รู้หรือไม่ เทพนิยายที่เราอ่านๆ อาจมีอายุมากกว่า 6,000 ปี!

รู้หรือไม่ เทพนิยายที่เราอ่านๆ
อาจมีอายุมากกว่า 6,000 ปี


สวัสดีชาวไรเตอร์ทุกคนค่ะ วันนี้เป็นยังไงบ้างคะน้องๆ ได้ไปอ่านบทความ "ว่าด้วยเรื่องของนิทานกริมม์" ของพี่น้ำผึ้งหรือยังคะ หลังจากทำบทความเรื่องนิทานกริมม์ พี่น้ำผึ้งก็เลยเกิดความอิน ไปศึกษาต่อถึงที่มาที่ไปของนิทานเหล่านี้ และก็ได้เจองานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมากๆ เพราะว่าพวกเขาพากันไปแกะรอยนิทานกริมม์กันค่ะ ทั้งประวัติความเป็นมา ลักษณะของนิยาย ความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร บทวิจัยนี้มาครบเลยค่ะ เห็นแล้วพี่น้ำผึ้งอดใจไม่ไหว ต้องมาถ่ายทอดบอกเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะมีคนที่ชอบนิทานกริมม์เหมือนพี่น้ำผึ้งอยู่แถวๆ นี้บ้าง ^ ^ 
 
รูปวาดนิทานเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูร
สันนิษฐานว่าวาดขึ้นในปี ค.ศ. 1913

 

ถ้าพูดถึงความเป็นมาของนิทานตะวันตก น้องๆ ก็คงนึกถึงเจค็อบและวิลเฮล์ม สองพี่น้องตระกูลกริมม์แห่งศตวรรษที่ 19 สินะคะ หลายคนยังมีความเชื่อผิดๆ ว่าสองพี่น้องตระกูลกริมม์เป็นผู้เขียนนิทานขึ้นมาเอง แต่ความจริงแล้วทั้งคู่เพียงแต่รวบรวมนิทานท้องถิ่นที่ได้ฟังมาเรียบเรียงเท่านั้น และรู้หรือไม่ นิทานบางเรื่องอาจมีมานานกว่า 6,000 ปีแล้วก็ได้!

วารสารวิทยาศาสตร์ Royal Society Open Science ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับนิทานกว่า 2,000 เรื่องซึ่งมาจากวัฒนธรรมอินโด-ยูโรเปียนที่แตกต่างกันโดยการจัดเรียงสารบัญแบบ Aarne–Thompson–Uther ที่ได้ทำการรวบรวมเมื่อปี 2004

Jamshid Tehrani นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเดอรัม ประเทศอังกฤษและเพื่อนร่วมงานได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเทพนิยายกว่า 275 เรื่องรวมไปถึงฮันเซลกับเกรเทลและโฉมงามกับเจ้าชายอสูร ซึ่งผลพบว่าส่วนใหญ่เนี่ยมักจะมีองค์ประกอบหลักๆ คือเวทมนตร์และเรื่องเหนือธรรมชาติเพราะว่าคนจะคุ้นเคยกับเรื่องแนวๆ นี้มากกว่า 
 


หน้าปกนิทานกริมม์ค่ะ

แต่จะว่าไป การแกะรอยนิทานเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะคะ เพราะบางเรื่องก็มีมาน๊านนาน แถมหลักฐานที่มีส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเป็นลายลักษณ์อักษรเพราะเป็นนิทานแบบปากต่อปาก นั่นทำให้นักวิจัยต้องใช้วิธีการทางสถิติซึ่งวิธีก็คล้ายๆ กับที่นักชีววิทยาหาสปีชี่ส์ของสิ่งมีชีวิตโดยใช้ Mind Mapping วิวัฒนาการที่มีพื้นฐานมาจากลำดับ DNA นั่นล่ะค่ะ

วิธีการทำงานก็เริ่มจากการดูภาษาของนิทานโดยใช้ Mind Mapping ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนเพื่อที่จะได้สะดวกในการแกะรอยประวัตินิทาน นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าถ้ามีนิทานเรื่องแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์เวอร์ชั่นภาษาสลาฟและเซลติก (ซึ่งจากการศึกษาพบว่าอาจจะมี) ก็คงมีโอกาสที่จะกลายเป็นแนวทางเพื่อศึกษาเรื่องบรรพบุรุษร่วมของสิ่งมีชีวิตได้เลยล่ะค่ะ อย่างเช่นในเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูร เจ้าชายอสูรก็แสดงให้เราเห็นถึงข้อสรุปของนักชีววิทยาที่ว่าสิ่งมีชีวิต 2 สายพันธุ์นั้นมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน เพียงแต่ยีนเกิดการกลายพันธุ์จึงทำให้มีลักษณะแตกต่างกันออกไป
 


ภาพเจ้าหญิงนิทราค่ะ
เป็นฉากที่เจ้าชายมาพบเธอนอนหลับในปราสาทนั่นเอง

 

ขั้นตอนต่อไปก็คือการคัดแยกค่ะ เราแบ่งวิธีถ่ายทอดนิทานเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ซึ่งส่วนมากเราจะได้ฟังนิทานโดยวิธีถ่ายทอดแบบแนวดิ่ง พูดง่ายๆ ก็คือพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกหลานฟังนั่นเอง แต่ยังมีอีกแบบคือการถ่ายทอดแบบแนวราบซึ่งก็คือการที่นิทานถูกถ่ายทอดไปยังอีกวัฒนธรรมหนึ่งและได้รับการดัดแปลง ดังนั้นนักวิจัยก็เลยทำการรวบรวมและตัดนิทานที่คาดว่าน่าจะถูกถ่ายทอดแบบแนวราบออกไป ท้ายที่สุดจึงเหลือนิทานทั้งหมด 76 เรื่องค่ะ

วิธีการนี้ทำให้นักวิจัยสืบค้นประวัตินิทานบางเรื่องได้ง่ายขึ้นด้วยนะคะ เช่นเรื่องสมิธและปีศาจที่ว่าด้วยเรื่องของช่างตีเหล็กผู้ทำพันธะสัญญากับปีศาจ ถ้าหากการศึกษาถูกต้อง นั่นหมายความว่ามันจะกลายเป็นนิทานที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 2,500 – 6,000 ปีเลยล่ะค่ะ! ในขณะที่เรื่องอื่นๆ ดูเหมือนว่าจะปรากฏครั้งแรกในเวลาที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับความเก่าแก่ของภาษาที่ใช้
 


นิทานเรื่อง The Smith and the Devil 
(ขอบคุณรูปภาพจาก marketbusinessnews.com)

 

จากผลงานวิจัยนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย รวมถึง Mark Pagel นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการแห่ง University of Reading ประเทศอังกฤษได้ให้สัมภาษณ์ใน Current Biology ว่า “สิ่งที่ผมสนใจจริงๆ คือเหตุใดวัฒนธรรมเหล่านี้จึงยังถึงคงอยู่มาได้ทั้งเทพนิยาย ศิลปะ เพลงหรือบทกวีจึงคงอยู่มาได้อย่างยาวนาน”

Jamshid Tehrani ก็ได้กล่าวไว้ว่าที่นิทานเหล่านี้ยังคงมีมานานจนถึงปัจจุบันก็เพราะเป็น เรื่องเล่าที่ขัดสามัญสำนึกน้อยที่สุด” พูดง่ายๆ ก็คือนิทานจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่ขัดกับความเป็นจริง อย่างเวทมนตร์หรือพวกบรรดาแฟนตาซีทั้งหลาย แต่เนื้อเรื่องแทบทั้งหมดจะเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เช่น ในเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูร ถึงมันจะเกินจริงตรงที่เจ้าชายถูกสาปให้กลายเป็นอสุรกาย แต่ก็ยังคงสื่อถึงความรัก ครอบครัว และการมองคนที่จิตใจ สรุปก็คือความแฟนตาซีทำให้นิทานโดดเด่น แต่องค์ประกอบสามัญนี่แหละคะที่ทำให้ง่ายต่อการจดจำ กุญแจดอกสำคัญที่ทำให้นิทานอยู่มาได้กว่าพันปีเป็นเพราะความแปลกที่ไม่ได้แปลกนั่นเอง

เป็นยังไงกันบ้างคะกับงานวิจัยเรื่องนิทานชิ้นนี้ พี่น้ำผึ้งเห็นด้วยนะคะที่นักวิจัยกล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้นิทานมีอายุยาวนานมาหลายพันปี ส่วนในเรื่องวิธีที่ใช้ในการวิจัยงานนี้ พี่น้ำผึ้งคิดว่าเรายังสามารถนำวิธีการใช้แผนผังความคิดแบบนี้ไปใช้ได้ในเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องการเรียนด้วยล่ะ สำหรับวันนี้พี่น้ำผึ้งคงต้องขอลาไปก่อน คราวหน้าจะเป็นอะไรนั้นอย่าลืมติดตามกันนะคะ

พี่น้ำผึ้ง :)


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.sciencemag.org 
 
Deep Sound แสดงความรู้สึก
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด