สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com...เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระทู้สุดฮอตของพี่ๆ นักการทูต 2 ท่านคือพี่วาวและพี่ตาล ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นนักการทูตไทยประจำอยู่ที่สถานทูตไทยในสิงคโปร์ ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ มาถามเรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับอาชีพนักการทูต และก็มีน้องๆ ให้ความสนใจมากๆ เลยค่ะ วันนี้จึงขอรวบรวมคำถามน่าสนใจจากกระทู้ดังกล่าวมาฝากค่ะ

ตอบทุกเรื่อง "เส้นทาง/ชีวิตการทำงานนักการทูต" จากพี่ๆ นักการทูตตัวจริง


ต้องเรียนจบปริญญาตรีคณะ/สาขาใดจึงจะสอบเข้าเป็นนักการทูตได้?
 
      การสมัครสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศ ตอนนี้เปิดรับทุกสาขาวิชาที่ ก.พ. รับรองค่ะ เรียกว่าเปิดกว้างมากๆ 


ไม่ได้จบรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะสอบได้ไหม?
 
      นักการทูตส่วนใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศนั้นไม่ได้จบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาค่ะ ส่วนมากจบรัฐศาสตร์สาขาอื่น เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อักษรศาสตร์ หรือสาขาวิชาอื่นๆ ก็เพียบเลยค่ะ


ไม่ได้จบเมืองนอกมา จะสู้คนอื่นได้ไหม?

       สบายมาก หายห่วง เพราะพี่ๆ ที่สอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศส่วนใหญ่เลยก็จบในประเทศไทยนี่แหละค่ะ และถ้าจบจากเมืองนอก ต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ ก.พ. รับรองค่ะ


กำหนดเกรดในการสอบเข้าไหม?
     
       การสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศไม่มีกำหนดเกรดขั้นต่ำค่ะ และไม่จำเป็นต้องมีผลสอบอะไรมายื่นสมัคร


ขั้นตอนการเข้ามาเป็นนักการทูต ต้องทำอย่างไร?

       การเข้ามาเป็นนักการทูต ทำได้ 2 วิธี คือ 

- การรับทุนของกระทรวงการต่างประเทศ ไปเรียนต่อแล้วกลับมาทำงาน
- สอบเข้ามาทำงานเมื่อกระทรวงต่างประเทศมีการจัดสอบ จะประกาศให้ทราบว่าเปิดรับสมัครสอบทางเว็บ www.mfa.go.th ค่ะ การเปิดสอบครั้งหนึ่งมีผู้สอบประมาณ 3,000-4,000 คน รับประมาณ 30-50 คน

      โดยวิธีที่สองจะมีเปิดสอบเกือบทุกปี สำหรับการสอบเข้าก็จะมีด่าน 3 ด่านด้วยกัน ได้แก่

(1) ภาค ก. สอบปรนัย (multiple choice) มักจะถามความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการต่างประเทศ และข้อสอบภาษาอังกฤษพื้นฐาน 
(2) ภาค ข. สอบข้อเขียน แบ่งเป็นส่วนการแปลไทย-อังกฤษ อังกฤษ-ไทย การย่อความ และการเขียนเรียงความ (essay) ซึ่งจะมีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ (เลือกตอบภาษาต่างประเทศใดก็ได้ตามที่กำหนด เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ฯลฯ) ในหัวข้อที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศค่ะ (ด่านนี้ดูจริงจังเนอะ) เหอะๆ
(3) ภาค ค. สอบสัมภาษณ์ โดยเราจะไปเข้าค่ายทำกิจกรรมร่วมกัน จะมีการสอบ 3 ส่วนคือ Group discussion แบ่งกลุ่มหารือกันในหัวข้อที่ได้รับ, Public speaking การพูดต่อหน้าสาธารณชนอย่างฉับพลันเป็นภาษาอังกฤษ โดยเราจะได้รับหัวข้อมา แล้วมีเวลาเตรียม 10 นาที จากนั้นขึ้นพูดประมาณ 3-5 นาทีค่ะ, การสัมภาษณ์รายบุคคล 
   
       พอผ่านเข้ามาแล้วก็จะมีการอบรมนักการทูตแรกเข้า (นอกจากวิชาการแล้วก็มีสอนวิธีการเรียงช้อนส้อม แก้วไวน์ บนโต๊ะอาหาร อะไรแบบนี้ด้วยนะ ) มีการหมุนเวียนไปทดลองปฏิบัติงานตามกรม/กอง ต่างๆ บางปีก็จะมีการส่งไปปฏิบัติงานระยะสั้นที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศด้วยล่ะค่ะ จากนั้น ก็จะเป็นการเข้าปฏิบัติงานตามกรม/กอง ต่างๆ ตามปกติ 


วิธีเตรียมตัวสอบ ควรต้องเตรียมอย่างไรบ้าง?

       ฝึกทำทำข้อสอบเก่าๆ ตามปกติจะมีขายที่กระทรวงฯ ช่วงก่อนสอบ ลองทำข้อสอบเก่าย้อนหลังไปสัก 10 ปี เพื่อฝึกฝน และที่สำคัญ ฝึกอ่านข่าวต่างๆ จากหน้าเว็บไซต์กระทรวงฯ ที่ www.mfa.go.th อ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อ่านวนไปวนมา ย้อนหลังไปหลายสิบปี เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และที่สำคัญจะช่วยเรื่องการใช้ภาษาของเรา ในการใช้ภาษาทางการทั้งไทยและอังกฤษ ซึ่งจะช่วยอย่างมากในการตอบข้อสอบของน้อง


ภาษาที่สามจำเป็นต่องานนักการทูตมากน้อยแค่ไหน?

     ภาษาที่สามเป็นประโยชน์มากค่ะสำหรับนักการทูต หากพูดภาษาใดได้แล้วได้ไปประจำการในประเทศนั้น ก็เจ๋งเป้งเลยค่ะ โดยภาษาที่กระทรวงฯ ต้องการมักจะเป็นภาษาที่คนเรียนน้อย แต่มีการใช้กันมากพอควรในวงการการทูต/การทำงานด้านการทูตของไทยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ภาษาอาหรับ ภาษารัสเซีย ภาษาบาฮาซา ที่หาคนไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญยากมาก อยากรู้ว่ากระทรวงฯ สนใจภาษาที่สามไหน อาจจะดูได้จากทุนกระทรวงฯ ปีที่ผ่าน ๆ มาค่ะว่าส่งคนไปเรียนระดับ ป.ตรี ที่ประเทศไหนบ้าง 


นามสกุลไม่ดังหรือไม่มีเส้นสาย จะมีโอกาสไหม?
     
      เรื่องนามสกุลไม่เกี่ยวข้อง ตราบใดที่น้องมีคุณสมบัติและสามารถสอบผ่านเข้ามาได้ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ ก็สามารถเข้ามาได้ค่ะ ทั้งนี้ ข้อสอบข้อเขียนจะมีกฎห้ามเขียนชื่อ-นามสกุลที่ตัวข้อสอบค่ะ ใส่ได้แต่รหัสประจำตัวค่ะ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและไร้เส้นสายในการสอบค่ะ


งานนักการทูตเปิดรับกลุ่ม LGBT มากน้อยแค่ไหน?

      ปัจจุบันมีนักการทูตที่เป็น LGBT อย่างเปิดเผยกันมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับประเทศตะวันตกค่ะ การยอมรับในสังคมไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อาจจะยังมีข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น ยังไม่สามารถมีคู่สมรสเป็นเพศเดียวกันได้ ทำให้ไม่สามารถติดตามไปอยู่ด้วยได้ในต่างประเทศในฐานะคู่สมรสนักการทูตค่ะ 


การออกไปประจำต่างประเทศ สามารถเลือกประเทศเองได้ไหม?

      เมื่อทำงานไปสักระยะ นักการทูตจะต้องออกไปประจำการที่สถานทูตไทยในต่างประเทศ (เรียกว่าการออกโพสต์) การจะออกไปประเทศอะไรนั้น เรามีสิทธิที่จะแจ้งความประสงค์เป็นอันดับๆ ไปค่ะ แต่การจะได้มอบหมายให้ไปที่ไหน-ตามที่หวังไว้หรือไม่  ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความรู้/ความถนัดภาษาท้องถิ่น อายุราชการ และคุณสมบัติอื่นๆ ค่ะ บางโพสต์อาจจะมีการเปิดสอบเป็นการเฉพาะด้วย


ระยะเวลาประจำการในต่างประเทศ ต้องอยู่กี่ปี?
   
      ระยะเวลาประจำการในต่างประเทศสำหรับนักการทูตระดับทั่วไปคือ 4 ปี ค่ะ แล้วก็กลับไปกรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะออกไปประเทศอื่นอีกครั้ง แต่สำหรับระดับสูง (เช่น เอกอัครราชทูต) จะไม่มีการกำหนดระยะเวลาแน่นอน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 2-4 ปี ค่ะ นักการทูตคนหนึ่งอาจจะประจำการ 4-5 ประเทศ อาจจะมากกว่านี หรือน้อยกว่านี้ก็ได้ค่ะ ขึ้นกับความเหมาะสมและโอกาส บางคนเลือกที่จะไม่ออกประจำการและขอทำงานในสำนักงานใหญ่ที่กระทรวงการต่างประเทศได้เช่นกันค่ะ


เนื้อหางานเครียดมากน้อยแค่ไหน?
     
      มีเครียดบ้างในช่วงที่งานหนัก เช่น มีทริปเยือนของบุคคลระดับสูง หรือช่วงใกล้ประชุมใหญ่ แต่ภายใต้ความเครียดนั้นก็มีความสนุกและความสุขอยู่ เพราะการทำงานเป็นนักการทูตนั้นทำให้เราได้มีโอกาสทำงานที่หลากหลายค่ะ ทั้งวิชาการ ทั้งจัดงานสนุกๆ ยกตัวอย่างเช่น การจัดงานเทศกาลไทยในต่างประเทศ ที่มีทั้งการจัดการแสดงสินค้า วัฒนธรรม และอาหารไทย


เงินเดือนอยู่ที่ประมาณเท่าไร?
   
      เงินเดือนเริ่มต้นตามเรตราชการเลยค่ะ ปริญญาตรี เริ่มที่ 15,000 บาท ปริญญาโท เริ่มที่ 17,500 บาท เวลาออกประจำการก็จะมีเงินเพิ่มค่าครองชีพในต่างประเทศให้ค่ะ 


อยากเป็นเอกอัครรราชทูต ต้องทำอย่างไร?

       เอกอัครราชทูต คือ ระดับสูงสุดของนักการทูต ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่สั่งสมมาค่ะ เอกอัครราชทูตมาจากการแต่งตั้งนักการทูตที่มีอาวุโสในระดับที่มีความเหมาะสมค่ะ


สถานทูตกับสถานกงสุล แตกต่างกันอย่างไร?
   
      ความแตกต่างระหว่างสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ คือ สถานเอกอัครราชทูตจะตั้งอยู่ในเมืองหลวง ส่วนสถานกงสุลใหญ่จะตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ที่ไม่ใช่เมืองหลวง ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องมีภารกิจเพิ่มเติมค่ะ เช่น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กับ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก / สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา กับ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ เป็นต้น ลักษณะงานอาจมีความแตกต่างกัน เช่น สถานเอกอัครราชทูตอาจมีงานด้านการเมืองมากกว่า สถานกงสุลใหญ่อาจเน้นงานด้านกงสุล เศรษฐกิจ


คุณสมบัติของคนที่เหมาะจะเป็นนักการทูต มีอะไรบ้าง?

1) จะต้องเป็นผู้ที่ใฝ่รู้ ไม่เพียงแต่เรื่องการทูต-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแค่นั้น แต่จะต้องรู้รอบด้าน ตามทันโลกและตามทันคนเสมอ
2) ไม่เพียงแต่เป็นนักวิชาการ เขียนบทพูดได้ เตรียมข้อมูลได้ แต่นักการทูตจะต้องเป็นนักปฏิบัติ ทำงานอย่างฉลาดและมีประสิทธิภาพ มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
3) จะต้องทำงานเป็นทีมเวิร์คให้ได้ เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี เป็นผู้นำที่ดี และเป็นผู้ตามที่ดี เพราะงานส่วนใหญ่ไม่ใช่ “one man show” ไม่ได้สำเร็จได้ด้วยคนๆ เดียว
4) ไม่เพียงแต่การเข้าสังคมอย่างเป็นทางการเข้านั้น นักการทูตที่ดีจะต้องใฝ่หามิตรเสมอ เพราะในหลายๆ เรื่องคำกล่าวที่ว่า Information is King ก็ยังเป็นความจริง

   

    
     อ่านแล้วน่าจะช่วยคลายข้อสงสัยไปได้เยอะมากๆ เลย ใครสนใจสายงานนี้ อย่าลืมเตรียมตัวและฝึกฝนตัวเองโดยเฉพาะเรื่องภาษาไว้เยอะๆ นะ ^^
พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
quinn 5 ก.ย. 59 00:16 น. 3
พยายามอยู่ค่ะ อาชีพในฝันเลย แต่ตอนนี้กำลังคิดว่า ป ตรีเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจต่อโท จะเรียนคณะไหนดีคะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด