ชู้‬ (Adultery)
เขียน: เปาโล คูเอลญู
แปล: ประโลม บุญรัศมี

 

ลินดามีครอบครัวสมบูรณ์แบบ ลูกที่ดี สามีที่รักยิ่ง การงานและฐานะที่มั่นคง อยู่ในประเทศที่น่าอยู่และปลอดภัยที่สุดอย่างสวิสเซอร์แลนด์ แต่กลับพบว่าตัวเองไม่มีสุข หดหู่ซ้ำซากซังกะตาย จนวันหนึ่งได้พบเจคอบรักเก่า เธอเผลอมีสัมพันธ์ลับกับเขาและเริ่มสนุกกับรสชาติของความเสี่ยง
 

เคยอ่านงานของคูเอลญูสองเล่มคือขุมทรัพย์สุดปลายฝันและเมืองทดสอบบาป คนส่วนใหญ่ชอบขุมทรัพย์ฯ แต่เราชอบเมืองทดสอบบาปมากกว่า รู้สึกว่าทุกบรรทัดหลักแหลม ฉะฉาน มีประเด็นหมิ่นเหม่ที่น่าติดตามว่าตกลงมันจะยังไง การตอบโต้ระหว่างตัวละครพุ่งใส่กันยังกะปืนเลเซอร์ ในขณะที่ขุมทรัพย์ดูคลุมเครือกว่า อ่านแล้วเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง และส่วนที่เข้าใจก็ไม่เชิงหวือว้าว เพราะเรารู้สึกว่าธาตุแท้ของตัวเองก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว คือพวกวิ่งตามฝันจนเหงือกถลอก เลยไม่ค่อยคิดว่ามันแปลกตา ปลุกพลัง หรือสร้างแรงบันดาลใจอะไรขนาดนั้น ชอบในส่วนของการจัดเรียงอะไรแปลกๆ ใส่เข้ามาในเรื่อง คำคม และอารมณ์โดยรวมของเรื่องมากกว่า

ชู้เล่มนี้ก็ยังมีลักษณะสำคัญของคูเอลญูอยู่ชัดเจน คือความงง เนิบช้า และไม่ฟุ่มเฟือยฉากและถ้อยคำ พอผสานกันแล้วมันช่วยให้เรามีพื้นที่เวิ่นเว้อกับจินตนาการของตัวเอง ทำเป็นว่ากำลังพยายามตีถ้อยความของเขาอยู่ ซึ่งเราชอบอารมณ์อึนๆ ในตัวเองแบบนี้นะ แม้สุดท้ายถ้อยดังกล่าวจะตีแตกบ้างไม่แตกบ้างก็เถอะ มันกึ่มๆ และให้ความรู้สึกที่ดี

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวการเขียนชนิดนี้ รวมกับวิธีแทรกสัญลักษณ์เข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะนิทานเปรียบเทียบที่เป๊ะปังเสมอ เราเลยรู้สึกว่ามันเข้ากับอารมณ์กึ่งๆ แฟนตาซีของสองเรื่องแรกมากกว่า

ในชู้ นิทานสั้นสองเรื่องยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่เราชอบมากที่สุด ขณะที่สัญลักษณ์อื่นๆ ซึ่งหยิบเรื่องราวและวัตถุแวดล้อมมาเล่ายังดูจงใจและทำให้เหตุการณ์ที่ดำเนินอยู่สะดุดซะงั้น หลายช่วงถ้อยความที่จะบอกนั้นสั้นนิดเดียว แต่กลับใช้ความเปรียบยาวๆ ซึ่งไม่ทำให้เกิดมิติลึกขึ้นเท่าไหร่ (เช่น ในฉากความรัก – น้ำพุ หรือความรัก – สิ่งเสพติด อย่างหลังนี้แทนที่จะดู ‘โอ้ววว...' กลับดู ‘อ่านะ...’ ) หลายทีแอบรู้สึกเหมือนคนเขียนสร้างพล็อตบางๆ ขึ้นสวมเพื่อล่อให้คนมาอ่านบทความแนวให้กำลังใจที่เหยียดยาวอยู่ข้างในเสียมากกว่า แถมเป็นบทความที่ไม่ได้แปลกใหม่อะไร โดยเฉพาะการสรุปจบแบบโลกสวยง่ายๆ พร้อมสองสามบทสุดท้ายซึ่งยัดเยียดจนกลายเป็น ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ และให้อารมณ์ยังกะเข้าคอร์สเข็มทิศชีวิตก็ไม่ปาน

สิ่งที่สะดุดตาและรู้สึกแปลกใหม่จริงๆ สำหรับเราคือประโยชน์จากการไม่ใช้ครื่องหมายคำพูดในส่วนของตัวเอก มันเบลอๆ ดีว่าตกลงนางกำลังพูดกับใคร (หลายครั้งเหมือนนางคุยกับตัวเองแบบประสาทๆ อยู่) เข้ากันกับดีไซน์เรื่องที่ไม่เจาะไปเล่าถึงตัวละครอื่นมากนัก ซึ่งสุดท้ายก็สะท้อนถึงความหมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเองของตัวเอกที่ทำให้นางติดกับ ชอบฉากที่นางระเบิดอารมณ์บนโต๊ะอาหาร ชอบการคิดแผนการร้ายต่างๆ นานาของนาง นี่ถ้าปิดปกจะนึกว่าคุณกฤษณา อโศกสิน สลับด้านมาเขียนเรื่องของอรอินทร์เลยทีเดียว

ขอบคุณบทรีวิวดีๆ จาก "ปราปต์" 
สามารถอ่านรีวิวเพิ่มเติมได้ที่เพจ
ปราปต์
 
พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น