สำนักพิมพ์เล็ก-ใหญ่ ที่ไหนดีกว่ากัน?

งมีน้อยคนที่จะโชคดีมีสำนักพิมพ์เข้ามาทาบทามตั้งแต่ยังเขียนไม่จบ แถมเข้ามาทาบทามหลายสำนักพิมพ์อีกด้วย เราก็ต้องเลือกหน่อยว่าจะอยู่กับสำนักพิมพ์ไหนดีจริงไหมคะ
        แต่ถึงเราจะไม่ได้เป็นนักเขียนผู้โชคดีคนนั้น ก็ใช่ว่าเราไม่ต้องเลือกสำนักพิมพ์นะ โดยเฉพาะนักเขียนมือใหม่ หน้าใหม่ ที่ยังไม่มีใครมาทาบทามและอยากจะส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์โดยตรงเลย ก็ต้องเลือกสำนักพิมพ์เหมือนกัน
        บังเอิญเหลือเกินที่สำนักพิมพ์บ้านเรานั้นไม่ยอมให้ส่งต้นฉบับแบบหว่านแห ส่งไปทีก็ต้องรอถึง 2-3 เดือนกว่าจะได้คำตอบ (เผลอๆ ไม่ได้คำตอบเลยด้วย) ดังนั้นจะเสียเวลารอทั้งที ก็ขอเลือกสำนักพิมพ์ที่ตรงใจเราหน่อยแล้วกัน
        บทความนี้มาจากประสบการณ์ตรงในการฝึกงาน/ทำงาน/สัมภาษณ์งานกับสำนักพิมพ์ต่างๆ การร่วมงานและเสียงลือเสียงเล่าอ้าง แม้สำนักพิมพ์เล็กอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนี้ไปเสียหมด และสำนักพิมพ์ใหญ่ก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ว่าทุกประการ แต่พี่อยากให้เข้าใจ ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบของสำนักพิมพ์แต่ละแบบ ปัจจัยข้อไหนบ้างที่เราใช้ในการหาสำนักพิมพ์ที่เข้ากับตัวเราเอง จะได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง นิยายเรื่องแรก คงไม่มีใครอยากให้มันออกมาไม่ตรงใจหรอกใช่ไหมคะ

 

อะไรบ้างที่เราต้องพิจารณาเมื่อเลือกสำนักพิมพ์

  1. สภาพการเงินของสำนักพิมพ์ในขณะนั้น
            เราไม่จำเป็นต้องรู้ลึกไปถึงทุนจดทะเบียนของแต่ละสำนักพิมพ์ หุ้นราคาเท่าไร กระแสเงินสดของแต่ละที่เป็นอย่างไร ที่เราต้องรู้ก็คือ "สำนักพิมพ์นี้มีแนวโน้มจะเติบโตไปได้แค่ไหน หรือจะปิดตัวในเร็ววันหรือเปล่า"
            สำนักพิมพ์ที่ยังประคองตัวเองได้ ดูแววแล้วไม่น่าจะปิดง่ายๆ จะผลิตงานอย่างต่อเนื่อง แม้หนังสือที่ออกต่อเดือนจะน้อย แต่ขอให้มีงานอย่างสม่ำเสมอก็พอจะใช้เป็นตัวการันตีได้ วิธีดูก็คือไปสังเกตตามหน้าเว็บของสำนักพิมพ์หรือแฟนเพจนั่นเองค่ะ สำหรับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่อยู่มานานจะต้องมีงานออกทุกเดือน แต่สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เพิ่งเปิดใหม่อาจจะ 3-4 เดือนออกที หรือออกรวดเดียวช่วงงานหนังสือไปเลย
            เมื่อเรารู้ว่าสำนักพิมพ์นี้ยังมั่นคง อยู่แล้วไม่ต้องย้าย น่าจะยังพอมีเงินจ่ายค่าลิขสิทธิ์และค่าดำเนินการต่างๆ ให้เราได้ เราก็จะได้ส่งผลงานอย่างสบายใจ
            แต่ขอให้น้องๆ มองแค่นี้เท่านั้นนะคะ ส่วนความเชื่อว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ดีกว่า มั่นคงกว่า ไม่โกงแน่ นั้นไม่จริงเสมอไป ขนาดของสำนักพิมพ์ไม่ได้เป็นตัวการันตีถึงขนาดเงินทุนที่มีอยู่ บางที่ก็แค่เพิ่งเปิดเป็นสำนักพิมพ์เล็ก มีพนักงานไม่กี่คน แต่มีเงินมหาศาล พร้อมจะจ่ายหนักเพื่อให้งานเล่มหนึ่งออกมาดีที่สุด พร้อมจะให้ค่าลิขสิทธิ์นักเขียนตามมาตรฐานและตรงเวลา
            ส่วนสำนักพิมพ์ใหญ่ อย่างที่เรารู้กันว่าปิดตัวแบบใจหายใจคว่ำมานักต่อนักแล้ว ดังนั้น ความเล็ก-ใหญ่ เงินน้อย-มาก ไม่ได้การันตีว่าสำนักพิมพ์นี้จะจ่ายเงินตรงเวลา ไม่มีเล่นตุกติก หรือไม่มีวันปิดตัว ขึ้นอยู่กับการบริหารงานและนโยบายของคนในสำนักพิมพ์นั่นเอง

     
  2. มีแนวเป็นของตัวเอง
            ภาพลักษณ์พวกนี้เกิดจากการออกงานที่มี "ทิศทางเดียวกัน" เพื่อดึงคนอ่านแนวนี้ให้มารวมกลุ่ม ก่อเป็นฐานนักอ่านที่ชอบแนวนี้เป็นทุนอยู่แล้ว ยิ่งถ้าสำนักพิมพ์ไหนได้เป็นเจ้าตลาดของแนวนั้นๆ นักอ่านก็จะรู้กันทันทีเลยว่าถ้าอยากอ่านงานแนวนี้ใหม่ๆ ก็ต้องตามข่าวสารของสำนักพิมพ์นี้แหละ
            ไม่ใช่แค่นักอ่านที่ถูกดึงดูด แต่สำนักพิมพ์ที่แบรนด์แข็งแรงจะดึงนักเขียนเก่งๆ มาร่วมงานด้วยเหมือนกัน กลายเป็นว่าแต่ละองค์ประกอบมันช่วยเสริมกันให้แบรนด์แข็งแกร่งขึ้นไปอีก
            ดังนั้น แม้ว่าหลายสำนักพิมพ์จะรับตีพิมพ์ผลงานหลายแนว แต่เราก็ต้องศึกษาดูอีกทีว่าแนวนี้มันใช่จุดแข็งของสำนักพิมพ์หรือเปล่า เราตีพิมพ์กับเขาแล้วเราจะได้ประโยชน์จากฐานนักอ่านที่สำนักพิมพ์มีอยู่มากน้อยแค่ไหนนะคะ

     
  3. คุณภาพการผลิต
            ถ้าไม่นับเรื่องคุณภาพของเนื้องาน (ซึ่งมาจากมือเราเอง) คุณภาพขององค์ประกอบอื่นๆ ก็สำคัญ เช่น ปก ภาพประกอบ lay-out พิสูจน์อักษร คุณภาพกระดาษ ให้สังเกตสำนักพิมพ์ที่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบเหล่านี้
            ปกนิยายที่ออกมาเป็นแบบไหน สำนักพิมพ์ยอมลงทุนจ้างนักวาดมาวาดภาพให้เลยไหม การพิสูจน์อักษรเรียบร้อยดีไหม เพราะเรื่องพวกนี้พอคนอ่านตั้งกระทู้จับได้หรือตั้งกระทู้ต่อว่า ก็จะขึ้นชื่อกระทู้ด้วยชื่อนิยายเรา เกิดผลกระทบต่องานเราแบบอ้อมๆ ไปด้วย
            สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ผลงานคุณภาพไว้มาก ย่อมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง ทำให้คนอ่านไว้ใจและภักดีต่อแบรนด์ ซื้อนิยายทุกเรื่องที่สำนักพิมพ์นี้ตีพิมพ์เพราะมั่นใจว่าจะได้งานที่คัดสรรแล้วแน่นอน

     
  4. การตลาด
            ตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าแต่ละสำนักพิมพ์มีกลยุทธิ์ทางการตลาดอย่างไร ประชาสัมพันธ์นิยายในเครือของตัวเองได้สม่ำเสมอ ครบถ้วนดีหรือไม่ มีการจัดกิจกรรมเข้าถึงนักอ่านมากน้อยแค่ไหน นักอ่านจดจำแบรนด์สำนักพิมพ์ได้มากแค่ไหน หากสำนักพิมพ์ออกนิยายสำหรับวัยรุ่น แต่กลยุทธิ์ทางการตลาดไม่เข้าถึงกลุ่มผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่นเลย ก็จะลำบากคนเขียนอย่างเรา แม้งานดีแต่ไม่ผ่านตาคนอ่านเลยก็จบ
            หลายสำนักพิมพ์ในตอนนี้ใช้วิธีโปรโมต "นักเขียน" เป็นพิเศษ เพื่อสร้างฐานแฟนคลับที่แข็งแรงให้กับนักเขียนคนนั้น เมื่อมีงานใหม่ๆ จะได้ไม่ต้องลงแรงเท่าโปรโมตแรกๆ แล้วจากนั้นค่อยใช้นักเขียนดังๆ เหล่านี้มาแชร์ฐานแฟนคลับกับนักเขียนหน้าใหม่ หรือนักเขียนในสำนักพิมพ์เดียวกันอีกที

     
  5. ทัศนคติในการทำงานของคนในสำนักพิมพ์
            ข้อนี้ ในฐานะที่เป็นคนนอก คงหาข้อมูลยาก แต่ถ้าเรารู้จักนักเขียนที่ทำงานกับสำนักพิมพ์นั้นๆ อยู่ เราก็ถามเขาได้ว่าสำนักพิมพ์นี้ทำงานเป็นยังไงบ้าง
            ที่อยากจะขอให้เน้นคือทัศนคติของ "บรรณาธิการ" บรรณาธิการทุกคนเท่าที่พี่เคยเจอมาเป็นกันเองหมด ออกจะติดตลกด้วย ดังนั้นไม่ต้องห่วงเลยเรื่องเจอบรรณาธิการที่ไม่เป็นมิตร แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้สังเกตดูก็คือ "ทัศนคติ" ของบรรณาธิการต่องานหนังสือ มองว่าเป็นแค่ "สินค้า" หรือมองว่าเป็น "ศิลปะ" แล้วเราก็หันกลับมาถามตัวเองว่าเรามองงานเราเป็นอะไรกันแน่ ถ้าแน่ใจว่าทัศนคติไปด้วยกันได้ก็ลุยเลย แต่ถ้าไม่ก็กลับมาคิดดูอีกที
            เชื่อไหมว่าทัศนคติของบรรณาธิการหรือคนทำงานส่วนอื่นๆ เช่น พิสูจน์อักษร กราฟิก ดีไซเนอร์ การตลาด ฯลฯ บางครั้งมันก็ส่งอิทธิพลมาถึงผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาได้เหมือนกัน และบางทีถ้าทัศนคติของเราไม่ตรงกับคนในสำนักพิมพ์ ก็อาจจะทำให้ร่วมงานกันยากสักหน่อย

ทีนี้เราลองมาดูข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ
ของสำนักพิมพ์ใหญ่ที่อยู่มานานแล้ว กับสำนักพิมพ์เล็กที่เพิ่งก่อตั้งกันดีกว่า

 

เปรียบเทียบสำนักพิมพ์เล็ก-ใหญ่

สำนักพิมพ์ใหญ่อยู่มานาน สำนักพิมพ์เล็กเปิดใหม่
  • เงิน: ส่วนใหญ่มีฐานการเงินดี แข็งแรง ทำให้เรารู้สึกมั่นคงปลอดภัย (แต่ไม่เสมอไป) เงินเยอะจัดกิจกรรมใหญ่ๆ ได้ โปรโมตตามหน้าร้านต่างๆ ได้ กล้าเสี่ยงลงทุนกับนักเขียนหน้าใหม่
  • เงิน: บางที่อาจจะเริ่มด้วยทุนที่จำกัด ทีมงานยังไม่เป็นระบบระเบียบมากนัก ทุกอย่างจะค่อยเป็นค่อยไปเท่าที่ทุนจะมีให้ แต่บางที่ซึ่งมีทุนมาก เจ้าของสำนักพิมพ์อาจจะยอมทุ่มสุดตัวเพื่อให้ได้ผลงานออกมาดีที่สุด
  • เส้นสาย: ผู้บริหารของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มักทำงานมานาน มีเส้นสาย รู้จักกับคนในวงการหลายคน ช่วยเปิดโอกาสดีๆ อย่างอื่นให้กับงานของเราเหมือนกัน
  • เส้นสาย: ใช่ว่าเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กจะโนเนมแต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นอดีตบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ดังๆ ทั้งนั้น ข้อนี้จึงพอทดแทนเรื่องเงินทุนที่อาจจะน้อยกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ เพราะอาศัย connection ในการประชาสัมพันธ์โดยไม่ต้องเสียเงินมากนัก
  • ฐานนักอ่าน: กว้างกว่า เพราะอยู่มานาน
  • ฐานนักอ่าน: แคบกว่า เพราะยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ถ้าได้เส้นสายดี จะมีโอกาสเติบโตได้เร็ว
  • เป้าการผลิต: สูง เพราะมีจำนวนทีมงานลงตัว พร้อมผลิตงานได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง บรรณาธิการแต่ละคนจะได้รับยอดมาเลยว่าต้องออกหนังสือให้ได้อย่างน้อยเดือนละ เท่าไร เราก็จะมีโอกาสได้ออกงานเขียนมากขึ้น (แต่คู่แข่งก็เยอะเช่นกัน และอาจมีโอกาสที่งานจะผิดพลาดสูงกว่า เนื่องจากมีเวลาทำจำกัด)
  • เป้าการผลิต: ต่ำ อาจจะเดือนละเล่ม หรือ 3-4 เดือนเล่ม เพราะทีมงานยังมีน้อย อะไรๆ ยังไม่เข้าที่เข้าทาง
  • การตลาด: เนื่องจากมีงานออกมาต่อเดือนเยอะ ทำให้โปรโมทแต่ละเล่มได้ไม่เต็มที่ แต่ถ้าโปรโมททีก็กระจายไปได้ไกลเพราะเป็นสำนักพิมพ์ที่คนรู้จักและติดตามข่าวสารอยู่เยอะ จัดกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอดเพราะมีทุนบวกกับนักอ่านเป็นกำลังเสริมให้งานไม่แป้ก
  • การตลาด: เนื่องจากหนังสือออกน้อยต่อปี ทุกเล่มจึงต้องโปรโมทสุดฝีมือเพื่อทำยอดให้ไม่ขาดทุน แต่การโปรโมทจะอยู่ในวงแคบเนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จัก และไม่มีฐานแฟนคลับช่วยสนับสนุนหรือกระจายข่าว

        มีอย่างหนึ่งที่เราต้องค้นคว้าให้ดีก็คือ "สำนักพิมพ์เล็กไม่ได้หมายความว่าโนเนม" บางครั้งสำนักพิมพ์พวกนี้แตกไลน์ออกมาจากสำนักพิมพ์ใหญ่อีกที ขึ้นอยู่กับว่าสำนักพิมพ์เลือกจะโปรโมทตัวเองแบบไหน บางครั้งโปรโมทควบคู่กับสำนักพิมพ์ใหญ่เพื่ออาศัยฐานนักอ่านร่วมกัน บางครั้งโปรโมทตัวเองราวกับเป็นสำนักพิมพ์แยกต่างหาก เพื่อ "ลบภาพลักษณ์" ของสำนักพิมพ์ใหญ่ที่อาจจะไม่เข้ากับไลน์ย่อยออกไป
        เช่น สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์ซึ่งตีพิมพ์ทั้งนิยายและแบบเรียน เมื่อก่อนออกนิยายในนามฟิสิกส์เซ็นเตอร์ แต่เดี๋ยวนี้ตั้งสำนักพิมพ์ใหม่ไปเลย ชื่อ Happy Banana เพื่อแยกภาพลักษณ์สำนักพิมพ์เพื่อการศึกษาออกจากสำนักพิมพ์เพื่อความบันเทิง หรือ สยามอินเตอร์บุ๊คส์ สำนักพิมพ์ย่อยของสยามอินเตอร์มัลติมีเดียอีกที ก็แตกไลน์ใหม่ออกมาเป็น MeeDees Publishing เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นสำนักพิมพ์ที่มีความเป็น "วัยรุ่น" จริงๆ
        ดังนั้น เมื่อได้ยินชื่อสำนักพิมพ์ใหม่ปุ๊บ ไปค้นก่อนเลยว่านี่คือไลน์ย่อยของสำนักพิมพ์ใหญ่หรือเปล่า อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเป็นหน้าใหม่ของวงการ คงไม่เจ๋งพอ บางทีหน้าใหม่เหล่านี้อาจจะมีพี่บิ๊กหนุนหลังอยู่ก็ได้

 

จะสำนักพิมพ์เล็กหรือใหญ่ก็มีข้อดี-ข้อเสียในแบบของมัน
ใช่ว่าสำนักพิมพ์ใหญ่จะดีร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไป
ดังนั้นจะเลือกร่วมงานกับสำนักพิมพ์ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเราเองแล้วค่ะ

 
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
งูฟ้า 23 ก.ย. 60 13:07 น. 4

มีเข้ามาเหมือนกันแต่ผมตีแบ๊วไม่เห็นไป อยากจรู้ว่าถ้าได้ตีพิมจริงๆ อย่างต่ำนี่ได้เท่าไหร่เหรอครับ

0
กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
งูฟ้า 23 ก.ย. 60 13:07 น. 4

มีเข้ามาเหมือนกันแต่ผมตีแบ๊วไม่เห็นไป อยากจรู้ว่าถ้าได้ตีพิมจริงๆ อย่างต่ำนี่ได้เท่าไหร่เหรอครับ

0
กำลังโหลด
สสส 14 ธ.ค. 65 16:02 น. 5

จะใหญ่จะเล็กก็ไม่ได้ความ

1. โทร 10 สนพ. รับสาย 3 ที่เหลือ เบอร์ถูกตัด คุยไม่รู้ความ และไม่รับต้นฉบับ

2. Mail ถาม ไม่ทีตอบกลับ

3. บอกให้ตอบกลับด้วย จะรับหรือไม่รับก็บอก สุดท้าย ตอบเร็วมาก ว่าไม่รับ

4. รับแต่นิยาย เรื่องที่มีสาระ ไม่รับ

5. ไม่ใช่แนวที่ สนพ ต้องการ


ทั้งหมดที่กล่าว เขายังไม่เห็นเรื่องที่เราเขียนเลยนะ แค่ติดต่อก็เหนื่อยแล้ว ไม่เขื่อลองดูสิ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด