เช็กเลย! 9 เอกสารสำคัญ ใช้สมัครเรียนปริญญาโทในต่างประเทศ

   
     สวัสดีค่ะน้องๆชาว Dek-D.com หลายคนที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีมาหมาดๆ และสนใจที่จะไปเรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศ แต่ยังไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวและใช้เอกสารอะไรบ้าง วันนี้พี่จะมาเล่าเทคนิคในการเตรียมเอกสารสมัครเรียนปริญญาโทในต่างประเทศให้ได้อ่านค่ะ


     เอกสารชิ้นแรก เราต้องพูดถึง Transcript ก่อนเลย คือใบที่บอกรายวิชาที่เราเรียนพร้อมบอกว่าได้เกรดอะไรบ้าง ใบนี้จะถูกพิจารณาทั้งเกรดรวมและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยของเราในการเข้าสมัครคณะและมหาวิทยาลัยนั้นๆ คนคัดเลือกเค้ารู้หมดค่ะว่ามหาวิทยาลัยในไทยเป็นยังไง มีจัดอันดับด้วย ใครจบรัฐ จบเอกชน เกรดสอง เกรดสาม หรือเกียรตินิยมอันดับไหน ก็มีผลหมด แต่ละที่จะมีเกณฑ์ในการเลือกที่แตกต่างกัน และบางที่จะดูว่าเรามีพื้นฐานวิชาที่จะเรียนต่อก่อนหรือไม่ด้วย อย่างบางคนอยากจะเรียนข้ามสายเลย มหาวิทยาลัยอาจจะไม่อนุญาต หรือ อาจจะต้องไปเรียนเสริมวิชาพื้นฐานของสาขานั้นๆ ที่อยากสมัครก่อนถึงจะเอาผลการเรียนนั้นมาสมัครได้

      ส่วนน้องๆ ที่ยังเรียนปริญญาตรีอยู่เทอมสุดท้าย ใกล้จะจบแล้ว เกรดรวมยังออกไม่ครบ พี่แนะนำว่าให้แนบเอกสารที่แจ้งว่าจะจบ และบอกทางมหาวิทยาลัยไปว่าเราจะจบและเกรดจะออกเมื่อไหร่ เพื่อที่จะได้ส่งเอกสารตามไป

        เอกสารชิ้นต่อไปก็คือ  Resume หรือ CV (curriculum vitae) ทั้งสองอย่างคืออย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นใบประวัติของเรา ที่มีการแจกแจงการศึกษา เรียนที่ไหน คณะอะไร เกรดเท่าไหร่ ประวัติการทำงาน ทำที่ไหน ตำแหน่งอะไร ลักษณะงานเป็นยังไง รางวัลที่เคยได้รับ กิจกรรมต่างๆ ที่เคยเข้าร่วม และความสามารถอื่นๆ ตรงนี้อวดตัวเองให้เต็มที่ไปเลย เคยทำอะไรมาใส่ไปให้หมด ลิสต์ไปเป็นข้อๆ แต่ก็เอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เรียนพอนะคะ แบบเคยได้รางวัลที่หนึ่งประกวดระบายสีตอนอนุบาลสามงี้ไม่ต้องค่ะ

       ตรงนี้แอบบอกนิดนึงว่า บางที่เค้าพิจารณาถึงกิจกรรมด้วยนะ อย่างบางคนอาจจะไม่ได้เรียนเก่งมากมาย แต่เป็นคนที่เข้าร่วมกิจกรรมบ้าง โดยเฉพาะพวกงานอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม อาจจะดูโดดเด่นขึ้นมาได้เลย หลายๆ มหาวิทยาลัยชอบคนเก่งรอบด้าน ทั้งการเรียน สังคม กีฬา ดนตรี ไอคิว อีคิว มาให้ครบ  ยังไงก็ตามพี่แนะนำให้น้องๆ ใส่อย่างพอดีนะคะ ซัก 1-2 หน้า กำลังดีค่ะ 

    
     มาต่อด้วย SOP (statement of purpose)  เอกสารชิ้นนี้เป็นเรียงความที่แสดงถึงความเป็นมาของตัวเรา ต่างจาก CV ที่เขียนเป็นข้อๆ แต่สำหรับชิ้นนี้เราจะเขียนประมาณว่า เราคือใคร เคยทำอะไรเด่นๆ มา ตรงนี้จะเป็นเรื่องเรียน เรื่องงาน หรือเรื่องอื่นที่เราภาคภูมิใจก็ได้  รวมไปถึงว่าทำไมอยากมาเรียนสาขานี้่ ทำไมต้องเป็นมหาวิทยาลัยนี้ แล้วจบไปจะไปทำอะไรต่อ ทำไมมหาวิทยาลัยถึงควรรับเราเข้าเรียนที่นี่ เขียนให้เค้าอ่านแล้วอยากรับเราเข้าเรียนเลย

      ใบนี้มีผลต่อการคัดเลือกมาก เหมือนเป็นการนำเสนอตัวเองคร่าวๆ ให้ผู้เลือกเข้าใจทัศนคติของเรา บางคนคะแนนไม่ถึง แต่เขียนใบนี้น่าดึงดูดมาก ก็ได้รับเลือกให้เข้าเรียน ดังนั้นตั้งใจเขียนดีๆ นะคะ สำหรับใบนี้พี่แนะนำว่าควรเขียนไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ อย่าเขียนน้ำเยอะ เอาให้กระชับได้ใจความมากที่สุด ถ้าเวิ่นเว้อไปคนตรวจจะขี้เกียจอ่านและมองว่าเราเป็นคนสาธยายเกินไปค่ะ
  
       Letters of recommendation ซึ่งก็คือหนังสือรับรองจากอาจารย์หรือจากที่ทำงาน 2 ฉบับ หรือมากกว่านั้นก็ได้ ถ้าเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ก็ให้อาจารย์เขียนสองท่านเลย จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาท่านนึง และอาจารย์ประจำวิชาที่เราสนิทอีกท่านก็ได้ หรือถ้าทำงานแล้ว อาจจะขอให้หัวหน้างาน และคนในองค์กรสักคนที่รู้จักเราดีเขียนให้ หรือใครจะใช้เป็นจากทางอาจารย์และจากที่ทำงานอย่างละฉบับก็ได้
    
      เอกสารนี้เป็นจดหมายยืนยันตัวตนเราที่แท้จริง เขียนว่าเรามีลักษณะนิสัยยังไง ความสามารถพิเศษอะไรบ้าง  มีส่วนร่วมทำอะไรในองค์กรอย่างไร มองจากมุมมองคนเขียนเค้าคิดว่าเราเป็นคนยังไง เราควรได้รับคัดเลือกเข้าเรียนที่ที่เราสมัครเพราะอะไร  ให้เขียนออกมาในทางที่ดี จะเรียกว่าอวยกันหน่อยก็ได้ ซึ่งความยาวก็ควรอยู่ที่หนึ่งหน้ากระดาษ A4 กำลังดี เอกสารนี้บางมหาวิทยาลัยจะมีแบบฟอร์มอยู่แล้ว แต่ผู้ใหญ่บางคนก็เลือกที่จะเขียนในรูปแบบของตัวเองซะมากกว่า และถ้าคนที่เขียนให้เค้าไม่สะดวกเขียนภาษาอังกฤษ น้องๆ อาจจะต้องช่วยเค้าแปลหน่อย ซึ่งจดหมายพวกนี้เวลาส่งให้มหาวิทยาลัย ควรเป็นซองปิดผนึก เพื่อให้ไม่เกิดการแก้ไขเพิ่มเติม และที่สำคัญเลยก็คือว่า เวลาไปขอให้อาจารย์หรือหัวหน้าเขียน อย่าลืมดูด้วยว่าช่วงนั้นเค้าสะดวกมั้ย อย่าลืมเผื่อเวลาให้เค้าด้วยค่ะ 

  
      หนังสือรับรองการทำงาน สำหรับผู้ที่ทำงานแล้วและคณะที่สมัครเรียนต้องใช้ประสบการณ์การทำงาน เช่น MBA ตรงนี้น้องๆ ควรเข้าไปที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยในหน้าคณะที่ต้องการเรียน ตรวจสอบดูว่าเค้าต้องการอะไรบ้าง ถ้าคณะที่ต้องใช้ประสบการณ์การทำงาน แต่น้องยังไม่มี ก็ต้องทำงานก่อนแล้วค่อยสมัครไปนะคะ
   
      ต่อมาคือคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ ในแถบยุโรปจะนิยม IELTS กันเป็นส่วนมาก เป็นเอกสารผลวัดระดับคะแนนภาษาอังกฤษ ใบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงส่งใบใหม่ไปได้ถ้าเราสอบแล้วได้คะแนนดีขึ้น โดยมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะระบุว่าผู้สมัครต้องมีคะแนนผลรวมและคะแนนพาร์ทเขียนให้ถึงระดับที่กำหนด เช่น คณะบริหารต่างๆ ส่วนใหญ่จะต้องใช้คะแนนรวมประมาณ 6-7 สำหรับการสอบ น้องจะสอบที่ไหนก็ได้ ในไทยที่ใหญ่ๆ ก็มีของ IDP และ British Council แต่ผลคะแนนนี้จะเก็บไว้ใช้ได้เพียงแค่สองปีเท่านั้น ถ้าหมดอายุเมื่อไหร่ก็ต้องสอบใหม่

      คะแนน IELTS เป็นเอกสารชิ้นเดียวที่สามารถส่งไปทีหลังได้ หมายความว่า เราสามารถยื่นเอกสารอื่นเพื่อสมัครเรียนไปก่อนก็ได้ แล้วพอได้จดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัยมา เราก็ค่อยมาสอบ IELTS ทีหลัง แล้วยื่นตามไปก็ได้ พี่เองตอนสมัครก็ใช้วิธีนี้ ยื่นทุกอย่างไปก่อน (ตอนนั้นเลือกไว้สามที่) พอได้จดหมายรับเข้าเรียน (ได้มาสองที่) ก็มาปั่นคะแนนนี้ให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะยื่นให้มหาวิทยาลัยที่เราอยากเข้ามากที่สุด แต่น้องๆ หลายคนที่คะแนนนี้ไม่ถึงเกณฑ์เงื่อนไขก็ไม่ต้องกังวลนะคะ ทางมหาวิทยาลัยหลายๆ ที่ มีหลักสูตรที่เรียกว่า Pre-sessional course ให้สำหรับน้องๆ ที่คะแนน IELTS ไม่ถึง (แต่เกือบถึง) ให้เข้าเรียนก่อนที่จะเปิดเทอมด้วยค่ะ


      เอกสารการทำงาน ฝึกงาน รางวัลต่างๆ อารมณ์พอร์ตผลงาน ส่งไปโชว์ความสามารถเราซะเลย ส่งชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรียนพอนะ คัดเลือกเด็ดๆ ซัก 5-10 ชิ้นกำลังพอดี
  
      รูปถ่าย ควรเป็นรูปหน้าตรง ในชุดสุภาพนะคะ 
    
       Passport อย่าลืมเช็กวันหมดอายุนะคะ ควรจะเผื่อเวลาไปถึงวันรับปริญญาด้วยเลย เผื่อน้องๆ บางคนเรียนจบแล้วอยากอยู่ต่อหรือบินกลับมารับปริญญาอีกรอบ ก็จะได้สะดวกเนาะ

      และที่สำคัญเลย เอกสารทุกชิ้นต้องเป็นภาษาอังกฤษนะคะ พวกเอกสารผลงานต่างๆ ที่เป็นภาษาไทย เราต้องแปลและเขียนอธิบายกำกับให้ครบด้วยค่ะ     

   
      ปกติแล้วการเปิดรอบรับสมัครเรียนแต่ละปีจะมีสองรอบ คือ เทอมกันยายน และ เทอมมกราคม เราสามารถส่งใบสมัครไว้ล่วงหน้าหลายๆ เดือนได้เลย อย่างเช่น ถ้าน้องจะสมัครเรียนรอบเดือนกันยายน น้องสามารถยื่นใบสมัครตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมเลยก็ได้  อย่างไรก็ตาม น้องต้องเช็กให้แน่นอนก่อนว่าคณะที่น้องต้องการจะเรียนเค้าเปิดทั้งสองรอบหรือเปล่า คณะยอดนิยม อย่างบริหารสาขาต่างๆ ส่วนมากจะเปิดทั้งสองรอบ แต่คณะที่คนเรียนไม่เยอะมากอาจจะเปิดรอบเดือนกันยายนเพียงรอบเดียวเท่านั้น ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็ไม่เหมือนกันด้วยค่ะ ดังนั้นเช็กกับทางมหาวิทยาลัยจะชัวร์ที่สุด
ทีมเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น