เจาะชีวิต! จาก Home School สู่แพทย์ จุฬาฯ พร้อมวิธีจดทะเบียนโฮมสคูลตั้งแต่จดทะเบียน-จบการศึกษา

เจาะชีวิต! จาก Home School สู่แพทย์ จุฬาฯ พร้อมวิธีจดทะเบียนโฮมสคูลตั้งแต่จดทะเบียน-จบการศึกษา

ในยุคปัจจุบันที่การเรียนรู้เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น การเรียนในโรงเรียนแบบเดิมที่ให้ทุกคนเรียนกลุ่มวิชาเดียวกันอาจไม่ตรงกับความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน ซึ่งส่งผลให้เด็กหลายคนไม่มีความสุขกับการเรียนในบางวิชา ทั้งยังมีการบ้านเยอะ และเนื้อหาความรู้ที่ยากขึ้นตามระดับชั้นก็ยิ่งทำให้ความเครียดจากการเรียนมีมากขึ้นตามไปด้วย จากแนวคิดที่ว่า "ลูกควรได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน ได้มีเวลาทำสิ่งที่อยากทำ" หนึ่งในทางเลือกนั้นคือ ระบบการเรียนแบบ "โฮมสคูล" หรือ "การเรียนที่บ้าน" ที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้อย่างอิสระ แต่ข้อสงสัยที่ตามมาคือ หากผู้ปกครองไม่มีความรู้มากพอจะสอนเด็กอย่างไร หากไม่ได้เรียนที่โรงเรียนแล้วเด็กจะอ่านเขียนได้ทันเพื่อนไหม เด็กจะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนเพื่อนได้หรือไม่ ฯลฯ  

น้องชิงชิง - ฐิติภา ปลั่งพงษ์พันธ์   นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อดีตนักเรียนโฮมสคูล
น้องชิงชิง - ฐิติภา ปลั่งพงษ์พันธ์   นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อดีตนักเรียนโฮมสคูล

คอลัมน์ Next Ed : การศึกษาเพื่อโลกยุคหน้า ขอเป็นตัวแทนในการตอบคำถามเหล่านี้ โดยเราได้รับเกียรติจาก คุณแม่เค็น - ชัชรัช ปลั่งพงษ์พันธ์ และน้องชิงชิง - ฐิติภา ปลั่งพงษ์พันธ์ ในฐานะ ผู้จัดระบบการเรียนโฮมสคูล และผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาจากระบบการศึกษาแบบโฮมสคูล ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึง ม.6 จนสามารถสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในที่สุด มาให้ข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจสำหรับครอบครัวที่สนใจทำการเรียนแบบโฮมสคูล พร้อมรายละเอียดวิธีการจัดตั้งระบบโฮมสคูล และแนวทางการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ดังนี้  

จุดเริ่มต้นในการทำโฮมสคูล คือ ความสุขของลูก

ย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ครอบครัวของชิงชิงก็ได้วางแผนด้านการศึกษาให้กับลูกเหมือนกับครอบครัวอื่นๆ นั่นคือ การมองหาและเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้กับลูก โดยเริ่มจากพยายามหาโรงเรียนที่คิดว่ามีการเรียนการสอนที่ดีในระดับหนึ่งแถวบ้าน และลองส่งให้เขาได้เข้าไปเรียน แต่สุดท้ายเมื่อลูกไปโรงเรียนครอบครัวกลับพบว่า ลูกเริ่มต่อต้านและไม่ได้มีความสุขกับการไปโรงเรียนเลย  แม้จะมีคนบอกว่าเดี๋ยวลูกก็ชินไปเอง แต่ครอบครัวไม่อยากให้ลูกต้องทนกับสิ่งที่เขาไม่ได้ชอบ ดังนั้น จึงตัดสินใจพาลูกออกจากโรงเรียน และจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล (Home School) ให้กับลูก  

โดยขณะนั้นทางครอบครัวได้ติดต่อสอบถามและขอคำปรึกษากับทางสมาคมบ้านเรียนไทย เกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล หลังจากที่ได้ศึกษาแนวทางการทำโฮมสคูลอย่างละเอียดแล้วก็ได้ทำการจดทะเบียนกับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรี และเริ่มต้นทำโฮมสคูลให้กับชิงชิงมาตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป.6 และช่วงมัธยมจึงจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 (สพม.2) และเมื่อชัดเจนว่าแนวทางนี้น่าจะเหมาะกับครอบครัว จึงเลือกที่จะจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้กับลูกสาวคนเล็กด้วยเช่นกัน (ปัจจุบันลูกสาวคนเล็กสำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.6 เรียบร้อยแล้ว)

เรียนแบบโฮมสคูล มีอิสระในการกำหนดตารางเรียนของตนเอง

การเรียนโฮมสคูลพ่อเเม่ผู้ปกครองจะรับบทเป็นผู้จัดการเรียนการสอนเป็นหลัก เเต่สำหรับครอบครัวของชิงชิง ลูกเองก็สามารถเป็นคนกำหนดตารางเรียนของตัวเองได้ เขาอยากเรียนรู้เรื่องไหน อยากทำกิจกรรมอะไร ครอบครัวก็พร้อมสนับสนุนในทุกๆ ด้าน

ช่วงแรกที่เริ่มทำโฮมสคูล การเรียนการสอนไม่ได้มีแบบแผนที่ตายตัว เพราะยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูก แต่มีการนำวิธีการสอนแบบ ‘วอลดอร์ฟ (Waldorf)’ มาปรับใช้ ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่เน้นการบูรณาการระหว่างวิชาการร่วมกับกิจกรรม ที่ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการในทุกด้านอย่างเหมาะสม

ในช่วงอนุบาลและประถม การเรียนการสอนไม่ได้เน้นด้านวิชาการเลยแม้แต่นิดเดียว แต่จะเน้นการอ่านหนังสือให้ฟัง และปลูกฝังการอ่านให้เขาตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และซึมซับความรู้จากหนังสือ โดยภายในบ้านจะมีห้องสมุดและมีหนังสือหลากหลายประเภท ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้ให้กับเด็กๆ ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง พอเข้าสู่ช่วงมัธยม ครอบครัวจะเปิดโอกาสให้ชิงชิงได้เป็นคนออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น เพื่อให้ชิงชิงสามารถค้นพบความฝันของตัวเอง โดยที่ครอบครัวจะคอยเป็นผู้สนับสนุนในทุกๆ สิ่งที่เขาต้องการ เช่น อุปกรณ์การเรียน หนังสือ ลงคอร์สติว  

ส่วนใหญ่การเรียนการสอนของครอบครัวชิงชิงจะเน้นการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมเป็นหลัก และผลักดันให้เขาได้เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยที่ไม่ตีกรอบให้เขา เปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะการให้อิสระเขาได้เป็นคนเลือกและตัดสินใจเองจะส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข ตลอดจนพาเขาออกไปเรียนรู้กับโลกภายนอกตามสถานที่ต่างๆ  เช่น พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหรือประวัติศาสตร์ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่การเรียนที่บ้านเพียงอย่างเดียว  

อีกหนึ่งสิ่งที่ครอบครัวส่งเสริมและสนับสนุนให้ชิงชิงตั้งแต่เด็กก็คือ ทักษะดนตรี จากการเรียนดนตรีอย่างต่อเนื่อง บวกกับความสนใจในด้านนี้ ทำให้ชิงชิงได้รับโอกาสเข้าร่วมคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย เข้าแข่งขันร้องเพลงประสานเสียง World Choir Game ที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งการอยู่ในคณะร้องประสานเสียงก็ทำให้ชิงชิงสามารถพัฒนาทักษะด้านการเข้าสังคมไปด้วย

‘Self learning’ เรียนรู้ด้วยตัวเองก็ค้นพบความฝันได้

เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วง ม.ต้น เคยพยายามกลับเข้าไปในระบบการศึกษาที่โรงเรียนอีกครั้ง แต่เมื่อเข้าเรียนแล้วก็พบว่า เนื้อหาและรายวิชาที่จะต้องเรียนนั้นมีมากเกินไป ตลอดจนมีการบ้านที่ไม่จำเป็น ทำให้ชิงชิงตัดสินใจกลับเข้าสู่ระบบโฮมสคูลเหมือนเดิม  

แม้ว่าจะไม่ได้เรียนในระบบการศึกษาเหมือนเด็กทั่วไป แต่การเรียนแบบโฮมสคูลก็ส่งเสริมให้ชิงชิงกลายเป็น Self learner คือ ได้มีอิสระในการเรียนรู้ อีกทั้งยังสามารถขวนขวายในสิ่งที่สนใจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ทำให้ชิงชิงค้นพบความฝันว่า ‘อยากเป็นหมอ’ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับกลไกลการทำงานของร่างกายมนุษย์ตั้งแต่เด็ก และคิดว่าศาสตร์นี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ จึงตัดสินใจเลือกที่จะศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ เมื่อชิงชิงมีเป้าหมายในอนาคตชัดเจน ครอบครัวจึงเริ่มวางแผนการศึกษาต่อ เพื่อให้ลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งในระดับชั้น ม.ปลาย เพราะมองว่าหากจะเป็นหมอการเรียนในโรงเรียนน่าจะเหมาะสมกว่าการเรียนที่บ้าน

สำหรับการเตรียมตัวสอบเข้าระดับชั้น ม.ปลาย ชิงชิงได้มีการไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมในคอร์สเตรียมตัวสอบ และติวเข้มโดยเฉพาะวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ซึ่งทั้งหมดเรียนแค่วิชาละ 1 คอร์ส โดยใช้เวลาในการเตรียมตัวสอบเข้าระดับชั้น ม.ปลาย เพียง 1 ปี สุดท้ายแล้วชิงชิงก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.ปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนการเรียนวิทย์-คณิต  

ตัดสินออกจากโรงเรียนครั้งที่สาม เพราะระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์

เมื่อเข้ามาเรียนในโรงเรียนแล้ว สิ่งที่ชิงชิงเห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเลยก็คือเรื่องของเวลา เนื่องจากการเรียนแบบโฮมสคูลสามารถแบ่งเวลาได้อย่างชัดเจน และมีอิสระ แต่การไปโรงเรียนไม่สามารถแบ่งเวลาที่แน่นอนได้ เพราะนอกจากจะต้องใช้เวลาไปกับการเรียนในห้องเรียนแล้ว ยังเสียเวลาไปกับการเดินทางอีกด้วย รวมถึงหลังเลิกเรียนก็ยังต้องทำการบ้าน และต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติมในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จนทำให้ชิงชิงไม่มีอิสระและไม่มีเวลาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ หลังจากเรียนได้เพียง 1 ปี ชิงชิงจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เพราะพบว่า การศึกษารูปแบบนี้ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตัวเอง และกลับเข้าสู่การเรียนแบบโฮมสคูลอีกครั้ง

กลับมาเรียนโฮมสคูล วางแผนสอบหมอรอบ Portfolio

สำหรับการเรียนแบบโฮมสคูลนั้นจะสามารถสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ ในระบบ TCAS ได้ตั้งแต่รอบแรก ด้วยการยื่น Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) และใช้เกณฑ์การคัดเลือกตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ร่วมกับการใช้ผลการสอบ IELTS และ BMAT (ข้อสอบจากประเทศอังกฤษที่ใช้ยื่นในคณะสายสุขภาพ) โดยชิงชิงมีความตั้งใจสอบเข้าในรอบแรกด้วยการใช้ Portfolio ก่อน แต่ก็มีแผนสำรองในใจหากสอบไม่ติดในรอบแรก นั่นก็คือ การสอบรอบ กสพท.  

โดยการวางแผนเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชิงชิง จะใช้การเรียนพิเศษควบคู่ไปกับการทบทวนด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าการกลับมาเรียนแบบโฮมสคูลในครั้งนี้ ทำให้ชิงชิงมีเวลาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบมากขึ้น ทั้งการอ่านหนังสือ การร้องเพลง และการทำจิตอาสา เช่น ไปสอนภาษาอังกฤษและดนตรีให้กับผู้ป่วยพิเศษ หรือผู้พักฟื้นจากโรคทางจิต ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่ชิงชิงทำจะถูกนำไปใส่ใน Portfolio เพื่อยื่นเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์

การเรียนรู้ด้วยตนเอง ทักษะจำเป็นแห่งอนาคต

ปัจจุบันชิงชิงเป็นนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 5 แม้จะผ่านการเรียนแบบโฮมสคูลมาอย่างยาวนาน แต่การปรับตัวเพื่อเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเธอ เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยมีอิสระในการเรียนรู้มากกว่าในโรงเรียน ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การเรียนในโรงเรียนเป็นการเรียนรู้ที่มีคนเตรียมเอาไว้ให้ เด็กแต่ละคนมีสิทธิ์เลือกเองน้อยมาก ในขณะเดียวกันเนื้อหาแต่ละวิชาที่ควรได้รับก็มีมากเกินไป สุดท้ายเด็กกลับได้ความรู้จากการเรียนพิเศษมากกว่าในห้องเรียน อีกทั้งยังมีการบ้านหรือภาระงานที่เยอะและไม่มีความจำเป็น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กไม่มีเวลาได้ค้นพบตัวเอง หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องการ การเรียนมหาวิทยาลัยจึงเป็นการเรียนที่มีอิสระในการเรียนรู้ไม่ต่างจากการเรียนโฮมสคูลที่ผ่านมา แม้จะมีข้อบังคับมากกว่าตอนเรียนโฮมสคูลก็ตาม  

 

นี่ก็เป็นตัวอย่างอีกหนึ่งครอบครัวที่จัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้กับลูก จะเห็นได้ว่า ส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถค้นพบความฝันของตัวเองได้ นั่นก็คือ การสนับสนุนจากครอบครัว และการเปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจ ตลอดจนให้เขาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งนั่นก็สามารถทำให้เขามีความสุขกับการเรียนรู้ และค้นพบตัวตนที่แท้จริง

แนวทางจัดการศึกษา Home School ให้ลูก

สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงในการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล นั่นก็คือ การจัดการศึกษารูปแบบนี้เหมาะสมกับครอบครัวของเราหรือไม่ ทั้งนี้ปัจจัยที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่ฐานะทางการเงิน แต่เป็นความพร้อมของพ่อแม่ที่จะเข้ามาจัดการเรียนการสอนให้กับลูกด้วยตนเอง และหากเข้าใจในระบบการศึกษานี้อย่างแท้จริง  และมีความตั้งใจจริงที่จะทำตรงนี้ก็สามารถจัดการศึกษาให้กับลูกได้อย่างแน่นอน คอลัมน์ Next Ed : การศึกษาเพื่อโลกยุคหน้า ได้สรุปรายละเอียดวิธีการจัดตั้งระบบโฮมสคูล และแนวทางการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สำหรับผู้ที่สนใจไว้ ดังนี้

Home School รับรองโดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

Home School หรือ บ้านเรียน ถูกจัดว่าเป็นประเภทหนึ่งของการจัดการศึกษา ซึ่งในทางกฎหมายตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวไว้ว่า ครอบครัว พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง สามารถจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กเองได้ โดยที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ หรือเอกชน

สำหรับการเรียนแบบโฮมสคูลนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นผู้ออกแบบและวางแผนการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นความสนใจของเด็กเป็นหลัก และบูรณาการการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากวิถีชีวิตจริงจากทุกสถานที่ และกิจกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำในสิ่งที่สนใจ เพื่อการค้นพบความถนัดและความสามารถของตนเอง

ครอบครัวต้องจดทะเบียนการจัดการศึกษาแบบ Home School

การทำโฮมสคูลในประเทศไทย ทางครอบครัวสามารถเริ่มจัดการศึกษาให้ลูกเองได้ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาที่ 6 ซึ่งในระดับชั้นอนุบาลจะสามารถจดทะเบียนจัดการศึกษาได้เมื่อเด็กอายุครบ 3 ขวบ โดยสามารถยื่นคำขออนุญาตได้ ดังนี้

ระดับปฐมวัย (อนุบาล) และระดับประถมศึกษา

1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  

  • ระดับชั้นอนุบาล : ยื่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.)
  • ระดับประถมศึกษา : ยื่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)

2. ศูนย์การเรียนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษา เช่น ศูนย์การเรียนเด็กเรียนรู้เอง จ.เชียงใหม่, ศูนย์การเรียนบ้านไร่ปลายฟ้านาบุญ จ.เลย และศูนย์การเรียนฟิวเจอร์เวิลด์ จ.สมุทรปราการ

3. โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโฮมสคูล เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี, โรงเรียนรุ่งอรุณ จ.กรุงเทพฯ และโรงเรียนนันทชาติ จ.เชียงใหม่

ระดับชั้นมัธยมศึกษา

การจดทะเบียนจัดการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย สามารถขอจดทะเบียนได้จาก 3 หน่วยงาน คือ  

  • จดทะเบียนที่สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.)
  • ลงทะเบียนกับการศึกษานอกระบบ (กศน.)
  • ลงทะเบียนกับสถาบันการศึกษาทางไกล

สำหรับการลงทะเบียนกับ กศน. สถาบันการศึกษาทางไกล และหลักสูตรต่างประเทศจะต้องใช้หลักสูตรที่ทางสังกัดจัดเตรียมให้เท่านั้น ครอบครัวจะไม่สามารถจัดการศึกษาด้วยแผนการศึกษาของตัวเองได้ ต่างจาการจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) ที่สามารถออกแบบแผนการศึกษาเองได้ โดยต้องอิงตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 และหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

หน่วยงาน

หลักสูตร

หมายเหตุ

ติดต่อสอบถาม

สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมฯ (สพม.)  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ออกแบบแผนการศึกษาเองได้สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมฯ (สพม.) ตามเขตที่อยู่อาศัย
การศึกษานอกระบบ (กศน.)หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ใช้หลักสูตรที่สังกัดจัดเตรียมการศึกษานอกระบบ (กศน.)  ตามเขตที่อยู่อาศัย
สถาบันการศึกษาทางไกล  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551  (มีทั้งภาคปกติ และ English Program)ใช้หลักสูตรที่สังกัดจัดเตรียมสถาบันการศึกษาทางไกล  (เอกมัย กรุงเทพฯ)

นอกจากนี้ยังสามารถลงเรียนหลักสูตรต่างประเทศ เช่น GED หรือ IGCSE ซึ่งก็คือหลักสูตรต่างประเทศเทียบเท่าเฉพาะระดับ ม.ปลาย ที่ใช้สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งสถาบันในไทยและต่างประเทศได้ด้วย โดยปัจจุบันมีสถาบันกวดวิชาหลายแห่งที่เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าว

ยกตัวอย่าง กรณียื่นคำขอจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษา สามารถทำได้ตามขั้นตอน ดังนี้

1. ยื่นคำขออนุญาตจัดการศึกษา ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่                           

2. จัดทำแผนการศึกษา ครอบครัวและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องร่วมกันกำหนดตามความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางการจัดการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ                                              

3. ดำเนินการจัดการศึกษา ให้เป็นไปตามแผนการจัดการศึกษาของครอบครัว                                      

4. ดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการวัดผล และประเมินผลของหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐาน 

5. จัดทำรายงานการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมทั้งการจัดการเรียนการสอน และสภาพปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  

6. ปรับปรุงผลการเรียนของผู้เรียน ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเสนอแนะ

การจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษา แม้จะมีขั้นตอนการจดทะเบียนที่มากกว่า แต่สามารถขอรับ “เงินอุดหนุนการศึกษา” ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดไว้ได้  โดยเงินอุดหนุนการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ ค่าเครื่องแบบ ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าจัดการเรียนการสอน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วนครอบครัวไหนที่จดทะเบียนกับศูนย์การเรียน โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโฮมสคูล หรือหน่วยงานอื่นๆ จะไม่สามารถขอรับเงินอุดหนุนการศึกษาได้

การออกแบบหลักสูตรสำหรับเด็กโฮมสคูล

การออกแบบหลักสูตรสำหรับเด็กโฮมสคูล ผู้ปกครองสามารถนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยจะต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ ซึ่งแผนการเรียนสามารถจัดเป็นรายภาคเรียน ชั้นปี ช่วงชั้น ตามความต้องการของครอบครัว โดยแต่ละระดับชั้นจะต้องออกแบบแผนจัดการศึกษา ดังนี้

1.  ระดับปฐมวัย (อนุบาล) : จัดประสบการณ์เรียนรู้ มุ่งให้เด็กพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ตามหลักสูตรปฐมวัย 2560

 2. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถม ม.ต้น ม.ปลาย) : จัดการเรียนการสอนแยกรายวิชาตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ บูรณาการเป็นกลุ่มประสบการณ์ และกิจกรรมต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 หรือหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ  

  • การจัดตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, ศิลปะ, สุขศึกษาและพลศึกษา, การงานอาชีพและเทคโนโลยี, ภาษาต่างประเทศ
  • บูรณาการกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ เช่น กลุ่มประสบการณ์ความรู้ในธรรมชาติ, กลุ่มประสบการณ์ความรู้ในตนเองและสังคม, กลุ่มประสบการณ์ความรู้ในศาสนา ศิลปวัฒนธรรม, กลุ่มความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม, กลุ่มความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กลุ่มความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ ภูมิปัญญา, กลุ่มความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษา
  • กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ได้แก่ กิจกรรมแนะแนว, กิจกรรมนักเรียน (ลูกเสือ เนตรนาร ยุวกาชาด ชุมนุม ชมรม ฯลฯ), และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
     

ผู้ปกครองประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

สำหรับการประเมินผลครอบครัวจะเป็นผู้ประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก ตามหลักเกณฑ์ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน หรือตามข้อตกลงที่ได้ตกลงไว้กับทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นอกจากนี้ ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะเข้ามาประเมินร่วมกับครอบครัว ปีละ 1 ครั้ง  

โดยที่วิธีการประเมินผลก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละเขต เช่น การดูแฟ้มสะสมผลงาน, การทำแบบประเมิน และการสัมภาษณ์สอบถามเด็ก เป็นต้น เพื่อตรวจสอบว่าเด็กมีพัฒนาการตรงตามที่ครอบครัวประเมินไว้หรือไม่ และกำหนดความสามารถของเด็กว่าเทียบเท่าในระดับชั้นใดแล้ว  

การให้ระดับผลการเรียน

การตัดสินเพื่อให้ระดับผลการเรียนในแต่ละรายวิชาหรือกลุ่มประสบการณ์ ผู้จัดการศึกษาสามารถให้ระดับผลการเรียนได้ตามความเหมาะสม เช่น ระบบตัวเลข ระบบตัวอักษร ระบบร้อยละ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น ควรให้ระดับผลการเรียนเป็นระบบตัวเลข 8 ระดับ เพื่อประโยชน์ในการเทียบเคียงสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ตัวอย่างดังภาพ

ที่มา : หลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551
ที่มา : หลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551

วุฒิการศึกษาของเด็กโฮมสคูล

วุฒิการศึกษาที่ได้จะเหมือนกับผู้เรียนในระบบการศึกษาปกติ และที่สำคัญวุฒิการศึกษาที่ได้จะสามารถนำเข้าไปเรียนต่อในระบบการศึกษาปกติตามระดับชั้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เทียบไว้ได้ด้วย  

สำหรับการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ถ้าพ่อแม่วางแผนการเรียนตรงตามหลักสูตรแกนกลางฯ ลูกสามารถเรียนครบทุกวิชา และผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด ก็สามารถนำวุฒิการศึกษาที่ได้ไปใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่ต่างจากเด็กที่เรียนในโรงเรียนทั่วไป

นอกจากนี้ ยังสามารถสอบเทียบหลักสูตรของต่างประเทศ เช่น GED (General Educational Development) หรือ IGCSE (Intranational General Certificate of Secondary Education) เพื่อนำไปยื่นเทียบวุฒิการศึกษามัธยมปลาย และสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งสถาบันในไทยและต่างประเทศได้อีกด้วย

แนวทางการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย  

การศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย พ่อแม่ควรมีการวางแผนตั้งแต่ก่อนขึ้น ม.ปลาย  เพื่อออกแบบแผนการเรียนให้เหมาะสมกับคณะที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละคณะจะมีเกณฑ์การรับสมัครและสัดส่วนคะแนนที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างคณะที่มีการใช้ผลการเรียน เช่น รอบ Admission คณะวิศวกรรมศาตร์ สาขาวิศกรรมเครื่องกล มจธ. มีสัดส่วนคะแนนดังนี้  

  • เกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) ขั้นต่ำ 2.75
  • เกรดเฉลี่ยกลุ่มสาระฯ คณิตศาสตร์ ขั้นต่ำ 3.00
  • เกรดเฉลี่ยกลุ่มสาระฯ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขั้นต่ำ 3.00
  • เกรดเฉลี่ยกลุ่มสาระฯ ภาษาต่างประเทศ ขั้นต่ำ 2.75
  • คะแนนขั้นต่ำ TPAT1 และ TPAT3

นอกจากนี้ ในบางคณะต้องมีการสอบทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มเติม หรือทักษะทางวิชาการที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นคนจัดสอบเองอีกด้วย เช่น รอบ Portfolio คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โครงการสอบคัดเลือกนักเรียนที่มีความถนัดทางภาษาอังกฤษ) นอกจากแฟ้มสะสมผลงานแล้ว ผู้สมัครจะต้องมีผลสอบวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ TOFEL / IELTS / CU-TEP  

รวมไปถึงผู้ที่มีการสอบเทียบ GED หรือ IGCSE เองก็ต้องดูเกณฑ์การคัดเลือกของคณะที่ต้องการเข้าเรียนอีกครั้งว่า มีการรับสมัครผู้ที่สอบเทียบหรือไม่ ถ้าหากไม่มีนั่นหมายความว่า ต้องหาคณะอื่น หรือการรับสมัครรอบอื่นๆ ที่มีการใช้วุฒิการศึกษาของ GED หรือ IGCSE ได้นั่นเองค่ะ โดยสามารถติดตามข่าวสารการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเกณฑ์การรับสมัครในแต่ละรอบของระบบ TCAS  ได้ที่ https://www.dek-d.com/tcas/   

 

ปัจจุบันระบบการเรียนแบบโฮมสคูลมีการพัฒนามาจนอยู่ตัว และได้รับการรองรับทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการเรียนแบบโฮมสคูลนับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการศึกษาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากผู้ปกครองหลายคนเริ่มเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้แบบอิสระที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ สามารถค้นหาตัวเองได้อย่างเต็มที่และมีความสุข จึงทำให้ผู้ปกครองเริ่มเล็งเห็นว่าไม่จำเป็นต้องส่งลูกเข้าไปเรียนที่โรงเรียนหรือในระบบการศึกษาที่อาจไม่เหมาะสมกับเด็กอีกต่อไป

ทีมงานต้องขอขอบคุณ  คุณแม่เค็น - ชัชรัช ปลั่งพงษ์พันธ์ และน้องชิงชิง - ฐิติภา ปลั่งพงษ์พัน  รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ

 

รูปภาพจาก :https://www.freepik.com/free-photo/happy-asian-family-using-computer-laptop-together-sofa-home-living-room_15101802.htm#page=2&query=family&position=14&from_view=search&track=sphhttps://www.freepik.com/free-photo/happy-asian-young-family-homeowners-bought-new-house-chinese-mom-dad-daughter-embracing-looking-forward-future-new-home-after-moving-relocation-sitting-floor-with-boxes-together_6142487.htm#page=2&query=family&position=21&from_view=search&track=sph https://www.freepik.com/free-photo/medium-shot-smiley-girl-with-coloring-book_25128754.htm#query=home%20school&position=49&from_view=search&track=ais  
พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
pang_ntwd Columnist 16 ต.ค. 66 13:27 น. 2-1

วุฒิที่ได้จะเหมือนกับนักเรียนในระบบการศึกษาปกติเลยค่ะ หรือสามารถสอบเทียบหลักสูตรของต่างประเทศ เช่น GED หรือ IGCSE เพื่อนำไปยื่นเทียบวุฒิการศึกษามัธยมปลายก็ได้เหมือนกัน

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด