สวัสดีครับ วันนี้ พี่ปอ มีข่าวที่น่ายินดีมากๆมาบอกให้น้องๆชาว dek-d ได้รู้กันครับ ข่าวดีที่ว่านี้ก็คือ การเปิดสอนหลักสูตร English program  หรือเรียกสั้นๆว่า อีพี โดยเจ้าหลักสูตร อีพีเนี่ย เป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนเป็นแบบภาษาอังกฤษ โดยปกติมักจะมีค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงมาก แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นมิติใหม่ทีเดียวที่มีการเปิดสอนหลักสูตรนี้แบบฟรีๆเลยครับ เห็นไหม พี่ปอ บอกแล้วว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีมากๆ มาดูรายละเอียดกันเลยครับว่าเป็นยังไงบ้าง

   โดย กรุงเทพมหานครเปิดหลักสูตรอิงลิช โปรแกรม (อีพี) ในโรงเรียน 2 แห่งอย่าง "ไม่บอกใคร" มา 4 ปีแล้ว เด็กทุกคนที่เข้าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ปกติหลักสูตรไฮคลาสนี้ราคาแพงมหาโหด และนั่นเป็นเหตุผลที่ไม่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้โรงเรียนทั้งสองแห่งเก็บที่นั่งไว้รอลูกคนไม่รวยมาเข้าเรียนเท่านั้น

   เมื่อปี2544 กรุงเทพมหานครได้เปิดหลักสูตรอีพี (หลักสูตร 2 ภาษา) ในโรงเรียนประถมศึกษาสังกัด กทม. 2 แห่ง คือ ร.ร.วัดมหรรณพ์เขตพระนคร  และ ร.ร.เบญจมบพิตร เขตดุสิต ซึ่งเป็นโรงเรียนของลูกหลานคนไม่รวย มีอุดมการณ์ชัดเจน กำกับไว้ 

   "เราต้องการให้โอกาสลูกของคนระดับกลางลงมาถึงคนระดับล่าง ได้มีโอกาสเรียนแบบที่คนรวยเรียนบ้าง" เยาวรัตน์ตรีสัตยกุล ศึกษานิเทศก์ 7 สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร กล่าว พร้อมขยายความต่อว่า หลักสูตรอีพีของ กทม.ฟรีทุกอย่าง ทั้งค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน เครื่องแบบ  และอาหารกลางวัน 

   ปกติแล้วหลักสูตรอีพีในโรงเรียนรัฐบาลราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 3.5 หมื่นบาทต่อปีขึ้นไป ลูกหลานคนจนหมดสิทธิเรียนหลักสูตรไฮโซนี้ แต่ เยาวรันต์ บอก ว่า "การศึกษาต้องไม่ทอดทิ้งใคร  หากมีลูกคนรวยมาขอเข้าเรียน เราก็จะพูดตรงๆกับเขาว่า ระหว่างลูกคนจนและลูกคนรวยแล้ว เราจะเลือกรับลูกคนจน เพราะเราอยากให้ผู้ปกครองที่มีกำลังจะจ่ายได้ ยอมเสียเงินเรียนที่อื่น เพื่อเก็บที่เรียนในโรงเรียนของ กทม.ไว้ให้คนที่ด้อยโอกาสจริงๆ" 

 

 

   ใช่ว่าของฟรีจะไร้มาตรฐานเยาวรัตน์ยืนยันทุกอย่างดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน จะสอนเป็นภาษาอังกฤษ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ศิลปะและสุขศึกษา ส่วนวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา พลศึกษา และการงานพื้นฐานอาชีพ จะสอนเป็นภาษาไทย ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ขณะที่หนังสือเรียนนั้น สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ หรือ ออสเตรเลีย

    ที่สำคัญคือครูทั้งสองโรงเรียนมีครูชาวต่างชาติเพียงพอตามเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการระบุไว้ร.ร.เบญจมบพิตรมีครูต่างชาติ 6 คน ส่วน ร.ร.วัดมหรรณพ์มี 4 คน แต่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายรายหัวหลักสูตรอีพีของ กทม.แค่ 2 หมื่นบาทต่อปี 

   "เมื่อเทียบกับโรงเรียนเอกชนแล้ว เรามีค่าใช้จ่ายรายหัวที่ถูกมาก เพราะเราไม่ได้นำค่าลงทุนด้านอาคารสถานที่ เราจ้างครูต่างชาติได้ในราคาที่ถูกกว่า เพราะเราพูดกับครูต่างชาติชัดเจนเลย ว่านี่ไม่หวังกำไรแต่เป็นการให้โอกาสเด็กยากจน อีกทั้งเงินที่จ้างครูเป็นงบประมาณแผ่นดิน ต้องใช้ให้เหมาะสม สุดท้ายก็ได้คนที่เข้าใจมาเป็นครู แต่ยืนยันว่าครูต่างชาติทุกคนมีมาตรฐาน แม้ไม่มี Native หรือชาติที่พูดภาษาอังกฤษโดยตรง เช่น ฟิลิปปินส์ แต่ก็จบปริญญาโททางด้านการศึกษา มีประสบการณ์สอนในไทยมาก่อน ที่สำคัญภาษาไทยไม่เพี้ยน" เยาวรัตน์ ระบุ

   ปีหน้ากทม.มีโครงการเปิดหลักสูตรอีพีเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ ร.ร.วัดภาษา ร.ร.สวัสดิรักษา และ ร.ร.วัดดอน เยาวรัตน์ อธิบายว่า หลักเกณฑ์การเปิดหลักสูตรอีพี ต้องมีชุมชนชาวต่างชาติอาศัยเด็กจะได้นำไปใช้ประโยชน์จริง รองลงมาดูความพร้อมของโรงเรียน

   ดูเหมือนว่าร.ร.วัดมหรรณพ์ จะบรรลุตามเป้าหมายในแง่ของการนำภาษาอังกฤษมาใช้ประโยชน์ตามที่ เยาวรันต์พูดไว้และนั่นทำให้โรงเรียนเปลี่ยนใจผู้ปกครองหันมายอมรับหลักสูตรอีพี จากที่ช่วงแรกเคยมีคำถามว่า ทำไมโรงเรียนจะต้องสอนลูกเขาเป็นภาษาอังกฤษ 

   อมรรัศมีลอยพิมาย ผอ.ร.ร.วัดมหรรณพ์ เล่าว่า ร.ร.วัดมหรรณพ์ เป็นโรงเรียนประจำชุมชนย่านเสาชิงช้า ถนนข้าวสาร ศาลเจ้าพ่อเสือ ประชาชนส่วนใหญ่ค้าขายแผงลอย นิยมส่งลูกมาเข้าเรียนฟรีที่ ร.ร.วัดมหรรณพ์ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้วโรงเรียนเลิกรับห้องปกติ นักเรียนอนุบาลต้องเรียนหลักสูตรอีพีโดยปริยาย ทำให้ผู้ปกครองไม่เข้าใจว่าทำไมต้องสอนลูกเขาเป็นภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกเขาช่วยพูดคุยกับลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติได้ ผู้ปกครองจึงเห็นด้วยกับหลักสูตรอีพี 

    อมรรัศมีกล่าวต่อว่าทุกวันนี้หลักสูตรอีพีได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นอย่างดี แต่โรงเรียนต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษให้ชั้นอนุบาล เพื่อเรียนหลักสูตรอีพีชั้น ป.อมรรัศมี บอกว่า เราต้องการปั้นดินให้เป็นดาว เมื่อได้รับการเตรียมพร้อมทางภาษาอย่างดี เด็กเกือบทุกคนมีศักยภาพเรียนภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่ง และเรียนหลักสูตรอีพีได้ 

    ทางด้านร.ร.เบญจมบพิตร รับหลักสูตรอีพีปีละ 1 ห้องเช่นกัน แต่ปีนี้มีนักเรียนสมัครเรียนถึง 100 คน จึงใช้วิธีการคัดเลือกเป็นตัวตัดสิน อังคณาสัจจชุ ณหธรรม รองผู้อำนวยการ ร.ร.เบญจมบพิตร เล่าว่า จะต้องมีการทดสอบความพร้อมของนักเรียนก่อนรับเข้าเรียน แต่เน้นให้โอกาสลูกคนจนก่อน 

    ทั้งสองโรงเรียนยืนยันตรงกันว่านักเรียนของพวกเขามีความสุขกับการเรียนหลักสูตรอีพี กล้าแสดงออกมากขึ้นและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี โดยคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนชั้น ป.ปี 2549 พบว่าได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 80.77 คณิตศาสตร์ 77.40 วิทยาศาสตร์ 83.73 และภาษาไทย 82.29 ส่วน ร.ร.วัดมหรรณพ์ ได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษ 70.35 คณิตศาสตร์ 68.62 วิทยาศาสตร์ 70.69 และภาษาไทย 64.50 

    แม้ว่าจะประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแต่ทั้งสองโรงเรียนยังคงไม่ประชาสัมพันธ์ตัวเองมากนัก เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับความยุ่งยาก ต่อสู้กับผู้ปกครองที่ไม่จนจริงแต่ต้องการให้ลูกเข้าเรียนฟรีในหลักสูตร อีพีของ กทม. มิฉะนั้นแล้วโรงเรียนจะไม่สามารถยืนยันอุดการณ์ "หลัก สูตรอีพีเพื่อลูกหลานคนจน" ไว้ได้ 

   นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของการศึกษาไทยนะครับที่มีการเปิดหลักสูตร English program ให้เด็กๆได้เรียนกันฟรีๆเลย ยังไง  พี่ปอ ก็ขอเป็นตัวแทนของน้องๆทุกคน ขอบคุณทางกรุงเทพมหานครมากๆเลยนะครับที่ริเริ่มโครงการดีๆแบบนี้ แต่ แหม…ปิดเงียบตั้ง 4 ปีแหน่ะ ถ้า พี่ปอ รู้เร็วกว่านี้ พี่ปอ จะไปเรียน อีพี หลักสูตรดีๆที่สำคัญฟรีด้วย  แบบนี้ซะแล้ว อ้อ พี่ปอ ขอทิ้งท้ายไว้ซะหน่อยว่า

   “ของดี แถมยังฟรีๆอีกด้วย มีในโลกนะครับ อยู่ที่ประเทศไทยนี่เอง”  พี่ปอ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ริเริ่มและมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดีๆแบบนี้ ทำโครงการดีๆที่มีประโยชน์ต่อสังคมต่อไปนะครับ

                                                                  พี่ปอขอขอบคุณเรื่องราวดีๆจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

พี่ลาเต้
พี่ลาเต้ - Columnist นักข่าวสายการศึกษา เกาะติดทุกข่าวแทนน้องๆ ตัวถีบ ตัวดันให้ ม.6 สอบติด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

8 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด