สวัสดีค่ะน้องๆ ข่าวหนึ่งซึ่งเป็นที่พูดถึงไม่น้อยในช่วง Covid-19 นี้ ก็คือปรากฎการณ์ Work from home ที่ทำเอาคู่รักจีน ถึงกับเหม็นเบื่อคนรักของตัวเองจนต้องจูงมือกันไปจดทะเบียนหย่า เรียกได้ว่าโควิดไม่เพียงแต่จะพัดผ่านมายังพัดพาความรักไปจากเราด้วย 


 
                         เหตุใดการอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง ถึงท้าทายความสัมพันธ์ของคู่รักขนาดนี้ แล้วจริงหรือที่ความรักควรมีระยะห่างเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันยืนยาว ไปค้นหาคำตอบของเรื่องนี้กันค่ะ 

                         ถ้าอยู่บนบีทีเอส แล้วมีคนแปลกหน้ามายืนชิดติดกันเกินไป เราคงเกิดความรู้สึกอึดอัด หวาดระแวง เหมือนติดอยู่ในตรอกแคบๆ ในทางตรงกันข้ามถ้าคนที่ยืนใกล้เราเป็นคนรู้ใจ เราอาจจะรู้สึกเหมือนกำลังวิ่งเล่นอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ก็เป็นได้ ทำไมถึงต่างกันขนาดนั้น? นั่นเป็นเพราะว่าคนเรามีช่องทางในการรักษา    ”ระยะห่างระหว่างบุคคล (Interpersonal space)” เป็นการส่วนตัวนั่นเองค่ะ

                         เอ็ดวาร์ด ที ฮอลล์ (Edward T.Hall) นักมานุษยวิทยาคิดว่าระยะห่างระหว่างบุคคลเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่สามารถบอกให้รู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนคู่หนึ่งได้ เช่น ในวัฒนธรรมตะวันตก ถ้าเห็นชายหญิงเดินกอดกันก็เป็นการสื่อให้รู้กลายๆ ว่าทั้งคู่เป็นคนรักกัน เป็นต้น โดยฮอลล์เสนอว่าระยะห่างระหว่างบุคคลมี 4 ระยะ แต่ละระยะแบ่งเป็นระยะใกล้กับระยะไกล ดังนี้ 

                         1. ระยะสนิทสนมหรือใกล้ชิด (Intimate Distance) เป็นระยะที่บุคคลอยู่ใกล้ชิดกัน 
                         ระยะใกล้ (0-15 cm) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในระยะนี้ได้ มักเป็นผู้ที่สนิทสนมใกล้ชิดกันมาก และเป็นระยะที่มีการสัมผัสทางกายเป็นที่รู้กันทั้งสองฝ่าย เช่น การปลอบโยน การปกป้อง การแสดงความรักอย่างลึกซึ้ง 
                         ระยะไกล (15-45 cm) มักใช้กับเพื่อนที่สนิทกันมาก แต่มักจะบิดเบือนเพราะการอยู่ใกล้กันมาก ถ้าน้องๆ เคยได้ยินเพลง 45.7 cm น่าจะพอมองภาพออกว่า ทำไมเหมือนจะสนิทกันมากกว่าเพื่อน แต่ก้าวข้ามเส้นแบ่งไปไม่ได้สักที เพราะนี่เป็นระยะของคนรักและคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทกันที่หลายๆ คนใฝ่ฝันถึงนั่นเองค่ะ  


 
                         2. ระยะส่วนบุคคล (Personal Distance) เป็นระยะที่เหมือนเกราะป้องกันตัว 
                         ระยะใกล้ (18-30 in) ไม่มีการสัมผัสกันทางกาย ยกเว้นคนที่สนิทสนมคุ้นเคยกัน เช่น พ่อแม่   เพื่อนสนิท คู่รัก
                         ระยะไกล (38-48 in) ระยะที่ไม่มีการสัมผัสทางกาย ใช้ในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างเพื่อน และคนคุ้นเคย แต่ไม่ใช่คนพิเศษ
                         3. ระยะสังคม (Social Distance) ระยะที่น้องๆ คงจะคุ้นเคยกันดีเพราะในช่วง covid-19 ถือเป็นมาตรการสำคัญว่าเราควรจะยืนอยู่ห่างกัน (2-3.5 m) เป็นระยะที่ใช้กับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกัน และไม่มีการสัมผัสกันทางกายในการพบปะกันทางสังคม  
                         4. ระยะสาธารณะ (Public Distance) ระยะที่อยู่ไกลกัน (7 m) ขึ้นไป เป็นการสื่อสารทางเดียว เป็นระยะที่บุคคลสาธารณะใช้ปรากฎตัวและทักทายกับคนธรรมดาทั่วไป เช่น การปรากฎตัวของนายก การไลฟ์ของศิลปิน ฯลฯ  

                         จากการศึกษาเรื่องระยะห่างพบว่า คนเราจะรู้สึกไม่เป็นสุข หากการมีปฏิสัมพันธ์นั้นอยู่ในระยะห่างของความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมค่ะ เช่น ถ้าหากเราต้องการให้คนรักอยู่ใกล้ๆ ระดับสนิทสนม แต่เขารักษาระยะห่างซะไกลออกไปประหนึ่งระยะ social distance อยู่ตลอดเวลา เราก็อาจจะคิดน้อยใจขึ้นได้ว่า “เอ? ความสัมพันธ์ระหว่างเรากำลังมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่านะ” หรือถ้าหากเมื่อไหร่ที่เรากำลังรู้สึกว่าต้องการระยะส่วนบุคคล แต่คนรักมาเกาะแกะมากเกินไป ก็อาจเกิดเป็นความรำคาญได้ จึงเห็นได้ว่าระยะห่างที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลมากเกินไปก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้เราอึดอัดและไม่สบายใจค่ะ   


 
                         น้องๆ คงเห็นแล้วว่าเรื่องระยะห่างนี้ เป็นระยะที่รับรู้ได้จากความรู้สึกของแต่ละคนมากกว่าจะเป็นระยะห่างที่แท้จริง และค่อนข้างละเอียดอ่อนจนวัดระดับออกมาได้ยากเลยล่ะค่ะ แต่ทำไมยังมีคนบอกให้รักษาระยะห่างของความรักอยู่เรื่อยๆ นั่นก็เป็นเพราะว่าแต่ละคนมีพื้นที่ส่วนตัวไม่เท่ากัน และลึกๆ ในใจแต่ละคนยังมีความต้องการรักษาระยะห่างส่วนบุคคล (Personal space) ที่เหมาะสมอยู่ การทำบางสิ่งที่มากเกินไปจะดูเหมือนล้ำเส้น แต่ถ้าน้อยเกินไปก็จะดูห่างเหินกันไปอีก 

                         กฎเหล็กสำหรับเรื่องนี้ก็คือ เราต้องเรียนรู้ที่จะ “สร้างระยะห่างของความรัก...เพื่อให้คิดถึงกันบ้าง” ไม่มี 24 ชม.ต่อวัน และไม่มี 7 วันต่อสัปดาห์ ต่อให้จะกักตัวอยู่กับบ้าน ต่อให้รักกันขนาดอยากอยู่ด้วยกันตลอดเวลาแค่ไหน แต่ทุกอย่างย่อมมีลิมิตของมันนะคะ ลองให้พื้นที่ส่วนตัวกันและกัน ปล่อยให้คนรักได้ทำในสิ่งที่ชอบบ้าง เช่น เล่นเกม ดูหนัง ปลูกต้นไม้ ฯลฯ เมื่อใดที่เจอสิ่งที่เราเองสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ก็ค่อยทำกิจกรรมนั้นร่วมกัน เช่น ดูหนังกินป็อปคอร์นด้วยกัน เท่านี้ก็เป็นการเติมเต็มช่องว่างได้ส่วนหนึ่งแล้ว อ้อ แต่ก็อย่าลืมว่าอย่าให้พื้นที่ส่วนตัวมากเกินไปจนเข้าไม่ถึงกันและกัน ทุกอย่างต้องพอดีถึงจะดีพอค่ะ

                         อ่านทฤษฎีแล้วเข้าใจง่ายนะคะน้องๆ ในทางปฏิบัติคู่รักบางคู่อาจมองว่ายากเลย แต่จะง่ายขึ้นเยอะ ถ้าคนรักกันทำความรู้จักและเข้าใจกันและกันมากพอ ว่าแต่น้องๆ เจอคนที่อยากรักษาระยะห่างที่พอดีกับตัวเองหรือยังนะ ลองมากระซิบบอกกันได้นะคะ  

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://old-book.ru.ac.th
https://www.researchgate.net
https://www.finerminds.com/love-relationships
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น