Teen Coach EP.16 : ไม่ได้ซึมเศร้า แต่มันเบื่อๆ อึนๆ ไม่อยากทำอะไร (Languishing)

Spoil

  • สถานการณ์แบบนี้ ทำให้หลายคนรู้สึกเบื่อๆ อึนๆ ไม่อยากทำอะไร แต่ยังไม่ถึงขั้นซึมเศร้า
  • อาการนี้เรียกว่า Languishing หรือ ภาวะเบื่อโลก เป็นกันมากทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วง  Covid-19 ระบาด
  • อย่ามองว่าไม่สำคัญอะไร เพราะหากปล่อยไว้ อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ได้

น้องๆ จำได้ไหมว่า Lock down ครั้งที่แล้วทำอะไรกันบ้าง? บางคนเต้น TikTok บางคนทำอาหาร บางคนปลูกต้นไม้ เรียกว่าในหน้า feed แต่ละคนมี activity เยอะมากกก จนการ Lock down ดูไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อเท่าไหร่ ผิดกับครั้งนี้ ที่แม้จะยังไม่ถือว่าเป็นการ Lock down เต็ม 100% แต่ทุกอย่างเงียบกริบ เศร้า เหงา ห่อเหี่ยว ทุกอย่างดูเนือยๆ ไม่มีใครอยากทำอะไร และไม่มีใครรู้สึกสนุกกับการต้องอยู่บ้านในครั้งนี้อีกแล้ว เรียกว่าแค่ใช้ชีวิตให้ผ่านๆ ไปแต่ละวันก็เหนื่อยใจ

ใครที่กำลังตกอยู่ในความรู้สึกแบบนี้ ความรู้สึกที่ไม่ได้ใช้แรงทำอะไร แต่ก็เหนื่อยจนอยากอยู่นิ่งๆ ขาดแรงจูงใจ ขาด Passion ในการใช้ชีวิต รู้สึกหมดสนุก หมดความรื่นเริงในการใช้ชีวิต หมดแรงทำงานหรือแรงเรียนหนังสือ แต่ก็ยังไม่รุนแรงขนาดซึมเศร้า ทุกอย่างดูครึ่งๆ กลางๆ ไปหมด ทุกข์ไม่สุด สุขไม่สุด พี่นักเก็ตก็บอกได้เลยว่าไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่กำลังรู้สึกแบบนี้หรอกค่ะ

สภาวะนี้มีชื่อว่า Languishing ยังไม่มีชื่อเรียกภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่พี่นักเก็ตขอตั้งชื่อเล่นให้เรียกง่ายๆ ว่า ภาวะเบื่อโลก เป็นภาวะที่เพิ่งค้นพบไม่นานโดย Adam Grant ซึ่งได้นำข้อมูลเกี่ยวกับภาวะนี้มาพูดถึงอีกครั้ง หลังเกิดการระบาดของ Covid-19 ในปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า ภาวะเบื่อโลก (Languishing) เป็นภาวะทางอารมณ์ที่รู้สึกว่างเปล่า ไร้จุดหมาย เหมือนกับการใช้ชีวิตให้ผ่านๆ ไปในแต่ละวัน ทำกิจกรรมซ้ำๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ก็ไม่ใช่อาการซึมเศร้าหรือหมดไฟ เพียงแค่ว่างเปล่า และทำให้เรารู้สึกเนือย

ภาวะเบื่อโลก (Languishing) เป็นภาวะที่อยู่ระหว่างความเศร้าและความสุข เราไม่ได้รู้สึกหมดหวังหรือท้อแท้ แต่แค่ไม่ enjoy กับชีวิต ไม่มีความสุข และไม่มีเป้าหมายกับสิ่งที่ทำ กลายเป็นความหน่วงๆ อึนๆ ว่างเปล่า เหมือนการมองกระจกที่เต็มไปด้วยฝ้าขุ่นๆ

อย่างที่พี่นักเก็ตบอกไปว่า ภาวะเบื่อโลก (Languishing) นี้ ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งมีการค้นพบได้ไม่นาน และเพิ่งถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในบทความบน The New York Times จึงยังต้องมีการศึกษารายละเอียดของอาการนี้อีกมาก แต่ก็พบว่าหากเราปล่อยให้ความรู้สึกว่างเปล่า หรือภาวะนี้อยู่กับเรานานๆ อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจโดยรวมได้ ทำให้สุขภาพจิตแย่ลง และมีแนวโน้มจะเผชิญสภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ตึงเครียดได้อีกด้วย

สำหรับใครที่กำลังติดอยู่กับภาวะนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พี่นักเก็ตว่าอย่าเพิกเฉย และหาทางรับมือกับมันสักหน่อยดีกว่าค่ะ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำไว้ว่า วิธีการรับมือกับความรู้สึกว่างเปล่าและเหนื่อยหน่ายในชีวิต เริ่มจากการเข้าใจและยอมรับความรู้สึกของเราก่อน ว่าตอนนี้เราทำลังว่างเปล่า เหนื่อย หรือรู้สึกอย่างไร จากนั้นควรหากิจกรรมที่ชื่นชอบทำ เช่น กินของอร่อย ดูหนังเรื่องโปรด เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนหลอมรวมกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เกิดเป็นภาวะลื่นไหล (flow state) ทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมและอินไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ การตั้งเป้าหมายเล็กๆ ประจำวัน (focus on a small goal) ก็ช่วยได้ โดยอาจจะเรื่องที่ท้าทาย เกม หรือปริศนาต่างๆ ที่มีการแพ้ชนะ เช่น ซูโดกุ หมากรุก จะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและเบื่อน้อยลง

 แม้ ภาวะเบื่อโลก (Languishing) จะเป็นแค่ความรู้สึก random ที่เราไม่ได้ตระหนักถึงมันเท่าไร เพราะคิดว่าอีกไม่นานความรู้สึกแบบนี้ก็จะหายไปเอง หรือสำหรับบางคนก็รู้สึกจนเคยชินถือเป็นเรื่องปกติ แต่การปล่อยปละละเลยอารมณ์และความรู้สึกของเรานั้น อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาวได้ค่ะ

หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้ พี่นักเก็ตก็หวังว่าจะช่วยให้น้องๆ เข้าใจความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น และไม่ปล่อยปละละเลยความรู้สึกของตัวเอง รวมถึงหาวิธีรับมือกับมันได้นะคะ เพราะยังไงความรู้สึกของเราก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต่อให้โลกภายนอกไม่น่าอยู่ยังไง แต่ก็อย่าลืมหาพื้นที่เล็กๆ ให้ตัวเองได้ผ่อนคลายอย่างสบายใจบ้างนะคะ

 

 

รายการอ้างอิงhttps://www.wbur.org/https://www.theguardian.com/         
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด