อาชีพสื่อมวลชนเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพยายามปิดหูปิดตาเยาวชน ด้วยการใช้สื่อฯ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงด้านที่อยากให้รับรู้เท่านั้น ส่งผลให้เยาวชนที่อยากจะตีแผ่ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมอีกด้านหันมาเรียนทางด้านสื่อสารมวลชนมากขึ้น นอกจากนี้ภาคเอกชนหลายแห่งทีเดียวที่จัดประกวดทำข่าวขึ้น อย่างบริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดโครงการ “สร้างสรรค์ ฉลาดคิด ผลิตข่าว” ครั้งที่ 5 สำหรับนักเรียนมัธยม 4 – 5 อายุไม่เกิน 17 ปี

 

          “ฮิโรทากะ มุราคามิ” ซีอีโอกลุ่มบริษัทพานาโซนิคฯ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเริ่มครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1988 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยนั้นได้เข้าร่วมโครงการนี้เมื่อปีค.ศ.2004
       
           “เราต้องการพัฒนาความคิดความสามารถของเยาวชนในการผลิตรายการข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว โดยผู้ที่ชนะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
       


          ส่วนหัวข้อการผลิตข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวในการแข่งขันปีนี้ “วิไล ตรีชิต” ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ บริษัทพานาโซนิคฯ บอกว่ามีให้เลือกสองหัวข้อคือ “นิเวศวิทยา” กับ “การสื่อสาร” เนื้อหาในการนำเสนอจะต้องไม่ใช้รูปแบบการเสียดสี ล้อเลียน ศาสนา วัฒนธรรม

 

ทั้งนี้ดร.ลักษณา คล้ายแก้ว หัวหน้าหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินกล่าวว่า สารคดีเชิงข่าวเป็นการผสมระหว่างข่าวกับสารคดี ซึ่งหมายถึงการนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นรอบตัวมานำเสนออย่างลึกซึ้ง
       
          “ขอแนะนำว่าต้องระวังเรื่องเสียง ไม่ควรเป็นเสียงที่สร้างขึ้นเพราะเราต้องการความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เราอยากเห็นมุมมองและทัศนคติของเด็กที่มีต่อสังคม วิธีการนำเสนอก็อยู่ที่ตัวเด็กเองว่าเวลา 4 นาทีจะทำอย่างไรให้คนอื่นดูแล้วเข้าใจในวัตถุประสงค์เรื่องที่เราจะนำเสนอนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือหลังจากทำเสร็จแล้วลองเอาให้คนอื่นดู แล้วถามคนที่ดูนั้นว่าเขาดูข่าวหรือสารคดีที่เราทำแล้วเขาเข้าใจว่าอย่างไร มันตรงกับวัตถุประสงค์ของเราในการนำเสนอเรื่องนั้นหรือไม่”

 

ด้าน “สุจิรา อรุณพิพัฒน์” ในฐานะนักแสดง พิธีกรหลายรายการ กล่าวว่าการจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งต้องหาข้อมูลให้เยอะมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้รู้จริงว่าเรื่องที่จะทำนั้นมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง แล้วก็เลือกหัวข้อที่น่าทำมากที่สุดนำมาทำ
       
          “ต้องกำหนดเวลาว่าจะใช้เวลาในแต่ละส่วนเท่าไหร่ อย่างหาข้อมูลจะใช้เวลาเท่าไหร่ จะทำอะไรบ้าง อะไรอย่างนี้ เพื่อให้สามารถทำงานให้เสร็จตามที่ต้องการ ส่วนวิธีการที่จะทำให้กล้าสำหรับนุ้ยแล้วนุ้ยใช้วิธีสูดหายใจให้ลึกๆ ไม่ต้องคิดอะไรแล้วทำเลย ส่วนเรื่องการเป็นพิธีกรก็ต้องฝึกใช้วิธีอ่านออกเสียงแล้วบันทึกเสียงตัวเองไว้ เพราะการอ่านออกเสียงได้ฝึกอักขระส่วนการบันทึกเสียงไว้ เวลาเอามาฟังเราจะได้รู้ว่าเราควรจะปรับแก้ไขอะไรบ้าง”
       
          .....สอบถามรายละเอียดอื่นๆ ที่ 02-530-9383-4....

 

พี่ลาเต้ขอขอบคุณข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์

 
พี่ลาเต้
พี่ลาเต้ - Columnist นักข่าวสายการศึกษา เกาะติดทุกข่าวแทนน้องๆ ตัวถีบ ตัวดันให้ ม.6 สอบติด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด