เปิดประตู ส่อง 7 สิ่งมหัศจรรย์ในรั้ว ‘สาธิต แห่ง ม.ธรรมศาสตร์’

สวัสดีค่ะ เมื่อเราพูดถึงโรงเรียน สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงคืออะไรคะ หลายคนคงจะนึกถึงการสอบหรือหลายคนคงนึกถึงการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนกันใช่ไหมคะ แต่สำหรับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีบางสิ่งที่แตกต่างออกไปค่ะ เชื่อว่ามีหลายสิ่งที่ใครหลายคนคงจะไม่เคยเจอแบบนี้กันมาแน่ๆ รวมถึงเราด้วยค่ะ TT  แอบกระซิบว่า ที่โรงเรียนแห่งนี้ นักเรียนไม่ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนอีกด้วยค่ะ

ที่สำคัญมากกว่านั้น ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้มีความน่าสนใจเพียงแค่การที่นักเรียนไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนเท่านั้น เพราะยังมีหลายเรื่องให้เราได้มาทำความรู้จักอีกมากมาย ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว เราไปเปิดประตูสู่ 7 สิ่งมหัศจรรย์ในรั้วโรงเรียนแห่งนี้กันเลยดีกว่าค่ะ ><

แวะเปิดประตู ส่อง 7 สิ่งมหัศจรรย์ในรั้ว ‘สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’
แวะเปิดประตู ส่อง 7 สิ่งมหัศจรรย์ในรั้ว ‘สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’

แวะเปิดประตู ส่อง 7 สิ่งมหัศจรรย์ในรั้ว ‘สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ที่แตกต่าง และมีมากกว่าการใส่ชุดไปรเวทไปเรียน 

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Thammasat Secondary School (TSS) เป็นโรงเรียนภายใต้การกำกับของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ถ้าเพื่อนๆ อยากรู้จักคณะนี้ให้มากขึ้น คลิก) โดยโรงเรียนนี้ก่อตั้งขึ้น เพื่อให้นักเรียนสามารถเติบโตได้อย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงแค่การมีความรู้ทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่นักเรียนสามารถที่จะค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง และสามารถลงลึกในสิ่งที่รักจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ ซึ่งทางโรงเรียนเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสู่การต่อยอดไปยังการเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขนั่นเอง 

7 สิ่งมหัศจรรย์ในรั้วประตู ‘สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ที่แตกต่าง และไม่เหมือนใคร

นักเรียนสามารถแต่งกายชุดไปรเวทไปเรียน (ใส่เสื้อของโรงเรียน เพียงแค่วันจันทร์/พฤหัสเท่านั้น)

สำหรับรั้วโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกได้ว่า เป็นพื้นที่ที่ให้อิสระแก่นักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะนักเรียนทุกระดับชั้น ไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน เพียงแค่ใส่ชุดไปรเวทที่เหมาะกับการเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่จะมีการใส่เสื้อของโรงเรียน ในวันจันทร์และวันพฤหัสบดีเท่านั้น เนื่องจากภายในวันดังกล่าวมีตลาดนัดที่มีชื่อว่า “ตลาดอินเตอร์โซน” ทำให้นักเรียนต้องใส่เสื้อของทางโรงเรียนเพื่อจำแนกและไม่ปะปนกับคนอื่น 

ซึ่งทางอาจารย์เข้ม พิสิฐ หนึ่งในอาจารย์จากโรงเรียนแห่งนี้ได้ให้สัมภาษณ์กับเราเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้ ว่า “ที่โรงเรียนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน เพราะเราต้องการเน้นการเรียนรู้ที่แท้จริง โดยสาระการเรียนรู้ที่แท้จริง คือ การที่พวกเขาตั้งใจใฝ่เรียนรู้หรือไม่เท่านั้นเอง”

การไปโรงเรียนที่ไม่ต้องใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียน!!
การไปโรงเรียนที่ไม่ต้องใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียน!!

ความรู้อยู่ตรงกลาง ครูไม่ใช่เพียงผู้สอน 

สำหรับบทบาทของครูที่ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกได้ว่าคุณครูของโรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงครูที่มาสอนหน้าชั้นเรียนแล้วให้นักเรียนจดตามเพียงเท่านั้น แต่บทบาทของครูมีความน่าสนใจมากๆ เลยค่ะ เพราะครูมีบทบาทที่สำคัญถึง 3 ด้านด้วยกัน ซึ่งได้แก่ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และกระบวนกร โดยมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

ที่ปรึกษา ทำหน้าที่ในการดูแลและสนับสนุนนักเรียนเพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาความสามารถของตนเองไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ ซึ่งในระดับชั้น  ม. ต้น จะเรียกว่าครูประจำชั้น โดยจะมีนักเรียนในสังกัดไม่เกิน 20 คน แต่ชั้น ม. ปลาย จะเป็นรูปแบบของครูที่ปรึกษา ที่ดูแลนักเรียนโดยใช้รูปแบบคล้ายกับการเน้นให้นักเรียนพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ซึ่งเหมือนกับการใช้ชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยเลยค่ะ แต่ที่สำคัญคือคุณครูทุกคนล้วนเป็นครูกระบวนกรที่ต่างสอนในสาขาวิชานั้น ๆ ที่ตนเชี่ยวชาญด้วยค่ะ

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำหน้าที่ ให้ความรู้ในเรื่องที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น พร้อมทั้งประเมินสมรรถนะต่างๆ ของผู้เรียน 

กระบวนกร ทำหน้าที่ ออกแบบกระบวนการสำหรับประสบการณ์เรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่มากขึ้นและได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง 

บรรยากาศการเรียนที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรยากาศการเรียนที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แบ่งเนื้อหาการเรียน ออกเป็นกลุ่มประสบการณ์ 

สำหรับเนื้อหาการเรียนของนักเรียนที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มประสบการณ์ที่ไม่ได้เป็นเพียงวิชาต่างๆ เท่านั้น ซึ่งได้แก่ 

  • กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics) 
  • กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ มนุษย์และสังคม (People and Society)
  • กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ สุขภาพและสุขภาวะ (Health and Well-being) 
  • กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ การสื่อสารและภาษา (Communication and Languages) 
  • กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ สุนทรียะทางศิลปะ (Appreciation of Arts) 

นอกจากจะแบ่งเนื้อหาการเรียนออกเป็นกลุ่มประสบการณ์แล้ว รูปแบบที่ใช้ในการเรียนก็มีความน่าสนใจอีกด้วยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประสบการณ์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จะเป็นการให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง มีการจัดกิจกรรมที่คุณครูพานักเรียนไปดูพื้นที่จริง เพื่อให้นักเรียนได้ใช้สูตรในการคำนวณเองอีกด้วย 

 

ขอบคุณรูปภาพจาก https://satit.tu.ac.th/high-school#content-3
ขอบคุณรูปภาพจาก https://satit.tu.ac.th/high-school#content-3

นักเรียนระดับชั้นมัธยมตอนปลาย ลงเรียนได้อย่างอิสระ เหมือนมหาวิทยาลัย

ในส่วนของนักเรียนระดับชั้นมัธยมตอนปลาย เรียกได้ว่ามีการเรียนที่อิสระจริงๆ ค่ะ เพราะนักเรียนสามารถที่จะเลือกวิชาเรียนเองได้ตามความชอบและเป้าหมายของตัวเอง คล้ายๆ กับการจัดตารางเรียนเองในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งนักเรียนต้องเรียนในระดับชั้น ม. ปลาย ไม่ต่ำกว่า 120 หน่วยกิต แบ่งออกเป็น วิชาพื้นฐานการเรียนรู้ 80 หน่วยกิต และวิชาเฉพาะทางอย่างน้อย 40 หน่วยกิต เรียกได้ว่าทางโรงเรียนได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ชอบและได้ค้นหาตัวเองต่อไปได้อย่างอิสระนั่นเองค่ะ

มีการประเมินผลการเรียน ของนักเรียนไม่ใช่เพียงแค่การสอบ

สำหรับรูปแบบการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกได้ว่า มีหลากหลายรูปแบบจริงๆ ค่ะ โดยอาจารย์เข้ม พิสิฐ บอกกับเราว่า การประเมินผลการเรียนรู้จะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การประเมินจากการออกแบบและพัฒนา project ประเมินจาก action ของนักเรียน ประเมินจากการแสดงละคร หรือแม้กระทั่ง การประเมินแบบเลือกตัวเลือก หรือเขียนตอบก็มี แถมยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากด้วยค่ะ

นอกจากนั้น ทางโรงเรียนยังมีการรายงานผลการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า Learning Progress Report ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันเสาร์และวันอาทิตย์ของสัปดาห์ประเมิน โดยมีภาคเรียนละ 2 ครั้ง (กลางภาคเรียน และปลายภาคเรียน) ที่เป็นการนำเสนอว่า ในตัวประสบการณ์ด้านต่างๆ นักเรียนมีการพัฒนาเป็นไปอย่างไรบ้าง โดยการดูคอมเมนต์ตามที่ครูได้บอก เพื่อที่จะให้นักเรียนรู้และสามารถที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปได้

*แต่ทางโรงเรียนมีการประเมินที่สามารถออกใบ ปพ. ได้ หรือมีเกรดออกให้ได้ระหว่างจัดการเรียนรู้ค่ะ

โรงเรียนจะไม่รับสมัครนักเรียนเข้าเรียนระหว่างชั้น

สำหรับการรับสมัครนักเรียนใหม่ที่เข้ามาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการรับสมัครนักเรียนเข้ามาเรียนระหว่างภาคเรียน มีเพียงการรับสมัครนักเรียนเข้ามาเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น เรียกได้ว่าถ้าหากน้องๆ ที่สนใจอยากเข้าเรียนทั้งสมัครตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  เท่านั้นนะคะ 

บรรยากาศการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้ปกครอง
บรรยากาศการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้ปกครอง 

ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูก

อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ซึ่งเรียกว่า “ครอบครัวสาธิต” นั่นเอง โดยทางโรงเรียนมีการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่อาศัยครอบครัว คุณครู นักเรียน ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ หรือมีห้องเรียนพ่อแม่ ที่เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้อีกด้วยค่ะ 

ปิดท้ายไปด้วย คำแนะนำจากครูตัวจริงเสียงจริงของโรงเรียนถึงน้องๆ ที่สนใจ

 

สำหรับ อาจารย์เข้ม พิสิฐ ได้ฝากข้อความถึงน้องๆ ที่มีความสนใจอยากจะเรียนที่สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของเราว่า “ถ้าเรามีความสนใจ อยากจะพัฒนาตนเอง ค้นหาตนเอง หรือเติมเต็มศักยภาพ อยากให้เราลองออกมาจากเซฟโซน มาลองรับประสบการณ์ใหม่ๆ  และมาร่วมผจญภัยไปกับการเรียนรู้ เพื่อค้นหาการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับตัวเอง ผ่านรูปแบบการเรียนที่เราได้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเคารพร่วมกันของสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยในอนาคตครับ”

 

สำหรับ อาจารย์กระตอย สิภรัษมิ์ หนึ่งในครูกระบวนกรของโรงเรียนได้ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจอยากจะมาเรียนที่แห่งนี้ ว่า ขอให้เขาอยากเข้ามาเรียนรู้ในแบบที่เป็นตัวเขา แล้วที่สำคัญก็อย่าลืมความเป็นเด็ก ซึ่งหลายคนชอบคิดว่าเด็กทุกคนที่มาที่นี่ต้องกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ แค่ขอเขาเป็นตัวของตัวเองก็พอ และอยากจะบอกอีกว่า เด็กที่พูดไม่เก่งก็มาสมัครได้เลย ไม่ต้องกังวลหรือกลัว เพราะทางโรงเรียนจะช่วยพัฒนาทักษะนี้ให้ดีขึ้นได้ค่ะ 

 

บรรยากาศจริงที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรยากาศจริงที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจของการศึกษารูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้มาพร้อมกับการเน้นให้นักเรียนต้องสอบเพื่อตัดเกรดว่านักเรียนจะได้คะแนนเท่าไหร่เท่านั้น แต่ที่แห่งนี้มาพร้อมกับการประเมินศักยภาพของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถที่จะพัฒนาตัวเองในแนวทางของตัวเอง ถ้าหากใครสนใจและต้องการอยากจะรู้รายละเอียดเพิ่มเติม  คลิก

แต่ก่อนจากกันในวันนี้ ทางเราขอแอบกระซิบว่าที่ Dek-D ของเราเคยทำบทความที่น่าสนใจของโรงเรียนแห่งนี้อีกด้วย ถ้าเพื่อนๆ คนไหนอยากจะรู้อะไรเพิ่มเติม คลิกเลย

 

สำหรับรั้ว โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ หากใครอยากรู้จักเพิ่มเติม อย่าลืมไปอ่านเพิ่มเติมที่เว็บของโรงเรียนกันได้นะคะ ><

ขอบคุณข้อมูลจาก อ.พิสิฐ น้อยวังคลัง และ อ.สิภรัษมิ์ จินตาพิทักษ์https://satit.tu.ac.th/ ขอบคุณรูปภาพจาก
อ.พิสิฐ น้อยวังคลัง https://www.facebook.com/thammasatsecondaryschool
พี่นุกนิก
พี่นุกนิก - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด