ขับเคลื่อนการเรียนรู้ กับ "คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มธ." ที่เรียน + วัดผลไม่เหมือนใคร

เมื่อพูดถึงคณะที่เกี่ยวกับ ครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ น้องๆ คิดว่าต้องเรียนจบไปเป็นครูใช่ไหมคะ แต่มีน้องๆ คนไหนรู้บ้างว่าคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เป็นคณะที่มีคำว่า ศึกษาศาสตร์ แต่ไม่ได้เรียนจบเป็นครูโดยตรง! แถมมีความน่าสนใจเรื่องการเรียนและวัดผลการเรียนรู้ที่แตกต่างไม่ซ้ำใครอีกด้วย ในวันนี้ Dream Campus จึงอยากพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับคณะให้มากขึ้นกันค่ะ 

ขับเคลื่อนการเรียนรู้ กับ "คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มธ."ที่เรียน&วัดผลไม่เหมือนใคร
ขับเคลื่อนการเรียนรู้ กับ "คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มธ."ที่เรียน&วัดผลไม่เหมือนใคร

รู้จัก "คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ." ในแง่มุม         การเรียนและวัดผลการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใคร

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า LSEd (แอล-เส็ด) เป็นชื่อคณะที่หลายคนมักจะเรียกผิดอยู่เป็นประจำแถมไม่คุ้นชื่อ เพราะเป็นคณะที่ยังเปิดได้ไม่นาน มีการเรียนการสอนทั้งหมด 4 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า "ทุ่งรังสิต" นั่นเองค่า

ซึ่งที่มาของคณะนี้คือ ทางมหาวิทยาลัยและคณะได้เห็นปัญหาของการศึกษาไทยที่มีมานานจึงทำให้เกิดคณะแห่งนี้ขึ้นมาค่ะ ว้าว! ฟังดูแล้วก็รู้สึกถึงแรงฮึกเหิมของคณะนี้กันเลยใช่ไหมคะ  แต่เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาเรามาดูกันดีกว่า ว่า คณะมีการเรียนและวัดผลการเรียนรู้ยังไงกันบ้าง

สำหรับ 4 ปี เราเรียนอะไรกันบ้าง

 

  • ปี 1 เรียนเกี่ยวกับวิชาทั่วไปของมหาวิทยาลัย และวิชาพื้นฐานของคณะ
  • ปี 2 เรียนรู้ผ่านการลงพื้นที่จริง พัฒนาโครงการให้กับชุมชน
  • ปี 3 เจาะลึกวิชาเฉพาะของคณะและวิชาตามความมุ่งเน้น  ได้แก่
    • การเรียนรู้และวิธีการสอน
    • การอำนวยการเรียนรู้
    • เทคโนโลยีการศึกษา
  • ปี 4 ฝึกปฏิบัติจริง ผ่านการฝึกงานที่เข้มข้น และวิชาเลือกเสรี  

* เนื้อหาการเรียนของคณะ เน้นไปที่เรื่อง การเรียนรู้ของมนุษย์และความเข้าใจในทฤษฎีการเรียนรู้บนฐานความรู้ในศาสตร์ที่หลากหลาย

เรียนชิล ๆ พร้อมทำกิจกรรมในห้องเรียน
เรียนชิล ๆ พร้อมทำกิจกรรมในห้องเรียน

เรียนสนุก ลุกนั่งสบาย ในแบบศึกษาศาสตร์ มธ.

บอกก่อนเลยว่า แอบมีพี่ๆ จากคณะกระซิบให้เราฟังว่า คณะนี้เรียนสนุกมาก  เพราะส่วนใหญ่อาจารย์ในแต่ละวิชาจะใช้รูปแบบการเรียนที่เรียกว่า Active Learning ซึ่งเป็นการเรียนที่ไม่ได้เน้นการจดเลกเชอร์ แต่เน้นการปฏิบัติจริงค่ะ 

 

 นอกจากนี้คณะยังให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นหลักด้วยค่ะ เพราะ อ.ฐิติกาญจน์  อาจารย์ประจำคณะเล่าว่า “ทางคณะเชื่อว่านักศึกษาจะเกิดการเรียนรู้ได้ดี ต้องมาจากประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเอง คณะจึงออกแบบและสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบนี้ขึ้น ซึ่ง Active Learning จึงตอบโจทย์คณะมากที่สุด”

ยกตัวอย่างเช่น หากน้องๆ กำลังเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีสักเรื่อง อาจารย์ไม่ได้มาสอนหน้าห้องเรียน      ด้วยการอธิบายให้น้องๆ ฟังแล้วจดตามอย่างเดียว แต่อาจารย์จะมีกิจกรรมมาให้น้องๆ ทำ จากนั้นแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกันว่า กิจกรรมที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรกันไปบ้าง จากนั้นอาจารย์จะมาอธิบายความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีเพิ่มเติมทีหลังค่ะ แม้แต่ปัจจุบันที่พี่ๆ เรียนออนไลน์ในช่วงเทอมที่ผ่านมา อาจารย์ยังแอบมีกิจกรรมให้นักเรียนทำผ่าน Zoom ก่อนเริ่มเรียนด้วยค่ะ 

 

นำเสนองานผ่านการระดมความคิดในห้องเรียนที่เกิดขึ้นจริง (สมัยยังไม่มีโควิดเข้ามานะคะน้อง ๆ )
นำเสนองานผ่านการระดมความคิดในห้องเรียนที่เกิดขึ้นจริง (สมัยยังไม่มีโควิดเข้ามานะคะน้อง ๆ )

การวัดผลการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่การอ่านหนังสือไปสอบอย่างเดียว

พี่นุกนิก ขอบอกก่อนเลยว่า คณะนี้ไม่ได้เน้นให้นักศึกษาเข้าไปกากบาทคำตอบในห้องสอบจริงๆ ค่ะ เพราะคณะนี้มีการวัดผลการเรียนรู้ของนักศึกษาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามวิชา เช่น เขียนบทความทางวิชาการ เขียน Reflection สะท้อนการเรียนรู้ ทำ Project ตามที่วิชากำหนด การสอบปฏิบัติจริงในวิชาที่เน้นการปฏิบัติ  การสอบปากเปล่าที่เหมือนกับการเข้าไปนั่งคุยกับอาจารย์ (แต่เป็นการสอบที่วัดการเรียนรู้จริง ๆ นะคะ)  ฯ 

 

ซึ่งทางอ. ลินดา  อาจารย์ประจำคณะอีกท่าน ย้ำให้เราฟังอีกครั้งว่า คณะมีการวัดผลการเรียนรู้ที่   หลากหลายจริงๆ ไม่ใช่เพียงการตัดเกรดธรรมดาเหมือนที่น้องๆ มัธยมเจอมาอย่างแน่นอน แถมบางวิชานักศึกษายังมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วยค่ะ

แต่พี่ขอย้ำว่า ถ้าน้องๆ คิดว่าคณะนี้เรียนสบาย คุณคิดผิดค่ะ! เพราะถึงจะไม่มีสอบที่เน้นความจำ         แต่มีการทำงานจริงที่เข้มข้นและดุเดือด TT (ถ้าน้องๆ อยากรู้ว่าหนักแค่ไหน ต้องไปดูที่ไอจีสตอรี่ของพี่ๆ ในคณะกันเลยค่า)         

บรรยากาศสอบปฏิบัติของพี่ๆ  ที่ต้องลงมือทำจริง ๆ   ><
บรรยากาศสอบปฏิบัติของพี่ๆ  ที่ต้องลงมือทำจริง ๆ   ><

ถ้าไม่ได้จบไปเป็นครู แล้วทำอาชีพอะไรได้บ้าง  

  • นวัตกรและผู้ประกอบการสังคม
  • กระบวนกรหรือวิทยากรกระบวนการ
  • นักเทคโนโลยีการศึกษาและการเรียนรู้
  • นักออกแบบสื่อการเรียนการสอน
  • นักออกแบบและจัดการเรียนรู้
  • นักวิจัยด้านการเรียนรู้และการศึกษา
  • นักสื่อสารและประสานองค์ความรู้
  • นักฝึกอบรมและผู้ที่ทำงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  • และอื่นๆ ตามที่เราสนใจ
ปิดท้ายไปด้วย บรรยากาศพี่ๆ ลงชุมชนจริงในชั้นปี 2 ถึง 7 วันกันเลยค่า ><
ปิดท้ายไปด้วย บรรยากาศพี่ๆ ลงชุมชนจริงในชั้นปี 2 ถึง 7 วันกันเลยค่า ><

และในวันนี้ เราก็ได้เดินทางมาถึงช่วงท้ายเรียบร้อยแล้ว  แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะคะ เพราะพี่นุกนิกจะมาไขข้อสงสัย ว่าทำไมคณะนี้ถึงไม่ได้จบเป็นครูโดยตรง?  นั่นเป็นเพราะหลักสูตรของคณะเป็น ศิลปศาสตรบัณฑิต ไม่ใช่  ครุศาสตรบัณฑิต หรือศึกษาศาสตรบัณฑิต เหมือนคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ในมหาลัยอื่นๆ  พิเศษ! สำหรับน้องๆ  ที่สนใจในเรื่องเกี่ยวกับการสอนก็สามารถเลือกเรียนในวิชามุ่งเน้นตอนปี 3  หมวด การเรียนรู้และวิธีการสอนได้นะคะ (แต่แอบกระซิบว่า มีพี่บัณฑิตบางคนที่จบไปทำงานเป็นครูก็มีนะคะ)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://lsed.tu.ac.th/undergraduate-programs                                                           ขอบคุณข้อมูลจาก  อ.  ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล และ อ. ลินดา เยห์ อาจารย์จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และขอบคุณภาพจากคณะอาจารย์ และพี่ๆ จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่ร่วมแบ่งปันกันเข้ามา

 

เป็นยังไงกันบ้างคะ กับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่มีความเก๋ไม่เหมือนใคร เห็นแบบนี้แล้ว น้องๆ อยากเรียนกันไหมคะ หรือน้องๆ คนไหนคิดว่าคณะนี้เหมาะกับตัวเองบ้าง อย่าลืมมาคอมเมนต์แชร์กันได้เลยนะ พี่นุกนิกรออ่านอยู่นะคะ ><

พี่นุกนิก
พี่นุกนิก - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด