สูตรลับจับทริก! เตรียมสอบสังคม 9 วิชาสามัญยังไง ให้ท่องน้อยที่สุด แต่ได้คะแนนเยอะสุด

          ไหนใครเป็นไม้เบื่อไม้เมากับวิชาสังคม ขอให้ตามพี่เกียรติมาทางนี้ พี่เกียรติมีเทคนิคดี ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเก่งสังคมและอยากเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาฝากจ้า เทคนิคเก่งสังคมนี้มาจากคุณครูตัวจริงด้วยนะ “ครูกนก” ดร.กนก จันทรา อาจารย์สอนสังคมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เป็นผู้เขียนหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดสังคมศึกษา เป็นผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรวิชาสังคม และวิทยากรอบรมครูสังคมทั่วประเทศด้วยค่ะ
 


- TCAS ใช้คะแนนวิชาสังคมในการสอบใดบ้าง

          จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของรอบ คณะและมหาวิทยาลัยนั้นๆ ถ้าหลักๆ ใครอยากเข้าสายวิทย์สุขภาพ สายเศรษฐศาสตร์ นิติ รัฐศาสตร์ สังคม อักษร ต้องใช้คะแนนวิชาสังคม แต่ตอนเตรียมตัวนักเรียนทุกสายการเรียนที่ไม่ว่าอยากสอบเข้าคณะใด ก็ให้เตรียมตัวไว้ก่อนเพราะการเตรียมวิชาสังคม มันไม่เหมือนวิชาอื่นที่อาจมีจุดเน้นของการสอบแต่ละตัวต่างกัน แต่สังคมไม่ว่าจะเป็น O-NET เก้าวิชาสามัญ ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบตัวไหน เนื้อหาก็เหมือนกัน เตรียมตัวด้วยเนื้อหาขอบข่ายที่ใช้ด้วยกันได้ เตรียมทีเดียวได้ทุกการสอบเลย ส่วนเรื่องสัดส่วนการเก็บคะแนน ในเก้าวิชาสามัญมากกว่าอยู่แล้ว แต่มันก็มีเกณฑ์ของแต่ละตัวอยู่ ต้องติดตามระเบียบการเป็นกรณีไป ในส่วนตัวเก้าวิชาสามัญ มีสังคม 50 ข้อก็หารเท่ากันเลย ด้านละ 10 ข้อ (1) ศาสนา (2) หน้าที่พลเมือง (3) เศรษฐศาสตร์ (4) ประวัติศาสตร์ (5) ภูมิศาสตร์



- เคล็ดลับเตรียมสอบวิชาสังคม

          มันขึ้นอยู่กับแต่ละคนนะ คนที่จำเก่งแต่วิเคราะห์ไม่ค่อยถนัด ก็ไปเน้นสาระที่ออกจำจ๋า ๆ อย่าง ศาสนา พลเมือง และประวัติศาสตร์ เด็กส่วนใหญ่จะทำได้ เพราะออกเป็นคำถามตรงๆ ไม่ซับซ้อนมาก แต่ถ้าเศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์มันซับซ้อนมากกกก (กอไก่ล้านตัวเลย) อย่างเศรษฐศาสตร์ถ้าจำหลัก เข้าใจจุดได้ ก็พอจะทำได้ แต่ภูมิศาสตร์ยากที่สุด หลังๆ นี้ออกเป็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ต้องวิเคราะห์ข้อความ ตีความโจทย์ ตีความชอยส์ (ตัวเลือก) ให้มันสัมพันธ์กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม กลายเป็นว่า ต้องเก่งภาษาไทยเหมือนกันนะ ถึงจะทำคะแนนสังคมได้ ถ้าตีความภาษาไทยไม่แตก ก็ไม่เข้าใจว่าชอยส์สื่ออะไร หาคีย์เวิร์ดไม่ได้

“ควรเก็บ ศาสนา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ก่อน”

และถ้าจะเก็บคะแนนนะ ตอนสอบให้เก็บศาสนา เก็บประวัติศาสตร์ เก็บหน้าที่พลเมือง และควรทำข้อสอบสามตัวนี้ก่อน ถ้าแบบเปิดข้อสอบทำภูมิศาสตร์เลย ก็จะแบบว่า ข้าม ข้าม ข้าม และมันก็จะห่อเหี่ยวนะ ธรรมชาติเลยคือเมื่อเราเจอข้อที่ทำไม่ได้เยอะ ๆ ใจเราก็จะฝ่อ แล้วพอไปเจอข้อง่าย ๆ ทีหลัง ก็คิดไม่ออกแล้ว เพราะสมองมันปิดไปแล้ว ก็จะเน้นให้ดูข้อสอบพวกนี้ก่อน จริงๆ เทรนด์ข้อสอบเปลี่ยนไปตลอดนะ เปลี่ยนไปตามหลักสูตรที่ปรับไป




- ข้อสอบเก่าจำเป็นไหม ?

          ข้อสอบเก่าจำเป็น “มาก” มากๆ เลยสำหรับวิชาสังคม ควรทำข้อสอบย้อนสัก 5 - 10 ปีเลย 3 ปีก็ไม่พอ การทำข้อสอบเก่าทำให้เรารู้เลยว่าเราต้องอ่านเรื่องไหน เพราะสังคมมันเยอะมาก เด็กว่ามันยากเพรามันเยอะ อ่านไม่ไหวแล้ว ข้อแรกเลย คือ ถ้าทำข้อสอบเก่ามากพอ จะทำให้รู้ว่าเนื้อหาใดสำคัญหรือไม่สำคัญ และรู้ว่าต้องอ่านแค่ไหน ไม่ต้องท่องทุกเรื่อง เรื่องใดที่ต้องท่องก่อนเข้าห้องสอบ หรือเรื่องใดไม่ซีเรียสไปเดาเอาหน้างานก็ได้ ข้อสอง การทำโจทย์บ่อยๆ จะทำให้รู้ว่าโจทย์มันถามแบบไหนได้บ้าง บางปีเอาชอยส์มาเป็นโจทย์ โจทย์มาเป็นชอยส์ มันจะช่วยให้รู้ว่าคนออกข้อสอบเขาหลอกคนสอบแบบไหนได้บ้าง มันทำให้เราโดนหลอกจนชิน

“แล้วก็ยังโดนหลอกอยู่”
“ไม่ใช่สิ อารมณ์ประมาณว่า รู้ว่าตัวเองพลาดตรงไหนก่อนเพื่อนไง”

           ถ้าบางคนอ่านเนื้อหาและก็เข้าห้องสอบเลย มันก็โดนหลอกในห้องสอบตอนนั้น แต่ถ้าเรารู้ก่อน เคยโดนหลอกมาก่อน เราได้รู้จุดอ่อนนะ พอเราเจอเรื่องที่โดนหลอกบ่อยๆ เวลาดูเฉลยข้อไหนผิดบ่อย ๆ เราก็ควรจดและจำสิ่งที่เราพลาดบ่อย ๆ ไว้ และทบทวนจุดนั้นเยอะ ๆ ที่สำคัญมันจะทำให้เราชินกับคีย์เวิร์ดสำคัญ เช่น เรื่องนี้ เจอคำนี้ รู้เลยว่าต้องตอบอะไร คนที่สอบติด…ไม่ได้แปลว่าอ่านห้ารอบ หรืออ่านทุกอย่างทั้งห้ารอบนะ แต่มันคือการอ่านเรื่องที่พลาดบ่อยๆ เรื่องที่ได้อยู่แล้วก็ไม่ต้องอ่าน เอาเวลาไปเตรียมวิชาอื่น


- เทคนิคการจำสังคมให้ไม่ลืม

           เพราะเนื้อหาสังคมมันเยอะมาก ดังนั้นต้องรู้จักระบบเนื้อหา เรื่องใหญ่ เรื่องย่อย เรียนท่องสูตรเยอะให้ตาย ถ้าไม่รู้ว่าเรื่องนี้อยู่ในหัวข้อใดก็จะมีปัญหา ดังนั้นก็ควรจดเป็นชุดคำศัพท์ แบ่งคำศัพท์ออกมาเป็นว่าเรื่องอะไร อย่างผมจะ grouping (จัดหมวดหมู่) คำมาให้ว่าเรื่องอะไรบ้าง เป็นแผนผัง และจำเป็นกลุ่มไป หรือโยงมาที่มาจำกับตัวเรา


          อย่างการสอนและในหนังสือของผม จะทำให้เห็นเลยว่าอะไรเป็นหัวข้อใหญ่ อะไรเป็นหัวข้อย่อย ช่วยจัดระบบความคิดเด็กก่อนในเรื่องต่าง ๆ เขาต้องรู้ก่อนว่ามันจะมีเรื่องอะไรบ้างที่เขาต้องเรียน และเรื่องนี้ประกอบด้วยหัวข้อย่อยอะไร ต้องสร้างตู้และกำหนดลิ้นชักให้ แล้วพอเรียนไปเรื่อย ๆ เราก็จะเติมเนื้อหาในลิ้นชักให้เต็ม “การกำหนดหัวข้อใหญ่หัวข้อย่อยชัดเจน ก็เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจเนื้อหา” และให้ศึกษาข้อสอบเก่าย้อนหลังไปทั้งหมด แล้วให้ตัวคีย์เวิร์ดสำคัญที่อ่านปุ๊บและตัดชอยส์ข้อสอบได้ ไม่เป๋ ไม่เขว มันจะช่วยตอบคำถามในข้อสอบได้ ไม่ว่าจะปีไหน ถ้าออกเรื่องนี้ ก็จะช่วยให้เราทำได้


          จริงแล้วเป้าหมายของวิชาสังคม เพื่อพัฒนาให้คนเป็นคนดี ผมหวังให้เด็กได้ความรู้ตามเป้าหมายของวิชาสังคม เป็น know - how นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เรียนแล้วสนุก เรียนแล้วมีภูมิต้านทานพร้อมที่จะอยู่ในสังคมและมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้ และก็ยังได้ทริกทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วย


           เอาล่ะ ถึงแม้ว่าเนื้อหาสังคมที่เราเรียนมาจะเยอะมากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเราเตรียมตัวดี ๆ วางแผนและจัดการข้อมูลให้ดีตามที่ครูกนกแนะนำได้ พี่เกียรติเชื่อมั่นว่าน้อง ๆ ชาว Dek-D จะจัดการเจ้าวิชาสังคมได้อยู่หมัด มั่นใจได้เลยว่า “อ่านทัน จำทน” แน่นอนจ้า

           และถ้าน้องๆ คนไหน อยากเพิ่มคะแนนวิชาสามัญและ O-NET สังคมศึกษากับอาจารย์กนก   สามารถสมัครติวออนไลน์ ติวสบายๆ ที่บ้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง  จะเลือกเรียนบทไหนก่อนหรือหลังก็ได้   เนื้อหาพร้อมเรียนครบทุกเรื่อง  ในสังคมศึกษา   ม.ปลาย   แถมยังมีตะลุยแนวข้อสอบเก่า เฉลยละเอียดทุกข้ออีก
           เริ่มต้นเพียงหัวข้อละ   600   บาทเท่านั้น   หรือติวเน้นๆ ครบทุกหัวข้อพร้อมตะลุยโจทย์จัดเต็มกว่า 500 ข้อ ราคาพิเศษเพียง   4,200 บาท  
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น