เทคนิคเตรียมสอบชิง "ทุนเล่าเรียนหลวง" ทุนแห่งเกียรติยศที่เลือกไปเรียนอะไร ที่ไหนก็ได้ !

                ไม่รอช้า ขอเข้าเรื่องเลย ! ทุนเล่าเรียนหลวงเป็นทุนเฉพาะสำหรับนักเรียนที่กำลังจะจบ ม.6 เท่านั้น เป็นโอกาสครั้งเดียวของเด็กมัธยมปลายทุกสาย ไม่อยากให้ใครพลาดการสอบชิงทุนนี้ เพราะฉะนั้นจงแชร์ จงอ่านบทความนี้ให้ครบทุกตัวอักษร 


 
ทุนเล่าเรียนหลวง คือ อะไร
             ทุนเล่าเรียนหลวง หรือทุน King's Scholarship นิยมเรียกสั้นๆ กันว่า ทุนคิง เป็นทุนพระราชทานนักเรียนไทยระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีในต่างประเทศค่ะ เป็นอีกหนึ่งทุนการศึกษาที่นับเป็นเกียรติยิ่งใหญ่ของชีวิตเลยล่ะ โดยผู้ที่ได้รับทุนนี้ สามารถเลือกเองได้เลยว่าอยากเรียนอะไร ที่มหาวิทยาลัยไหน ประเทศใดก็ได้ ครอบคลุมการดูแลทุกอย่าง ค่าเทอม ที่พัก ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพียงแต่ต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยตามจำนวนปีที่ได้รับทุนไป 

ข้อมูลทุนเล่าเรียนหลวง 
- จำนวนทุน
มีจำนวนทุนทั้งหมด 9 ทุน
แบ่งออกเป็น 3 หน่วย คือ (หน่วย)สายวิทย์ 5 ทุน สายศิลป์ภาษา 2 ทุน และสายศิลป์คำนวณ 2 ทุน

- ผู้มีสิทธิ์สมัครสอบ
ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีสุดท้ายของระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอายุไม่เกิน 20 ปี เกรดเฉลี่ยมัธยมศึกษาตอนปลายทุกภาคที่ผ่านมาต้องไม่ตำกว่า 3.50 และเมื่อจบการศึกษาเกรดเฉลี่ยรวมทั้งหมดก็ต้องไม่ต่ำกว่า 3.50 (แม้อายุไม่เกิน แต่จบ ม.6 ไปแล้วก็สมัครไม่ได้) เคยไปโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศระหว่างเรียนก็สมัครสอบได้

- ช่วงเวลารับสมัคร
ประมาณปลายเดือนสิงหาคม - กันยายนของทุกปี

- ช่วงสอบ
ประมาณเดือนปลายตุลาคม - ต้นพฤศจิกายนของทุกปี

- เว็บไซต์ที่รับสมัคร
เว็บสำนักงาน ก.พ. - http://scholar2.ocsc.go.th
เว็บไซต์กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม - http://stscholar.nstda.or.th/

- รูปแบบการสอบ
    1) สอบข้อเขียน
สายวิทย์ สอบคณิต วิทย์ อังกฤษ ไทย สังคม
ศิลป์ภาษา สอบอังกฤษ ไทย สังคม Translation และ Writing
ศิลป์คำนวณ สอบคณิต อังกฤษ ไทย สังคม Writing
ทุกวิชาใช้เวลาการสอบ 3 ชั่วโมง ยกเว้น Writng 2 ชั่วโมง

    2) สอบสัมภาษณ์ 
สัมภาษณ์กลุ่ม จะมีให้เขียน essay ตามหัวข้อที่กำหนด แล้วให้ผู้สอบผ่านรอบข้อเขียนทั้งหมดมานั่งรวมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นตามหัวข้อที่กำหนด และสัมภาษณ์เดี่ยวกับกรรมการสอบ 
การสอบสัมภาษณ์เป็นประเมินความเหมาะสมของผู้ที่จะได้รับทุน จะดูทั้งประสบการณ์ ความรู้ ไหวพริบ และทัศนคติต่างๆ เน้นใช้ภาษาอังกฤษในการพูดคุยถามตอบ

 
                นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว พี่เกียรติมีโอกาสได้ไปขอข้อมูลจาก อาจารย์เต้ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ ผู้มีประสบการณ์ติวนักเรียนสอบทุนคิงสายวิทย์มาค่ะ ขอบอกเลยว่าลูกศิษย์ที่ติวกับอาจารย์เต้ติดทุนคิงทุกปีเลยนะ แถมด้วยข้อมูลจากรุ่นพี่ทุนคิงตัวจริงมาเล่าให้ฟังด้วยจ้า


อ.เต้ - ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ

                  อาจารย์เต้เริ่มเปิดเลยว่า แม้ตัวอาจารย์จะเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของนักเรียนที่ได้ทุนคิงหลายๆ คน แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ความสำเร็จของใครเฉพาะเพียงคนเดียว เพราะจริงๆ การได้ทุนเล่าเรียนหลวง และคนที่จบทุนใดๆ มาก็ตาม มันก็เป็นฟันเฟืองของสังคมที่คอยขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้า ซึ่งการขับเคลื่อนนี้มันต้องใช้ทุกคน มันต้องทำงานร่วมกัน คนเดียวไม่สามารถทำงานได้ทั้งหมด แต่ถ้ามีฟันเฟืองดีๆ หลายๆ คนมันก็ดีต่อประเทศชาติเรา

 
เนื้อหาที่ออกสอบทุนคิง สายวิทย์ ยาก - ง่ายกว่าเนื้อหาในโรงเรียนแค่ไหน
 
             เนื้อหาที่ออกสอบทุนคิงวิชาวิทย์เป็นเนื้อหาในมัธยมปลายเลย เพียงแต่ว่าต้องอ่านจนจบมัธยมปลายทั้งหมด เพราะทุนคิงจะสอบช่วงประมาณ ม.6 เทอมหนึ่ง ดังนั้นส่วนใหญ่ก็จะเริ่มเตรียมตัวกันจริงจังตอน ม.5 แล้วอ่านให้ครบจบบทเรียนถึงเนื้อหา ม.6 ทั้งหมดเลย เนื้อหาข้อสอบแทบไม่เคยเกินมัธยมปลาย แต่ต้องวิเคราะห์ได้ และที่สำคัญคือ เขียนตอบออกมาได้ เพราะทุนคิงใช้การเขียนตอบเป็นส่วนใหญ่ แต่เด็กไทยส่วนใหญ่คุ้นกับการทำแต่ข้อสอบตัวเลือกมา เลยทำข้อสอบเขียนไม่เป็น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือ ลองเขียนคำตอบออกมา แล้วอ่านเองดูก่อนเลยว่า อ่านเรื่องรู้เรื่องไหม อย่างในคอร์สที่ติวจะมีตัวอย่างเยอะ จะปูพื้นฐานในการคิดวิเคราะห์ไว้อย่างละเอียดมาก อุดความเข้าใจเนื้อหาเคมีแบบผิดๆ ถ้าเขาตอบคำถามในคอร์สเราได้ทุกข้อ เขาจะทำข้อสอบทุนคิงได้ เวลาเรียนก็ต้องฝึกคิดวิเคราะห์ไปด้วย ไม่ใช่ว่าได้ข้อมูลมาก็แค่จำไว้เฉยๆ และพี่เกียรติก็ไปสืบจากรุ่นพี่ทุนคิงสายวิทย์ เป๊ป - วัชระ อวยสินประเสริฐ เจ้าของเหรียญเคมีโอลิมปิกก็ยืนยันว่าทุนคิงวิชาวิทย์ ออกสอบเนื้อหามัธยมปลายจริงค่ะ 
(บทความ > "เป๊ป" กว่าจะเป็น “ผู้แทนไทยไปเคมีโอลิมปิกโลก” ประสบการณ์จากรุ่นพี่ตัวจริง )

 


เทคนิคเตรียมสอบทุนคิง

           นอกจากเนื้อหามัธยมปลายที่ต้องอ่านให้จบทั้งหมดก่อนสอบแล้ว อย่างข้อสอบในพาร์ทเคมี มันก็ไม่ได้ถามแค่เคมี มันอาจบูรณาการวิทย์ตัวอื่นมาถามร่วมกัน ดังนั้น นอกจากเรียนตัวเนื้อหาแล้ว ก็ต้องหาโจทย์มาทำ ควรลองทำโจทย์ต่างประเทศ อย่างข้อสอบ SAT ข้อสอบ GCSE มาฝึกด้วย
 
“วิชาเคมีไม่ได้เกิดในดินแดนสุวรรณภูมิ”
 
      อาจารย์เต้กล่าวว่า “วิชาเคมีไม่ได้เกิดในดินแดนสุวรรณภูมิ นอกจากเหล็กกับปรอทแล้ว ก็ไม่มีอะไรในเคมีที่เป็นไทย” จึงควรไปหา textbook มาเรียนรู้เพิ่มด้วย หนังสือวิทยาศาสตร์ภาษาอังกฤษไม่ยากเลย มันเป็นข้อเท็จจริง มีแต่ Present Tense อย่างมากก็ Past Tense ว่าเมื่อก่อนทำอะไรมา แต่ไม่มีไวยกรณ์ซับซ้อน ที่สำคัญหนังสือฝรั่งรูปสวย อ่านไม่รู้เรื่องก็ดูรูปทำความเข้าใจ การอ่านหนังสือทำโจทย์ฝรั่งจะทำให้เห็นมุมมองในการอธิบายอะไรบางอย่าง
 
“ข้อสอบเขียนตอบ ก็เหมือนคุยกับคนออกข้อสอบ”

ข้อสอบทุนคิงใช้ความเข้าใจความรู้พื้นฐานเป็นหลัก เป็นเนื้อหา ม.ปลายจริงๆ แค่ต้องมีเหตุผล ต้องเขียนอธิบายทุกอย่าง จะหวังใช้สูตรลัดแทนค่าลงคำนวณในข้อสอบทุนคิงไม่ได้ ถ้าเจอข้อสอบผิด หรือตัวเลขในโจทย์ผิด แล้วไม่สามารถคำนวณไปจนได้คำตอบออกมา เราสามารถเขียนตอบได้ว่า “ข้อนี้หาคำตอบไม่ได้เนื่องจาก…” ผิดอย่างไร อธิบายได้ และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ก็เขียนตอบลงไปได้ ข้อสอบเขียนตอบเป็นข้อสอบที่คุยกับคนออกข้อสอบได้ แต่ต้องคุยอย่างมีเหตุผล
 
ตัวอย่างข้อสอบวิชาสังคมศึกษา จากเว็บสำนักงาน ก.พ. 
 
              หรืออย่างวิชาไทยหรือสังคม คอร์สติวเสริมวิชาต่างๆ ก็ช่วยเสริมทักษะความรู้ได้ แต่การคิดวิเคราะห์ ตีโจทย์ จับใจความ ต้องมาฝึกเองเพิ่มเติม ไนน์ - ธนนันท์​ ประเสริฐทรัพย์ รุ่นพี่ทุนคิงบอกเทคนิคฝึกคิดวิเคราะห์ว่า “ต้องอ่านเยอะๆ อ่านบทวิเคราะห์เรื่องต่างๆ เหตุการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย ปัญหาระหว่างประเทศ ค่านิยมของคนในยุคปัจจุบัน เป็นต้น จริงแล้วอ่านบทความวิเคราะห์เรื่องอะไรก็ได้ แต่ขอให้อ่านเยอะๆ อ่านจากนักเขียนหลายคน ยิ่งอ่านเยอะยิ่งเห็นมุมมองเยอะ ในขณะที่อ่านก็ให้คิดตามว่า ที่เขาเขียนเป็นเหตุเป็นผลไหม เห็นด้วยหรือไม่ ทำไมไม่เห็นด้วย หรือมีประเด็นไหนที่น่าสนใจที่เราไม่เคยคิดมาก่อนหรือไม่ การอ่านเยอะๆ นอกจากจะช่วยฝึกคิดวิเคราะห์ ยังทำให้เราเข้าใจและคุ้นชินกับการเขียนบทความและเรียบเรียงให้เป็นเหตุเป็นผล เข้าใจง่าย แล้วก็ต้องลองเขียนจริง โดยทำข้อสอบเก่าหรือเขียนวิเคราะห์จากคำถามที่ตั้งขึ้นเอง เพราะถ้าไม่ลองเขียนดู ก็จะไม่รู้ว่าเรามีปัญหาอะไร เขียนได้จริงหรือไม่”
(บทความ > 'ไนน์' เด็กทุนคิง กับการเรียนใน 'Brown University' มหา’ลัยดังในกลุ่ม Ivy League )

 


               สุดท้ายที่อาจารย์เต้ฝากไว้สำหรับน้องๆ ที่อยากสอบทุนคิง คือ ไม่ว่าจะสอบทุนใดๆ ก็ตาม สิ่งที่จะได้ระหว่างทางเตรียมตัวนั่นแหละคือ “คุณค่า” ข้อดีของการเตรียมสอบทุนคิงคือ กระบวนการในการทำให้ตัวเองไปถึงจุดนั้น ไม่ว่าสุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ก็จะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่มีค่า เพราะการจะไปถึงทุนคิงหรืออะไรที่ยิ่งใหญ่ มันต้องใช้ความพยายามมาก อย่างวันนี้อ่านจบบทความแล้ว รู้ว่าถ้าอยากได้ทุนคิง ต้องกลับไปวางแผนการเรียนของตัวเองใหม่ ต้องไปทำความเข้าใจกับความรู้พื้นฐานวิชาจริงๆ ต้องไปฝึกเขียน ฝึกวิเคราะห์ มันก็คือการพัฒนาตัวเองขึ้นมา แล้วในที่สุดก็จะสามารถนำตัวเองไปสู่ความสำเร็จที่ดีๆ ได้แน่นอน ! 


          เอาล่ะ อ่านมาถึงตรงนี้ มีแรงฮึดรึยังเอ่ย ตอนนี้น้องๆ ชาว Dek-D ได้ข้อมูลเบื้องต้นเน้นๆ และเทคนิคแน่นๆ พร้อมที่จะเริ่มเตรียมตัวสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงหรือยัง เตรียมตัวตั้งแต่วันนี้เพื่อโอกาสที่ดีของเราในวันข้างหน้านะคะ ลองดู ลงมือเลยจ้า
 

          ขอขอบพระคุณข้อมูลจากอาจารย์เต้ รุ่นพี่ทุนคิง น้องเป๊ป น้องไนน์ และข้อมูลจากเว็บสำนักงาน ก.พ. - http://scholar2.ocsc.go.th 
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น