มาดูศัพท์และสำเนียงภาษาอังกฤษแบบ "นิวซีแลนด์"

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com แม้ว่าภาษาอังกฤษหลักๆ จะมีอยู่ 2 สายคือแบบบริติชและแบบอเมริกัน แต่จริงๆ แล้วอีกเกือบ 60 ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักก็มีรูปแบบภาษาอังกฤษของตนเองที่ต่างไปจากทั้ง 2 แบบนั้น วันนี้ English Issues เลยจะพาน้องๆ ไปรู้จักศัพท์น่าสนใจในภาษาอังกฤษแบบนิวซีแลนด์กันค่ะ แถมสำเนียงให้ด้วย พร้อมแล้วก็ตาม พี่พิซซ่า มาเลย


     อย่างที่รู้กันว่าชาวพื้นเมืองที่นิวซีแลนด์คือชาวเมารี แต่เมื่อตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและต้องรับระบบต่างๆ ตามแบบอังกฤษ ไม่ใช่แค่วิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบแต่ภาษาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันค่ะ ช่วงยุคอาณานิคมนั้นภาษาเมารีถือเป็นเรื่องต้องห้าม ถ้าใครพูดภาษาเมารีให้ได้ยินก็จะถูกทางการลงโทษ แต่หลังจากที่นิวซีแลนด์กลายเป็นประเทศอิสระก็มีการพยายามปรับความสัมพันธ์ระหว่างชาวเมารีและชาวอังกฤษที่ไปอาศัยที่นั่น ภาษาเมารีเองก็มีการเรียนการสอนและใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น แม้ไม่ใช่ชาวเมารีแต่ก็มีการใช้ศัพท์จากภาษาเมารีให้เห็นได้ในชีวิตประจำวัน บางคำกลายมาเป็นคำที่ใช้ปกติในภาษาอังกฤษแบบนิวซีแลนด์ไปแล้วด้วยซ้ำ มาดูศัพท์น่าสนใจที่มีเฉพาะในนิวซีแลนด์กันดีกว่าค่ะ บางคำมาจากภาษาเมารี บางคำเป็นศัพท์ใหม่โดยเฉพาะก็มี
 
dairy  ร้านขายอาหารเล็กๆ
superette  ร้านซูเปอร์ที่เล็กกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตปกติ แต่ใหญ่กว่าร้านแบบ dairy
jandals  รองเท้าแตะคีบ ภาษาอังกฤษที่อื่นจะเป็น flip-flops
puku  พุงหรือท้อง เป็นภาษาเมารี
togs  ชุดว่ายน้ำ
kai  อาหาร เป็นภาษาเมารี
whanau  ครอบครัวขยายหรือครอบครัวที่ญาติอาศัยใกล้ๆ กัน เป็นภาษาเมารี
wop wops  เมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป
pooped  เหนื่อย
stoked  รู้สึกยินดี
chilly bin  กล่องเก็บความเย็น
sink piss  ดื่มเบียร์
fang it  ไปเร็วๆ
rattle your dags!  เร็วๆ เข้าสิ
sweet as!  เจ๋งไปเลย


สำเนียง

     แม้จะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อย (น้อยกว่าแกะอีก) แต่ผู้คนในนิวซีแลนด์มีสำเนียงภาษาอังกฤษที่ไม่ได้เหมือนกันเป๊ะทั้งประเทศ ชาวนิวซีแลนด์เองยังบอกว่าไม่มีใครในนิวซีแลนด์ที่มีสำเนียงเหมือนกันเลย ถ้าไม่นับเวลาจำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษแบบประเทศอังกฤษซึ่งใช้ในสื่อต่างๆ ภาษาอังกฤษของชาวนิวซีแลนด์เป็นภาษาที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา Dr. Allan Bell แห่ง Auckland University of Technology เก็บข้อมูลสำรวจการออกเสียงของชาวนิวซีแลนด์มาเป็นเวลา 30 ปี และพบว่าสำเนียงของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และเริ่มต่างจากสำเนียงอังกฤษแบบบริติชมากขึ้นด้วย กลายเป็นว่าถ้าจะพูดอังกฤษสำเนียงแบบสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ชาวนิวซีแลนด์ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเองบางคนยังต้องไปเรียนเพื่อให้ได้สำเนียงนี้เลยค่ะ ดังนั้นพี่จะพูดถึงสำเนียงที่เป็นความแตกต่างเด่นๆ นะคะ

สระเอะออกเป็นสระอิ
     เป็นหนึ่งในมุกที่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงอื่นชอบเล่นกันมากเลยๆ คำว่า deck สำเนียงอื่นออกว่าเด็ค แต่สำเนียงนิวซีแลนด์จะออกเป็นดิ๊ก ซึ่งออกเสียงตัว i แทนตัว e นั่นเอง (กลายเป็นเหมือนคำว่าอะไรน่าจะเดาได้นะ) หรือ ten ก็ออกเสียงเป็น tin

ไม่ออกเสียง r
     ข้อนี้จะเหมือนกับภาษาอังกฤษแบบบริติชค่ะ มักไม่ออกเสียง r ที่เป็นเสียงลงท้าย เช่น -ar หรือ -er จะไม่ออกเสียง r ตอนหลัง

เสียงสระบางตัวจะฟังเหมือนกันมาก
     เช่น full กับ fill ออกเสียงคล้ายกันมาก ไม่ได้ออกอุไปเลยหรืออิไปเลยแบบชัดเจน หรือ bear กับ beer ก็ออกเสียงคล้ายกันมาก ผู้ใช้ภาษาอังกฤษจากประเทศอื่นยังจับความต่างระหว่าง bear กับ beer ออกชาวนิวซีแลนด์ไม่ค่อยได้เลย บางคนออกเหมือนกันเป๊ะแล้วด้วย air กับ ear ก็ออกเสียงเหมือนกัน ส่วน here กับ there นั้นชาวนิวซีแลนด์หลายคนออกเป็นสระเดียวกัน และเป็นเสียงค่อนไปทางสระอี

มักออกเสียงสั้นๆ พูดรัวๆ
     ชาวนิวซีแลนด์พูดเร็ว และมักออกเสียงแต่ละพยางค์สั้นๆ บางครั้งก็ไม่ออกเสียงตัวสะกดท้ายด้วย พี่เคยทำงานร่วมกับคนนิวซีแลนด์คนนึง แรกๆ เขาก็พยายามออกเสียงไปทางบริติชเพื่อให้พวกพี่ฟังง่ายๆ แต่พอเริ่มคุยกันถูกคอก็กลายเป็นสำเนียงนิวซีแลนด์ที่ถ้าฟังรอบแรกแล้วคงนึกว่าลิ้นไก่สั้น เพราะทุกคำสั้นมาก และไม่ค่อยออกตัวสะกด อย่าง bowl ก็ออกเป็นโบะ หรือ but ก็เป็นเบอะ



     ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำศัพท์เฉพาะและการออกเสียงของชาวนิวซีแลนด์นะคะ จริงๆ มีอะไรสนุกๆ น่ารู้อีกเยอะมากเลย ส่วนใครที่กำลังคิดว่าถ้าไปเรียนภาษาที่นิวซีแลนด์แล้วจะได้สำเนียงแบบนิวซีแลนด์มาแทนสำเนียงอังกฤษมั้ยก็ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะตามโรงเรียนสอนภาษาจะใช้ภาษาอังกฤษแบบบริติชหรือแบบอเมริกันอยู่แล้ว 

อ้างอิง
blog.oxforddictionaries.com/2016/04/new-zealand-english-quiz/
www.youtube.com/watch?v=0ePwKYJcEOo
www.youtube.com/watch?v=tgWnQVfY3mE
www.theguardian.com/media/mind-your-language/2015/mar/10
http://www.ualberta.ca/~johnnewm/NZEnglish/Bayard.pdf

 
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น