สวัสดีค่ะน้องๆ ตอนนี้ก็จะเข้าสู่ช่วงเดือนพฤศจิกายนกันแล้ว ก็เรียกได้ว่าใกล้จะถึงฤดูกาลของการรับสมัคร TCAS66 รอบ Portfolio อย่างเป็นทางการแล้วล่ะค่ะ น้องๆ คนไหนที่สนใจจะยื่นสมัครในรอบนี้ จะต้องเตรียมแฟ้มสะสมผลงานให้เสร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะส่งให้กับมหาวิทยาลัยพิจารณา...แต่ๆๆ ก็ไม่ใช่ว่าน้องๆ จะทำ Portfolio ตามใจตัวเอง เป็นแบบไหนก็ได้  จะรวบรวมผลงานทั้งหมดที่มี เกียรติบัตรทุกกิจกรรมที่เคยทำใส่ลงไปก็ไม่ได้ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละสาขาวิชาจะมีโครงการที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นน้องๆ จะต้องคัดเลือกผลงานที่โดดเด่น และสามารถดึงดูดคณะกรรมการให้ได้มากที่สุด วันนี้พี่แนนนี่ก็เลยรวบรวมวิธีการเลือกผลงานลง Portfolio มาฝากน้องๆ กัน ตามไปดูกันว่าต้องเลือกแบบไหน

how to เลือกผลงานใส่ Portfolio
how to เลือกผลงานใส่ Portfolio

#dek66 เลือกผลงานใส่ Portfolio แบบไหน ให้ตรึงใจคณะกรรมการ

สิ่งที่สำคัญในการทำ Portfolio ไม่ใช่ "ความสวยงาม" เป็นหลักแน่นอน เพราะคณะกรรมการจะเน้นไปดูที่เนื้อหา และผลงานต่างๆ  มากกว่า แม้จะปฏิเสธไม่ได้นะคะว่า ความสวยงามเป็นหนึ่งในเหตุผลที่จะดึงดูด และสะกดคณะกรรมการไว้ได้ คล้ายๆ กับเป็น first impression นั่นเอง แต่เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ประวัติของผู้สมัคร, ผลงาน และกิจกรรมต่างๆ   ภายใน Portfolio นั้น ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการพิจารณาคัดเลือก

เมื่อน้องๆ เริ่มลงมือทำ Portfolio สิ่งที่จะต้องระมัดระวังมากที่สุด ก็คือ "โจทย์" "ข้อกำหนด" หรือเกณฑ์การทำ Portfolio ที่ทางมหาวิทยาลัยจะกำหนดข้อมูลไว้ ถ้ามหาวิทยาลัยกำหนดไว้อย่างไร น้องๆ ก็จะต้องทำตามให้ถูกต้องทุกประการ ดังนั้นก่อนที่จะลงมือทำ น้องๆ ควรจะไปเปิดระเบียบการรับสมัคร ของสาขาวิชา/คณะ/มหาวิทยาลัยที่สนใจ และทำความเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ให้เรียบร้อย แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้กำหนดโจทย์ไว้ ก็สามารถทำตามที่ต้องการได้เลย โดยจะต้องมีข้อมูลต่างๆ ให้ครบ ดังต่อไปนี้

องค์ประกอบสำคัญที่ควรมีใน Portfolio

  • ประวัติส่วนตัว : ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ เช่น ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น วันเดือนปีเกิด อายุ สัญชาติ  โรงเรียน  ความสนใจ งานอดิเรก หรือความสามารถพิเศษต่างๆ รวมไปถึงข้อมูลการติดต่อ เช่น เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และที่อยู่ด้วย
  • ประวัติการศึกษา  : ข้อมูลโรงเรียนที่เคยเรียนในอดีต-ปัจจุบัน เช่น ชื่อโรงเรียน ที่ตั้ง/จังหวัด ปีการศึกษา แผนการเรียน/หลักสูตร  และเกรดเฉลี่ยสะสมแต่ละปี
  • ผลงาน/รางวัล/กิจกรรม  : ส่วนที่สำคัญที่สุดใน Portfolio สามารถนำเสนอตัวตน ทักษะ และความสามารถต่างๆ ของผู้สมัครได้เป็นอย่างดี
  • เกียรติบัตร/รูปถ่าย  : เกียรติบัตร, วุฒิบัตร, ประกาศนียบัตร หรือรูปถ่าย จะเป็นหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี และจะสามารถการันตีว่าผลงาน หรือรางวัลต่างๆ เป็นเรื่องจริง
  • เรียงความ/จดหมายแนะนำตัว : เรียงความ หรือข้อความ อธิบายเหตุผล หรือแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเรียนในสาขาวิชามหาวิทยาลัยนั้นๆ
อ่านเพิ่มเติม

เลือกผลงานใส่ Portfolio แบบไหนดี

ส่วนที่หลายคนมักจะมีข้อสงสัยในการทำ Portfolio ก็คือเรื่องของ "ผลงาน, รางวัล, กิจกรรม" ว่าควรจะใส่กี่อัน ใส่อันไหนดี เพราะทางทปอ. และมหาวิทยาลัยมักจะกำหนดไว้ให้ส่งได้ไม่เกิน 10 หน้ากระดาษ A4 ทำให้การเลือกผลงานลง Portfolio เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นมากๆ โดยเฉพาะคนที่มีผลงานเยอะ ควรจะเลือกให้เหมาะสมและน่าสนใจมากที่สุด ซึ่งพี่แนนนี่ก็ได้เรียงลำดับความสำคัญของผลงานที่น้องๆ ควรจะเลือกไว้ดังนี้

1. เลือกผลงานตามโจทย์ที่กำหนดไว้

อันแรกง่ายๆ และปลอดภัยมากที่สุด คือ ให้น้องสำรวจระเบียบการรับสมัคร ว่ามีกำหนดผลงานที่ต้องใส่ใน Portfolio ไหม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมหาวิทยาลัยจะกำหนดรูปแบบผลงานที่ต้องการไว้ในระเบียบการเลย หลักๆ เลยก็จะมีการกำหนดไว้ 2 รูปแบบ คือ ผลงานเดิมที่เคยทำ กับ ผลงานที่ต้องสร้างสรรค์ใหม่

  • ผลงานเดิมที่เคยทำ : สามารถรวบรวมผลงาน/รางวัล/กิจกรรม ที่เคยผลิต หรือเข้าร่วมในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (บางมหาวิทยาลัยระบุช่วงปี พ.ศ. ไว้เลย)  ตามที่โจทย์กำหนดไว้ ยื่นสมัครได้เลย โดยแนะนำให้น้องๆ ระบุชื่อผลงาน/รางวัล/กิจกรรมนั้นๆ ช่วงเวลา หรืออธิบายถึงกิจกรรมนั้นแบบสั้นๆ แต่ได้ใจความครบถ้วน  เช่น ผ่านการเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ, ได้รางวัลประกวดโครงการ, เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา/บำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น
  • ผลงานที่ต้องสร้างสรรค์ใหม่ : ส่วนใหญ่จะเป็นคณะทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์มากกว่า ที่จะให้น้องๆ ทำผลงานใหม่ๆ ตามหัวข้อ หรือโจทย์ที่กำหนดไว้ เช่น ผลงานด้านการวาดภาพ ลงสี การถ่ายภาพ การตัดต่อรูป ตัดต่อวิดีโอ เป็นต้น หรืออาจจะไม่เชิงเป็นผลงาน แต่เป็นในส่วนของการเขียนเรียงความ การแนะนำตัว หรือ เขียน Student of purpose  ภายใต้หัวข้อที่กำหนดไว้

2. เลือกผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา

ต่อมาแนะนำให้เลือกเฉพาะผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา หรือคณะ โดยเฉพาะใครที่มีผลงานเยอะ และหลากหลายรูปแบบ  ให้มองหาความสัมพันธ์ของกิจกรรมที่ทำ กับสาขาวิชาที่จะยื่นสมัคร อันไหนที่มีความเกี่ยวเนื่องกันก็ใส่ไปเลย เช่น

  • ค่าย/กิจกรรมที่จัดขึ้นโดยคณะ หรือสาขาวิชานั้นๆ
  • ถ้าจะยื่นสมัครสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ ก็ใส่ผลงานที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา
  • จะยื่นสมัครทางด้านอักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ก็ใส่ผลงานการแข่งขันทางภาษา การเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนต่างๆ
  • ถ้าจะยื่นสมัครกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ใส่ผลงานเกี่ยวกับการฝึกงานในโรงพยาบาล หรือกิจกรรมอาสา

3. เลือกผลงานที่โดดเด่น

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นค่ะ ว่าไม่ควรใส่ทุกผลงาน หรือทุกกิจกรรมที่เลยทำลงไปใน Portfolio น้องๆ ควรจะเลือกผลงานชิ้นที่มีความโดดเด่นมากที่สุด ลองนึกถึงผลงานที่เป็นภาคภูมิใจของน้องๆ หรือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของแต่ละคนเลยก็ได้ค่ะ  แล้วถ้ายิ่งเป็นผลงาน เป็นกิจกรรม หรือรางวัลที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ยิ่งดีเลยค่ะ อาจจะอยู่ในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค  ระดับชาติ ระดับนานาชาติ จะยิ่งน่าสนใจมากขึ้นด้วยค่ะ

4.  เลือกผลงานที่ส่งเสริมทักษะ/ศักยภาพ 

ใครที่ยังมีเนื้อที่ในแฟ้มสะสมผลงานเหลืออยู่ ก็มีอีกหนึ่งกลุ่มผลงานที่น้องๆ สามารถเลือกนำไปใส่ใน Portfolio ได้ แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาสมัครก็ตาม นั่นก็คือกลุ่มที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษ, ทักษะต่างๆ หรือผลงานที่แสดงความเป็นตัวตนของน้องๆ ก็ได้ค่ะ เช่น ผลงานด้านจิตอาสา ผลงานด้านกีฬา, ผลงานด้านศิลปะ-ดนตรี เป็นต้น เพราะกิจกรรมเหล่านี้อาจจะบ่งบอกถึงลักษณะนิสัย หรือบุคลิกบางอย่างในตัวของผู้สมัครได้

 

สุดท้ายนี้! ขอย้ำให้น้องๆ เปิดระเบียบการรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย ก่อนที่เริ่มลงมือทำ Portfolio  โดยให้ตรวจสอบรายละเอียด และรูปแบบการทำให้เรียบร้อย

พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น