7 เรื่องน่ารู้ "สาขาภาษาบาลี-สันสกฤต" อักษรฯ จุฬาฯ ที่หลายคนอาจเข้าใจผิด!

    สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D.com ทุกคน วันนี้ พี่โปร ก็มีบทความดีๆ มาฝากน้องๆ กันอีกแล้วนะคะ ถ้าพูดถึงคณะและสถาบันระดับอุดมศึกษาแนวหน้าที่สอนภาษา เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แน่เลย ซึ่งที่นี่มีเปิดสอนหลากหลายวิชามากค่ะ ทั้งในระดับวิชาเอก วิชาโท รวมถึงวิชาเลือก

      สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ น้องๆ อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า มีสาขาหนึ่งที่น่าสนใจมากนั่นคือ
สาขาเอเชียใต้ ที่เรียนเกี่ยวกับภาษาบาลี สันสกฤต และฮินดี ซึ่งจริงๆ แล้วภาษาเหล่านี้ใกล้ตัวพวกเรามากๆ เลยค่ะ วันนี้พี่เลยนำข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับสาขานี้มาฝาก บอกเล่าโดยอาจารย์อาจารย์ประจำสาขาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในบทความนี้ขอเริ่มต้นที่วิชาภาษาบาลีและสันสกฤตกันก่อนค่ะ
                                                                                                                                                               
ก่อนอื่นเลย ขอแนะนำให้รู้จักกับอาจารย์ผู้สอนกันก่อนค่ะ                                                                                                                                    
ท่านแรกคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว
หัวหน้าสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ รับหน้าที่สอนภาษาบาลี สันสกฤต และ ปรากฤต 
                                                                                                                                                                                                                            
ท่านที่สองคือ อ. ดร. สมพรนุช ตันศรีสุข 
รับหน้าที่สอนวิชาบาลี วรรณคดีพุทธศาสนา และ พุทธธรรมในพระไตรปิฎก เป็นต้น
                                                                                                                                                                                                                                                                      

ภาษาบาลี และ ภาษาสันสกฤต ไม่ใช่ภาษาเดียวกัน!

     ก่อนอื่นเลย พี่เชื่อว่าน้องๆ หลายคนกำลังเข้าใจผิดว่า ภาษาบาลี และ ภาษาสันสกฤต คือภาษาเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ภาษาเดียวกันนะคะ มาดูกันค่ะว่าข้อแตกต่างของ 2 ภาษานี้คืออะไร
     อาจารย์ชานป์วิชช์อธิบายว่า สืบเนื่องมาจากเรารับศัพท์มาจากทั้ง 2 ภาษา และปรับเข้ามาใช้ในภาษาเรา จนเราลืมไปด้วยซ้ำว่ามีการดัดแปลง ตัด เติม ยืด จนทำให้เข้าใจว่าเป็นภาษาเดียวกัน แม้ดูตามหลักวิชาการแล้ว ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตนั้นเป็นญาติกันก็ว่าได้เพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดร่วมตระกูลเดียวกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันมาพอควรค่ะ
   
    ภาษาสันสกฤต มีระบบไวยากรณ์ที่ซับซ้อน มีระบบเสียงที่ซับซ้อน และจำกัดใช้เฉพาะในหมู่ผู้รู้ วรรณะพราหมณ์ รวมทั้งชนชั้นสูง เพราะฉะนั้นคนในวรรณะอื่นๆ จะไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ หรือพูดภาษาสันสกฤต
     ปัจจุบันยังมีหมู่บ้านพรามหณ์อย่างน้อยๆ 2 ที่ที่ยังใช้ภาษานี้อยู่  รวมถึงยังมีหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ที่เป็นภาษานี้อยู่ แถมมหาวิทยาลัยในอินเดียหลายๆ ที่ยังอนุญาตให้นักศึกษาเขียนวิทยานิพนธ์ด้วยภาษาสันสกฤตได้ด้วย! ยังไม่หมดเท่านั้นนะคะ ในรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดียยังระบุให้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทางการจาก 23 ภาษาด้วยเหมือนกันค่ะ  และอาจารย์ยังเสริมอีกว่า ภาษาสันสกฤตไม่ใช่ภาษาที่ตายไปแล้ว เป็นภาษาที่ใช้อยู่ในเชิงการอนุรักษ์และฟื้นฟู และถือว่าเป็นภาษาแม่บทแม่แบบของอารยธรรมอินเดียอีกด้วย
     
     ภาษาบาลี
เป็นภาษาในกลุ่มปรากฤตและเป็นภาษาของคนทั่วไป มีรากฐานมาจากภาษาสันสกฤต แต่ว่าภาษาบาลีและภาษาปรากฤตอื่นๆ เป็นภาษาที่มีระบบเสียงง่ายกว่าเดิม เพราะมีการกลมกลืนและตัดทอนบางส่วนออกไปเพื่อทำให้ออกเสียงได้ง่ายขึ้น ภาษาบาลีมาพร้อมกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะนิกายเถรวาทที่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในอินเดียไม่มีคนใช้ หรือพูดภาษานี้แล้ว เนื่องจากพระพุทธศาสนาหายไปจากอินเดีย เพราะฉะนั้น ภาษาบาลีจึงถูกใช้เป็นภาษาที่ใช้อ่านเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนามากกว่า นอกจากนี้ เหล่าพระทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบังคลาเทศ ศรีลังกา รวมทั้งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็กำลังพยายามฟื้นฟูและส่งเสริมการใช้ภาษาบาลีให้เป็นภาษาพูดเหมือนกัน เช่น มีการจัดประชุมโดยใช้ภาษาบาลีล้วนๆ      
                                                                                                                                   

 
cr: pixabay.com

จริงๆ แล้วทั้งภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตนี้เป็นภาษาตะวันตก?

    ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต รวมทั้งภาษาฮินดีที่เราเข้าใจว่าเป็นภาษาตะวันออก ที่จริงนั้นเป็นกลุ่มภาษา อินโด-ยูโรเปียน ซึ่งเป็นภาษาที่อยู่ร่วมกับภาษาในยุโรป เช่น ละติน กรีก รวมทั้งกลุ่มภาษาอย่างอังกฤษ เยอรมัน หรือพวกภาษารัสเซียทั้งหลาย ซึ่งกลุ่มภาษานี้ถือเป็นตระกูลกลุ่มภาษาที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้นภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตถือว่ามีความคล้ายกับภาษายุโรปมากเลยๆ ค่ะ 

      ดังนั้นถ้าเราสนใจภาษาฝรั่งเศส สเปน ละติน หรือกรีก การเลือกเรียนภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเรียนรากของภาษาเหล่านี้ เพราะว่าจริงๆ แล้วในการศึกษาภาษาศาสตร์หรือภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ อาจารย์มักจะให้ไปเรียนภาษาบาลีและสันสกฤตก่อน เพราะว่าทั้งสองภาษานี้เก็บเสียงโบราณไว้มากที่สุด ถ้าใครอยากเรียนลึกไปทางด้านภาษาจำพวกอินโด-ยูโรเปียนล่ะก็ ภาษาสันสกฤตถือว่าสำคัญมากๆ เลยค่ะ                                                                                                                                            

ไม่ใช่แค่พระที่เรียนภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต 

     สมัยแรกเริ่มที่ศาสนาพุทธเข้ามาในไทย ภาษาบาลีก็เข้ามาพร้อมกันค่ะ ภายหลัง เมื่อทางราชสำนักได้นำศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ จึงทำให้ภาษาบาลียิ่งสำคัญ และมีอิทธิพลเข้ามาอยู่ในภาษาไทย-วรรณคดีไทย 
      ส่วนภาษาสันสกฤต อาจารย์เสริมว่า เราไม่ค่อยได้เรียนภาษานี้และไม่ได้รับจากอินเดียโดยตรง แต่รับมาจากฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 6                                                                                                                      
     จากที่อาจารย์อธิบายไว้ แม้ภาษาเหล่านี้มีที่มาจากพระพุทธศาสนาก็จริง แต่คนธรรมดาอย่างเราๆ ก็สามารถเรียนได้นะคะ ไม่ได้จำกัดว่าพระหรือคนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเท่านั้นถึงจะเรียนได้                                                                                                                                         
http://www.arts.chula.ac.th/
                                                                                                                                                                                                                                                                  

เปิดสอนหลักสูตรอะไรบ้าง?

     คณะอักษรศาสตร์ สาขาเอเชียใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งหลักสูตรการเรียนการสอนได้ดังนี้                                                                                                                                  
ระดับปริญญาตรี
หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต วิชาเอก ภาษาบาลีและสันสกฤต                                                                                                                                   
ระดับปริญญาโท
หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต
หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา                                                                                                                                     
ระดับปริญญาเอก
หลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา                                                                                                                                     
     อาจารย์ชานป์วิชช์ยังกล่าวเสริมอีกว่า ในอนาคตตามที่วางแผนไว้ จะเปิดการเรียนการสอนภาษาทมิฬ ซึ่งสำคัญมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งเอเชียใต้ เช่น แถบอินเดียใต้ และในส่วนของระดับปริญญาโท ยังมีภาษาปากฤตซึ่งยังแยกย่อยออกไปอีกหลายภาษา โดยทางสาขาจะสอนประมาณ 4 - 5 ภาษาค่ะ
                             
                                                                                      

การเรียนการสอนที่ไม่ได้น่าเบื่อ

     อาจารย์สมพรนุชแนะนำว่า วิชาต่างๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่ภาษา ยังมีวรรณคดี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ปรัชญา เทพปกรณัม ภาษาศาสตร์ หรือคำสอนในพระพุทธศาสนา  เพราะฉะนั้น เราจะไม่ได้เรียนภาษาเพื่อสื่อสารอย่างเดียว แต่เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับความคิดความอ่านของคนอินเดียโบราณ
     ในส่วนของนิสิตนั้น มีทั้งคนที่เลือกเรียนเป็นทั้งวิชาเอกและโท แต่ในส่วนของวิชาเอก ยังมีคนเลือกเรียนไม่มากเท่าไร แต่อาจารย์หลายๆ ท่านที่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ก็พยายามทำให้การเรียนการสอนทันสมัยขึ้น มีบรรยากาศที่เป็นกันเอง มีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด ทำกิจกรรมร่วมกัน นัดกินข้าวด้วยกันทั้งนิสิตกับอาจารย์  เพราะฉะนั้นการเรียนในห้องจึงสนุกสนานมากๆ เลยล่ะค่ะ นอกจากนี้ยังมีนิสิตหลายคนที่ได้รับทุนไปเรียนในที่อินเดีย และในเร็วๆ นี้ทางสาขากำลังจะมีงานศึกษารมภ์ ซึ่งเป็นงานบูชาบวงสรวงพระสุรัสวดีและงานเสวนาต่างๆ อีกด้วย
    ที่สำคัญ ทางอาจารย์ยังหาสปอนเซอร์ หาโอกาส และฝึกฝนให้นิสิตสอบชิงทุนไปเรียนประกาศนียบัตรภาษาฮินดีหรือทุนรัฐบาลอินเดีย โดยทางคณะมีคอนเนคชันกับทางยุโรป เช่น ทางมหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมนี ส่วนการฝึกงานของนิสิต ทางอาจารย์เคยไปคุยกับกองวรรณกรรมของหอสมุดแห่งชาติ , สนพ. ผีเสื้อภารตะ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสนพ. ผีเสื้อ , ศูนย์อินเดียศึกษา รวมทั้งบริษัทต่างๆ เช่น บริษัทเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอินเดีย  ดังนั้นถ้าใครสนใจฝึกงานภาษาเหล่านี้ล่ะก็ รับรองว่ามีที่ฝึกงานแน่นอนค่ะ


                                                                                                                                  

วิชาในสาขาเอเชียใต้ที่น่าสนใจ

     อาจารย์สมพรนุชแนะนำวิชาพุทธรรมในพระไตรปิฎก โดยอาจารย์กล่าวว่า วิชานี้เป็นที่ยอดนิยมมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แถมยังมีนิสิตนอกคณะ อย่างวิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ มาลงเรียน เรียกได้ว่าใน 1 ปีมีนิสิตที่เข้าเรียนวิชานี้ถึง 300 คนเลยค่ะ
     ส่วนอาจารย์ชานป์วิชช์แนะนำวิชาอารยธรรมพระพุทธศาสนา เมื่อก่อนวิชานี้เรียนกันแค่ 10 คน แต่ภายในแค่เทอมเดียวก็เพิ่มเป็น 30 คนเลยค่ะ นอกจากนี้ทางสาขายังมีวิชาที่เปิดใหม่ล่าสุด แถมนิสิตก็ให้ความสนใจมากเช่นกัน คือ วิชาเทพปกรณัมอินเดีย วิชานี้นอกจากจะเรียนเกี่ยวกับตำนาน เทพปกรณัมในอินเดียแล้ว ยังสอดคล้องกับวรรณคดีไทยมากๆ อีกด้วยค่ะ
       นอกจากวิชาในคณะแล้ว ทางสาขายังให้ความรู้สู่ประชาชนภายนอกทางทั้งทางแฟนเพจและมีบริการข้อมูลวิชาการด้วยค่ะ ส่วนน้องๆ ม.ปลายที่อยากสอบเข้ามาเรียน ภาษาบาลีคือหนึ่งในข้อสอบวิชาแพท ปัจจุบันมีสถานที่ที่ให้เราได้ไปติวภาษาบาลีหลายแห่งทั้งวัดหรือสถาบันกวดวิชา ส่วนทางสาขาก็มีบริการวิชาการสำหรับคนภายนอกด้วย ดังนั้นหากใครท่องจำไปสอบแพทแล้วทิ้งไป คงเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก เพราะเราสามารถใช้ประโยชน์จากภาษานี้ได้อีกมากมายเลยค่ะ

cr:pixabay
                

สุดท้ายอาจารย์ฝากมาว่า…

     อาจารย์ชานป์วิชช์ฝากมาถึงน้องๆ ว่า...คนส่วนมากมองข้ามความยิ่งใหญ่ของประเทศอินเดีย แต่ไปมองจุดเล็กๆอยู่ ด้านเดียว นั่นคือความยากจน อยากให้ทุกคนลองเปิดใจชื่นชมกับประเทศอินเดียลองมองไปที่ความสัมพันธ์ทางการทูต เศรษฐกิจ การเมือง เราก็จะค้นพบโอกาสดีๆ อีกมากค่ะ
      ส่วนอาจารย์สมพรนุชฝากมาว่า อยากให้น้องๆ ที่สนใจจริงๆ ได้มาเรียน รับรองว่าแตกต่างจากที่เราเคยรู้แน่นอน ส่วนวิธีการเรียนนั้นก็ต่างจากการเรียนของพระมากๆ  ทางสาขายึดตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ภาษาศาสตร์ เป็นเชิงวิชาการ ซึ่งประเทศของเรายังต้องการผู้รู้สายนี้อีกมากค่ะ                                                                                                                         

อาจารย์ประจำสาขาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                                                                                                                                                                                                             
      สุดท้ายนี้อาจารย์ฝากบอกมาว่า สำหรับอาจารย์ โรงเรียน หรือ อาจารย์แนะแนวท่านใด หากสนใจให้ทางสาขาจัด Open House หรือให้ไปแนะแนวเกี่ยวกับสาขา สามารถเข้ามาพูดคุยกับอาจารย์ที่สาขาได้เลยค่ะ เหล่าอาจารย์ยินดีที่จะแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับสาขาวิชาค่ะ                                                                                                                                                                                                                                                                                
     เป็นยังไงกันบ้างคะ หลายๆ คนน่าจะได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้เกี่ยวกับ 2 ภาษานี้ และประเทศอินเดีย หากใครเลือกเรียนภาษาเหล่านี้ล่ะก็ แน่นอนเราจะมีโอกาสได้ต่อยอดไปสู่สาขาวิชาอื่นๆ ได้อีกด้วย ^^ ทั้งนี้ ขอขอบคุณพี่พิซซ่า และขอขอบคุณอาจารย์ทั้ง 2 ท่านที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยค่ะ สำหรับบทความหน้าจะพาน้องๆ ไปรู้จักเรื่องราวของ "ภาษาฮินดี" ค่ะ อย่าลืมติดตามกันนะคะ
     สำหรับน้องๆ ที่สนใจหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ http://www.arts.chula.ac.th/~east/palisanskrit/index.html และ ทางแฟนเพจ https://www.facebook.com/southasianlanguageschula ได้เลยค่ะ                                                                                                                                                                    
พี่โปร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
สุธีร สุมงคล 21 ส.ค. 59 06:16 น. 2
ถ้าเวลาย้อนหลังได้ คงไม่ได้ไปเรียนอเมริกา อยากไปเรียนสันสกฤตเรียนอายุรเวท ที่อินเดียมากกว่า แม้จะสายไปแล้วแต่ก็ยังพยายามหาความสุขกับมันได้เล็กๆน้อย เห็นคณาจารย์ในวงการนี้แล้วอดทึ่งและสรรเสริญไม่ได้ครับ ขอคารวะมาด้วยใจ
0
กำลังโหลด
TwinEzraMana Member 3 ก.ย. 59 16:40 น. 3

อยากบอกว่าสนใจวรรณคดีไทย การศึกษาภาษาสองภาษานี้เลยรู้สึกใกล้ชิด และใกล้ตัวขึ้นนิด ๆ ชอบกลิ่นอายความเก่าแก่ ความขลังของทั้งบาลีทั้งสันสกฤตเลย น่าเรียนมาก ๆ แต่อยากเรียนเป็นพวกคำที่เปลี่ยนมาเป็นภาษาไทยแล้วมากกว่า (เอ๊ะ 5555) อ่านบทความนี้แล้วได้ความรู้ใหม่เรื่องการเข้ามาของภาษาทั้งสองด้วย เพิ่งรู้ว่าสันสกฤตมาจากฝรั่งในช่วง ร.๖ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ นะครับ ^^

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด