"น้องๆ อยากสมัครที่ไหน อย่าลืมอ่านระเบียบการกันนะ"

"ระเบียบการ" คำทางการๆ คำนี้ที่น้องๆ จะได้ยินกันไปตลอดทั้งปี มันคือเอกสารรายละเอียดการรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัยนั่นเองค่ะ มันเป็นเสมือนคู่มือ เป็นหนังสือ และเป็นแหล่งคำตอบ เพราะเมื่อน้องๆ มีคำถาม 80% มักจะหาคำตอบเจอในระเบียบการ ทุกครั้งพี่ๆ จึงย้ำให้น้องๆ อ่านให้ละเอียดเพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวเอง

แต่! ระเบียบการแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน จำนวนหน้าเยอะบ้าง น้อยบ้าง วันนี้พี่มิ้นท์ก็เลยจะมาสอนน้องๆ ว่าต้องดูตรงไหน ตรงไหนสำคัญ ย้ำเฉพาะจุดสำคัญ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไล่อ่านทั้งเล่มในเวลาเร่งด่วน  

How to อ่านระเบียบการ TCAS67 ให้ไม่พลาด
How to อ่านระเบียบการ TCAS67 ให้ไม่พลาด

สอน #dek67 อ่านระเบียบการ ตรงไหนสำคัญต้องระวัง

ส่วนประกอบของระเบียบการ ก็คล้ายๆ กับหนังสือหรือเอกสารสำคัญ ที่จะต้องไล่ลำดับหัวข้อสำคัญ ไปสิ้นสุดที่ภาคผนวกหรือรายละเอียดอื่นๆ สำหรับส่วนประกอบหัวข้อในระเบียบการ มีอะไรสำคัญบ้าง ไปดูกันค่ะ

1. ชื่อโครงการ

ชื่อโครงการ จะเป็นองค์ประกอบแรกของระเบียบการค่ะ โดยจะอยู่ด้านบนสุดของหน้าแรก จะเป็นตัวบอกว่า ระเบียบการที่กำลังอ่านอยู่ เป็นของมหาวิทยาลัยอะไร ชื่อโครงการอะไร หากเป็นโครงการที่คณะประกาศรับเอง ก็จะมีชื่อของคณะด้วย

ตรงนี้ก็สำคัญเป็นจุดที่ให้น้องๆ เช็กว่า เราเข้ามาดูถูกโครงการแล้วจริงๆ เพราะแต่ละปี มีระเบียบการออกมาเยอะจนปวดหัวเลยล่ะค่ะ

ตัวอย่างชื่อโครงการในระเบียบการ
ตัวอย่างชื่อโครงการในระเบียบการ

2. คุณสมบัติ

 "คุณสมบัติ" เป็นจุดที่สำคัญที่สุดอันดับ 1 เลยค่ะ น้องอ่านส่วนอื่นไม่ครบ ก็ไม่มีผลเท่าไม่อ่านคุณสมบัติ

ส่วนนี้จะเป็นตัวบอกว่า น้องจะสมัครโครงการนี้ได้หรือไม่ได้ คุณสมบัติก็จะมี 2 แบบด้วยกัน คือ

  • คุณสมบัติทั่วไป คือ รายละเอียดที่บอกว่าจะเข้าโครงการนี้ ต้องเป็นแบบไหน บางโครงการเปิดรับมากกว่า 10 คณะ ก็จะมีคุณสมบัติทั่วไประบุว่าจะต้องเป็นเด็ก ม.6 หรือ เด็กซิ่ว หรือเทียบเท่า เป็นต้น ต้องอยู่จังหวัดอะไร เกรดขั้นต่ำเท่าไหร่ เป็นต้น
  • คุณสมบัติเฉพาะ คือ รายละเอียดคุณสมบัติที่ลึกลงไปในแต่ละคณะ เพราะบางครั้งโครงการเดียวกัน ต่างคณะก็กำหนดคุณสมบัติต่างกัน เช่น แผนการเรียน เกรดเฉลี่ย จำนวนหน่วยกิตวิชาเรียน เป็นต้น
ตัวอย่างการกำหนดคุณสมบัติของ ม.แม่ฟ้าหลวง
ตัวอย่างการกำหนดคุณสมบัติของ ม.แม่ฟ้าหลวง

3. คณะที่เปิดรับสมัคร

ส่วนถัดมา จะเป็นสิ่งที่บอกว่ามีคณะและสาขาอะไรที่เปิดรับสมัคร และเปิดรับจำนวนกี่คน ส่วนนี้ก็ต้องตั้งใจดูเช่นกันค่ะ เพราะบางสาขาอาจจะเปิดรับแค่บางโครงการเท่านั้น เช่น โครงการ A มีคณะมนุษยศาสตร์ เปิดรับ 5 สาขา โครงการ B มีคณะมนุษยศาสตร์ เปิดรับ 12 สาขา เป็นต้น ดังนั้นหากใครหาสาขาไหนไม่เจอ ลองดูให้ครบทุกโครงการก่อนนะคะ 

ตัวอย่างการระบุคณะและจำนวนรับในระเบียบการ
ตัวอย่างการระบุคณะและจำนวนรับในระเบียบการ

4. เอกสารใช้สมัครสอบ

หัวข้อนี้ก็จะเป็นส่วนที่ให้ข้อมูล เรื่องเอกสารต่างๆ ที่ใช้ในการสมัครสอบ  ขอบอกว่าเป็นส่วนที่ระบุรายละเอียดไว้ชัดเจนและละเอียดมาก เช่น รูปถ่ายต้องใช้กี่นิ้ว  ใบ ปพ.1 ต้องขอเกรดกี่เทอม เช็กให้ละเอียดและดำเนินการขอให้ถูกต้องนะคะ สำคัญมากจริงๆ เพราะถ้าใส่เอกสารผิดอาจถูกตัดสิทธิ์คุณสมบัติ หรือ หากต้องแก้ไข ก็จะเสียเวลามากๆ เช่นกัน

ตัวอย่างเอกสารใช้สอบที่ระบุในระเบียบการ
ตัวอย่างเอกสารใช้สอบที่ระบุในระเบียบการ

5. เกณฑ์คัดเลือก

เกณฑ์คัดเลือก จะอยู่ในช่วงกลางๆ ของระเบียบการแล้วค่ะ อาจจะโชว์ได้ทั้งรูปแบบตาราง หรือ เป็นย่อหน้าทั่วไป ส่วนนี้จะบอกว่า คนที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าคณะนั้นได้ จะต้องใช้คะแนนหรือองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น ใช้คะแนนสอบ พิจารณาคุณสมบัติ Portfolio  ไปจนถึงการสอบสัมภาษณ์ ย้ำว่าแต่ละคณะ/สาขา เกณฑ์ก็อาจแตกต่างกันได้นะ 

ตัวอย่างเกณฑ์คัดเลือกในระเบียบการ
ตัวอย่างเกณฑ์คัดเลือกในระเบียบการ

6. กำหนดการ

ส่วนนี้จะบอกช่วงเวลาของแต่ละขั้นตอน โดยจะมีระบุขั้นตอนสำคัญๆ เช่น วันรับสมัคร วันประกาศผล วันสอบสัมภาษณ์ วันยืนยันสิทธิ์ เป็นต้น

ไม่ใช่แค่วันที่เท่านั้น น้องๆ ยังต้องคอยดูด้วยว่าแต่ละขั้นตอนนั้นทำที่ไหน ทำผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ไหนน หรือ การสอบสัมภาษณ์ เป็นสัมภาษณ์ออนไลน์หรือสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัย เป็นต้น

7. ภาคผนวกหรือข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ

มาจนถึงหน้าสุดท้ายของระเบียบการ จะเป็นส่วนที่ให้ข้อมูลอื่นๆ  เช่น กฎการยืนยันสิทธิ์หรือสละสิทธิ์ TCAS ซึ่งตรงนี้เป็นกฎมาตรฐานอยู่แล้ว ซึ่งถ้าน้องเข้าใจกฎการยืนยันสิทธิ์-สละสิทธิ์ เป็นอย่างดี ส่วนนี้ก็ไม่มีอะไรพิเศษค่ะ

นอกจากนี้อาจจะมีข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นของมหาวิทยาลัย เช่น ค่าเทอม รายละเอียดวิทยาเขต ทุนการศึกษา ไปจนถึงช่องทางติดต่อของแต่ละคณะ หากใครอยากรู้ข้อมูลอื่นๆ ในภาคผนวกอาจมีคำตอบที่น้องๆ ต้องการค่ะ

การดูระเบียบการ ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ ช่วงแรกอาจจะเหนื่อยกับการอ่านเอกสารทางการหลายๆ หน้า แต่ก็มีแพทเทิร์นที่ใช้คล้ายกันเกือบทุกมหาวิทยาลัย ใช้เวลาไม่นานน้องๆ ก็จะคล่องเองค่ะ ใครมีคำถามสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะคะ

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น