นอกจากบอร์ดแอดมิชชั่นในเว็บ Dek-D.com จะมีพี่ๆ ม.5-6 มาตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าบอร์ดด้านการเรียนของน้องๆ ม.ต้น ก็มีประเด็นฮอตฮิตเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่แพ้กัน เห็นแบบนี้แล้วน่าชื่นใจจริงๆ ที่วัยอย่างน้องๆ เริ่มค้นหาตัวเองกันแล้วว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร

           หนึ่งในอาชีพที่น้องๆ มัธยมพูดถึงเยอะเป็นอันดับต้นๆ ไม่แพ้คุณหมอก็คือ "หมอฟัน" นั่นเอง อาจด้วยเหตุผลที่เป็นอาชีพที่มั่นคงมีเกียรติแล้ว ยังเป็นหนึ่งในอาชีพที่เสรีเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หมายความว่า ถ้าเปิดประชาคมอาเซียน หมอฟันสามารถไปทำงานที่เมืองไหน ประเทศไหนในอาเซียนได้อย่างเสรี เชื่อว่าหลายคนตาลุกวาว ปิ๊งๆๆ เริ่มสนใจ "หมอฟัน" หรือ "ทันตแพทย์" มากขึ้นแล้ว แต่ติดตรงที่ยังไม่รู้ว่า จบหมอฟันสามารถทำอะไรได้บ้าง นอกจากถอนฟัน อุดฟัน ?!?!?


          หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าความจริงแล้ว หมอฟันก็มีสาขาเฉพาะทางคล้ายๆ กับหมอ ที่มีแยกเป็นศัลยแพทย์(พูดแล้วคิดถึงคุณชายพุฒิภัทรเลย ><) กุมารแพทย์ จิตแพทย์ ฯลฯ ซึ่งลักษณะการเรียนต่อก็จะคล้ายกัน คือ ต้องจบปริญญาตรีคณะทันตแพทยศาสตร์ แล้วเรียนต่อเฉพาะทางอีก 1-3 ปี แล้วจึงไปสอบวุฒิบัตรหรือใบอนุมัติบัตร เพื่อเป็นผู้ชำนาญการทันตกรรมสาขานั้นๆ แต่ถ้าไม่ได้เรียนต่อก็จะเป็นทันตแพทย์ทั่วไป สามารถอุดฟัน ขูดหินปูน หรือถอนฟันคนไข้แบบง่ายๆ ได้

           คราวนี้ลองมาดูกันว่าทันตแพทย์เฉพาะทางจะมีสาขาอะไรบ้าง เล็งๆ ไว้เผื่อจะได้เรียนต่อในอนาคต

   
สาขาปริทันตวิทยา
           น้องๆ คุ้นกับคำว่า "โรคปริทันต์" มั้ยคะ โรคปริทันต์ก็คือโรคที่เกี่ยวกับเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟัน ซึ่งเกิดมาจากแบคทีเรียและดูแลรักษาฟันไม่สะอาด จนเกิดคราบหินปูน เหงือกบวมแดง เหงือกร่น ฯลฯ ถ้าเรียนเฉพาะทางสาขานี้จะได้ลงลึกเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวกับเหงือกที่ว่ามาค่ะ ทั้งการขูดหินปูน การเกลารากฟัน เป็นต้น เรียกว่าเอาดีทางด้านนี้ไปเลย

    
สาขาทันตกรรมหัตถการ
           กลุ่มวิชาทันตกรรมหัตถการ จะเรียนเกี่ยวกับการบูรณะฟันให้กลับมาใกล้เคียงกับสภาพเดิม เช่น ถ้าฟันกรามผุ แทนที่จะถอนฟันก็ให้มาอุดฟันแทน ทำให้ใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งในระดับปริญญาตรี น้องๆ จะได้เรียนการอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันชนิดต่างๆ เมื่อเรียนจบออกมาสามารถเอาความรู้มารักษาคนไข้ได้เลย

          แต่ถ้าเรียนต่อเฉพาะทาง จะได้เรียนการบูรณะฟันที่ลึกขึ้น สามารถรักษาคนไข้ในเคสที่ยากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ก็จะได้เรียนในศาสตร์ที่กว้างขึ้น โดยจะมีเรื่องความสวยงามมาเกี่ยวข้อง เช่น อุดฟันหน้า เป็นต้น

    
สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
          เป็นสาขาเฉพาะทางสาขาเดียวที่น้องๆ จะได้จับมีดเพื่อรักษาคนไข้ เกี่ยวข้องตั้งแต่การถอนฟันธรรมดา ถอนฟันคุด การผ่าตัดกระดูกในช่องปาก ผ่าตัดขากรรไกร ในระดับปริญญาตรีจะได้เรียนแค่ถอนฟันและถอนฟันคุดเท่านั้น หากไมได้เรียนต่อทางด้านนี้จะไม่สามารถรักษาคนไข้ด้วยวิธีการผ่าตัดได้ เพราะถือว่าเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ถ้าไม่ชำนาญพอจะยิ่งเป็นอันตรายได้ (มีดหมอคมจริงๆ นะคะ ><)

          หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ชักจะเริ่มกลัวสาขานี้ แต่ขอบอกว่าเป็นสาขาที่น่าเรียนทีเดียว ขอแค่อย่างเดียวคือ อย่ากลัวเลือด ส่วนน้องๆ ผู้หญิงก็เป็นหมอฟันเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ได้นะคะ มีคุณหมอฟันรุ่นพี่เป็นผู้หญิงเพียบ

    
สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก
          แม้ว่าขั้นตอนการรักษาช่องปากในวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่จะไม่ต่างกันมาก แต่สิ่งที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวก็คือ วิธีการจัดการรักษา เพราะการรักษาฟันในเด็กจะต้องอาศัยจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ จนมีคำพูดขึ้นมาว่าเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กที่จะมานอนนิ่งๆ ให้ทำฟัน นึกสภาพสมัยที่เป็นเด็กจะรู้ว่าการไปหาหมอฟันเป็นอะไรที่ทรมานจิตใจมาก อาจจะด้วยเสียงของเครื่องมือที่บาดหู ฟี้ๆๆๆ ไปทีไรได้ร้องไห้ทุกที ดังนั้นการรักษาฟันในเด็กมีเทคนิคที่ต้องเรียนรู้เพื่อให้เด็กไม่กลัวการรักษาฟัน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะได้เรียนกันอย่างละเอียดถ้าได้เรียนต่อเฉพาะทาง

    
สาขาทันตกรรมประดิษฐ์
          คนสูงอายุหลายคนที่ฟันหลุดร่วงตามวัยจะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร ซึ่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้ ดังนั้นน้องๆ จะเห็นผู้สูงอายุจำนวนมากมีฟันปลอมเป็นของคู่กาย รวมถึงคนไข้ที่สูญเสียฟันเนื่องจากอุบัติเหตุ ก็จะมีการสร้างฟันปลอมขึ้นมาทดแทนเฉพาะบางซี่ได้ ซึ่งทันตแพทย์นี่แหละค่ะเป็นผู้สร้างฟันทดแทนเหล่านั้นขึ้นมา

          ความจริงน้องๆ จะได้เรียนทำฟันปลอมตั้งแต่เรียนปริญญาตรีแล้วล่ะค่ะ แต่สำหรับการเรียนต่อเฉพาะทางจะเรียนอย่างละเอียดขึ้น สามารถรักษาเคสที่ยากขึ้นได้


     สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์
           คนไข้รายที่ปล่อยให้ฟันผุรุนแรงจนไม่สามารถอุดฟันได้ หากปล่อยไปเรื่อยๆ จะเกิดการอักเสบที่ปลายรากฟัน ทำให้ปวดฟันยังไม่พอ แต่ยังเป็นแหล่งเชื้อโรคในช่องปากด้วย ใครที่ปัญหาเลยเถิดมาแบบนี้ คุณหมอฟันจะทำการรักษารากฟัน เพื่อให้ฟันยังใช้งานต่อได้ ไม่ต้องถอนทิ้งและใส่ฟันปลอม

          ในสาขาเฉพาะทางสาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์นี้ จะได้เรียนการรักษาคลองรากฟันที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น กรณีฟันแตกจากอุบัติเหตุ หรือการรักษาให้กับคนไข้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งการทำงานร่วมกับทันตแพทย์สาขาอื่นๆ

    
สาขาทันตกรรมจัดฟัน
          มั่นใจมากว่าเป็นสาขาที่น้องๆ อยากทำมากที่สุด เพราะเดี๋ยวนี้หันไปทางไหนก็เจอแต่คนจัดฟัน แต่บอกข้อมูลให้ชื่นใจกันหน่อยว่า ลำพังจบทันตะฯ มาแค่ปริญญาตรีจะจัดฟันให้คนไข้ไม่ได้นะคะ(ชื่นใจตรงไหน??) เพราะเรียนมาระดับพื้นฐาน ต้องเรียนต่อเฉพาะทางด้านจัดฟันเท่านั้น แน่นอนว่าแข่งขันกันสูงทีเดียวค่ะ

     
สาขาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก
           ก่อนการรักษาจะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ในช่องปากก่อนเราว่าควรรักษาอะไรบ้าง เพื่อให้หมอวางแผนการรักษาต่อไปได้ ซึ่งไม่เพียงแต่การรักษาที่จะเรียนกันละเอียดเท่านั้น แต่การวินิจฉัยโรคในช่องปากก็เปิดเป็นสาขาเฉพาะทางให้ได้เรียนกันด้วย

           จากที่้ได้พูดคุยกับคุณหมอที่จบด้านนี้มา คุณหมอบอกไว้ว่าการวิเคราะห์โรคเป็นเรื่องสำคัญสำหรับงานทันตกรรมมาก ยิ่งการเรียนเฉพาะทางจะทำให้วิเคราะห์โรคได้อย่างละเอียด หลายๆ ครั้งดูแค่ช่องปากยังบอกได้ด้วยว่าคนไข้รายนั้นมีโรคอื่นๆ หรือมีการติดเชื้อในร่างกายอยู่หรือไม่

      
สาขาทันตสาธารณสุข
            เป็นสาขาที่ไม่เน้นงานในคลินิค เหมาะสำหรับคนที่ลุยๆ ชอบออกภาคสนามค่ะ หากเลือกเรียนสาขานี้สิ่งที่ต้องเตรียมตัวเลยก็คือ การลงภาคสนาม เข้าหาชุมชน เน้นการบริหาร จัดการ วางแผน และการประยุกต์ความรู้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน เพื่อช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นสาขาที่ท้าทาย ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกห้องเรียนตลอดเวลาเลยค่ะ

           ว้าวๆๆ ไม่น่าเชื่อว่าหมอฟันก็มีสาขาเฉพาะทางที่น่าสนใจให้เลือกเรียนหลายสาขาเลย บางคนบอกพี่คะ! เกิดมาก็เพิ่งรู้นี่แหละว่ามีการเป็นหมอฟันมีรายละเอียดงานเยอะขนาดนี้ ว่าแต่ว่าน้องๆ ชาว Dek-D.com อ่านจบแล้ว เริ่มอยากเป็นหมอฟันมากขึ้นหรือยัง แล้วคิดไว้หรือยังเอ่ยว่าอยากเรียนต่อสาขาไหน แวะบอกกันหน่อยนะ

         ตัวช่วยเด็ด!! หนังสือ "กว่าจะเป็นหมอฟัน" ครบทุกเรื่องที่คนอยากเป็นหมอฟันควรรู้ ทั้งชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัย 6 ปี การใช้ทุน การเรียนต่อเฉพาะทางหลังปริญญาตรี พร้อมประสบการณ์จริงของทันตแพทย์เฉพาะทางมากฝีมือ อ่านแล้วอยากเป็นหมอฟันขึ้น 10 เท่า!! หาซื้อได้ที่ร้านซีเอ็ดและร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ คลิกที่นี่ ค่ะ ราคาเล่มละ 185 บาทเท่านั้นค่า
   

เด็กดีดอทคอม :: ว้าว!! เครื่องตรวจจับรอยยิ้ม...แบบนี้ก็มีด้วย


พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

21 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
_Kudo_Shinichi_ Member 25 พ.ค. 56 08:18 น. 5
 อยากเรียนสาขาทันตกรรมจัดฟัน  แต่อันดับแรกสอบเข้าทันตะฯให้ได้ก่อนนะครับ  จะสู้เพื่อความฝัน :D
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ARMMOMII |♡ Member 26 พ.ค. 56 18:44 น. 9
เป็นประโยชน์มากเลยคะ ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามันแยกออกได้หลายอย่างขนาดนี้
พอได้อ่านแล้วก็ยิ่งอยากเป็นทันตะเข้าไปใหญ่เลย T______T

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
lll-MiNt-lll Columnist 27 พ.ค. 56 09:04 น. 11
คห.10 บอกเจาะจงไม่ได้ค่ะ คนไข้มากน้อยขึ้นอยู่กับสถานที่ด้วย โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ฯลฯ นอกจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนหมอ ถ้าโรงพยาบาลนั้นหมอน้อย เฉลี่ยคนไข้ต่อคนก็เยอะค่ะ
0
กำลังโหลด
kwanpitza Member 2 มิ.ย. 56 17:11 น. 12
อยากเรียนต่อเป็นทันตแพทย์มากๆ เลย เป็นความฝันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ขอบคุณสำหรับการให้ความรู้นะค่ะ 

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กระต่ายฟู 8 ก.ค. 56 20:55 น. 16
พี่ชายเป็นหมอฟัน ถูกล้อตลอดอ่ะ เดี๋ยวก็ชอบฟันบ้าง เดี๋ยวก็ฟันนี่บ้าง ฮ่าๆๆ แต่ปลื้มใจนะ มีพี่เป็นหมอชอบฟัน เอ้ย หมอฟัน ฮ่าๆๆ
0
กำลังโหลด
.luv Member 4 ต.ค. 56 13:30 น. 17

อยากเรียนสาขาทันตกรรมสำหรับเด็กค่ะ คือหนูมีประสบการณ์ที่ดีกับหมอฟันมากๆเลยค่ะ เมื่อก่อนหนูอยู่เชียงใหม่ รักษารากฟันตั้งแต่เด็กที่เดนทัลแลนด์ คุณหมอใจดีมากๆเลยค่ะ หนูไปหาหมอฟันไม่เคยร้องไห้เลย ตอนนี้อยู่กรุงเทพแต่ไม่เคยไปหาหมอฟันที่กรุงเทพเลยค่ะ จะไปเชียงใหม่บ่อยๆ(มีบ้านอยู่ที่นั่น) ไปกี่ครั้งก็ไปหาหมอคนเดิมเลยค่ะ5555 ตอนนี้หนูอยู่ม.2 อยากเป็นหมอฟันแบบคุณหมออิน(ทญ.ภาพิมล ชมพูอินไหว)มากๆเลยค่ะตั้งใจสาขาธ

0
กำลังโหลด
kudokankan Member 28 ธ.ค. 56 23:08 น. 18

อยากเรียนคณะทันตแพทยศาสตร์ มข.ตั้งใจ
ยังอ่านหนังสือไม่ทันเลย
แต่จะพยายาม .. ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง อย่างน้อยเราก็ได้พยายามเพื่อความฝันแล้ว 
สู้ๆ เด็กแอด 57

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
NuzaniIiZ Member 22 เม.ย. 57 16:40 น. 20

แล้วตอนเรียนต่อเฉพาะทางนี่ทำงานไปด้วยได้ไหมอ้ะครับ แบบคนที่เรียนต่อโทแล้วทำงานไปด้วยไรงี้ป่าวอ้ะ??

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด