เล่าประสบการณ์ How to สมัครมหา'ลัยดังในอเมริกา มันไม่ง่ายเลย!

   
      สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... เจอกับ พี่เป้ และเล่าประสบการณ์เด็กนอกเช่นเคย^^ เรื่องที่นำมาฝากวันนี้มีประโยชน์มากกกกกสำหรับน้องๆ ที่อยากไปเรียนต่ออเมริกาค่ะ แทบจะเอาเป็นไกด์ไลน์ได้เลยก็ว่าได้ เล่าแบบละเอียดมาก จะเป็นยังไงนั้น ต้องอ่านเองโลด



     ก่อนอื่นขอกราบสวัสดีท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน อันตัวอิฉันนั้นมีนามว่า “ทราย” เป็นเด็กไทยตัวกลมๆ ตาไม่มีเหล่าเต๊งที่มาต่อ ม. 4 ที่อเมริกาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และกำลังจะกลายเป็นเด็กมหาวิทยาลัยคอร์เนล(Cornell) สิงหานี้ (2016) เรื่องของเรื่องคือช่วงที่ยื่นใบสมัครนั้นได้ไปบน(บ่น)กับเพื่อนบีมไว้ว่า ถ้าติดคอร์เนล จะแชร์ประสบการณ์ลงเด็กดี ก็เลยต้องมาพิมพ์เช่นนี้แล ใครที่กำลังสงสัยว่าเพื่อนบีมคือใครนางก็คือเจ้าของสองกระทู้ด้านล่างนี้ คลิกตามไปติชมกันได้ นางไม่กัด แต่ถึงกัดก็ไม่เป็นไร ฉีดยาแล้ว
  
      อิฉันมาอยู่อเมริกาตอน ม.4 ฉะนั้นขอเริ่มเรื่องราวตรงนี้ก็แล้วกัน ช่วงที่มาแรกๆ ก็ดราม่าน้ำตาซึม ฟังไม่ทัน คุยไม่รู้เรื่อง เพื่อนก็ไม่มี แถมตก Standard Test ของรัฐอีกต่างหาก ช่วงสองสัปดาห์แรกนี่รู้สึกเหมือนเป็นเด็กอนุบาลอีกครั้งเพราะไม่อยากไปโรงเรียน! หนักจนแม่ถามจะกลับไทยไหม สุดท้ายก็ไม่กลับ แบบว่าทรายคงทนได้ แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ พอเวลาผ่านไปอิฉันก็เริ่มคุ้นชินกับชีวิตอีกรูปแบบ มันอาจจะไม่ได้ราบเรียบเหมือนตอนอยู่ไทย แต่อุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาไม่ว่าจะด้านการเรียน สังคม หรือวัฒนธรรม ก็ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างที่ไม่มีอยู่ในตำราหรือ Comfort Zone

 

     เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก รู้ตัวอีกทีก็อยู่ ม.6 ซะละ  เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของใครหลายๆ คนซึ่งอิฉันเองก็เช่นกัน ก่อนอื่นขอยอมรับแบบมั่นๆ เลยว่า ก่อนมาเมกาเคยฝันหวาน ฝันแบบเด็กโลกสวยคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้อะไรเลย เห็นใครๆ บอกว่าเรียนที่อเมริกาง่าย ก็เลยคิดแบบเข้าข้างตัวเองว่าการเข้ามหาลัยระดับท๊อปของอเมริกาอย่างพวกไอวี่ลีก(ม.เอกชนชั้นนำของอเมริกา)คงไม่น่ายาก ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าการจะเข้ามหาลัยระดับนั้นได้ต้องมีอะไรที่มากกว่า GPA และคะแนน SAT ซึ่งแค่อย่างที่สองอิฉันก็เด๊ดสะมอเร่แล้ว

     คะแนน SAT ของอิฉันอยู่ที่ 1480 จากคะแนนเต็ม 2400 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีนั้น (2013) ซึ่งอยู่ที่ 1498 ตอกย้ำความไม่พร้อมของอิฉันอย่างชัดเจน สุดท้ายจึงตัดสินใจสมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยแถวบ้าน Miami Dade College (MDC) ก่อน เรียนที่นี่สองปี แล้วค่อยสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเรียนต่อปี 3-4 

      หลักสูตรที่เราเรียน ไม่ใช่แบบปกติ เรียกว่า Honors College (HC) โดยมีความแตกต่างจากปกติ นั่นคือ ภายในสองปีที่อยู่ในโปรแกรม เกรดเฉลี่ยต้องไม่ต่ำกว่า 3.5 ถ้าร่วงไปถึงสองหรือสามนิดๆ ติดต่อกันสองเทอม มีสิทธิ์โดนเชิญออกจากโปรแกรมได้ =w= แต่ภายใต้เงื่อนไขเกรดเฉลี่ยอันโหดร้ายมันก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อย: 

     1. เรามีอาจารย์ที่ปรึกษาที่เข้าถึงง่าย ติดต่อได้โดยตรง บางครั้งไม่ต้องนัดด้วยซ้ำ ในวิทยาลัยที่มีเด็กจำนวนมาก (60,000+) การเข้าถึงอาจารย์ที่ปรึกษาได้โดยไม่ต้องรอคิวยาวๆ นั้นถือว่าเป็นลาภ(?)

     2. เด็กในโปรแกรมแทบจะรู้จักหรือคุ้นหน้ากันทุกคนเพราะรุ่นหนึ่งรับแค่ 75 คน (เฉพาะวิทยาเขตที่อิฉันเรียน) สองปีเต็มที่แค่ 150 คน

      3. ห้องเรียนในรายวิชาที่เป็น Honors จะมีขนาดเล็ก เข้าถึงตัวอาจารย์ได้ง่าย อาจารย์ใส่ใจเด็กเป็นพิเศษซึ่งก็เป็นโอกาสอันดีที่จะตีซี้ไว้เพราะในอนาคตเราอาจจะต้องขอจดหมายแนะนำจากอาจารย์

     4. มีศิษย์เก่าจากหลักสูตรนี้ที่สามารถย้ายเข้าเรียนต่อที่สถาบันอันต้นๆ ของประเทศอย่าง Harvard, Yale, Georgetown, Georgia Tech, Cornell, และ Columbia ได้ สิ่งที่อิฉันเห็นตอนนั้นคือโอกาส จะคว้ามันได้ไหมไม่รู้หรอก แต่ลองดูสักตั้งก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร

     5. มีโอกาสได้ไปสัมมนาที่เมืองซาลซ์บูร์ก ประเทศออสเตรีย หรือกรุงวอชิงตันดีซี ระยะเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์(ของวอชิงตัน)และเกือบสองสัปดาห์(ของซาลซ์บูร์ก) ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่(ตั๋วเครื่องบิน,ที่พัก,อาหาร) ทางวิทยาลัยเป็นคนออกให้ 


     สองปีที่เรียนที่นี่ อิฉันระบุสาขาเป็นจิตวิทยา กิจกรรมส่วนใหญ่เลยจะหนักไปทางอาสาสมัคร ทำในโรงพยาบาลบ้าง กับชมรมในมหา'ลัยบ้าง ของปีหนึ่งที่พีคสุดคงเป็นการที่ได้ขึ้นไปรัฐ Minnesota หนึ่งอาทิตย์ เพื่อเรียนรู้และทำงานอาสาร่วมกับมูลนิธิที่คอยช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศรวมไปถึงการค้าประเวณี จบปีหนึ่ง ชั่วโมงอาสาปาไป 250+ ทำให้ได้รับเข็มตราอินทรีมาหนึ่งอันกับประกาศนียบัตรอีกหนึ่งใบ ส่วนปีสองเป็นติวเตอร์เลขในวิทยาลัย แล้วก็แอดวานซ์ตัวเองขึ้นมาเป็นประธานชมรมจิต(วิทยา)ทำเอาชีวิตวุ่นวายอยู่พักหนึ่ง แต่ก็คิดเสียว่าแลกกับประสบการณ์ใหม่ๆ 

     จากนั้นก็ถึงเวลาสมัครเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อเรียนต่อปี 3-4 เรียกว่าการ Transfer ยื่นไป 6 ที่ มีทุกระดับ ท็อปๆ กลางๆ และสำรอง ข้อดีของการเป็นเด็ก Transfer คือบางมหา'ลัยจะไม่ขอคะแนน SAT เพราะถือว่าเรียนมหา'ลัยมาแล้วครึ่งทาง (2 ปี) ซึ่ง Cornell และ Johns Hopkins ก็เป็นหนึ่งในนั้น งงล่ะสิ ตอนอิฉันรู้อิฉันก็งง แบบเอ่อ.. ไม่ขอเลยหรือเจ้าคะ O_o!!? สรุปอิฉันเลยไม่ต้องสอบ SAT ใหม่ ส่วนคนที่คิดจะ Transfer เร็วๆ อาทิไปต่อปี 2 หรือปี 1 เทอมสองอาจจะต้องใช้ SAT โดย 5 ใน 6 ที่อิฉันยื่นไปนั้น ใช้ระบบการสมัครที่เรียน CommonApp  ซึ่งนั่นก็หมายความว่า:

      1.  อิฉันจะไม่ต้องกรอกข้อมูลพื้นฐานของตัวเอง (ชื่อ, ที่อยู่, มหาลัยปัจจุบัน, ฯลฯ) 6 รอบ
      2.  Essay(เรียงความ) หลักจะใช้ฉบับเดียวกันได้ แต่ Essay แยกของแต่ละมหาลัยก็ยังคงต้องตบตีกันต่อไปป
      3.  Recommendations หรือจดหมายแนะนำ (ส่งออนไลน์) จากอาจารย์หนึ่งฉบับ สามารถส่งไปได้หลายมหา'ลัย แต่ก็ต้องกำชับอาจารย์ว่าสมัครหลายที่เพื่อไม่ให้ท่านเผลอพูดชื่อมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่งขึ้นมา


      เอาล่ะ มาคุยเรื่องการเรียน Essay หรือเรียงความกันกันดีกว่า จากประสบการณ์ตรง อิฉันขอสรุปเป็น KEY หลัก 5 ข้อ ดังนี้
   
     1. เริ่มเร็ว ได้เปรียบ: ทันทีที่ CommonApp ถูกปล่อยออกมา ผู้สมัครจะสามารถเพิ่มมหา'ลัยที่อยากจะเข้าเรียนไปในรายการของตัวเอง แล้วเข้าไปดูหัวข้อของเรียงความ, กำหนดจำนวนคำ, และ Deadlines ได้  
-  ยิ่งรู้หัวข้อเร็วเท่าไร ยิ่งมีเวลาระดมความคิดและหาคำตอบที่ใช่มากขึ้นเท่านั้น
-  ระยะเวลาในการเขียน, ทวน, และให้คนอื่นทวนก็จะมากขึ้นตามไปด้วย 
-  ที่สำคัญ มีเวลาแก้ไขเพียงพอเพื่อให้ได้เรียงความที่สมบูรณ์ที่สุด 

      2. ทำความเข้าใจกับคำถาม  อ่านแล้วจับประเด็นให้ได้ว่าเขาต้องการรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเรา ถ้าศัพท์ไหนไม่แน่ใจพี่ก็เปิดดิกเลย ส่วนตัวอิฉันใช้ของ Webster ช่วยได้มากทีเดียว หากการเปิดพจนานุกรมยังไม่สะใจ ก็เสิร์จหาเรียงความตัวอย่างอ่าน

      แต่ช้าก่อนนน มันมีข้อควรระวังนิดนึงหากคิดจะอ่านเรียงความตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจกับคำถาม ซึ่งก็คือการเผลอ Copy ถึงจะไม่ได้ตั้งใจแต่ก็ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ได้เพราะถือว่าเป็น Plagiarism (การคัดลอกผลงาน) ฉะนั้นเวลาเขียนก็จงเขียนอย่างมีสติ อย่าเผลอไผลไปใช้คำพูดของผู้อื่นนะเจ้าคะ…

       3. ตอบให้ตรงประเด็น หลังจากที่เข้าใจคำถามแล้ว เราอาจจะเริ่มร่างคำตอบขึ้นมา ร่างในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นประโยคเสมอไป อาจจะเป็น คำพูด รูปภาพ Key Words หรืออะไรก็ได้ที่โผล่ขึ้นมาในหัวหลังจากที่อ่านหัวข้อ จากนั้นก็เริ่มตีกรอบให้มัน ประมาณว่าเราจะเขียนถึงเรื่องอะไรบ้างเพื่อไม่ให้เผลออกนอกทะเล คำตอบไหนที่อ่านดูแล้วรู้สึกว่ามันแปลกๆ หรือผิดประเด็นก็ขอให้ตัดมันออกไป ซึ่งตรงนี้ถ้าอยากมีเวลาคิดเยอะๆก็ต้องพึ่งข้อ (1) 

      4. เป็นตัวของตัวเอง มันก็จริงอยู่ที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่อนุญาติให้ผู้สมัครนำเรียงความของตนไปให้เพื่อนหรืออาจารย์ทวนให้ แต่นั่นก็เพียงแค่เพื่อขอคำแนะนำ, ความคิดเห็น, หรือแก้ไวยากรณ์ ไม่ใช่ให้เขาเขียนใหม่ คำแนะนำก็ฟังหูไว้หู ต้องคิดตริตรองให้ดีเสียก่อน ถ้าใครแนะนำอะไรมาก็แก้ตามเขาไปหมด สุดท้ายเรียงความอาจจะไม่ได้สื่อถึงตัวตนแท้จริงของเราหรือทำให้คนอ่านมึนไปเลยก็เป็นได้ 


      5. คิดนอกกรอบ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์: อย่าลืมว่าวันๆ หนึ่งคณะกรรมการต้องอ่านเป็นร้อย โจทย์ของผู้สมัครคือต้องทำให้เรียงความของตัวเองไม่น่าเบื่อ อย่างของฮอปกินส์ อิฉันเริ่มด้วยการเปรียบมหาวิทยาลัยเหมือนรถโตโยต้ายาริสลูกรัก เปรียบวิชาที่สนใจเหมือนรักสามเศร้า และเริ่มเรียงความของคอร์เนลด้วยการบอกว่าอิฉันอิจฉาซินเดอเรลล่า 55+ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังอยู่ในขอบเขตของคำตอบที่วางไว้ ใครที่คิดจะเล่นอะไรแนวนี้เวลาเขียนก็ระวังจะออกทะเลกันหน่อยนะเจ้าคะ เดี๋ยวจากที่มันจะสนุกจะกลายเป็นเลอะเทอะแทน 

      ในที่สุด อิฉันได้ผลของคอร์เนลเกือบจะช้าที่สุด(จาก 6 ที่ที่ส่งไป) อิฉันนึกครึ้มอกครึ้มใจอะไรไม่รู้คว้ากุญแจเดินไปเปิด Mailbox แล้วก็… ตู้มมมมม!!!! ซองจดหมายจาก Admission ของคณะ!!! เดินกลับมาที่ห้องใจเต้นตุ้มๆต่อมๆ จะ Yea หรือ Nay ละเนี่ย ว่าแล้วก็เปิดมาอ่านเสียเลย… 

“On behalf of the Admissions Committee, I am pleased to offer you admission….”  

       กรี๊ดสิเจ้าคะกรี๊ดดด(ในใจ) แล้วก็จัดการถ่ายรูปส่งให้แม่ดูทั้งที่ยังอ่านไม่จบ พอวันอังคารก็ได้รับอีเมลจากแอดมิดชั่นส่วนกลาง บอกว่าสามารถเข้าไปดูผลได้แล้ว อิฉันก็เข้าไปเช็กอีกรอบเผื่อเขาส่งพลาด จะได้รีบตอบรับของที่อื่นไปเสีย…

       เรื่องราวของอิฉันมันก็เป็นจังซี่แล จริงๆ รายละเอียดยิบย่อยยังมีอีกเยอะแต่อิฉันสิกลัวความยาว เอาเป็นว่าใครมีอะไรสงสัยหรืออยากหลังไมค์ สามารถติดต่ออิฉันได้ทาง FB เด็กไทยในอเมริกา อันประกอบไปด้วย 3 แอดมิน: ตัวอิฉัน ‘ทราย’ เพื่อน ‘บีม’ และน้อง ‘เมย์’ เจ้าของบทความ เรียนเมืองนอกไม่ง่าย! เล่าชีวิตไฮสคูล-เข้ามหา'ลัยที่อเมริกา น้ำตาแทบร่วง เวลาถามจะเจอใครตอบนั้นขึ้นอยู่กับดวงล้วนๆ 55+ 


 

      ก่อนจะจากกันไปขอฝากอะไรคูลๆ ไว้สักนิดเถอะ อิฉันอยากทำตัวเท่แบบคนอื่นเขาบ้าง เอาล่ะ ขอคิดแบบอวยตัวเองเลยนะว่าต้องมีใครสักคนกำลังคิดว่าอิฉันต้องเมพมากแน่ๆ ถึงเข้าคอร์เนลได้ ในส่วนนี้อยากจะบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่เลย ตอนอยู่ไทยอิฉันก็สอบเข้าเตรียมฯ ไม่ติด ชีวิตนี้ไม่เคยแข่งหรอกพวก สสวท. หรือ เพชรยอดมงกุฎ เป็นแค่เด็กธรรมดาๆ ที่เคยสอบตก เคยผิดหวัง เคยร้องไห้ แต่สุดท้ายก็มาถึงจุดๆ นี้ได้ เลยอยากจะฝากถึงทุกๆ คนที่กำลังรู้สึกแย่ ท้อแท้ หรือผิดหวังว่า...ฟ้าหลังฝนยังรอคุณอยู่เสมอ ยังมีทางเลือกอื่นๆอีกมากมายที่รอให้คุณไปค้นพบ ตราบใดที่คุณยังมีฝันและกล้าที่จะลงมือทำมันอย่างตั้งใจ Everything is possible.

 
      ไม่ธรรมเลยนะเนี่ย เข้าคอร์เนลได้ ยินดีกับน้องทรายด้วยและขอบคุณที่มาเล่าเรื่องสนุกๆ ให้พวกเราได้ฟังจ้า^^ ส่วนใครมีประสบการณ์เด็กนอกสนุกๆ อยากแบ่งปันบ้าง ก็เขียนส่งมาได้ที่ pay@dek-d.com แล้วเจอกันจ้า

 
พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด