สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : พื้นที่แห่งเสรีภาพ เพื่อสร้างพลเมืองโลกที่เคารพความต่าง

สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : พื้นที่แห่งเสรีภาพ เพื่อสร้างพลเมืองโลกที่เคารพความต่าง  

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่หมุนเวียนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งด้านความเชื่อ ค่านิยม ตัวตน และความแตกต่างระหว่างช่วงวัย แต่ปัญหาที่มาพร้อมกับความหลากหลายเหล่านี้ก็คือ สังคมเริ่มปริแยกออกจากกัน เกิดความขัดแย้งระหว่างขั้วทางความคิดที่รุนแรงขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ต่างสนใจเรื่องราวของตัวเองมากขึ้น ทำให้การเคารพผู้อื่นอาจถูกมองข้ามไป ดังนั้น การสร้างพลเมืองในยุคหน้าที่มีอิสระในการออกความคิดเห็นและเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมก็จะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น  

พื้นที่แห่งเสรีภาพ เพื่อสร้างพลเมืองโลกที่เคารพความต่าง
พื้นที่แห่งเสรีภาพ เพื่อสร้างพลเมืองโลกที่เคารพความต่าง  

กระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะสามารถปลูกฝังความคิด และสร้างบุคคลที่เคารพความเห็นต่างในสังคมได้อย่างไร ‘ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงอรุณ’ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและทะเบียน และ ‘อ.ศราวุธ จอมนำ’ รองผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้ อาจารย์ 2 ท่านจากสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้ให้เกียรติมาเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียน ให้แก่คอลัมน์ Next Ed : การศึกษาเพื่อโลกยุคหน้า ของ Dek-D ฟังดังนี้

‘ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงอรุณ’ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและทะเบียน
‘ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงอรุณ’ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและทะเบียน 
‘อ.ศราวุธ จอมนำ’ รองผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้
‘อ.ศราวุธ จอมนำ’ รองผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้

พลเมืองผู้ตื่นรู้ เริ่มต้นจากการก่อตั้งโรงเรียน

การก่อตั้งโรงเรียนอยู่บนโจทย์ที่ว่า ที่นี่ต้องมีความแตกต่างจากโรงเรียนสาธิตอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยมีปณิธานตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นโรงเรียนที่ ‘ร่วมสร้างสังคมแห่งความเคารพและการเรียนรู้ร่วมกัน’ เป็นแกนหลัก โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโรงเรียน และสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์ผู้เรียนให้มากที่สุด นั่นคือ ผู้เรียนอยากเรียนรู้อะไร กระหายองค์ความรู้ใด โรงเรียนต้องพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้เขามีทักษะแห่งอนาคตที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโลกได้

อีกหนึ่งจุดที่โรงเรียนแห่งนี้แตกต่างไปจากโรงเรียนอื่นๆ ก็คือ การไม่มีกฎระเบียบที่เคร่งครัด ทั้งการแต่งกายและทรงผม ที่นี่ให้อิสระเสรีแก่เด็กได้เป็นคนเลือกเองว่า เขาต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม ทำให้เขาตระหนักรู้ว่าอะไรที่ควรทำ อะไรที่ทำแล้วมันเป็นสิทธิ์ของเขาเอง แต่ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น ซึ่งการที่ไม่ไปจำกัดกรอบความคิดจะส่งผลให้เขาเติบโตไปเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ หรือ Active Citizen ที่ดีได้ในอนาคต

ทั้งนี้ โรงเรียนยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน นอกจากผู้เรียนแล้ว ผู้ปกครองเองก็ต้องทำงานร่วมกับโรงเรียนผ่านกิจกรรมครอบครัวสาธิต เป็นการให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะข้อคิดเห็นดีๆ ที่เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน รวมถึงโรงเรียนเองก็เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ปกครองสำหรับวิธีการเลี้ยงดูลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นอีกด้วย

ร่วมสร้างสังคมแห่งความเคารพและการเรียนรู้ร่วมกัน
ร่วมสร้างสังคมแห่งความเคารพและการเรียนรู้ร่วมกัน

ม.ต้นเน้นหลากหลาย ม.ปลายเน้นลงลึก

‘ม.ต้นเน้นหลากหลาย ม.ปลายเน้นลงลึก’ คติพจน์ประจำโรงเรียนที่สื่อถึงการให้ความสำคัญด้านการเรียนรู้ของผู้ที่เรียนในแต่ละช่วงวัยได้อย่างชัดเจน สำหรับการเรียนการสอนในระดับชั้น ม.ต้น มุ่งหมายที่จะสร้างให้นักเรียนเป็น Active Learner โดยเน้นการทำกิจกรรมเป็นหลัก เพื่อสร้างแรงจูงใจผ่านรายวิชาที่น่าสนใจ และได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรง ตลอดจนรู้จักตั้งคำถาม และรู้เท่าทัน โลกภายนอกเป็นแบบไหน การเรียนรู้ภายในโรงเรียนก็เป็นแบบนั้น เพื่อเป็นการดึงดูดให้เขาพร้อมที่จะลงแรงไปกับการเรียนอย่างเต็มที่ และสามารถนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปปรับใช้ได้จริงกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต  

ทั้งนี้ ทางโรงเรียนเองก็ต้องมีกลยุทธ์รับมือกับผู้เรียนในระดับชั้น ม.ต้น ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเขายังเป็นมือใหม่สำหรับวิธีการเรียนรูปแบบนี้ เพราะก่อนหน้านี้เขาอาจเคยเรียนรู้ผ่านวิธีสั่งการที่ต้องทำตามคำสั่งเท่านั้น ไม่เคยได้คิดเองเลย พอมาเรียนที่นี่เขาต้องปรับตัว และคิดเองทุกอย่าง เริ่มจากการได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ สนใจอะไร อยากรู้อะไร ก็หาคำตอบด้วยตัวเอง หรือเข้าหาครูก่อนโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอครูเสมอไป ส่งผลให้เขากลายเป็น Active Learner ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปต่อยอดสำหรับการเรียนรู้ในระดับชั้น ม.ปลาย ต่อไป

ม.ต้น มุ่งหมายที่จะสร้างให้นักเรียนเป็น Active Learner โดยเน้นการทำกิจกรรมเป็นหลัก
ม.ต้น มุ่งหมายที่จะสร้างให้นักเรียนเป็น Active Learner โดยเน้นการทำกิจกรรมเป็นหลัก

ในส่วนของระดับชั้น ม.ปลาย การเรียนการสอนของที่นี่ เรียกได้ว่า มีความแตกต่างจากโรงเรียนโดยทั่วไป เพราะไม่มีสายวิทย์ สายศิลป์ แต่จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เข้าใจและเชื่อมโยงพื้นฐานความรู้ที่หลากหลาย และต่อยอดลงลึกในศาสตร์ที่ตัวเองสนใจ โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนแต่ละคนเป็น Self Directed Learner คือสามารถวางแผนและกำหนดเส้นทางการเรียนรู้ตามความความสนใจหรือตามอนาคตที่ตัวเองอยากได้ โดยมีครูที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำและร่วมวางแผนการเรียน

จากเดิมที่เขามีพื้นฐานการเป็น Active Learner อยู่แล้ว ในระดับชั้น ม.ปลาย เขาจะได้สามารถเป็น Self Directed Learner ที่มีความรับผิดชอบ มีความเอาใจใส่ต่อสิ่งที่เขาเลือกด้วยตัวเอง ทั้งการวางแผน ปฏิบัติ และประเมินผลความก้าวหน้าของการเรียนด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญแค่ไหน งานหนักแค่ไหน เขาพร้อมลุยอย่างเต็มที่

ม.ปลาย เน้นให้ผู้เรียนได้เข้าใจและเชื่อมโยงพื้นฐานความรู้ที่หลากหลาย และต่อยอดลงลึกในศาสตร์ที่ตัวเองสนใจ
ม.ปลาย เน้นให้ผู้เรียนได้เข้าใจและเชื่อมโยงพื้นฐานความรู้ที่หลากหลาย และต่อยอดลงลึกในศาสตร์ที่ตัวเองสนใจ

Job Shadow เรียนรู้อาชีพเพื่อเลือกอนาคตของตัวเอง

ในเมื่อไม่มีแผนการเรียนแบบโรงเรียนอื่นๆ แล้วเขาจะรู้ตัวเองได้อย่างไรว่าจะเลือกเรียนอะไรต่อไปในระดับมหาวิทยาลัย หลักสูตรของระดับชั้น ม.ปลาย จะมีวิชาหนึ่งที่เรียกว่า ‘Job Shadow’ ต้องเรียนใน ม.4 เทอม 2 เป็นวิชาที่ทำให้ทุกคนจะได้เห็นว่า อาชีพบนโลกนี้เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งอาชีพกำลังจะหาย อาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเขาต้องลงไปอยู่กับผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้เขาได้เห็นว่าการประกอบอาชีพจริงๆ เป็นอย่างไร และทำให้เขาสามารถมองเห็นภาพตลาดแรงงานในอนาคตได้ ซึ่งช่วงเวลานี้จะทำให้เขาได้ทบทวนตัวเองว่า ตกลงแล้วเขาสนใจ มองชีวิตตัวเองหลังจากจบ ม.6 ว่าอย่างไรบ้าง  

Job Shadow วิชาเรียนรู้อาชีพ เพื่อเลือกอนาคตของตัวเอง
Job Shadow วิชาเรียนรู้อาชีพ เพื่อเลือกอนาคตของตัวเอง

จังหวะนี้ครูที่ปรึกษาก็จะเข้ามามีส่วนร่วม พูดคุยกับผู้เรียนว่าหลังจากจบ ม.6 ชีวิตของเขาจะไปในทิศทางไหน เป้าหมายคืออะไร ช่วยเขาวางแผนว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้เขาไปสู่เป้าหมายได้ ต้องเรียนอะไร มีคุณสมบัติอย่างไร ใช้ทักษะไหนบ้าง แล้วมาดูวิชาต่างๆ ในหลักสูตรว่า เขาควรเลือกเรียนอะไร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้

วิธีสอบที่ไม่ใช้การทำข้อสอบ ทำให้นักเรียนแข่งขันกับตัวเอง  

ทางโรงเรียนนิยามเอาไว้ว่า การประเมินผล คือ กระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมายเชิงบวก และผลการประเมินที่ดี ต้องเป็นผลที่ตรงกับความสามารถจริงๆ ของเด็ก ไม่ได้เน้นว่าต้องมีเทศกาลสอบกลางภาค ปลายภาค ไม่ใช้วิธีการสอบเก็บคะแนน และไม่มีการออกเกรด ดังนั้น จึงใช้วิธีการประเมินผลที่เรียกว่า ‘Competency based’ ที่จะประเมินผ่านความสามารถ หรือพัฒนาการของตัวผู้เรียน  

ในแต่ละรายวิชาครูจะทำการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ไว้ว่า หลังจากที่เรียนจบวิชานี้แล้วผู้เรียนจะต้องทำอะไรเป็นบ้าง ซึ่งพอถึงเวลาประเมินผลเขาจะค่อนข้างอยากรู้ว่า ตกลงแล้วเขาสามารถทำตามจุดประสงค์การเรียนรู้ได้หรือยัง ถ้ายังจะต้องปรับปรุงและพัฒนาด้านไหนเพิ่มอีก สำหรับการประเมินผลก็มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การสังเกตการณ์, ถามตอบในห้องเรียน, ออกแบบชิ้นงาน, ทำโปรเจ็กต์, เขียน Essay, ให้บทความไปอ่านแล้วสังเคราะห์ออกมา หรือให้ทำแบบฝึกหัด  

การประเมินผลที่ สาธิต มธ.  ใช้ Competency based ประเมินผ่านความสามารถ หรือพัฒนาการของตัวผู้เรียน 
การประเมินผลที่ สาธิต มธ.  ใช้ Competency based ประเมินผ่านความสามารถ หรือพัฒนาการของตัวผู้เรียน  

พอไม่มีการสอบในรูปแบบท่องจำ ไม่มีการตัดเกรด เขาก็จะได้ไม่ต้องเอาคะแนนไปเทียบกับเพื่อน ลดการแข่งขันกับเพื่อน แต่เป็นการแข่งขันกับตัวเองแทน ซึ่งเด็กทุกคนจะรู้ว่าเพื่อนๆ แต่ละคนสามารถทำเรื่องไหนได้ดีบ้าง ส่วนตัวเขาเองก็จะรู้ว่าเราก็มีเรื่องที่ทำได้ดีเหมือนกัน ซึ่งวิธีการประเมินแบบนี้มันช่วยลดความกดดัน ความเครียด ให้กับตัวผู้เรียน และเขาเองก็จะได้เตรียมพร้อม และโฟกัสกับทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคตอย่างเต็มที่ ได้เข้าใจความถนัด และความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง  

อัตราการสอบติดมหาวิทยาลัย

ปีนี้เป็นเด็ก ม.6 รุ่นแรกของโรงเรียน (ปีการศึกษา 2565) โดยเกือบ 50% ของนักเรียนรุ่นแรก สอบติดรอบ Portfolio ไปแล้ว และมีหลายคนที่ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ และเป็นปีแรกที่โรงเรียนจะได้รู้ผลว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่มันตอบโจทย์ตามจุดประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ไหมอีกด้วย ก่อนจบทางโรงเรียนจะให้ผู้เรียนชั้น ม.6 ทำโปรเจ็กต์จบตามความสนใจของแต่ละคน โดยจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่เขาจะนำไปใส่ไว้ใน Portfolio ตอนไปสอบสัมภาษณ์เขาก็สามารถเล่าได้แบบเป็นธรรมชาติ เพราะเขาเป็นคนลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สอบติด  

หลายคนคิดว่า เข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนสาธิต มธ. แล้วจะต้องได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แน่เลย จริงๆ แล้วความคิดเหล่านี้ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะถ้าเกิดว่าตัวผู้เรียนมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดเอาไว้ ยังไงก็ไม่สามารถเข้าศึกษาต่อได้อยู่ดี    

โรงเรียนเลือกเด็ก - ผู้ปกครองและเด็กก็มีสิทธิ์เลือกโรงเรียน

โรงเรียนให้ความสำคัญกับการคัดเลือกผู้เรียนและผู้ปกครอง โดยใช้วิธีคัดเลือกด้วยการส่ง Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน), เขียน Statement of Purpose (เรียงความแนะนำตัว)  ควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์เพื่อดูทัศนคติ เพราะอยากรู้ว่า เด็กอยากเรียนรู้อะไร มีวิธีจัดการตัวเองยังไง รู้จักหลักสูตรของโรงเรียนมากน้อยเพียงใด เพราะเด็กที่มาจากข้างนอกอาจเข้ามาด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่มียูนิฟอร์ม ไม่มีเคารพธงชาติ ดังนั้น เขาต้องศึกษาเรื่องหลักสูตรด้วยว่า ตลอด 3 ปี หรือ 6 ปี ที่อยู่โรงเรียนนี้ มีรายละเอียด และมีความสำคัญอย่างไรบ้าง  

โรงเรียนไม่ได้มีสิทธิ์เลือกเด็กแค่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เด็กและผู้ปกครองเองก็มีสิทธิ์เลือกโรงเรียนเหมือนกัน นอกจากการส่ง Portfolio, Statement of Purpose และสัมภาษณ์แล้ว เด็กและผู้ปกครองยังต้องเข้าร่วมกิจกรรม ‘ครอบครัวสาธิต’ ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน เพื่อให้ทั้งโรงเรียน เด็ก และผู้ปกครอง ทำความรู้จักและทำความเข้าใจกันมากขึ้น โดยที่เด็กๆ จะได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนนี้จริงๆ เขาจะได้รู้ว่าต้องเจอกับอะไรบ้างเมื่อเข้ามาเรียนที่นี่ เป็นการปูพื้นฐานความพร้อมก่อนเปิดเทอม  

ส่วนผู้ปกครองโรงเรียนคาดหวังและให้ความสำคัญเกี่ยวกับวิธีการคิด การเลี้ยงลูก หรือมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาของผู้ปกครอง อยากรู้ว่า เขามองเห็นโรงเรียนแบบไหน คาดหวังกับโรงเรียน หรือระบบการศึกษาอย่างไร ถ้าเกิดว่าคุยกันถูกคอ มีแนวคิดเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็สามารถไปต่อด้วยกันได้ ดังนั้น กิจกรรมนี้จะทำให้ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองได้รู้ว่า พวกเขาเหมาะกับกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนไหม ถ้ารู้สึกว่าไม่ใช่แนวที่ต้องการก็สามารถถอนตัวออกไปได้

ปัจจจุบันสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักเรียนประมาณ 700 คน และคุณครูประมาณ 70 คน และจะเปิดรับนักเรียน 140 คนต่อรุ่น จำนวนคนที่สมัครก็ประมาณ 280 คน แต่ด้วยความที่โรงเรียนมีกระบวนการคัดเลือกหลายขั้นตอน ผู้ปกครองที่รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเขา ไม่ใช่ตัวลูก เขาก็จะเลือกไม่ยืนยันสิทธิ์ไปเอง

ระบบการศึกษาที่ดีเป็นแบบนี้ก็ได้นะ

จากการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนมีสิทธิ์กำหนดเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเอง พิสูจน์แล้วว่าเด็กสามารถประสบความสำเร็จตามเส้นทางที่เขาเลือกเองได้ โดยที่ไม่ต้องรอให้ใครมาออกคำสั่งบอกให้เขาลงมือทำ ไม่ต้องมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด คลายความกดดันหลายๆ อย่าง ทำให้ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนรู้ หลังจากนี้เขาก็สามารถทำงานกับตัวเองได้มากขึ้น มีความสนใจอะไรก็สามารถเดินต่อไปตามเส้นทางที่เขาเลือก ตอนนี้สาธิตธรรมศาสตร์ก็กำลังเริ่มทอผ้าผืนใหม่ให้สังคมได้เห็นว่า การทำแบบนี้มันก็เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้มากพอสมควร เราอยากจะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ที่อื่นๆ ก็ทำได้เหมือนกัน แต่ต้องทำให้สอดคล้องกับบริบทของเขา

จากระบบการศึกษาที่แตกต่าง หลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียน วิธีการประเมินที่ไม่ใช่การทำข้อสอบ การตัดเกรดแบบเดิมๆ รวมไปถึงการให้พื้นที่อิสระ ปลดล็อกข้อบังคับหลายๆ อย่าง ทำให้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถสร้างนวัตกร สร้างเยาวชนที่กล้าคิด กล้าริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ที่เปิดกว้าง รวมทั้งเป็นพลเมืองโลกที่ตื่นรู้ เห็นความสำคัญของการเคารพความแตกต่างที่สามารถขับเคลื่อนสังคมให้คุณภาพต่อไป  

ทีมงานต้องขอขอบคุณ ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงอรุณ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและทะเบียน และ อ.ศราวุธ จอมนำ รองผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ
พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด