เผยเคล็ดลับสร้าง "คำทำนายนิสัย" ที่ตรงกับคนเกือบทุกคน!

        ราศีต่อไปนี้เป็นคนเจ้าชู้ คนที่เกิดเดือนต่อไปนี้เป็นคนขี้งอน หนุ่มที่เกิดวันอังคารเป็นคนปากอย่างใจอย่าง ฯลฯ ชาวเด็กดีหลายคนคงจะเห็นคำทำนายแบบนี้จนเบื่อในเฟซบุ๊ก จากที่เคยตื่นเต้นแชร์กัน ตอนนี้ก็เริ่มเห็นจนเบื่อ

        เราทุกคนต่างรู้ดีว่าคำทำนายพวกนี้ไม่ได้เป็นคำทำนายที่เกิดจากการเก็บสถิติคนที่เกิดวันนี้ เดือนนี้ ปีนี้ ไม่ได้เกิดจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เอาคนเกิดวันเดียวกันมาทำกิจกรรมร่วมกัน แต่เกิดจากการนั่งเทียนเขียนขึ้นเองล้วนๆ เพื่อหวังว่าจะได้ยอดแชร์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่าในไทยหลายล้านคนที่ผ่านมาเห็นและคิดว่า "นี่แหละตัวฉัน"

        จริงๆ แล้วเรื่องการทำนายบุคลิกลักษณะนั้นมีศาสตร์ของมันอยู่ค่ะ นักจิตวิทยาได้พิสูจน์มาเกือบเจ็ดสิบปีแล้วว่าหมอดูที่ดูดวงเก่งๆ นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้มีพลังวิเศษอะไร แค่อาศัยหลักจิตวิทยาบางอย่างในการทำให้เราเชื่อว่าเขาดูดวงได้จริงๆ
        และนี่คือที่มาของบทความนี้ค่ะ
 

นี่คือตัวคุณหรือไม่?

        ก่อนที่จะไปอ่านเทคนิคนักดูดวงแม่นๆ ขอให้ทุกคนทำแบบทดสอบนี้ก่อนนะคะ
        ขอให้กาถูกหน้าข้อที่คิดว่า "นี่แหละตัวฉัน"
  1. คุณอยากให้ทุกคนเข้าหาและชอบคุณ แต่คุณยังรู้สึกไม่แน่ใจในตัวเองอยู่บ้าง
  2. คุณมีจุดอ่อนในตัวเอง และคุณหาทางชดเชยมันอยู่
  3. คุณมีความสามารถมากมาย แต่กลับไม่ได้ใช้มัน
  4. ภายนอกคุณอยู่ในกฎในกรอบ ควบคุมตัวเองได้ แต่ภายในคุณกลับกังวลและรู้สึกไม่มั่นคง
  5. มีหลายครั้งที่คุณรู้สึกไม่มั่นใจในการตัดสินใจหรือการกระทำของตัวเอง
  6. คุณมีสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงในชีวิต และไม่พอใจที่ชีวิตถูกจำกัด
  7. คุณเป็นคนมีความคิดเป็นของตัวเองและภูมิใจกับมัน
  8. คุณไม่ยอมรับคำพูดของคนอื่นถ้าไม่มีหลักฐานที่คุณพอใจ
  9. คุณคิดว่าการเปิดเผยตัวเองต่อคนอื่นมากไปเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด
  10. บางครั้งคุณเป็นคนเข้าสังคมง่าย เป็นที่ชื่นชอบ แต่บางครั้งคุณก็อยากเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร
  11. คุณมีเป้าหมายในชีวิตบางอย่างที่คุณเข้าใจว่าจะไม่มีวันเป็นจริง

        ถ้าอ่านจบครบทุกข้อแล้ว ทีนี้ลองนับดูสิว่าจากทั้งหมด 11 ข้อ ตรงกับตัวเรากี่ข้อกัน?
        พี่น้องจะขอเฉลยเลยแล้วกันว่า คำอธิบายนิสัยใจคอที่เราเพิ่งทำกันไปนี้ เป็นข้อความที่ดร. เบอร์แทรม ฟัวเรอร์ ชาวอเมริกันเคยใช้ทดสอบนักเรียนในคลาสของเขาค่ะ
 

นิสัยที่ใช้ได้กับทุกคนบนโลก

        ดร. ฟัวเรอร์ ทำการทดลองในปี 1948 โดยให้นักเรียนในคลาสของเขาทำแบบทดสอบลักษณะนิสัยจากการตอบคำถาม (อารมณ์ว่า ชอบสีอะไร คิดว่าคำไหนเหมาะกับตัวคุณที่สุด) เขาทำให้นักเรียนทุกคนเชื่อว่าเขาจะคำตอบของนักเรียนทุกคนไปวิเคราะห์ "นิสัย" ของแต่ละคนแล้วเอาผลลัพธ์มาให้เมื่อเจอกันครั้งต่อไป

        แต่ความจริงแล้ว ดร. ฟัวเรอร์ ไม่ได้เอาชุดคำตอบของนักเรียนทั้งหมดไปทำอะไรเลยค่ะ ตรงกันข้าม เขาโยนมันทิ้งแล้วเอารายการ "นิสัย" ที่รวบรวมจากคอลัมน์ดูดวงทางโหราศาสตร์ มาแจกให้นักเรียนทุกคนอ่าน (อันที่เราเพิ่งทำกันไปนั่นเองค่ะ)

        นั่นก็คือ นักเรียนทุกคนได้รับ "ผลลัพธ์" แบบเดียวกันเป๊ะๆ แต่ไม่มีใครรู้หรอกค่ะ ทุกคนก็อ่านผลลัพธ์นั้นแล้วก็คิดในใจว่า นี่มันตัวฉันนี่นา

        หลังจากนั้นดร. ก็ขอให้นักเรียนทุกคนให้คะแนนบทวิเคราะห์นิสัยของตัวเองว่าตรงมั้ย โดยมีลำดับตั้งแต่ 0 คะแนน คือไม่ตรงเลย ไปจนถึง 5 คะแนน คือตรงมาก
        ผลลัพธ์น่ะหรือคะ?
        ค่าเฉลี่ยของคะแนนที่นักเรียนให้อยู่ที่ 4.26 คะแนน หรือเกือบเต็มนั่นเอง!
        แล้วทุกคนก็มารู้ทีหลังว่า ต่างคนต่างก็ได้บทวิเคราะห์เหมือนกันนั่นแหละ นักเรียนบางคนที่ตอนแรกไม่เชื่อเรื่องพวกนี้เลยถึงขั้นหลงกลไปพักใหญ่เลยว่าการทำนายลักษณะนิสัยอะไรแบบนี้มีอยู่จริง
 

นี่มันมายากลแบบไหนกัน?

        จริงๆ แล้วมันไม่ใช่มายากลค่ะ แต่ดร. ฟัวเรอร์ใช้หลักจิตวิทยาล้วนๆ ในการสร้างบทวิเคราะห์ที่ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่เชื่อสนิทใจได้ว่า "คุณพระ! หมอดูคนนี้รู้จักฉันหมดทุกซอกทุกมุมเลยทีเดียว!"
        หลักการมันก็ง่ายๆ หลายคนคงสังเกตเห็นแล้ว นั่นคือ
 
1. พยายามเขียนถึง "ลักษณะนิสัย" แบบกว้างๆ
        ความจริงแล้ว ลักษณะนิสัยที่เราเพิ่งอ่านไปส่วนใหญ่เป็นเรื่องทั่วไปที่ใครก็ต้องคิดแบบนี้ เช่น มีหลายครั้งที่คุณรู้สึกไม่มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเอง เป็นใครก็ต้องเคยผ่านโมเมนต์นี้มาแล้วทั้งนั้น
        อาจจะเป็น ตัดสินใจซื้อเสื้อตัวนี้ แล้วก็มานึกเสียดายทีหลังว่าน่าจะเก็บตังค์ไว้ ตัดสินใจไม่ไปเที่ยวกับเพื่อน แล้วก็มานั่งดูรูปเพื่อนๆ เที่ยวอย่างสนุกสนานด้วยความเศร้าใจ
 
2. เขียนถึงสิ่งที่ตรงข้ามกันเพื่อให้ครอบคลุม
        การเขียนถึงสิ่งที่ตรงข้ามกัน ทำให้ลักษณะนิสัยข้อนั้นครอบคลุมคนทั่วไปทุกคน เช่น คุณเข้าสังคมง่าย แต่บางครั้งก็ชอบเก็บตัว คนส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ค่ะ คือไม่ได้ชอบปาร์ตี้ตลอดเวลา ต้องมีคนรายล้อม บางทีก็อยากมีเวลาส่วนตัวบ้าง
        กับคนที่ชอบปาร์ตี้ พออ่านข้อความนี้ก็คงเข้าข้างตัวเองว่า ฉันเองก็ไม่ได้อยากปาร์ตี้ตลอดนะ
        ส่วนคนที่ชอบเก็บตัว พออ่านข้อความนี้ก็ต้องเข้าข้างตัวเองว่า ฉันไม่ได้อยากอยู่คนเดียวตลอดหรอก ก็อยากไปเที่ยวกับเพื่อนๆ บ้าง
        เห็นมั้ย? วินๆ
3. พูดถึงข้อดีให้มากกว่าข้อเสีย
        เราทุกคนล้วนคิดว่าตัวเองเป็นคนดีค่ะ เราอยากให้คนอื่นพูดถึงสิ่งดีๆ ในตัวเรา ดังนั้นเมื่อเราอ่านลักษณะนิสัยที่มีแต่ข้อดี เราก็จะเข้าข้างตัวเองว่าเราเป็นคนแบบนั้นแหละ เช่น

        คุณมีความสามารถ แต่ไม่ได้ใช้ แม้เราทุกคนจะชอบข่มตัวเองว่า เรามันไม่เก่ง แต่ลึกๆ แล้ว เราอยากมีดีในตัวเองทั้งนั้น เราแค่รอให้ใครสักคนบอกว่า "เฮ้ย แกก็วาดรูปได้นี่" และบทวิเคราะห์นี้ก็เหมือนกำลังตะโกนใส่เราอยู่ว่า เธอมีความสามารถนะ แค่ไม่ได้ใช้มันเท่านั้นเอง

        หรือบางครั้งเราก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่เรา "อยาก" ให้ตัวเองเป็นแบบนั้นมากกว่า เช่น พออ่านข้อที่บอกว่า คุณมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ว่าเราจะมีจริงหรือไม่มี แต่การมีความคิดของตัวเองเป็นลักษณะที่ดี เราเลยมีแนวโน้มที่จะเชื่อบทวิเคราะห์นี้เพราะมันคือเรื่องดีๆ และเราอยากเป็นอย่างนั้น
        ส่วนเรื่องไม่ดี...เรามักจะมองข้ามมันไปหรือคิดว่ามันไม่ตรงแทน
 
4. คนพูดเป็นคนน่าเชื่อถือ
        ยิ่งถ้าคนที่ดูดวงให้เป็นคนที่น่าเชื่อถือ เช่น บอกว่าเป็นดร. ด้านโหราศาสตร์โดยเฉพาะ หรือเป็นหมอดูชื่อดังจากเอเชียตะวันออก หรือมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ ก็จะยิ่งทำให้คนเชื่อสิ่งที่พูดออกมามากขึ้นไปอีก
        รายการ Would You Fall For It? ของช่อง ABC ที่อังกฤษก็เคยทำการทดลองนี้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เกินคาดมากค่ะ คือผู้เข้าร่วมการทดลองเชื่อสนิทใจว่าพิธีกรรายการนี้ เป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์อย่างแท้จริง
 

Clip

Forer Efect


 
        พออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เข้าใจหลักการทำงานของมันหรือยังคะ
        ทฤษฎีของดร. ฟัวเรอร์นี้ จริงๆ เคยมีคนทำมาก่อนแล้วด้วยนะ เป็นนักจิตวิทยาชื่อสแตกเนอร์ รายนั้นทดสอบกับคนทำงานตำแหน่งผู้จัดการ เขาใช้ "อีโก้" ของผู้จัดการเหล่านั้น สร้างบทวิเคราะห์ลักษณะนิสัยที่ "ตรงใจ" คนเหล่านั้น เรื่องดีๆ มีมากเท่าไร ใส่ไปให้หมด

        พอถามกลับว่าเป็นไง คำทำนายนี้ตรงไหม ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "นี่มันผมเลย!"
        ชัดเจนมั้ยคะ?
        ผลลัพธ์ทางจิตวิทยานี้มีชื่อเรียกว่า Forer Effect (ฟัวเรอร์ เอฟเฟ็กต์) หมายถึงปรากฏการณ์ที่คนมีแนวโน้มเชื่อคำอธิบายที่มันทั่วไปว่าตรงกับตัวเองสุดๆ และเป็นหลักพื้นฐานที่หมอดูแห่งศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านใจ หมอดูไพ่ทาโรต์ ฯลฯ เอาไปใช้ในการทำนายลักษณะนิสัยหรือสิ่งที่จะเกิดกับบุคคลต่างๆ จนถึงขั้นมีคนสรุปให้เลยว่าจะเป็นนักทำนายที่แม่นยำต้องทำอะไรบ้าง
        เนื่องจากเนื้อหาอันนั้นยาวมาก พี่น้องคงจะใส่ในบทความนี้ได้ไม่หมด แต่ข้อสุดท้ายของเขาน่าสนใจดีค่ะ
        เทคนิคในการเป็นนักทำนายที่เก่งที่สุดบอกไว้ว่า
        "จงพูดในสิ่งที่คนฟังอยากได้ยิน"
 
        สำหรับบทความนี้ พี่น้องไม่ได้เขียนเพื่อให้ทุกคนเลิกเชื่อเรื่องการทำนายหรือดูดวงต่างๆ นะคะ เพราะพี่น้องก็เคยเจอคนที่วิเคราะห์นิสัยพี่แบบเจาะลึกไปเลยก็มี แต่เราก็ฟังหูไว้หู เรื่องดีๆ เราก็เก็บไว้เป็นกำลังใจให้ตัวเอง เรื่องไม่ดีเราก็เอาไว้ระวังตัวว่าอย่าทำแบบนั้นจะดีกว่าเนอะ
        ติดตามอ่านบทความดีๆ พร้อมสาระและความบันเทิงได้ที่นี่ เว็บไซต์ Dek-D.com อัพเดททุกวันจ้า ><
ขอบคุณข้อมูลจาก
Paranormal Encyclopedia
Psychology Today
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

dfsgdfg 2 ส.ค. 59 20:06 น. 2
เป็นบทความที่มีประโยชน์มากๆค่ะ เรานั่งอ่านไปก็แบบ ว้าว... ยิ่งดูวีดีโอแล้วก็แบบ 55555555555555 ตอนอ่าน11ข้อแรกเราก็แบบเหมือนจึกทุกข้อ ขอบคุณมากค่ะที่มาแบ่งปันแล้วก็พิมพ์บทความดีๆอย่างนี้มาให้อ่าน เยี่ยม
0
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

LaLuna Howsand Member 30 ก.ค. 59 09:41 น. 1
ขอบคุณบทความดีๆที่พี่เอามาให้ค่ะ. หนูกำลังสงสัยอยู่เลยว่าทำไมบางทีเล่นเกมทายใจทายนิสัยแล้ว รู้สึกว่ามันตรงจังค่ะ ที่แท้เป็นแบบนี้นี่เอง
0
กำลังโหลด
dfsgdfg 2 ส.ค. 59 20:06 น. 2
เป็นบทความที่มีประโยชน์มากๆค่ะ เรานั่งอ่านไปก็แบบ ว้าว... ยิ่งดูวีดีโอแล้วก็แบบ 55555555555555 ตอนอ่าน11ข้อแรกเราก็แบบเหมือนจึกทุกข้อ ขอบคุณมากค่ะที่มาแบ่งปันแล้วก็พิมพ์บทความดีๆอย่างนี้มาให้อ่าน เยี่ยม
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด