ปัญหาวัยเรียน! สถานะ "งานกลุ่ม=งานเดี่ยว" เลือกเองหรือเลือกไม่ได้ เจอแบบนี้ทำยังไง?!

การเรียนในแต่ละระดับชั้น เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงงานกลุ่มได้เลย โดยปกติแล้วเมื่อครู/อาจารย์ให้เลือกระหว่างงานกลุ่มและงานเดี่ยว หลายคนก็มักจะตอบงานกลุ่มกัน เพราะหลายหัวดีกว่าหัวเดียวค่ะ หากร่วมด้วยช่วยกันทำงานเดี่ยวจนเป็นเหมือนงานกลุ่มชิ้นหนึ่งก็โอเคดีหรอก แต่งานกลุ่มกลายเป็นงานเดี่ยวนี่สิปัญหาหนัก เพราะงานกลุ่มแทบไม่ต่างจากการทำงานเดี่ยวเลย! ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแทบทุกกลุ่มจะมี “เดอะแบก” อย่างน้อย 1 คน ทั้งคนที่ “เลือกเอง” และ “เลือกไม่ได้”

งานกลุ่ม=งานเดี่ยว เลือกเองหรือเลือกไม่ได้
งานกลุ่ม=งานเดี่ยว เลือกเองหรือเลือกไม่ได้

ปัญหาวัยเรียน! สถานะ "งานกลุ่ม=งานเดี่ยว" เลือกเองหรือเลือกไม่ได้ เจอแบบนี้ทำยังไง?!

จุดเริ่มต้นสู่ทางแยกของ คนเลือกได้ VS คนเลือกไม่ได้

เลือกเอง : ในกรณีนี้คือเพื่อนยังช่วยงาน ตอบไลน์เรื่อยๆ แบ่งงานชัดเจน แต่ปัญหาจะอยู่ที่ตัวเรามากกว่า  ทั้งจากความคาดหวังที่มากเกินพอดี และการคิดภาพเอาไว้แล้วว่างานต้องเป็นไปในทางนี้ แต่เพื่อนคิดหรือทำอีกแบบหนึ่ง หรือเพื่อนไม่ถนัดในงานนั้นๆ สักเท่าไร ก็ทำให้เราเกิดความไม่ไว้วางใจและกลัวคะแนนออกมาไม่ดี จึงตัดสินใจนำมาทำคนเดียวหรืออาสาทำมากกว่าคนอื่น  แต่ปัญหาคือหากมีมากเกินพอดีก็จะเปลี่ยนจากความมีน้ำใจและความขยันกลายเป็น "การทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้" แทนค่ะ

เลือกไม่ได้ : ในกรณีนี้คือเพื่อนไม่ช่วยงานหรือติดต่อไม่ได้เลย (แบบไม่ได้เลยจริงๆ เหมือนเป็นคนสาบสูญ!) เช่น งานส่งภายในสัปดาห์นี้ หรือตกลงแล้วว่าจะส่งงานมารวบรวมกันภายในวันนี้สองทุ่ม แต่สามทุ่มแล้วยังไม่เห็นวี่แววงานของเพื่อน และทักไลน์ไปไม่ตอบด้วย คิดในแง่ดีคือเพื่อนคนนั้นมีปัญหาหรือติดธุระอื่นๆ แต่คิดในอีกแง่คือตกลงวันเวลากันชัดเจนแล้วแต่เพื่อนทำแบบนี้ก็น่าหงุดหงิด  เราอาจลองคุยกับเพื่อนคนอื่นในกลุ่มดูก่อนว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเพื่อนๆ ก็คงไม่ได้พึงพอใจสักเท่าไรเหมือนกัน! หรือถ้าเพื่อนคนอื่นก็ไม่ได้กระตือรือร้นสักเท่าไร ก็คงเลือกอะไรไม่ได้นอกจากทำใจและทำเอง 

การทำงานกลุ่มคนเดียว แบ่งออกเป็น 2  กรณี ได้แก่ เลือกเอง และ เลือกไม่ได้
การทำงานกลุ่มคนเดียว แบ่งออกเป็น 2  กรณี ได้แก่ เลือกเอง และ เลือกไม่ได้

5 วิธีหลีกเลี่ยงการทำงานคนเดียวท่ามกลางงานกลุ่มกองโต!

1. แบ่งงานให้ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง

ก่อนเริ่มงานควรคุยและกำหนดขอบเขตงานให้แน่ชัดว่า แต่ละคนยอมรับได้กับการแบ่งงานแบบนั้น เพื่อให้อย่างน้อยทุกคนก็มีหน้าที่เป็นของตัวเอง เช่น งานกลุ่มสรุปวิจัย+นำเสนอ 9 คน แบ่งงานเป็น 

  • คนที่ 1 สรุปบทที่ 1 + บทที่ 6 (31 หน้า)
  • คนที่ 2 สรุปบทที่ 2 (45 หน้า)
  • คนที่ 3 สรุปบทที่ 3 (37 หน้า)
  • คนที่ 4-5 สรุปบทที่ 4 (60 หน้า)
  • คนที่ 6-7 สรุปบทที่ 5 (30 หน้า)
  • คนที่ 8-9 ทำสไลด์
  • นำเสนอทุกคน 

 จากสถานการณ์สมมุตินี้เป็นการแบ่งงานโดยดูที่จำนวนหน้าและเนื้อหาของแต่ละบท แต่จะสังเกตได้ว่าไม่สามารถแบ่งให้ลงตัวได้อยู่ดี เพราะถ้ารวมจำนวนหน้าของทุกบทแล้วนำมาหารกันเลย บางหน้าอาจมีตารางหรือมีรูปภาพ ทำให้เนื้อหาของแต่ละบทไม่เท่ากันอีก การตกลงกันจึงสำคัญมากๆ

หากคนในทีมมีข้อโต้แย้ง หรือไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้สักที เช่น ไม่มีคนไหนในกลุ่มเคยตัดต่อวิดีโอเลย อาจลองทำตามวิธีการต่อไปนี้ 

  • วิธีการที่ 1 สุ่ม!!!! แต่อาจแบ่งคนตัดต่อมากกว่างานส่วนอื่นหน่อย หากเห็นว่างานออกมาไม่น่าพึงพอใจสักเท่าไรก็อาจให้ข้อเสนอแนะเล็กน้อย และคนที่โดนสุ่มได้ถือว่ายอมรับเงื่อนไขของการสุ่มแล้วก็ควรที่จะรับงานส่วนนี้ไป
  • วิธีการที่ 2 ให้คนที่มีเครื่องมือพร้อมที่สุดทำ เช่น มีโน้ตบุ๊ก/ไอแพด แต่เหลือแค่โหลดโปรแกรมหรือแอปพลิเคชัน หากลองทำดูก็จะได้อีกทักษะเพิ่มขึ้นด้วย
  • วิธีการที่ 3 ให้คนหนึ่งโหลดโปรแกรม จากนั้นนัดวันคอลแล้วทำด้วยกันไปเลย!

2. การทำงานกลุ่มต้องยอมรับและเชื่อใจในงานของเพื่อนร่วมกลุ่ม

ในระหว่างการทำงานควรยอมรับและเชื่อใจเพื่อนค่ะ เพราะจุดประสงค์หลักของงานกลุ่มคือการฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น หากผลงานที่ได้มาไม่น่าพึงพอใจสักเท่าไร ก็ให้ทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน ซึ่งเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจริงๆ แล้วเพื่อนทำเต็มที่กับงานหรือยัง คิดในแง่ดีคือเพื่อนอาจจะเต็มที่ที่สุดแล้ว 

จากนั้นค่อยๆ พูดคุยปรับความเข้าใจกัน ซึ่งหมายถึงการพูดกันตรงๆ เลย เช่น แนะนำให้ปรับส่วนนี้เพราะอะไร คนอื่นมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง เพราะจริงๆ เพื่อนอาจไม่ได้อยากให้เกรงใจกับเรื่องงาน และไม่ได้รู้สึกไม่ดีกับการแก้งาน แล้วนี่คืองานที่มีคะแนนด้วย ดังนั้นพูดตรงๆ กับเพื่อนได้เลย

จุดประสงค์หลักของงานกลุ่มคือการฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น
จุดประสงค์หลักของงานกลุ่มคือการฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น

3. ให้ความช่วยเหลือเพื่อนด้วยความเต็มใจ

ในเมื่อแบ่งงานแล้วก็ให้เพื่อนทำให้สุดไปเลยค่ะ แทนที่จะนำงานกลับไปทำคนเดียวเดี่ยวๆ หากคิดว่างานออกมาไม่ดีหรือสามารถทำได้ดีมากกว่านี้ ก็เสนอความคิดเห็นและให้คำแนะนำเท่าที่ทำได้แทน เพราะงานกลุ่มไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง และอาจให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเล็กน้อย แม้เพื่อนจะไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากเรา เช่น หารูปภาพมาใส่สไลด์ ตรวจการสะกดคำ ปรับการใช้คำ เช็กความถูกต้องของข้อมูล และหาข้อมูลมาเสริม หรือหากเราเป็นฝ่ายขอความช่วยเหลือจากเพื่อน พี่ก็เชื่อว่าเพื่อนๆ จะเต็มใจให้ความช่วยเหลือแน่นอน เพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องแบกรับงานไว้คนเดียวอีกต่อไป

4. คอยถามความคืบหน้าของงาน/กำหนดวันส่งงานภายในกลุ่ม

คอยถามกันและกันในกลุ่มว่า มีความคืบหน้าของงานเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มทำหรือยัง ติดปัญหาตรงไหนหรือเปล่า จะได้หาทางแก้ไขร่วมกันได้ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายตอนใกล้ๆ จะส่งงาน เพราะแน่นอนว่ายังมีงานกลุ่มอีกหลายงานที่รอเราอยู่ หรือมีอีกหลายงานที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้นอกจากถามความคืบหน้าของงาน เราจึงควรกำหนดวันส่งงานภายในกลุ่มให้แน่ชัดเลย เช่น ส่งข้อมูลให้คนทำสไลด์ภายในวันศุกร์หน้าเที่ยงคืน ทำสไลด์ภายในวันจันทร์เที่ยงคืน วันอังคารสองทุ่มซ้อมพรีเซนต์+ปรับแก้ข้อมูล/สไลด์ก่อนนำเสนอ วันพุธนำเสนอในคาบเรียน

5. หยุดฟังแต่เสียงตัวเองสักพัก แล้วฟังเสียงส่วนใหญ่ 

ในส่วนนี้เข้าใจว่าหลายคนอาจอยากให้งานออกมาดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดหรือเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย และไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเรื่องมากด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความตั้งใจของเราด้วยซ้ำ แต่จะให้งานทุกอย่างออกมาเพอร์เฟกต์ตรงตามความต้องการของเราทุกอย่างก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะนี่คือ “งานกลุ่ม” ที่มีคนหลากหลายรูปแบบมาทำงานร่วมกัน วิธีที่ดีที่สุดคือพยายามช่วยกันออกความคิดเห็นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ แล้วดูว่าส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างไร เช่น ในส่วนนี้เรารู้สึกว่ายังปรับให้ดีขึ้นอีกได้ แต่เพื่อนส่วนใหญ่บอกว่าส่วนนี้ก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้นหรือรู้สึกโอเคกับส่วนนี้แล้ว

เพราะฉะนั้นสนับสนุนให้อย่าเพิ่งรีบนำงานกลับไปทำเองคนเดียวค่ะ ยังมีอีกหลายงานให้ทำอีก ถ้าทำคนเดียวเดี๋ยวจะเหนื่อยเอานะ TT อาจลองนำวิธีที่พี่โบว์บอกในข้างต้นไปปรับใช้ดูก็ได้ ถ้าทำตามแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร หรือมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง คอมเมนต์ไว้ด้านล่างได้เลย สุดท้ายนี้พี่ขอแนะนำว่า “ทำให้เต็มที่ที่สุดก็พอ” ค่ะ

ขอขอบคุณรูปภาพจาก https://www.freepik.com/nakaridorehttps://www.freepik.com/chaay-teehttps://www.freepik.com/lookstudio
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น