รู้หรือไม่? ประจำเดือนมาเร็วตั้งแต่ ป.4-5 ยังดีกว่ามาช้าหรือมาๆ หายๆ

รู้หรือไม่ว่า ประจำเดือนควรจะมาตอนอายุเท่าไร?

มีน้องๆ ถามเข้ามาว่า มีประจำเดือนเร็วกว่าคนอื่นเขา เป็นอะไรไหม หรือผิดปกติไหม ซึ่งประจำเดือนนั้น เป็นสัญญาณหนึ่งของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ครับ หรือที่เราเรียกว่า "วัยรุ่น" นั่นเอง

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายเราก็เปลี่ยนไป

ในภาวะปกติแล้ว สำหรับน้องๆ ผู้หญิง การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์นั้น เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากฮอร์โมนเพศ (Sex hormone, Estrogen and Progesterone) ที่เพิ่มมากขึ้นตามอายุ ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายต่างๆ เช่น

  • การมีเต้านม (Breast Growth)
  • มีขนบริเวณหัวหน่าว (Pubic hair)
  • การมีประจำเดือน (Menstruation, Periods)

ซึ่งจากการวิจัยโดยเฉลี่ยแล้ว มักจะมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ แตกต่างกันไปขึ้นกับ พันธุกรรม (Genetics) เชื้อชาติ (Race) หรือน้ำหนักตัวเกิน (Obesity) แต่มักจะมาในช่วงอายุ 8 – 13 ปี หรือประมาณประถมศึกษาปีที่ 4 หรือมัธยมต้นเลยก็ได้

               โดยภาวะที่ประจำเดือนมาเร็วหรือเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ไวกว่าปกตินั้น จะใช้ตัดเกณฑ์ที่อายุประมาณ 8 ปี หรือเรียกว่า Early Puberty or Precocious Puberty ที่อาจจะเกิดได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย

ประจำเดือนมาเร็วเกินไป จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

               ผลข้างเคียงของการที่เข้าสู่วัยรุ่นไวกว่าปกติ อาจมีได้ดังนี้

  1. อารมณ์แปรปรวน เพราะบางครั้งเราในวัยเด็กอาจจะรับภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้ โดยช่วงที่มีประจำเดือนก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขอนามัยหรือจัดการกับความสะอาดซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เกิดความเครียดของเด็กได้
  2. เกิดความต้องการทางเพศไวกว่าปกติ อาจจะทำให้คนในครอบครัวกังวลได้ แต่ในทางงานวิจัย ก็อาจจะไม่ได้สัมพันธ์กันมากนัก
  3. ตัวเตี้ย (Short statue) เนื่องจากการเจริญเติบโตของร่างกายเรานั้น เปลี่ยนแปลงไปตามวัยเจริญพันธุ์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็ว ก็อาจจะส่งผลให้หมดช่วงนี้เร็วได้เช่นกัน ที่ทำให้ฮอร์โมนการเจริญเติบโ (Growth Hormone) ลดน้อยลงเร็วได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสูงของคนเรานั้นขึ้นกับหลายๆ อย่าง เช่น พันธุกรรม การออกกำลังกาย หรือรับประทานอาหารด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ภาวะนี้มักจะเจอค่อนข้างน้อย แต่มักเจอได้ในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย และมักไม่มีเรื่องน่ากังวลเท่าไหร่ กล่าวคือไม่ส่งผลร้ายแรงให้กับน้องๆ เท่าไหร่นัก นอกจากภาวะทางอารมณ์ครับ

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ "ภาวะที่ร่างกายเจริญเติบช้า" ต่างหาก  หรือบางคนมัธยมปลายแล้วยังไม่มีประจำเดือนเลย อาจจะมีสาเหตุที่ต้องหาให้พบและแก้ไข เพราะเทียบผลกระทบกันแล้ว พี่หมอว่าร้ายแรงกว่าการที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วนะครับ

ทั้งนี้เรื่องของการเข้าสู่วัยรุ่น หากน้องๆ ไม่มั่นใจ นอกจากปรึกษาคุณพ่อคุณแม่แล้ว การเข้าพบแพทย์ เพื่อให้คำแนะนำก็เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายครับ อย่างน้อยเราก็ได้เข้าใจร่างกายของตนเอง เพื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้อย่างมั่นใจครับ 

 

นพ.ชนม์พิสิฐ มณฑล

 

พี่โด่ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด