ทำไมผู้ใหญ่ไม่ชอบให้มีแฟนในวัยเรียน และเทคนิคเปิดตัวกับพ่อแม่

ทำไมผู้ใหญ่ไม่ชอบให้มีแฟนในวัยเรียน และเทคนิคเปิดตัวกับพ่อแม่

“มีแฟนแล้วเดี๋ยวเสียการเรียนนะ ตั้งใจเรียนไปก่อน โตแล้วค่อยมีก็ได้”

“มีแล้วระวังโดนเขาหลอกนะ เดี๋ยวก็เถลไถลเสียอนาคตหรอก”

นี่เป็นบางส่วนของประโยคที่เราอาจเคยผ่านหูมา เมื่อมีประเด็นของแฟนถูกหยิบยกมาพูดถึง ไม่ว่าจะด้วยตัวเราเอง หรือจากบุคคลที่สามได้เกริ่นขึ้นมาก็ตาม

แล้วสงสัยกันหรือไม่ ว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงไม่ชอบให้มีแฟนในวัยเรียนกัน แต่ดันคาดหวังว่าอยากอุ้มหลานอยู่บ่อยครั้ง จนชวนให้สับสนว่า เอ้า สรุปแล้วจะให้ไปหาแฟนตอนไหนกันล่ะ?

มาลองวิเคราะห์หาเหตุผลกัน ว่าทำไมพ่อแม่ถึงไม่อยากให้มีแฟนเร็วกันนักหนา แล้วกางคำตอบจากงานวิจัย ว่าช่วงวัยไหนคือเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มมีแฟน และเมื่อมีแล้ว จะพาไปเปิดตัวกับที่บ้านได้อย่างไร้อุปสรรคกันได้อย่างไร

ช่วงมือใหม่หัดรัก

คุณจำประโยคฮิตอย่าง “รักในวัยเรียนก็เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน” กันได้อยู่ใช่ไหม? แล้วลองย้อนนึกถึงรักครั้งแรกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวดู เขาคนนั้นอาจเป็นความรักแบบ “Puppy love” หรือ “Crush” ที่เป็นโมเมนต์น่ารักใส ๆ ในวัยที่ไม่มีเรื่องราวอะไรให้ต้องคิดมากมาย แค่ได้มองเขาแล้วก็เกิดหัวใจพองโต โลกทั้งใบพลันเปลี่ยนเป็นสีชมพูไปเสียแล้ว

แต่เมื่อเติบโตขึ้น เราต่างผ่านประสบการณ์และช่วงวัยที่เปลี่ยนไป เมื่อเรื่องราวความรักกลายมาเป็นประเด็นจริงจังในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่เราเริ่มตีตัวออกห่างจากครอบครัว และใช้เวลากับเพื่อน หรือคนที่เรารู้สึกชอบมากยิ่งขึ้น

เมื่อรวมประเด็นการเข้าสู่วัยรุ่น ที่ช่องว่างความเข้าใจจากช่วงวัยต่างกัน ทำให้เรามักเลือกเชื่อ เปิดใจ และใช้เวลากับเพื่อนมากกว่าในบ้าน ควบคู่กับเป็นวัยที่เราได้เริ่มเรียนรู้การเป็นผู้ใหญ่แบบเต็มตัว จากเดิมที่อยู่ในสายตาของพวกเขาแทบตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่จะเกิดความห่วงใยเหล่านี้ขึ้นมาได้

แน่นอนว่าความรักในนิยามของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน และประสบการณ์ที่ได้เผชิญมาก็ย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว บ้างอาจพบรักแท้ตั้งแต่แรกลงสนาม จนไม่ต้องเหลียวมองใครอีก บ้างอาจเผชิญกับความโชคร้าย ที่ไปชอบใครเขาก็ไม่ชอบกลับ แต่พอเขามาชอบเรา ก็ดันไม่ชอบเขาอะไรแบบนี้ได้ กลายเป็นความซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้นไปอีก (เป็นกำลังใจให้คนแบบหลังนะ!)

พอเป็นเช่นนี้ ก็ไม่แปลกที่จะมีกรณีศึกษาให้เป็นตัวอย่างอยู่หลากหลาย ทั้งด้านที่ดีและไม่ดีสลับกันไป และแน่นอนว่าเรื่องที่เรามักได้ยิน ก็คงหนีไม่พ้นด้านไม่ดี…

ท้องในวัยเรียน เสียอนาคต โดนหลอก เกรดตก เป็นซึมเศร้า มูฟออนไม่ได้ ประชดชีวิต เปลี่ยนไปเป็นคนละคน (ในทางที่แย่) ติดโรค และอีกหลากหลายตัวอย่างที่มักถูกยกขึ้นมาด้วยความเป็นห่วง เพราะกลัวว่าถ้าคบกับแฟนตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต่างคนต่างกำลังอยากรู้อยากลอง แถมยังใช้เวลากับเพื่อนมากกว่าที่บ้านอีก ก็อาจนำพาไปสู่เส้นทางไม่ดีแบบที่เคยเป็นข่าวมานับครั้งไม่ถ้วนได้

แล้วมันไม่ดีจริงไหม

ต้องยอมรับก่อนว่า ข้อเสียเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นจริง และก็มีข้อดีที่พร้อมจะเกิดขึ้นไปในเวลาเดียวกันด้วย

มีงานวิจัยที่ศึกษาการมีความรักในช่วงวัย 10-19 ปี ที่พบว่าการมีความรักของวัยรุ่นในช่วงอายุดังกล่าว สามารถพัฒนาความมั่นใจในตนเอง การเข้าสังคม และการสื่อสารที่ดีไปได้ตลอดชีวิต

นั่นรวมถึงความรักแบบ Puppy love ด้วยเช่นกัน กล่าวคือหากรักครั้งแรกดำเนินไปได้อย่างสวยงาม แม้จะเป็นเวลาเพียงไม่กี่วัน ก็สามารถช่วยให้เรามีความรักในตอนโตที่ดี มั่นคง พร้อมกับมีทักษะการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นได้ไปในเวลาเดียวกัน

หากการมีความรักที่ดีจะส่งผลดีไปตลอดชีวิต การมีรักที่ไม่ดีเมื่อเร็วเกินไปก็กลายเป็นดาบสองคมได้ เพราะงานวิจัยดังกล่าวยังได้ชี้ถึงผลกระทบด้านลบ จากการเริ่มมีแฟนอย่างจริงจังเร็วเกินไป คือช่วงก่อนเข้าสู่ช่วงชั้นมัธยมปลาย ด้วยปัจจัยด้านวุฒิภาวะ ประสบการณ์ และพฤติกรรมการเลียนแบบ ที่อาจทำให้เกิดการล่วงเกินทางคำพูด การทำร้ายร่างกาย อาจถึงขั้นที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ยินยอม หรือไม่ได้ป้องกันอย่างถูกวิธีได้

เมื่อสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้น ก็เป็นเหมือนกับแผลเป็นที่ติดตัวของเราไปตลอด จนอาจทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ซึ่งนี่ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นกังวล และไม่ต้องการให้เราต้องเผชิญกับมัน

แต่เมื่อลองศึกษาการมีแฟนในวัยมัธยมปลาย ที่แต่ละคนสามารถเป็นที่พึ่งทางใจให้กันและกันได้ เมื่อมีปัญหาหรือเรื่องไม่สบายใจเกิดขึ้น มีการพูดคุยและเชื่อใจกันมากกว่าเดิม พร้อมกับเป็นเหมือนช่วงแห่งการเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับผู้คนอื่น ๆ ในสังคมได้ จึงทำให้นี่คือช่วงวัยที่เหมาะสมสุดสำหรับการเริ่มมีแฟนอย่างจริงจัง จากความเห็นของทีมวิจัยและคณะผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ

ในวัยนี้ หากเราเกิดเลือกทางเดินพลั้งพลาดไป หรือมีเหตุการณ์ใดที่ทำให้รักไม่เป็นไปดั่งใจหวัง ก็ยังพอจะรวบรวมสติและทุกอย่างให้พอกลับมาใกล้เคียงช่วงปกติได้ แม้บางคนอาจต้องใช้เวลานานก็ตาม แต่เมื่อมูฟออนสำเร็จได้แล้ว เรื่องราวด้านลบที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น ก็สามารถกลายมาเป็นบทเรียนชั้นดี ที่คอยย้ำเตือนไม่ให้เราก้าวพลาดได้อีก โดยไม่เป็นแผลลึกได้เหมือนช่วงวัยก่อนหน้านี้นั่นเอง

บอกผู้ใหญ่อย่างไรดี?

ทีนี้ หลายคนอาจยังคงเผชิญกับเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ ๆ ว่าควรบอกผู้ใหญ่อย่างไรดี เพื่อที่เราจะสามารถมีแฟนได้อย่างเปิดเผย และไม่ทำให้ที่บ้านเกิดความเป็นห่วงขึ้นมาได้

ขั้นแรกเลย ก่อนที่เราจะสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่ ก็ต้องเป็นตัวเราเองนี่แหละที่มั่นใจในความสัมพันธ์สถานะนี้เสียก่อน ว่าการที่มีเขาคนนี้เข้ามาอยู่ในสถานะแฟน จะสามารถเติมเต็มสิ่งที่ปรารถนา หรือเป็นความสบายใจของเราได้จริงหรือไม่

หากมั่นใจแล้ว ขั้นตอนถัดไปย่อมไม่พ้นการพาไปเปิดตัวกับที่บ้าน ซึ่งในตรงนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของเราแล้ว ว่าจะเปิดตัวในรูปแบบไหน ไล่ตั้งแต่พาไปแบบไม่ให้ทันตั้งตัว ไปจนถึงการค่อย ๆ เกริ่นและพูดถึงเรื่องราวของแฟนให้พ่อแม่ได้รับรู้ทีละนิด แล้วจึงค่อยพามาทำความรู้จักในภายหลัง

ส่วนมากแล้ว เราอาจมีความกลัวว่าถ้าบอกออกไป จะมีโอกาสโดนมองหรือปฏิบัติจากที่บ้านไม่เหมือนเดิม หรือถ้าพ่อแม่ไม่ประทับใจ จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ในครั้งนี้สั่นครอนได้ แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน การที่เราเก็บซ่อนเรื่องราวดังกล่าวเอาไว้ ก็อาจเพิ่มความกังวลให้กับทั้งตัวเอง แฟน และพ่อแม่ได้เหมือนกัน

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการประเมินดูสถานการณ์ของพ่อแม่เรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอารมณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ ความกังวลที่เขามีต่อเรา หรือความพร้อมในการเปิดรับจากที่บ้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญว่าเราจะต้องเปิดตัวแฟนอย่างไร เพราะสิ่งที่ทำแล้วได้ผลดีกับครอบครัวหนึ่ง อาจให้ผลตรงกันข้ามเมื่อนำไปใช้กับอีกครอบครัวได้เหมือนกัน

บางครั้ง กระบวนการเปิดตัวก็อาจกินเวลายาวนานเป็นเดือนหรือเป็นปี เพื่อให้พ่อแม่ค่อย ๆ เปิดใจรับการที่มีแฟนเข้ามาในชีวิตของเรา ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจขัดใจเราไปได้บ้าง แต่อย่าลืมที่จะสร้างความเชื่อใจให้กับทั้งแฟนและที่บ้าน ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยน และการกระทำต่าง ๆ เช่น ถ้าพ่อแม่กังวลเรื่องการเรียน ก็อาจพูดถึงเรื่องช่วยกันเรียน ช่วยกันทำงานให้เขาฟังอยู่บ่อยครั้ง ถ้าเขากังวลเรื่องเถลไถล ก็ลองชวนที่บ้านไปเที่ยวพร้อมกันดูสักครั้ง เพื่อให้พ่อแม่ได้เห็นการใช้ชีวิตของเราสองคนผ่านสายตาตัวเอง เป็นต้น

สุดท้ายนี้ สิ่งที่เราสามารถบอกได้อย่างชัดเจน คือการมีแฟนในช่วงวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องผิด การมีความรักไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรงหรืออันตราย หากนั่นเป็นความรักที่ดีต่อกันและกัน ซึ่งเมื่อเราเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ อยู่ในจุดที่อาจได้เห็นลูก ๆ มาเปิดตัวแฟนของเขา ก็ขอว่าอย่าลืมเรื่องราวดังกล่าว และคอยให้การสนับสนุนพวกเขาเหมือนกับที่เราต้องการในช่วงวัยรุ่นไว้ด้วยนะ

และถ้าใครมีประสบการณ์เปิดตัวแฟนแบบแปลก ๆ หรือมีทริคไหนที่ใช้แล้วได้ผล สามารถมาลองแชร์ไว้ในคอมเมนต์กันได้เลย

พี่กร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด