ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย (คณะบริหารธุรกิจ)

คณะบริหารธุรกิจ Issue 002 week 3 , March 2009
 
คณะบริหารธุรกิจ
ตอนที่ 2/4 : จากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง : ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
 
เสียงจากคนที่อยู่คณะบริหารธุรกิจ
        เมื่อคราวที่แล้ว พี่ยีนได้พาน้องๆ ไปซอกแซกฟังความคิดเห็นของเพื่อนๆ กันแล้ว ครั้งนี้ถึงตาพี่ๆ คณะบริหารธุรกิจกันบ้าง เขาและเธอเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร พี่ยีนได้ล้วงทะลวงเอาข้อมูลมาฝากกันแล้วครับ ไปติดตามกันเลย...

 

หนุ่มบริหารฯคนที่ 1: พี่หมู สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

พี่ยีน: แนะนำตัวหน่อยให้น้องๆ รู้จักหน่อยครับ?
น้องหมู: ชื่อหมู สิทธิเดช หมั่นหลิน จบมัธยมจากโรงเรียนศรียาภัย จังหวัดชุมพร  ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ที่คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยครับ 
พี่ยีน: ทำไมถึงเลือกเรียนคณะบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยครับ?
น้องหมู: คณะบริหารฯ เป็นคณะหนึ่งที่มีชื่อเสียงในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยครับ
พี่ยีน: ทำไมถึงเลือกเรียนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจครับ?
น้องหมู: เพราะว่าไม่ค่อยมีใครเล็งเห็นความสำคัญ ซึ่งตลาดแรงงานอาจจะขาดแคลนในอนาคตครับ
พี่ยีน: การเรียนของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นอย่างไรบ้างครับ?
น้องหมู: เรียนสบายๆ ครับ ส่วนกิจกรรมก็มีเยอะ ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคนครับ
พี่ยีน: มีความภูมิใจในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยด้านไหนบ้างครับ?
น้องหมู: เป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจ และมีจุดเด่นตรงที่บรรยากาศการเรียนครับ
พี่ยีน: คณะนี้จบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?
น้องหมู: จบไปก็วางเครือข่าย (network) หรือวางระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำธุรกิจส่วนตัว หรืองานด้านอื่นๆ ในเชิงบริหารครับ

สาวบริหารฯคนที่ 2: เอ็ม สาขาการเงิน คณะพาณิชศาสตร์ฯ มธ.

พี่ยีน: แนะนำตัวหน่อยครับ?
น้องเอ็ม: ธีรยา ธีรนาคนาท ชื่อเล่นชื่อ เอ็ม เรียนอยู่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ (BBA) ม.ธรรมศาสตร์ ปี 3 ค่ะ
 
พี่ยีน: ตอนสอบเข้าคณะนี้เตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ?
น้องเอ็ม: โครงการนี้รับตรงอย่างเดียวเท่านั้นนะคะ ถ้าน้องๆ สนใจก็ควรจะเตรียมสอบ Smart-I และ SAT ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เลย เพราะรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้การสอบ Smart-I มีถึง 5 ครั้งใน 1 ปี และไม่จำเป็นต้องเรียนอยู่ ม.6 ด้วย เพราะฉะนั้น น้องๆ สามารถไปสอบลองข้อสอบก่อนได้เลย และสถาบันกวดวิชาต่างๆ ก็มีหลักสูตรติวเข้มเพื่อการสอบ Smart-I เยอะแล้วด้วย สอบหลายๆ ครั้งเอาคะแนนเยอะๆ ไปเลยนะคะ ไม่ต้องไปดูตามเกณฑ์ เพราะคนที่จะผ่านเข้ามานั้นไม่ใช่แค่ผ่านเกณฑ์เพียงเล็กน้อยอย่างแน่นอน เข้าไปดูรายละเอียดและสมัครสอบได้ที่ smart.bus.tu.ac.th นะคะ

      ส่วน SAT ก็สอบได้ตลอดปีอยู่แล้วนะคะ แต่เตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้านานๆ ก็ดี เพราะไม่อย่างนั้นอาจต้องบินไปสอบที่ต่างจังหวัด ทำให้เสียเวลาและเสียดายเงินค่ะ ติดตามรายละเอียดการสอบได้จากเว็บ www.collegeboard.com นะคะ ว่ามีจัดสอบเมื่อไหร่ที่ไหน ค่าสอบก็ 2000 – 3000 บาทโดยประมาณ (ขึ้นอยู่กับค่าเงินบาทด้วย) ส่วนเกณฑ์การคัดเลือก พี่แนะนำให้เข้าไปดูในเว็บของ BBA มธ. เองเลยแล้วกันนะคะที่ www.bba.bus.tu.ac.th
 
     ตัวพี่เองพี่ยื่น Smart-I นะคะ การสอบ Smart-I ก็จะวัดความรู้หลายด้าน เลข การอ่าน ภาษาอังกฤษ และความรู้ทั่วไป ส่วน SAT ก็จะเป็น เลข ภาษาอังกฤษ แล้วก็ทักษะการเขียนภาษาอังกฤษค่ะ น้องๆ ที่เรียนอยู่โรงเรียนไทยจะได้เปรียบกว่าถ้าสอบ Smart-I ส่วนโรงเรียนอินเตอร์ก็ต้อง SAT เลยค่ะ แต่สรุปว่ายังไงก็ต้องเน้นเลขกับอังกฤษค่ะ
 
เอ็ม (สาวบริหาร ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
 


  


 
พี่ยีน: ตอนนี้เอ็มเรียนเอกไรอยู่ครับ?
น้องเอ็ม: เรียนเอกการเงิน (Finance) อยู่ค่ะ วิธีเลือกเอก ก็เลือกที่ไม่ชอบน้อยที่สุดอ่ะค่ะ BBA มธ. มี 3 เอกให้เลือกนะคะ คือ บัญชี การตลาด และการเงิน ก็ปรึกษาพ่อแม่ แล้วเขาคิดว่าเรียนการเงิน จบออกมาทำงานได้หลากหลาย และเป็นสิ่งที่น้อยคนนักที่ไม่ได้เรียนจะทำได้ แต่สำหรับการตลาดเป็นสิ่งที่ต้องใช้กึ๋น แบบ Born to be เลย จึงคิดว่าคงไม่เหมาะกับตัวเอง

     
เอกที่ฮิตที่สุดในตอนนั้นคงเป็นการตลาด แต่ในตอนนี้คงจะเป็นการเงินมากกว่า เพราะบริษัทที่กำลังย่ำแย่ส่วนใหญ่ก็ตัดงบการตลาดก่อน นักการตลาดก็อาจจะลำบากหน่อย และนักการเงินจะเป็นผู้เข้ามากอบกู้ธุรกิจซะมากกว่าค่ะ
 
พี่ยีน: การเรียนของคณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
น้องเอ็ม: การเรียนในคณะนี้รู้สึกว่าเรียนสบายเรียนแค่ 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เองค่ะ แต่ในการที่จะเรียนให้ดีนั้นไม่ใช่แค่เรียนในห้องเรียน จะต้องอ่านหนังสือทบทวนควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปีหนึ่งที่ต้องปรับตัว ถ้าเรียนโรงเรียนไทยมา แล้วต้องมาเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ก็จะฟังอาจารย์ไม่ค่อยทันถ้าไม่อ่านมาก่อน การเรียนที่นี่ค่อนข้างแข่งขันสูง ทุกคนต่างมุ่งหวังจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงค่อนข้างเครียดค่ะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ช่วยกันเรียนนะคะ ก็มีติวกันเองบ้าง นัดอาจารย์เป็นกรณีพิเศษขอให้ติวให้บ้างและส่วนใหญ่ก็จะอ่านหนังสือด้วยกันช่วยๆ กัน ถึงแม้จะเรียนที่ท่าพระจันทร์ทั้งสี่ปีและแกนหลักของกิจกรรมจะอยู่ที่รังสิต เราก็มีกิจกรรมให้เลือกทำกันทุกปี กิจกรรมก็มีทั้งภายใน BBA เองแล้วก็ระดับมหาวิทยาลัย ของคณะบัญชีก็มี Accy Night ที่เป็นการประกวดการแสดงของน้องปีหนึ่งและเชียร์ลีดเดอร์ของแต่ละโต๊ะกลุ่ม 

       นอกจากนี้ยังมี Singing Contest ซึ่งก็คือการประกวดร้องเพลงมหาวิทยาลัยของแต่ละโต๊ะกลุ่มทุกปี
ถ้าชอบด้านบริหารจัดการก็มีคณะกรรมการนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ระดับมหาวิทยาลัยก็มีองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ส่วนกิจกรรมใน BBA เองจะมีค่ายอาสาพัฒนาชนบท การจัดการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจ(TUBC) มี BBA Charity Concert ประจำทุกปี  มีชมรม Asia-Pacific Student Entrepreneurship society ที่มีเครือข่ายทั่วโลก แต่ของไทยอยู่ที่นี่ ยังมี Young Consultant Program สำหรับน้องๆ ที่สนใจอาชีพที่ปรึกษาทางธุรกิจ และยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายค่ะ
พี่ยีน: น้องเอ็มว่าคณะนี้มีดีอะไรบ้างครับ?
น้องเอ็ม: คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ก็มีชื่อเสียงมายาวนานและยังคงสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดอย่างไม่หยุดยั้ง หลักสูตรนานาชาติ ก็มิได้มีความยิ่งหย่อนทางวิชาการไปกว่าหลักสูตรปกติอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยจะเห็นได้จากการชนะการประกวดและการแข่งขันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจระดับนานาชาติ การประกวดแผนธุรกิจ แผนการตลาด และล่าสุดคือการแข่งขัน Young Financial Star ผู้ชนะก็คือ นักศึกษาโครงการ BBA มธ. นี่เองค่ะ

      จุดเด่นของคณะก็คงจะเป็นความแข็งแกร่งทางวิชาการ ความพร้อมด้วยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาอาชีพต่างๆ ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะประสบความสำเร็จในแนวทางของแต่ละคนของนักศึกษา และอีกอย่างหนึ่งคือมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ BBA ธรรมศาสตร์ เป็นโครงการเดียวที่อยู่ในเครือข่าย PIM ที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั่วโลกเป็นสมาชิก อย่างตัวเอ็มเองก็ไปแลกเปลี่ยนที่ University of Southern California ที่สหรัฐอเมริกามาค่ะ
 
พี่ยีน: คณะนี้จบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้างครับน้องเอ็ม?
น้องเอ็ม: คำถามนี้ตอบยากมากนะคะ เพราะคงจะสาธยายไม่หมด เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นองค์กรใด บริษัท ห้างร้าน ก็ล้วนแต่ต้องการนักการเงิน การบัญชี และกาตลาดด้วยกันทั้งนั้นถ้าจบการเงินก็อาจจะออกมาทำ Investment Banking หรือ วาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ ทำ Consulting firm เป็นที่ปรึกษาทางการเงินทางการบริหารได้ ทำงานธนาคารต่างๆ บริษัทประกัน หรือ แม้แต่ใน Big 4 Audit companies เราก็ยังสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในส่วนของ Advisory เช่น Corporate Finance หรือ Financial Risk Management (การบริหารความเสี่ยง) ได้
 
พี่ยีน: สุดท้ายนี้พี่ยีนอยากรู้ว่า เอ็มวางแผนสำหรับอนาคตของตัวเองไว้ว่าอย่างไรบ้างครับ?
น้องเอ็ม: คำสำหรับตัวเอ็มเอง ด้วยภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถหางานที่ถูกใจได้ ก็เลยวางแผนจะหาทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาก่อน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะมีประสบการณ์การทำงานที่นั่น แล้วจึงกลับมาทำงานที่เมืองไทยค่ะ
 







หนุ่มบริหารฯที่ 3: โจ สาขาการเงิน คณะพาณิชศาสตร์ฯ จุฬาลงกรณ์

 
พี่ยีน: แนะนำตัวหน่อยครับ?
น้องโจ : สวัสดีครับ พี่ชื่อ โจ ครับ เพิ่งจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ มาสดๆ ร้อนๆ เลยครับ พี่เรียนปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ ภาควิชาการธนาคารและการเงินครับ (แล้วก็เป็นหัวหน้านิสิตของภาควิชานี้ด้วยครับ ^^)
 
พี่ยีน: น้องโจมีวิธีเตรียมตัวสอบเข้าคณะนี้อย่างไรบ้างครับ?
น้องโจ : สำหรับคำถามนี้ อาจจะตอบได้ไม่ดีพอนะครับ เพราะโจเองก็ไม่รู้ว่าตอนนี้ระบบการเอ็นทรานซ์เขาไปถึงไหนกันแล้ว ตัวโจเองนั้นเรียนสายวิทย์-คณิตมาครับ (ตอนนั้นเขามีให้ยื่นคะแนนของสายวิทย์กับสายศิลป์อ่ะ) ตอนสมัยนั้นโจเองก็แบ่งวิชาที่ถนัดในการสอบครับ เพราะมีการสอบ 2 ช่วง คือ ตุลาคมกับมีนาคม โจเป็นคนถนัดคำนวณครับ จึงเน้นวิชาฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์เป็นหลักก่อนครับ โดยทำโจทย์ให้มากๆ ครับ แล้วพยายามทำโจทย์ปีล่าสุดให้เยอะๆ ครับ แต่ก็ทำโจทย์ย้อนหลัง 3-4 ปีก็ดีครับ
 
      โจคิดว่าถ้าเราสอบโดยเน้นทุกวิชา อาจทำให้น้องๆ ที่จะสอบแอดมิชชั่นเหนื่อยนะ แล้วจะเครียดด้วย โจว่าเราควรเน้นเป็นจุดๆ เน้นวิชาที่เราอยากเก็บคะแนนก่อนครับ ส่วนตัวอื่นค่อยอ่านผ่านๆ ครับ แล้วไปเก็บในช่วงหลังครับ มันจะทำให้น้องมีสมาธิ จดจ่อกับสิ่งที่น้องกำลังทำอยู่ครับ เอาเป็นว่าน้องๆ ควรเลือกวิชาที่เป็นตัวหลักในการเข้าคณะนั้นๆ ดีกว่าครับ โดยน้องจะเลือกวิชาที่ถนัดหรือไม่ถนัดก่อนก็ได้ครับ (อันนี้แล้วแต่น้องๆ ตัดสินใจครับ) ที่สำคัญคือ น้องๆ ต้องแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือ ทำโจทย์และพักผ่อนให้ดีนะครับ อย่าลืมคิดถึงสุขภาพของตัวเองด้วยครับ (คงไม่มีใครที่อยากไม่สบายก่อนสอบจริงไหมครับ)
 
      ส่วนเรื่องที่ว่าเน้นส่วนไหนดีโจมองว่า การคำนวณเป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะถ้าน้องๆ จะเรียนด้าน Finance ทักษะในด้านการคำนวณก็เป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะน้องต้องทำงบการเงินต่างๆ วิเคราะห์ตัวเลขครับ แต่ Finance ไม่เหมือนกับบัญชีนะ ด้านนั้นเขามีการตรวจสอบการลงบัญชี เช็คว่าถูกต้องไหมนะ น้องๆ ที่สนใจด้านบัญชีโดยตรงลองหาข้อมูลกันดูได้ครับ
 
พี่ยีน: โจเรียนเอกอะไรอยู่ครับ? และพี่ยีนอยากรู้ว่ามีวิธีการเลือกเอกอย่างไรกันบ้าง?
น้องโจ : สำหรับคณะในสายบริหารธุรกิจประกอบไปด้วย 3 ภาควิชาใหญ่ๆ คือ การเงิน การตลาด และพาณิชยศาสตร์ครับ โดยภาคพาณิชย์จะประกอบไปด้วย 3 ภาคย่อยๆ คือ 1) โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง  2) การจัดการ  3) การจัดการระบบสารสนเทศ  โจเรียนเอกการธนาคารและการเงิน เรียนวิชาโทการตลาดครับ ตัวโจเองเลือกเอกจากหลายๆ ตัวแปร ดูตัวเองก่อนว่า ชอบเรียนด้านไหน แล้วก็คำนึงถึงด้วยว่าถ้าเรียนแล้ว พอเรียนจบจะมีงานทำไหม ไปทางไหนได้บ้าง ซึ่งโจเองเป็นคนที่ชอบด้านการเงิน การตลาด และการจัดการครับ ซึ่งอาจจะกว้างๆ แต่ที่เลือกการเงินเพราะมองว่าความรู้เรื่องการเงินนั้นอาจศึกษาด้วยตัวเองไม่ได้ การเงินเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นจะดีกว่าไหม ถ้าเราเลือกสิ่งที่ยากให้กับตัวเอง เพราะถ้าเราเลือกสิ่งที่ง่ายๆ คนเขาจะเลือกกันมาก และเราจะมีคู่แข่งมาก (แต่ไม่ได้บอกว่าการตลาดกับพาณิชย์ง่ายนะครับ) ส่วนบางคนดูเรื่องเงินเดือน
 
      โจมองว่าไม่ว่าจะเรียนสายไหนก็ตาม เงินเดือนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของแต่ละคนที่จะได้เข้าไปในองค์กรนั้นครับ ซึ่งโจมองว่าการเงินน่าจะเป็นด้านที่สามารถก้าวกระโดดได้เร็วและมีสายงานที่กว้างครับสำหรับเอกที่ฮิตสุดๆ ในตอนนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันนะว่าเอกไหน แต่เท่าที่สังเกตทุกๆ ปี ส่วนใหญ่จะเลือกเรียนด้านการเงินกันมากครับ แต่แนวโน้มในปีนี้เห็นว่ารุ่นน้องที่กำลังจะเลือกภาคฯ เขาไปเลือกการตลาดกันมากขึ้นนะ อาจจะเป็นเพราะน้องๆ บางคนเขาดูเศรษฐกิจด้วยว่า ธุรกิจการเงินอาจได้รับผลกระทบในทางลบจากเศรษฐกิจโลก (มีบางคนคิดแบบนี้นะ) แต่บางคนก็เลือกภาคอื่นๆ เพราะภาคการเงินเป็นอะไรที่หนักและยากครับ (แต่ก็ยังเลือกการเงินมากที่สุดอยู่ดีครับ..ฮ่าๆๆ) เรียนภาคอื่นอาจทำเกรดได้ดีกว่าด้วย อันนี้น้องๆ ต้องตัดสินใจกันดูนะ เพราะคณะนี้เขาให้เลือกภาคตอนขึ้นปี 3 ครับ น้องๆ จะได้เรียนวิชาพื้นฐานของแต่ละภาควิชาก่อนแล้วค่อยเลือกภาคครับ ดังนั้น น้องๆ ที่สนใจด้านบริหารธุรกิจก็สามารถตัดสินใจเลือกวิชาเอกหลังจากสอบเข้ามาเรียนในคณะนี้ได้ครับ
 
พี่ยีน: การเรียนของคณะนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ?
น้องโจ : ในช่วงปี 1-2 ภาคบริหารธุรกิจจะเรียนไม่ค่อยหนักนะครับ แต่ภาคบัญชี ภาคสถิติ และ BBA (พาณิชยศาสตร์) จะหนักกว่าเราอีกนะ ช่วงปี 1-2 เราจะได้เรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ ครับ เมื่อขึ้นปี 3 ภาคบริหารก็แยกกันไป ซึ่งคนที่เลือกเรียนด้าน Finance จะเรียนหนักกว่าภาคอื่นหน่อยครับ
      ภาคเราเน้นด้านความรู้ ความคิดวิเคราะห์กันมากครับ อืม!
จะว่าหนักมากไหม พี่ว่าหนักมากนะ แต่มันคงเทียบกับตอนทำงานไม่ได้หรอกนะ เพราะการที่เราทุ่มเวลาตั้งใจเรียนตอนนี้ มันทำให้เราประสบความสำเร็จในอนาคต มีการงานที่ดี มีชีวิตที่สบายครับ ส่วนสายการเงินเราเน้นความรู้ ความแม่นยำในเนื้อหาเป็นสำคัญ เมื่อออกไปทำงานก็ไม่ควรจะผิดพลาด เพราะเราทำงานเกี่ยวกับตัวเลข เงินๆ ทองๆ ต้องมีความรับผิดชอบให้มากจึงต้องเรียนหนักเพื่ออนาคตของตัวเองครับ

 

โจ (หนุ่มนักบริหารตาหยี)

 

 

 




หนุ่มบริหารฯที่ 4:
วีร์ สาขาสถิติ คณะพาณิชศาสตร์ฯ จุฬาลงกรณ์


พี่ยีน: แนะนำตัวหน่อยให้น้องๆ รู้จักหน่อยครับ
น้องวีร์ : สวัสดีครับ ผมชื่อว่าปุณยวีร์ นภาลัย หรือว่าพี่วีร์ครับ ตอนนี้เรียนอยู่ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาสถิติประกันภัย ชั้นปี 4 ครับ

พี่ยีน: ตอนสอบเข้าคณะนี้เตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ?
น้องวีร์ : ผมจะเน้นที่การทำข้อสอบย้อนหลังและการทำสรุปย่อเนื้อหาเป็นหลัก เพราะโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่เรียนเร็ว แต่ก็ลืมเร็ว การทำข้อสอบเยอะๆ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหา และการทำสรุปย่อเนื้อหาก็เป็นตัวช่วยลดเวลาในการทบทวนคราวต่อไปครับ 
            
     ส่วนเรื่องวิชาที่ควรเน้นพี่คิดว่าควรเน้นที่วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษครับ เนื่องจากว่าเป็นสองวิชาที่มีความสำคัญมากในการเรียนในคณะนี้ อีกทั้งคนส่วนมากจะทำคะแนนในสองวิชานี้ได้ไม่ค่อยดี ถ้าหากว่าใครทำคะแนนในสองวิชานี้ได้ดี ก็จะได้เปรียบในการเลือกคณะครับ
 
พี่ยีน: วีร์เรียนสาขาวิชาเอกอะไรอยู่ครับ?
น้องวีร์ : ตอนนี้เรียนเอกสถิติประกันภัยครับ สำหรับคณะบัญชี ภาควิชาสถิติของจุฬาฯจะแบ่งเอกเป็น 4 เอก คือสถิติประกันภัย สถิติประยุกต์ สถิติคณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ น้องๆ จะได้เลือกวิชาเอกกันตอนขึ้นปี 3(ยกเว้นภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจที่จะต้องใช้คะแนนเอนทรานซ์ในการคัดเลือก)
     
      การเลือกเอกควรจะถามตัวเองให้ดี เพราะว่าสาขาที่ตัวเองกำลังจะเลือกนั้น จะเป็นสาขาที่เราต้องอยู่กับมันไปอีกนาน ทั้งในระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยและในการทำงานช่วงแรกๆ ของชีวิตเลยทีเดียว
ส่วนถ้าถามว่าเอกไหนกำลังฮิตสุดๆ ผมคิดว่าโดยภาพรวมแล้ว จะเป็นเอกเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจครับ จากประสบการณ์ที่มีน้องๆ หลายคนถามถึงเอกนี้บ่อยๆ ส่วนอีก 3 สาขาที่เหลือก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน และกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ดูจากคะแนนแอดมิชชั่นที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ

พี่ยีน: การเรียนของคณะนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ?
น้องวีร์ : วิชาที่วีร์ได้เรียนตอนปีหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเรียนรวมกับทุกภาควิชาครับ มีทั้งภาคสถิติ ภาคบัญชี และภาคบริหารด้วย การเรียนก็จะมีวิชาที่เป็น Lecture เยอะ และก็มีวิชาที่เป็นการคำนวณเยอะด้วย
หลายวิชาจะมีอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์มาสอน สำหรับภาควิชาสถิติน้องๆ จะได้เรียนวิชาแคลคูลัส 3 ตัว (ถ้าสถิติคณิตศาสตร์จะได้เรียนแคลคูลัสเพิ่มอีกตัว) และวิชาทางคณิตศาสตร์สถิติอีกหลายตัว แต่ว่าภาควิชานี้เป็นเหมือนกับการรวมตัวของวิทย์และศิลป์ ซึ่งนอกจากวิชาทางคณิตศาสตร์แล้ว น้องๆ ยังจะได้เรียนวิชาทางธุรกิจอีกด้วย เช่น บัญชี การเงินธุรกิจ การตลาด เศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย มาถึงตรงนี้ อาจจะดูเหมือนเรียนค่อนข้างหนัก แต่ว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้หนักอย่างที่คิดครับ

      กิจกรรมหลักๆ ของคณะบัญชีก็จะมีงานบาสเก็ตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีค่ายบัญชีที่จะเปิดโอกาสให้นิสิตบัญชีได้ไปต่างจังหวัดและพัฒนาสังคม และมีชมรม SIFE ที่เป็นชมรมพัฒนาธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมย่อยๆ อีกมากมายให้น้องๆ ได้เข้ามาเข้าร่วมและฝึกฝนการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นครับ


   
วีร์  (หนุ่มนักบริหารชั้นปีที่ 4)

พี่ยีน: วีร์มีความภูมิใจในคณะด้านไหนบ้างครับ?
น้องวีร์ : คณะบัญชีเป็นคณะหนึ่งที่สอนให้นิสิตมีความคิดอย่างเป็นระบบ มีความรอบคอบ และรอบรู้เชี่ยวชาญในด้านธุรกิจ ซึ่งสามารถการันตีคุณภาพได้จากรางวัลมากมาย ทั้งการแข่งขันในประเทศและการแข่งขันในระดับนานาชาติ นอกจากนี้อาจารย์ของคณะก็มีความสามารถและเป็นกันเองกับนิสิตมาก
     จุดเด่นของคณะนี้คงเป็นที่จำนวนนิสิตในคณะที่มีมากเป็นอันดับต้นๆ ของมหาวิทยาลัย และร้านไอศครีมอันเลื่องลือชื่อด้วยครับ
 
พี่ยีน: จบคณะนี้ไปแล้วทำงานอะไรได้บ้างครับวีร์? 
น้องวีร์ : จบแล้วสามารถทำงานเฉพาะทางตามที่เรียนมาเลยก็ได้ครับ เช่น เรียนบัญชีก็เป็นพนักงานบัญชีหรือผู้ตรวจสอบบัญชี สำหรับภาควิชาสถิติ น้องสามารถเป็นทั้งผู้วิเคราะห์ระบบ โปรแกรมเมอร์ นักวิจัย ผู้รับพิจารณาประกันภัย รวมถึงนักคณิตศาสตร์ประกันภัยด้วยครับ ขึ้นอยู่กับว่าเรียนเอกอะไร สำหรับตัวผมเองวางแผนไว้ว่าจะทำงานเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หาประสบการณ์ก่อนสัก 3 ปี แล้วตั้งใจจะไปเรียนต่อ
 

        เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์โดยตัวจริงเสียงจริงจากคณะบริหารธุรกิจ พี่ยีนคิดว่าคงทำให้น้องๆ หลายคนเริ่มมองเห็นเงาเศรษฐีเศรษฐินีในกระจกกันบ้างแล้ว แต่ถ้ายังรู้สึกว่า เอ๊ะ..เอ๊ะ.. ไม่แน่ใจว่าจบไปจะมีงานทำรึป่าว คราวหน้าตามพี่ยีนไปสัมภาษณ์เจาะลึกรุ่นพี่คณะบริหารธุรกิจกันครับ ไปดูกันว่าชีวิตหลังจบการศึกษาและชีวิตการทำงานเป็นเยี่ยงไรกันบ้าง อย่าลืมติดตามกันนะครับ...


 

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

29 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
คริๆ Member 23 มี.ค. 52 14:48 น. 6
อื้ม น้องๆที่จะเข้าบริหารธุรกิจ ที่จุฬารู้สึกภาคการเงินจะเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้ น้า อิจฉาจัง มีไรก็มาถามพี่ๆได้ครับ (ประธานโจ เอารูปจากกล้องเราไปอีกและ ) เหอๆๆ
0
กำลังโหลด
Authorize 23 มี.ค. 52 22:37 น. 7
เหอะๆ เลือกรูปดีกว่านี้หน่อยได้ป่ะ!!!

สำหรับน้องๆ ที่ต้องการเข้าคณะบริหารก็ปรึกษาพี่ป๊อปสุดหล่อความเห็น 6 หรือพี่ก็ได้นะครับ.
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ไม่มีคำว่าที่ 2 25 มี.ค. 52 02:43 น. 10
ตอนนี้ขึ้น ม.5 เองค่ะ
รู้สึกว่าอยากเรียนคณะนี้มาก

อยากเก่ง
อยาก เป็นที่ 1
อยากมีงานดีดีทำ

อาจจะมองว่าน้องใฝ่สูง
เเต่สำหรับคติของน้องเเล้วคือ

ฝันหั้ยไกลไปหั้ยถึง


อยากเข้ามากค่ะ
อยากเป็นนักบริหาร เหมือนนัย TV
0
กำลังโหลด
อันโต้คะ 25 มี.ค. 52 17:38 น. 11
คะ

อันอย่ารู้ว่าทำยังไงถึงจาได้เข้าเรียนคณะนี้คะ

เราต้องเรียนต่สายไหนหรอคะ

แล้วสอบเข้าเนี่ยลงเลือกอะไรต่างๆมันต้องลงยังไงคะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
mim_happy Member 1 เม.ย. 52 19:57 น. 13
การเงินๆๆๆๆๆ อยากอยู่ที่สุด ขอให้ได้คะแนนแอด ดีๆด้วยเหอะ เพี้ยงๆๆ ๕๕๕+ จะด้ายมีที่เรียนสะที
0
กำลังโหลด
พี่โจเองจ๊ะ 9 เม.ย. 52 00:32 น. 14
น้องๆที่สนใจเรียนด้านบริหารธุรกิจ

หรือสนใจเข้าบัญชี จุฬาฯ ก็สามารถสอบถามพี่ๆที่รู้จักหรือแอดเมล์ พีคนที่เม้น 6 กับ 7 ได้นะครับ

หรือถามพี่ก็ได้เช่นกันครับ แอดเมล์มาถามได้ครับ(ไม่เก็บตังค์เน้อ)
0
กำลังโหลด
ฟลุ๊ก 29 พ.ค. 52 16:11 น. 15
การบัญชีก้ออยากเรียนเหมือนกันอะ
แต่ไม่เก่งคำณวน
พอไปได้มั๊ยอ่ะ
แต่ยังไงก้อติดด้วยเถิด
ติดๆๆๆๆๆ เย่ๆๆๆๆๆ
สาธุ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด