เปิดโลกอินเดีย : ชีวิตเด็กไทยในเมืองแขก แปลกไม่เหมือนใคร

            สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... เจอกับ พี่เป้ และเล่าประสบการณ์เด็กนอกสนุกๆ ทุกวันพฤหัสเช่นเคย ^^ โดยทั่วไปแล้ว ประสบการณ์ที่น้องๆ ส่งมาเล่ามักจะเป็นประสบการณ์ของนักเรียนแลกเปลี่ยนมัธยม วันนี้เลยขอเปลี่ยนบรรยากาศกับเรื่องสนุกๆ แถมมีประโยชน์จากรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งเค้าได้ทุนจากรัฐบาลอินเดียไปเรียนฟรี !!! จะมาบอกเล่าเก้าสิบถึงการใช้ชีวิตที่นั่น ขอบอกว่าน่าสนใจมากๆ เลยล่ะค่ะ ลองอ่านกันดูนะ
 


            

สวัสดีครับชาวเด็กดีดอทคอมที่น่ารัก

ผมเป็นขาประจำตัวยงของเว็บไซต์นี้ตั้งแต่สมัยมัธยมฯ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังติดตามข่าวสารข้อมูลอยู่เรื่อยๆ เลยถือโอกาสมาบอกเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดน เผื่อจะมีน้องๆ คนไหนสนใจชีวิตที่ท้าทายแบบผมบ้าง

             ขอแนะนำตัวก่อนเลยแล้วกันครับ ผมชื่อ "หนุ่ม" ชื่อจริงๆ ว่าปิยณัฐ สร้อยคำ สำเร็จการศึกษาจากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันกำลังรอศึกษาชั้นปีที่ 2 ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ เน้นด้านการเมืองและการต่างประเทศอินเดียและเอเชียใต้ ที่ Osmania University เมืองไฮเดอราบาด สาธารณรัฐอินเดียครับ ด้วยความที่สนใจในเรื่องการต่างประเทศเป็นทุนเดิม และสนใจในภูมิภาคศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียใต้ ที่ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรม แนวคิดทางการเมืองและปรัชญา เป็นดินแดนที่ความทันสมัยแบบตะวันตกถูกผสานเข้ากับแนวคิดตะวันออกได้อย่างลงตัว จึงทำให้ภาคเรียนสุดท้ายในระดับปริญญาตรีเป็นช่วงเวลาของการตัดสินใจสอบชิงทุนรัฐบาลอินเดียครับ

             และแล้วความฝันก็กลายเป็นจริง ผมผ่านการคัดเลือกทั้งการสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์จากทางสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และการประเมินจากเอกสารโดยทางมหาวิทยาลัย ให้ได้รับทุน ICCR ภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงและคงคาประจำปี 2011 – 2013 มาศึกษาได้ดังใจหวัง ซึ่งทุนดังกล่าวครอบคลุมค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าทัศนศึกษา ค่าที่พัก และค่าเดินทางด้วย



 

ทุนรัฐบาลอินเดีย

 ดำเนินการภายใต้หน่วยงานที่ชื่อว่า Indian Council for Cultural Relation (ICCR) หรือสภาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ของสาธารณรัฐอินเดีย โดยจะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนมกราคมของทุกๆ ปี เราสามารถไปขอรับแบบฟอร์มการสมัครได้ที่สถานทูต พอได้มาเราก็จะมานั่งกรอกรายละเอียดส่วนสำคัญคือการเลือกหลักสูตรและมหาวิทยาลัย ซี่ง ICCR ให้โอกาสเราเสนอชื่อหลักสูตรที่เราจะเรียนได้ 3 หลักสูตรเรียงตามลำดับสนใจ และชื่อมหาวิทยาลัยที่เราสนใจเรียง 3 ลำดับ จากนั้นต้องมีการเตรียมเอกสาร ซึ่งในส่วนนี้จะซับซ้อนมาก ขอให้เตรียมการแต่เนิ่นๆ โดยหลักฐานจะต้องทำการสำเนาไว้ 6 ชุด โดยมีเอกสารคร่าวๆดังนี้

1. ใบสมัคร
2. ใบตรวจสุขภาพร่างกาย
3. รูปถ่าย 2 นิ้ว
4. พาสปอร์ต
5. ใบรับรองการสำเร็จการศึกษา หรือ Transcript
6. รายละเอียดหลักสูตรเนื้อหาที่เราศึกษา (อันนี้ขอจากมหาวิทยาลัยได้ครับ ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ)
7. CV (ถ้ามีก็จะดี)
8. Recommendation letter หรือจดหมายแนะนำ (ถ้ามีก็จะดี)

 
              ภายหลังส่งเอกสาร จะมีการนัดเพื่อทำการทดสอบภาษาอังกฤษ การเข้าศึกษาต่อที่อินเดียนั้นไม่จำเป็นต้องสอง IELTS หรือ TOEFL แต่สถานทูตจะดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพด้านภาษาอังกฤษด้วยข้อสอบของสถานทูตอินเดียเองครับ


 

สอบสัมภาษณ์

คำถามก็หนีไม่พ้น ทำไมถึงอยากไปเรียนอินเดีย ทำไมถึงเลือกสาขานี้ คิดว่าจะอยู่ได้หรือเปล่า ให้แนะนำตัวเอง แนะนำครอบครัว เล่าถึงการเรียนของเราว่าเคยเรียนเกี่ยวกับสาขาอะไร เป็นต้น จากนั้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ ให้เราโทรไปเช็คกับเจ้าหน้าที่สถานทูตว่า เราผ่านการสัมภาษณ์หรือไม่ แต่ถ้าผ่านก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ทุนเลยทันทีนะครับ เพราะหลังจากนั้น ทาง ICCR จะส่งชื่อเราไปยังสถาบันที่เราเลือก 3 แห่ง ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีคู่แข่งจากหลายประเทศยื่นสมัครในสาขาและสถาบันเดียวกับเรา หรือบางสถาบันที่เราเลือกในปีนั้นเค้าอาจไม่เปิดรับนักศึกษาต่างชาติ เราเลยมีสิทธิ์พลาดได้
 
             ส่วนตัวผมเอง ผมได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาโทรัฐศาสตร์ของ 2 มหาวิทยาลัย ผมก็ต้องเลือกแค่ที่เดียว จากนั้นก็ทำวีซ่า จองตั๋วเครื่องบิน และเตรียมตัวเดินทางครับ ที่สำคัญคือนักเรียนไทยที่สนใจมาเรียนที่อินเดีย ขอให้เตรียมรูปถ่ายสองนิ้วมาเยอะๆ สักสามโหล เพราะที่นี่ใช้รูปเยอะมาก ไม่รู้จะใช้อะไรนักหนา อ้อ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่นี่จะแพงมากครับ เอามาจากไทยก็จะดีมาก(พวกหม้อหุงข้าว) และที่นี่ไม่มีกระทะไฟฟ้าให้เห็นมากนัก ถ้าอยากทำอาหารกินเองก็เอามาเองดีกว่าครับ

Osmania
University


            มหาวิทยาลัยที่ผมได้เข้าศึกษาตั้งอยู่ที่เมืองไฮเดอราบาด รัฐอันธรประเทศ บนดินแดนแห่งที่ราบสูงเดกคาน ภายใต้วัฒนธรรมของนิซามซึ่งผสมผสานระหว่างมุสลิมและฮินดูอย่างงดงาม เป็นเมืองแห่งไข่มุก และที่สำคัญมีไฮเทคซิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งรวมความทันสมัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของอินเดียเลยทีเดียว  สภาพอากาศก็แตกต่างกันไปตามฤดูครับ ในฤดูร้อนก็ราว 40 องศา ส่วนในฤดูหนาวก็ 15 องศา ภาษาท้องถิ่นที่ใช้คือภาษาเตลูกูและภาษาอูรดู แต่คนส่วนมากใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควรครับ

             มหาวิทยาลัยออสมาเนียที่ผมเรียนอยู่เป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดของรัฐ และล่าสุดได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของภูมิภาคอินเดียตอนใต้ และติด 1 ใน 6 มหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนได้ดีเยี่ยมของประเทศ  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางของการประท้วงแยกเขตการปกครองเพื่อตั้งรัฐใหม่หรือรัฐเตลังกาน่า ซึ่งมีกิจกรรมชุมนุมที่น่าสนใจตั้งแต่ตั้งเวทีปราศรัย เดินยาตรารณรงค์ หยุดงานประท้วง ยกเลิกบริการสาธารณะ เผารถเมล์ หรือปลิดชีพประท้วงก็มีมาแล้วครับ

             การเรียนการสอนที่นี่ เป็นระบบเข้าห้องเรียนเข้าสอบและเขียนสารนิพนธ์ครับ มีทั้งสิ้น 4 ภาคเรียน 2 ปีการศึกษา  การสอบก็สอบเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ เขียนกันแทบเป็นแทบตาย ซึ่งทำให้ต้องขยันหมั่นเพียรเพิ่มมากขึ้น ที่นี่มีนักศึกษาต่างชาติค่อนข้างมากเลยทีเดียว ทำให้ผมมีโอกาสได้เจอกับเพื่อนๆ มากมายจากหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแถบเอเชียกลาง หรือรัสซียเดิม เช่น คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศตะวันออกกลางทั้ง อิรัก อิหร่าน ซีเรีย เลบานอน อัฟกานิสถาน เยเมน ซาอุดิอาระเบีย รวมไปถึงประเทศในแถบแอฟริกา เช่น ซูดาน โซมาเลีย โมซัมบิก 

             นอกจากนี้ยังมีเพื่อนจากเอเชียใต้ เช่นเนปาล ภูฏาน หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเราเช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีที่ได้เจอกับเพื่อนๆ เหล่านี้ ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีกิจกรรมการแสดงวัฒนธรรมด้วย ที่เด็ดสุดคือมีนักเรียนคนนึงเป็นคนพิการ เดินเข้ามาทัก ผมก็คุยด้วย เค้าแนะนำตัวและบอกว่าเป็นนักเรียนปริญญาเอกด้านฮินดี ซึ่งคนพิการได้รับการศึกษาในระดับสูง ถือเป็นการเปิดโอกาสแก่เพื่อนมนุษย์ทางด้านการศึกษาเป็นอย่างมากครับบบบบ


 

เรื่องเล่า ณ ห้อง
เรียนเมืองแขก

การเรียนการสอนที่นี่แตกต่างจากไทยมากครับ คือ "การจี้ให้พูด" ให้นักเรียนทุกคนสามารถตอบอาจารย์ได้ เป็นสิ่งที่ดีมาก อาจารย์ไม่ละเลยนักเรียน จะให้ทุกคนในคลาสได้ตอบคำถาม (มีประมาณ 30 คน) หากไม่ได้ อาจารย์จะจี้จนได้ อาจารย์จะไม่สอนให้นักเรียนท่อง แต่จะให้นักเรียนพยายามเข้าใจโดยความคุ้นชินกับศัพท์ต่างๆ และฝึกให้นักเรียนได้พูด โต้ตอบ โดยในคลาสจะสอนเป็นภาษาอังกฤษในการอธิบาย ซึ่งทำให้ผมได้ฝึกภาษาอังกฤษไปในตัว

             ปัญหาที่ผมพบเจอตอนเรียนคือ เรื่องของสำเนียงภาษาอังกฤษครับ มาช่วงแรกผมแทบจะฟังไม่ออกเลยว่าอาจารย์แต่ละท่านพูดว่าอะไร จนต้องนั่งเล่นจนกว่าคาบเรียนจะหมดเวลา แต่เมื่อผ่านไปครึ่งปี ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้นครับ ไม่รู้ว่าเพราะอาจารย์พูดชัดขึ้นหรือหูผมเริ่มชินขึ้น  นอกจากนี้เรื่องอุณหภูมิยังเป็นปัญหาสำคัญของผมด้วย คือในฤดูร้อนอากาศร้อนมากกว่า 42 องศาในแต่ละวัน ซึ่งตรงกับช่วงสอบผมปลายภาคพอดี การเรียนท่ามกลางอากาศร้อนที่ในห้องไม่มีเครื่องปรับอากาศนั้น ทำให้ผมเครียดไปพอสมควร แต่พอมาหวนคิดมันก็เป็นการฝึกตัวเองให้อยู่ได้ในทุกสภาพอากาศและสู้กับตัวเองให้สามารถมีสมาธิท่ามกลางอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยได้เป็นอย่างดีครับ


 

หาที่พักในอินเดีย

 อีกเรื่องที่อยากเล่าคือ "ที่พัก" ก่อนมาก็คิดแล้วว่าผมจะอยู่หอพักในมหาลัย อยากสัมผัสและดื่มด่ำชีวิตนักเรียนอย่างเต็มที่ร่วมกับเพื่อนนักเรียนชาวแขก แต่เมื่อได้ยลโฉมหอพักนักเรียนแล้ว บอกได้เลยครับว่า มันสุดยอดมาก!!! เป็นอาคารชั้นเดียว มีห้อง มีประตู นอนกันหลายคน มีเสื้อผ้าแขวนอยู่เยอะแยะมากมาย ว่ากันว่าบางทีพวกผู้ชายจะอาบน้ำทีก็นั่งอาบตรงตุ่มข้างๆ หอเลย ผมเลยเปลี่ยนใจมาหาบ้านอยู่ข้างนอกน่าจะเวิร์คกว่า

             แต่การเดินหาบ้านดุ่มๆ คนเดียวไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ผมลองไปเดินหาดูหลายย่าน เดินไปก็เมื่อยไป ที่นี่ถ้าเค้าให้เช่าบ้านเค้าจะเขียนว่า To let ถ้ามี 2 ห้องเค้าจะเขียนว่า 2 bedrooms เป็นต้น โดยมากเค้าจะใช้ว่า ฺBHK ย่อมาจากบ้านพร้อม Bedroom, Hall, Kitchen หรือห้องนอน ห้องโถง และห้องครัว แต่ผมตัวคนเดียวเลยลำบากที่จะหาห้องแบบ single คือเค้าไม่ค่อยรับแบบอยู่คนเดียว จะรับแบบเหมาห้องใหญ่ไปเลย แล้วเราค่อยหาคนมาแชร์อีกที ซึ่งผมไม่รู้จะแชร์กับใครนี่สิ  แถมบางบ้านรับแต่เป็น family คือต้องเป็นครอบครัวเท่านั้น บางบ้านไม่รับนักศึกษา บางบ้านรับเฉพาะคนทานมังสวิรัติเท่านั้น โห รายละเอียดยิบย่อยเยอะเลยใช่ไหมครับ
 
             และผมมานั่งคิดๆ ดูว่า ถ้าไปหาบ้านแบบซิงเกิ้ล นั่นแสดงว่าเครื่องใช้ทั้งหมดเช่นเครื่องครัว เราก็ต้องจัดการหาซื้อเอง ตู้เย็น ติดอินเตอร์เน็ตอีก โอ้โห เงินเดือนนักเรียนทุนอินเดียคงไม่พอยาไส้ จะรบกวนพ่อแม่ก็อุตส่าห์ตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะรบกวนให้น้อยที่สุด สุดท้ายผมก็มาได้บ้านที่ผมอยู่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นบ้านของรุ่นพี่คนลาวที่เค้าเรียนที่นี่แต่เรียนใกล้จบแล้ว ที่นี่พี่เค้าก็มีพร้อมทุกอย่างทั้งตู้เย็น เตาแก๊ส อุปกรณ์ครัว ซึ่งผมก็กะจะรับช่วงต่อเลย


 

คนแขกก็น่ารัก

สำหรับเรื่องที่ประทับใจที่นี่ คงจะเป็นเรื่องของนิสัยชาวแขก หลายคนคงจะคิดว่าผมพูดเล่นหรือเปล่า จริงๆ เพื่อนแขกค่อนข้างเอาใจใส่ในรายละเอียดของเพื่อน ขยันส่งข้อความหา ชอบถามไถ่เรื่องราวสารทุกข์สุขดิบ และจะห่วงความรู้สึกของเพื่อน นอกจากนี้ ยังประทับใจห้องสมุดมหาวิทยาลัยออสมาเนีย ซึ่งเวลายืมหนังสือต้องลงไปต่อสู้ค้นหาหนังสือในห้องสมุดใต้ดิน ที่ซึ่งต้องไล่หาหนังสือทีละเล่มไปตามหมวดหมู่ โดยหลายๆ เล่มที่ยืมไปล้วนแต่เป็นหนังสือใหม่แกะกล่องที่ไม่เคยถูกยืมออกนอกห้องสมุดเลย เนื่องจากชาวแขกมักอ่านในห้องสมุดนั่นเอง และเมื่อส่งหนังสือคืนสาย บรรณารักษ์แม้จะหน้าดุเพียงใด ก็ใจดีไม่เก็บค่าปรับเลยสักบาทครับ

             อีกอย่างคือหนังสือพิมพ์ครับ หนังสือพิมพ์ที่นี่ ราคาถูกมากกกกกกก สองจุดห้ารูปี ประมาณ 2 บาทเองครับ แต่เนื้อหาดีมาก บ้านเราสองบาททำไรแทบไม่ได้ เข้าห้องน้ำยังต้องสามบาทเลย ลองๆ ดูเนื้อหาในหนังสือพิมพ์แล้วแล้ว เค้าจริงจังกับเนื้อข่าวมาก สังคมไทยลองดูไว้เป็นตัวอย่างนะครับ


              พอหอมปากหอมคอเพียงเท่านี้นะครับ อินเดียอาจไม่ใช่ปลายทางในฝันของใครหลายๆ คน แต่ผมเชื่อว่า สถานที่แห่งนี้จะสร้างความรู้ควบคู่กับประสบการณ์ที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เตรียมตัว เตรียมใจ มาพิสูจน์กันได้นะครับ



             เป็นอีกประสบการณ์ที่เจ๋งมากๆ เลยค่ะ ได้ทุนฟรี แถมได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ได้เจออะไรใหม่ๆ เด็ดเนาะ !! ใครสนใจอยากเจริญรอยตามพี่หนุ่มได้ทุนฟรีๆ ไปเรียนต่อแบบนี้ ก็อย่าลืมขยันกันแต่เนิ่นๆ นะคะ .... ส่วนใครมีประสบการณ์เด็กนอกสนุกๆ อยากแบ่งปันเพื่อนๆ แบบนี้ ก็ส่งมาได้เช่นเคยที่ pay@dek-d.com แล้วเจอกัน !
 

เด็กดีดอทคอม :: 28 วันใน
Twitter: @paydekd


 

พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

23 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Love Actually Member 15 มิ.ย. 55 00:06 น. 4

"...และสนใจในภูมิภาคศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียใต้..."

รู้สึกแปลก ๆ กับประโยคนี้แฮะ เหมือนมีบางคำขาดหายไป เหมือนเนื้อความไม่สมบูรณ์

ไฮเดอราบัดสวยมากกก อยากไป ^^ และอีกที่ที่อยากไปเหมือนกัน Golden Temple ที่ Amritsar

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
$weetZy Member 15 มิ.ย. 55 16:27 น. 8

เราว่าประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายมาก

หมายถึงในหลายๆด้านนะ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้เรื่อยมา

ถ้าคนที่สนใจในเรื่องพวกนี้ก็ถือว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจสุดๆเลยล่ะ ^^

0
กำลังโหลด
frozen_mist 16 มิ.ย. 55 01:43 น. 10
@ ความคิดเห็นที่4 เราว่าคำว่าภูมิภาคศึกษาน่าจะใช้ได้นะคะ เพราะหมายถึงการศึกษาในภูมิภาคหรือพื้นถิ่นนั้นๆ จ้า อย่างที่พี่เค้าไป ก็คือศึกษาเจาะในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งเราว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว เพราะคนไทยยังสนใจในภูมิภาคนี้น้อย แต่ภูมิภาคนี้กลับมีประชากรจำนวนมาก มีรูปแบบการปกครองที่น่าสนใจ แม้จะมีความหลากหลายสูงมาก แต่ก็ยังมีเอกภาพของรัฐบาลกลางอยู่ แถมด้านเศรษฐกิจก็กำลังโต และก็ทำการค้ากับประเทศไทยด้วยเนอะ
0
กำลังโหลด
Ketos Member 16 มิ.ย. 55 12:25 น. 11
ดูเป็นชีวิตที่เรียบง่าย แต่ได้ประสบการณ์ที่ดีมากมาย
เป็นประเทศที่น่าสนใจ อีกประเทศเลยล่ะ
อยากรู้ว่า จบแล้ว จะมี โอกาสเป็นนักการทูตมั้ย?
เพราะเคยได้ยินว่า การจะเป็นนักการทูตได้นั้น ต้องมีเชื้อสายหม่อมเจ้า หรือ พ่อแม่เป็นนักการทูตอยู่ก่อนแล้ว คนธรรมดาๆอย่างเราจะมีโอกาสมั้ย? เคยฝันว่าอยากเรียนด้านนี้
อยากเป็นนักการทูต แต่พอได้ยินมาแบบนั้น เราเลยเริ่มเขว
0
กำลังโหลด
★ LIRIT | Felice ' Member 17 มิ.ย. 55 03:45 น. 12
อยากไปอินเดียบ้าง ดาราหญิงของอินเดียส๊วย~สวย~  (เอิ่ม... ไม่ค่อยเกี่ยวกับที่เขาพูดมาเลย - -)
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Paris d j 28 มิ.ย. 55 01:22 น. 14
เคยไปอยู่อินเดียมาเหมือนกับ และก็เป็นนักเรียนทุต iccr เหมือนพี่เลย แต่อยู่ pune ชีวิตในอินเดียสนุกมาก อยากกลับไปอยู่อีก
0
กำลังโหลด
lek 28 มิ.ย. 55 02:08 น. 15
หากคุณเป็นคนที่มีความฝัน เเละอยากมีไลฟ์สไตล์ที่สุดยอดกว่าๆใคร
อยากเปลี่ยนชีวิตไปตัวเองในเเบบที่เราเลือกได้
จงเลือกมันซะ วันนี้โอกาสของคุณมาถึงเเล้ว ร่วมเดินทางมากับพวกเรา
ทำงานกับเราเเล้วชีวิตคุณจะเปลี่ยน
คลิ๊กเลย http://tinyurl.com/777nwbf
คลิ๊กเลย http://tinyurl.com/777nwbf
0
กำลังโหลด
อยากเป็นเหมือนกัน 28 มิ.ย. 55 13:13 น. 16
เราเหมือนคห.11เลยค่ะ อยากเป็นแต่เขวเลยเพราะพ่อบอกว่า ถ้าอยากเป็นนักการทูตต้องมีเส้นสายหรือไม่ก้ต้องเก่งและมีความพยายามอย่่างสูงใช่มั้ยคะ?
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด