เปิดจำนวนที่นั่งโควตาภาค #TCAS66 + How to ทำยังไงให้ติดรอบนี้

สวัสดีค่ะ ขึ้นชื่อว่ารอบโควตา แม้จะมีโควตาให้เลือกหลายประเภท แต่โครงการที่เด้งเข้ามาในหัวเป็นอันดับแรกๆ คือ "โควตาภาค"  บอกเลยว่าโครงการนี้ถ้าเป็นเด็กในพื้นที่ก็จะชอบมากๆ เนื่องจากเป็นโครงการที่กำหนดคุณสมบัติจากเขตพื้นที่เป็นหลัก คนที่สมัครได้ก็มีน้อยลงไปด้วย  

วันนี้พี่มิ้นท์จะพาน้องๆ มาเตรียมตัวรู้จักกับโควตาภาค ก่อนที่รอบโควตาจะเริ่มต้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โครงการนี้จะเป็นอย่างไร มีที่ไหนเปิดรับบ้าง มีข้อดีอย่างไร และทำยังไงให้ติดรอบนี้ ไปดูกันเลยค่ะ

เปิดจำนวนรับโควตาภาค #TCAS66 + How To สอบติดรอบโควตา
เปิดจำนวนรับโควตาภาค #TCAS66 + How To สอบติดรอบโควตา

จำนวนรับโควตาภาคปี 66

ตามมาเลยค่ะ พี่มิ้นท์ได้เช็กยอดจำนวนรับรอบ Quota มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (อัปเดต 28 พ.ย.65) มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดรับโควตาภาค ดังนี้

โควตาภาคเหนือ

  • ม.เชียงใหม่ 4,761 ที่นั่ง
  • ม.แม่ฟ้าหลวง 1,437 ที่นั่ง
  • ม.นเรศวร 3,224 ที่นั่ง
  • ม.แม่โจ้ (ยังไม่มีรายละเอียด)

โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • ม.ขอนแก่น 3,732 ที่นั่ง
  • ม.อุบลราชธานี (ยังไม่มีรายละเอียด)
  • ม.เทคโนโลยีสุรนารี (ยังไม่มีรายละเอียด)
  • ม.มหาสารคาม 3,355 ที่นั่ง

โควตาภาคใต้

  • ม.วลัยลักษณ์ 2,435 ที่นั่ง
  • ม.สงขลานครินทร์ 5,885 ที่นั่ง
  • ม.ทักษิณ (อยู่ในรอบ Portfolio 1/2) 858 ที่นั่ง
  • ม.นราธิวาสราชนครินทร์ (ยังไม่มีรายละเอียด)

โควตาภาคอื่นๆ

  • โควตา 28 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ม.ศิลปากร 1,300 ที่นั่ง
  • โควตา 65 จังหวัด ม.ศิลปากร 2,220 ที่นั่ง
  • โควตา 12 จังหวัดภาคตะวันออก ม.บูรพา 3,075 ที่นั่ง
  • โควตา 30 จังหวัด ม.เกษตรศาสตร์ 793 ที่นั่ง
  • โควตาพื้นที่ ม.ธรรมศาสตร์ (คละพื้นที่รับสมัคร) 123 ที่นั่ง
  • โควตาเขตพื้นที่บริการ ม.พะเยา สมัครได้ทั่วประเทศ!  2,615 ที่นั่ง
  • โครงการคัดเลือกตรงโดยใช้คะแนน TGAT/TPAT เพื่อผู้เรียนดี มีคุณธรรม (รับนักเรียนเขต* 1, 3, 4, 5, 9 และกรุงเทพฯ)  ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 293 ที่นั่ง
  • โครงการคัดเลือกตรงโดยใช้คะแนน TGAT/TPAT เพื่อการกระจายโอกาสทางการศึกษา (รับนักเรียนทุกเขต* ยกเว้นเขต 1, 3, 4, 5, 9 และกรุงเทพฯ) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 296 ที่นั่ง
  • โควตา ม.กาฬสินธุ์ รับทั่วประเทศ  414 ที่นั่ง

สมัครโครงการนี้ดีมั้ย

หากตอบในประเด็นเรื่องการสมัคร ยิ่งสมัครก็ยิ่งเป็นผลดีค่ะ เพราะยิ่งเพิ่มโอกาสสอบติดให้กับตัวเอง  โดยเฉพาะถ้าเปิดรับคณะที่เราอยากเข้าในรอบนี้อยู่แล้ว ดังนั้น สนับสนุนให้น้องๆ สมัครโควตาภาค เพราะเงื่อนไขไม่ซับซ้อน และคู่แข่งมีจำนวนไม่มากค่ะ

ทำยังไงให้สอบติดรอบนี้

โควตาภาค เป็นโอกาสทองของใครหลายๆ คน เพราะมีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งน้อย กำหนดแค่คนในภาคเท่านั้น แต่มีจำนวนรับที่มากพอๆ กับรอบอื่นๆ ใน TCAS เลย นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์คัดเลือกที่หลากหลายแต่ไม่โหดเท่ารอบ Portfolio และไม่ต้องรอผลนานเท่ารอบ Admission ค่ะ เมื่อคิดจะสมัครรอบนี้แล้ว ขอพาน้องๆ มาเตรียมตัวสอบให้ติดในรอบนี้กัน!  

1. รอบโควตา แม้จะเป็นภาคเดียวกัน ก็สมัครได้หลายมหาวิทยาลัยนะคะ หลายคนเข้าใจผิดว่า เลือกสมัครได้แค่มหาวิทยาลัยเดียว จริงๆ แล้วสามารถสมัครกี่ที่ก็ได้ ถ้าคุณสมบัติผ่าน และแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีกำหนดการรับสมัครไม่ตรงกันค่ะ 

วิธีการก็คือ สมัครคัดเลือกในแต่ละโครงการ กรณีผลออกมาว่าสอบติดหลายโครงการ สามารถยืนยันสิทธิ์กับมหาวิทยาลัยไว้ก่อนได้  จนถึงวันยืนยันสิทธิ์กับ ทปอ. ค่อยเลือกยืนยันเคลียริงเฮาส์เพียง 1 ที่

2. รอบโควตา ส่วนใหญ่มีคะแนนย้อนหลังให้ดู สามารถเทียบคะแนนกับปีที่แล้วได้ หากเกณฑ์ไม่เปลี่ยน ถือว่าโชคดีมาก เพราะสามารถอิงคะแนนเก่าได้เลย

 ชี้เป้าทางไปดูสถิติคะแนนย้อนหลังรอบโควตาภาค

  • ม.เชียงใหม่ คลิก
  • ม.สงขลาฯ คลิก
  • ม.นเรศวร คลิก ยังไม่อัปเดตของปี 65
  • ม.ขอนแก่น คลิก ยังไม่อัปเดตของปี 65

3. ถึงจะไม่ใช่รอบ Port แต่ถ้ากำหนดให้ทำพอร์ตด้วย ก็ต้องทำนะคะ เพราะว่ารอบนี้ยังถือว่าเป็นรอบที่มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครได้เต็มที่ บางโครงงานจึงยังมีความก้ำกึ่งระหว่างรอบ Portfolio และ โควตา 

ซึ่งหลักการทำพอร์ตนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเอาพอร์ตเดิมมาใช้ 100% น้องๆ ควรปรับเติมเสริมแต่งให้มีความเหมาะสมกับรอบนั้นๆ โดยเฉพาะหาก Portfolio ของใครมีคำว่ารอบ Portflio ในเล่ม ก็ต้องรีบแก้ด่วน อย่าโป๊ะให้กรรมการจับได้ล่ะ!

4. เกณฑ์แตกต่าง  ศึกษาให้ถี่ถ้วนเพื่อความได้เปรียบ  แน่นอนว่าเมื่อมาถึงรอบโควตาแล้ว เกณฑ์ก็จะเริ่มแตกต่างจากรอบ Portfolio อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเริ่มมีการใช้คะแนนสอบ ซึ่งน้องๆ จะต้องสำรวจตัวเองว่าเรามีคะแนนครบตามที่คณะต้องการหรือยัง 

ในส่วนของ TGAT/TPAT หากใครสมัครไม่ทัน ก็จะต้องเตรียมตัวมองหาโควตาที่ใช้จัดสอบเองหรือใช้ A-Level แทนค่ะ 

  • กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ใช้คะแนนสอบของตัวเอง
    • ม.ขอนแก่น ใช้คะแนนสอบ NETSAT
    • ม.ศิลปากร คณะจิตรกรรม, ประติมากรรมและภาพพิมพ์, มัณฑนศิลป์, อักษรศาสตร์, เภสัชศาสตร์
  • กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ใช้คะแนนสอบ TGAT/TPAT, A-Level
    • ม.แม่ฟ้าหลวง จะมีทั้งโครงการที่ใช้ TGAT/TPAT อย่างเดียว, A-Level อย่างเดียว หรือ ผสมทั้ง 2 อย่าง
    • ม.นเรศวร ใช้ทั้ง TGAT/TPAT , A-Level และใช้ GPAX ด้วย
    • ม.สงขลานครินทร์ เน้นใช้ A-Level แต่บางสาขาใช้ TPAT ด้วย
    • ม.พะเยา ใช้ TGAT/TPAT และ GPAX
    • ม.เชียงใหม่ ใช้ TGAT/TPAT, A-Level บางคณะใช้ วิชาที่จัดสอบเอง
    • ม.มหาสารคาม ใช้ TGAT/TPAT 100%
    • ม.ศิลปากร  ใช้ TGAT/TPAT, A-Level บางคณะมีจัดสอบเอง หรือ ใช้ GPAX
    • ม.เกษตรศาสตร์ ใช้ TGAT/TPAT, A-Level และ GPAX
    • ม.บูรพา ใช้ TGAT/TPAT, A-Level และ GPAX

เบื้องต้นข้อมูลจำนวนรับสมัครรอบโควตาพื้นที่ที่ออกมา  10 กว่าแห่ง ก็รับมากกว่า 30,000 ที่นั่งแล้ว น้องๆ แทบจะไม่มีอะไรต้องกังวลว่าจะไม่มีที่เรียนเลยค่ะ และที่พี่มิ้นท์บอกเสมอว่า รอบนี้เป็นโอกาสทองของน้องๆ ที่อยู่ตามภูมิภาค อย่างน้อยให้เข้าไปดูรายละเอียดสักนิด แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะสมัครหรือไม่ เพราะถ้าไม่ดูหรือเข้าไปศึกษาเลย ก็เหมือนตัดโอกาสตัวเองตั้งแต่ต้นค่ะ :)

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด