้ง

 

ความหวัง-ความฝัน และแรงบันดาลใจ
       
          “Don't cry because it's over. Smile because it happened.” คำพูดเชิงให้กำลังใจของ Theodor Seuss Geisel หรือที่เป็นที่รู้จักในนาม “ด๊อกเตอร์ซูส” นักเขียนอเมริกัน เจ้าของผลงานหนังสือเด็กและการ์ตูนคลาสสิคยอดนิยมมากมาย ทั้งอย่าง The Cat in the Hat, How the Grinch Stole Christmas ฯลฯ คือต้นแบบคติในการดำเนินชีวิตของเจิ้นในทุกวันนี้
       
          “สมมติเรื่องอะไรที่เกิดขึ้น เราชอบมากๆ แต่ว่ามันผ่านไปแล้ว มันจบไปแล้ว อย่าร้องไห้ ยิ้มดีกว่า เพราะเราได้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ อย่าไปร้องไห้ เราควรจะดีใจว่าเรามีโอกาส สมมติว่า โอเคมีแฟน ถ้าเกิดเลิกกันก็อย่าไปร้องไห้ เรามาลองคิดว่า อย่างน้อยเราได้รักเค้า เราได้เจอเค้า ก็เป็นสิ่งที่ดี” เจิ้นบกพร้อมรอยยิ้มที่ยืนยันความเป็นคนคิดในด้านบวกอยู่เสมอของเขา
       


          ส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมทัศนคติมองโลกในแง่งามนี้ของเจิ้น ก็เป็นผลจากการเลี้ยงดูจากครอบครัวของเขานั่นเอง
        

“แรงบันดาลใจแรกในชีวิตผมก็คือพ่อแม่ ในฐานะที่เป็นลูกคนเดียว ผมสนิทกับพ่อแม่ค่อนข้างมาก ตลอดชีวิตก็มีแต่พ่อกับแม่เท่านั้นที่เป็นแรงบันดาลใจแรงมากๆ คุณแม่เลี้ยงผมมาตั้งแต่เด็ก ท่านสอนให้ผมนึกสิ่งที่ตัวมีอยู่แล้ว อย่าเห็นแก่ตัว เราก็นับว่าเกิดมามีเงินพอใช้ ก็สำนึกไว้ว่าเราโชคดีแล้ว เวลาอยากได้อะไรก็นึกถึงคนที่ไม่มีสิ่งที่เรามี
       
          แม่สอนมาตลอดว่า เราต้องดีใจกับสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เราต้องคิดถึงคนอื่นที่ไม่มีเท่าเรา เราต้องนึกว่าโชคดีแค่ไหนที่เราเกิดมามีแขนขาครบ เพราะบางคนเกิดมาเขาก็ไม่มี คุณแม่ก็จะสอนอย่างนี้มาตลอด ผมคิดว่าคำสอนนี้ก็ติดตัวผมมาจนถึงตอนนี้ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่ผมอาจจะนึกเห็นแก่ตัว ผมก็จะนึกถึงสิ่งที่คุณแม่สอนไว้” เจิ้นเล่าถึงคำสอนของมารดาของเขาที่จำได้ไม่ลืม
       
          ส่วนบิดาของเขานั้น ด้วยความที่ต้องรับผิดชอบการงานในฐานะข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศ เจิ้นจึงไม่ค่อยมีโอกาสใกล้ชิดพ่อเท่ากับแม่ แต่เมื่อมีเวลาว่างจากงานประจำคราใด เมื่อนั้นทั้งสองจะใช้เวลาร่วมกันเสมอ “คุณพ่อเป็นคนที่ไม่เอางานกลับมาที่บ้าน บางคนเขาอาจจะมีปัญหาเรื่องงานแล้วกลับมาหงุดหงิดที่บ้าน แต่คุณพ่อไม่ใช่คนอย่างนั้น พอกลับมาบ้านคุณพ่อจะเปลี่ยนเหมือนเป็นคนละคน เป็นพ่อที่ตลกๆ น่ารัก จะมาดูหนังกับผมและคุณแม่ จะไม่ค่อยคุยถึงเรื่องงาน ส่วนมากจะคุยเรื่องของผมมากกว่า อย่างวันนี้เรียนอะไรมา แล้วก็จะไปเรียนที่ไหนอนาคตอย่างนี้มากกว่า ผมก็ชอบคุณพ่อตรงนี้ มันเป็นแรงบันดาลใจให้ผมในแง่ที่ถ้าเกิดผมมีครอบครัว ผมก็อยากจะเป็นเหมือนคุณพ่อ คือเป็นคนที่ไม่เอางานกลับมาบ้าน เวลากลับมาบ้านก็อยากจะใช้เวลากับครอบครัว”
       


          ไอดอลอีกคนของเขาก็คือ บาราก โอบามา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ของพรรคเดโมแครต ซึ่งเจิ้นรู้สึกชื่นชมในวิธีคิดและการปราศรัยหาเสียงของนักการเมืองอเมริกันผิวสีผู้นี้ “โอบาม่าเขาจะไม่ใช้คำใหญ่โต เขาเลือกใช้คำง่ายๆ แต่กินใจคน เรารู้ว่าเขาพยายามจะสื่อสารกับคนอเมริกัน เวลาเขาพูดถึงอเมริกาว่าเราต้องการความหวัง เราต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อให้เป็นประเทศชาติที่ดีขึ้น มันเข้าใจง่ายๆ และมันรู้สึกซึ้ง เพราะเขาต้องการให้คนเข้าใจเขาจริงๆ บางทีผมได้ยินคนอื่นพูดกล่าวสุนทรพจน์ เขาจะใช้คำที่ค่อนข้างยาก ดูสวยงามแต่บางคนจะไม่ค่อยเข้าใจ คือจุดประสงค์ของเราเวลาขึ้นไปเราอยากให้เขาเข้าใจว่าเราพูดอะไรกันแน่ ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือพูดกับคนดูเหมือนพูดกับเพื่อนเรา”
       
          ก่อนจากกัน เจิ้นฝากทิ้งท้ายสำหรับคนที่สนใจอยากฝึกพูดสุนทรพจน์ว่า นอกเหนือจากไหวพริบและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การควบคุมการใช้น้ำเสียงที่จะสร้างความน่าสนใจและดึงดูดผู้ฟังได้ พร้อมกับฝากแง่คิดอีกด้วยว่า
       
          “เวทีพูดสุนทรพจน์เป็นเวทีที่อยู่ได้ไม่นาน อย่างมากก็ 7-10 นาที เราขึ้นไปเราก็เหมือนเป็นอีกคนหนึ่ง เราขึ้นไปพูดสิ่งที่เราอยากพูด หลังจากนั้นเรากลับลงมา เวทีนั้นมันก็จบไปเลย แต่เวทีชีวิตเป็นเวทีที่เรายืนมาตั้งแต่เกิด ลงไม่ได้จนกว่าจะถึงวันสุดท้าย สำหรับผมเวทีพูดสุนทรพจน์มันเป็นโอกาสขึ้นไปแล้วอาจจะเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งได้ตามใจชอบ แต่เวทีชีวิตเมื่อลงมาแล้วก็กลับมาสู่ความจริงและก็เป็นตัวของเราเอง บนเวทีเราสร้างคำพูดเตรียมไว้ได้ แต่บนเวทีชีวิตบางครั้งเราวางแผนไว้แต่บางทีมันอาจไม่เป็นอย่างนั้น แต่มันก็เป็นชีวิต เราต้องอยู่ต่อไปเรื่อยๆ”

 

          ชีวิตคนเราเลือกเกิดไม่ได้นะครับ...แต่เลือกที่จะเป็น เลือกที่จะพัฒนาตัวเองได้...เหนื่อสิ่งอื่นใด คือเป็นคนดีครับ...เพราะมันคือการพัฒนาที่ดีที่สุดครับ...น้องๆเห็นด้วยกับ พี่ลาเต้ ไหมครับ...
 

พี่ลาเต้ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากผู้จัดการออนไลน์

 
 
 
พี่ลาเต้
พี่ลาเต้ - Columnist นักข่าวสายการศึกษา เกาะติดทุกข่าวแทนน้องๆ ตัวถีบ ตัวดันให้ ม.6 สอบติด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

22 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
~[[MeMoRY PoLaRiS]]~ Member 19 เม.ย. 51 09:20 น. 11

เราก็พูดมากนะ แต่เวลาอยู่หน้าคนเยอะๆ จะเริ่มพูดผิด อิอิ

เก่งๆ มากๆๆ เลย คุณเจิ้น สู้ๆ ต่อไปน้า ทำชื่อเสียงให้ประเทศ ให้ได้

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด