How To เขียน "เรียงความ" ใส่ Portfolio ยังไงให้กรรมการไม่ปัดตก!

สวัสดีค่ะ หลายมหาวิทยาลัยเริ่มทยอยเปิดรับรอบ Portfolio แล้ว พี่มิ้นท์ได้ไปแอบส่องเกณฑ์มาหลายคณะ บอกเลยว่า เป็นอีกหนึ่งปีที่เกณฑ์คัดเลือกนั้นจริงจังแบบสุดๆ เพราะนอกจากเรื่อง GPAX หรือ ผลงานที่คัดกันแบบดุเดือดแล้ว ยังมีการเขียนเรียงความ บางที่เรียกว่าความเรียง หรือ บทความแสดงความคิดเห็น หรืออะไรก็ตาม ที่น้องๆ จะต้องโชว์ทักษะการเขียน แสดงความคิด และทักษะการสื่อสาร ซึ่งเป็นเรื่องที่น้องๆ หลายคนกังวลมากๆ ว่าจะเขียนยังไงให้ได้ 1 หน้ากระดาษ และเขียนยังไงให้ถูกใจกรรมการ

วันนี้พี่มิ้นท์ก็เลยจะมาให้คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการเขียน สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับการเขียนได้ทุกรูปแบบค่ะ

แชร์เทคนิค! รอบ Portfolio เขียนเรียงความยังไงให้ปัง ถูกใจกรรมการ!
แชร์เทคนิค! รอบ Portfolio เขียนเรียงความยังไงให้ปัง ถูกใจกรรมการ!

How To เขียน "เรียงความ / ความเรียง / ตอบคำถาม" 
ใส่ Portfolio ยังไงให้กรรมการไม่ปัดตก

ทำไมรอบ Portfolio จะต้องเขียนเรียงความ

เพราะรอบ portfolio เป็นรอบที่คัดน้องๆ ที่มีความสามารถหรือมีทักษะโดดเด่นในทางใดทางหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่จะสอบติดจะต้องเก่งด้านการเขียนเรียงความนะคะ แต่เรียงความนี่แหละคือองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้กรรมการเห็นตัวตนของเรา ทักษะการคิด ตรรกะ ความจริงใจ การแสดงความคิดเห็น ทัศนคติ ทุกๆ อย่างมันสามารถถ่ายทอดมาทางการเขียนได้เช่นกันค่ะ

แนวคำถามที่จะต้องเขียนในรอบ portfolio เป็นยังไง

จากที่พี่มิ้นท์ได้ลองดูหลายๆ มหาวิทยาลัย จะมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. เขียนแนะนำตัวเอง (Statement of Purpose/Personal Statement) คือ การเขียนเพื่อแนะนำตัวเองในรูปแบบที่แสดงความเป็นตัวของตัวเอง พูดถึงว่าเราเป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงอยากเรียนคณะนี้ 

2. เหตุผลหรือแรงจูงใจในการเรียนคณะนั้นๆ เป็นหัวข้อยอดนิยมใน Portfolio เพราะมหาวิทยาลัยอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้น้องๆ เลือกสมัครในคณะนั้นๆ นั่นเองค่ะ

3. ตอบคำถามแสดงความคิดเห็น คล้ายๆ กับการสอบข้อเขียนเลยค่ะ เพราะรูปแบบนี้ น้องๆ จะต้องผ่านการคิดและประกอบกับความรู้เพื่อตอบคำตอบในประเด็นที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้ ซึ่งจะเป็นตัววัดความรู้ ความสามารถและทัศนคติได้เป็นอย่างดี

เทคนิคการเขียนตอบให้ดูมืออาชีพ

1. คิดก่อนเขียน

หลังจากเห็นโจทย์แล้ว เราอย่าเพิ่งมั่นใจทันทีว่าจะเขียนได้ 1 หน้ากระดาษเต็มๆ หรือเขียนความยาวได้ตามโจทย์ หลายคนใช้วิธีเขียนสด หมายถึง คิดไปเขียนไป สุดท้าย เขียนได้ไม่กี่บรรทัด จะแก้ก็แก้ไม่ได้ ต้องเขียนใหม่ แบบนี้จะเสียเวลาและทำให้การเขียนของเราขาดการกลั่นกรองความคิดด้วย

 ขั้นตอนแรกให้ดูที่โจทย์ ตีโจทย์ให้แตก มีกี่คำถาม ถามอะไรบ้าง แล้วให้หากระดาษมา 1 แผ่น เพื่อวางโครงเรื่องที่เราจะเขียน โครงเรื่องในที่นี้คือใจความสำคัญที่จะเขียนลงในบทความค่ะว่าจะมีประเด็นอะไรบ้าง  

2. 1 ย่อหน้า 1 ใจความสำคัญ

คำถามที่ถูกถามมาเป็นประจำคือ ต้องเขียนกี่ย่อหน้า 2 ย่อหน้าพอมั้ย หรือ ต้อง 3 ย่อหน้า ที่จริงแล้วการเขียนเรียงความ ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องกี่ย่อหน้า แต่เพื่อความเป็นมืออาชีพและทำให้เรียงความน่าสนใจ จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้อหา และสรุป

ในส่วนของคำนำเรียงความ ก็ไม่ใช่คำนำรายงานที่จะมาเขียนว่า รายงานเล่มนี้เขียนมาเพื่อ.... แต่คำนำคือส่วนที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และเป็นการเปิดเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านรู้จักตัวตนของเรา

สำหรับแนวคำถามส่วนใหญ่ มักจะเป็นคำถามเกี่ยวกับการเขียนแนะนำตัวเอง หรือเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากเรียนคณะหรือสาขาดังกล่าว ดังนั้นในส่วนนี้พี่มิ้นท์จะยกตัวอย่างเพื่อให้เกี่ยวข้องกับคำถามนี้ค่ะ

แนวทางของการเขียนคำนำ เช่น การเกริ่นด้วยการแนะนำตัวเองคร่าวๆ เป็นใคร เรียนอยู่ที่ไหน,  เกริ่นถึงที่มาที่ทำให้รู้จักคณะนี้หรืออยากเรียนคณะนี้, ทำไมเราถึงสนใจคณะนี้ หรือ จะพูดถึงปัญหารอบตัวในปัจจุบัน ที่จะสามารถโยงเข้าคณะนี้ก็ได้ค่ะ เห็นมั้ยว่า คำนำนั้นเขียนได้หลายแบบเลย

เนื้อเรื่อง เป็นองค์ประกอบถัดมาของเรียงความ สามารถมีได้มากกว่า 1 ย่อหน้าค่ะ ซึ่งการเขียนเนื้อหานั้น เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจของกรรมการและทำให้เรียงความดูมีพลัง เข้าใจง่ายขึ้น ควรเขียน 1 ใจความสำคัญต่อ 1 ย่อหน้าค่ะ หมายความว่า หากเรามีไอเดียในการเขียนหลายประเด็น เช่น เหตุผลที่สมัครคณะนี้, แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเรียน, ประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง, เป้าหมายในอนาคต, อาชีพที่อยากเป็นพร้อมเหตุผล ฯลฯ  

ข้อมูลที่พี่มิ้นท์ยกตัวอย่างมา สามารถเขียนได้เรื่องละ 1 ย่อหน้าเลยค่ะ ช่วยให้คนอ่านเข้าใจง่ายขึ้น

สำหรับวิธีการเขียนเนื้อเรื่องนั้น ก็ให้ถ่ายทอดออกมาอย่างจริงใจ ว่าเพราะอะไรเราถึงอยากเรียนคณะนั้น เช่น "ตอนเด็กเคยเรียนกับครูสอนภาษาอังกฤษท่านหนึ่ง ครูท่านนั้นมีวิธีการสอนภาษาอังกฤษที่ทำให้ฉันเลิกกลัวภาษาอังกฤษ จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ฉันอยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ดีบ้าง เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดและสอนเด็กไทยให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง" เป็นต้น วิธีนี้จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของน้องๆ และทำให้กรรมการเห็นว่าเรามีเป้าหมายอย่างไรกับคณะนี้และอนาคตหลังจากนี้นั่นเอง 

สรุป คือองค์ประกอบสุดท้ายของเรียงความ เราอาจสรุปสิ่งที่เขียนมาข้างต้นในอีกเวอร์ชั่นนึงแบบสั้นๆ หรือ ทิ้งท้ายประโยคที่แสดงให้เห็นว่าเราอยากเรียนจริงๆ แต่ก็ไม่ต้องถึงขั้นหวานหยดย้อยนะคะ เพราะตรงนี้ไม่มีคะแนนพิศวาสค่ะ >< อาจจะพูดถึงการเตรียมตัวหลังจากนี้ เราจะทำอะไรเพิ่มเติม จะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้เข้ามาในคณะนี้ได้ รวมถึงหากเรียนจบไปแล้วเราจะไปอย่างไรเพื่อให้ไปถึงอาชีพตรงนั้นได้  

3. คำถามที่ต้องแสดงความคิดเห็น ต้องวิเคราะห์พร้อมให้เหตุผล

สำหรับคำถามที่วัดทัศนคติ ความคิด และความรู้ จะมีการเขียนที่แตกต่างจากคำถามว่าทำไมถึงอยากเรียนคณะนี้ เพราะน้องจะต้องเรียงลำดับคำตอบและผ่านขั้นตอนการคิด และให้เหตุผลด้วย

อย่างไรก็ตาม วิธีการเขียนก็ยังใช้ได้เหมือนกันค่ะ คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป โดยคำนำ ก็สามารถโยงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน, ความสำคัญของโจทย์นั้นๆ เป็นต้น และเนื้อหาก็จะเป็นการตอบคำถาม แต่สิ่งสำคัญมากๆ คือ ต้องยกตัวอย่างและให้เหตุผล เพื่อสนับสนุนคำตอบของเรา โดยเหตุผลนั้นก็จะต้องเป็นเหตุผลที่ดี ผ่านการคิดมาแล้ว เพื่อให้สิ่งที่เราเขียนมาดูมีน้ำหนักมากขึ้นนั่นเองค่ะ

ตัวอย่างเรียงความที่ต้องตอบคำถามตามโจทย์ที่กำหนด
ตัวอย่างเรียงความที่ต้องตอบคำถามตามโจทย์ที่กำหนด

4. ระดับภาษาควรใช้กึ่งทางการขึ้นไป

จริงอยู่ว่าเราไม่ได้เขียนเพื่อประกวดที่ทุกอย่างจะต้องเป๊ะแบบนักเขียนมาเอง แต่ระดับภาษา บ่งบอกถึงทักษะการสื่อสารของเราค่ะ เพราะการที่กรรมการได้อ่านภาษาที่ผ่านการเรียบเรียงและเลือกคำหรือภาษามาอย่างดี ก็ทำให้อ่านได้สบายตา สบายใจมากขึ้น ตรงกันข้าม หากเขียนมาเหมือนให้เพื่อนอ่าน เขียนผิด เลือกคำผิด ก็น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของกรรมการอยู่บ้าง

ยกตัวอย่างเช่น หากพี่มิ้นท์ เขียนเพื่อเข้าคณะบริหาร จาก 2 ตัวอย่างนี้

 

1. "ที่อยากเรียนคณะนี้ก็เพราะที่บ้านขายของมานานแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นเด็กก็เห็นแม่นั่งขายของทุกวันๆ จนคิดว่าอีกหน่อยเราคงต้องมาทำร้านต่อจากแม่"
 

2. "เหตุผลที่ฉันอยากเรียนคณะบริหารธุรกิจ เพราะว่าครอบครัวของฉันมีกิจการร้านขายของ ซึ่งฉันได้เห็นคุณแม่ทำงานนี้มาตั้งแต่ฉันยังเด็ก ทำให้รู้สึกคุ้นเคยและผูกพัน จึงคิดว่าในอนาคตอยากจะสานต่อกิจการของครอบครัว"

เป็นยังไงบ้างคะ ระหว่าง 2 ประโยคนี้ ความหมายเดียวกัน แต่ระดับภาษา ทำให้ตัวอย่างที่ 2 ดูมีการสื่อสารที่เป็นมืออาชีพมากกว่า

สิ่งที่ต้องระวัง

  • ไม่ต้องโลกสวย ประดิษฐ์คำมากเกินไป ต้องแยกระหว่างการเขียนด้วยภาษาทางการกับการประดิษฐ์คำเกินเหตุ รวมทั้งไม่ต้องเขียนให้ดูเกินจริง เป็นโลกนิยาย เพราะเรากำลังเขียนเพื่อถ่ายทอดตัวตนออกไป ไม่ได้เขียนนิยาย และถ้าเราเขียนเกินจริงไปมาก เราอาจจะจำสิ่งที่เขียนไม่ได้ จะเดือดร้อนตอนสัมภาษณ์นะคะ^^
     
  • เรียบเรียงให้ดี อย่าเขียนวนไปวนมา หากกลัวเขียนแล้วงงตัวเอง ให้วางโครงเรื่องก่อนว่าแต่ละย่อหน้าจะเขียนเรื่องอะไรบ้าง  
     
  • หากกำหนดหัวข้อและประเด็นย่อยมาให้ เช็กให้ดีว่าเขียนครบหรือยัง! เช่น หากถาม 3 ประเด็น ก็ต้องตอบให้ครบ 3 ประเด็น โดยมากคำถามอาจจะถามประมาณว่า  "คุณมีความคิดเห็นกับประเด็นนี้หรือไม่ อย่างไร และจะแก้ไขอย่างไร" ยกตัวอย่างโจทย์นี้ จะมีคำถามอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือ เห็นด้วยหรือไม่, เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร, จะแก้ไขอย่างไร ดังนั้น เช็กคำถามให้ละเอียดก่อนเสมอค่ะ  
     
  • ไม่ควรใช้ไฟล์เดียวกันทุกมหาวิทยาลัย จริงๆ แล้วมีโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะใช้คำถามแนวเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะใช้เรียงความของเรายื่นทุกมหาวิทยาลัย ลองคิดดูว่า หากมีข้อมูลไฟล์ใดไฟล์หนึ่งพูดถึงชื่อมหาวิทยาลัย A แต่เราไม่แก้ไขแล้วไปยื่นให้มหาวิทยาลัย B มันจะโป๊ะขนาดไหน และคิดว่าอาจารย์จะยังเมตตาเราอยู่หรือไม่ เพราะแค่การเขียนเรียงความ เรายังไม่รอบคอบเลย!

พี่มิ้นท์เชื่อว่าไม่มีน้องๆ คนไหนมาถึง ม.6 ได้โดยไม่เคยเขียนเรียงความมาก่อนนะคะ ดังนั้น ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเกร็ง  เขียนให้เป็นตัวเอง แสดงความจริงใจและเหตุผลที่ดีที่เราอยากเรียนในคณะนั้นๆ หากเป็นโจทย์อื่นๆ ก็ดูว่าเราตอบคำถามตรงประเด็นมั้ย มีตัวอย่างประกอบการเขียนหรือเปล่า พี่มิ้นท์มั่นใจว่าน้องๆ ทุกคนทำได้ โชว์ฝีมือให้เต็มที่ และอย่าลืมเอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้กันนะคะ :)

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น