ปริศนาคดีหลอนข้ามทศวรรษที่กลายเป็นหนังสือขายดี ใครฆ่า 'Black Dahlia'

สวัสดีนักอ่านชาวเด็กดีทุกคนค่ะ ช่วงนี้เห็นกระแสนิยายสืบสวนสอบสวนกำลังมาแรง เป็นภาพยนตร์เตรียมเข้าโรงบ้านเรากันรัวๆ พี่ซูมเลยขอตามกระแสด้วยการหางานเขียนแนวนี้มาแนะนำ และหลังจากค้นข้อมูลอยู่นาน ก็มาลงตัวที่เรื่องของ หญิงสาวเจ้าของฉายา “The Black Dahlia หรือ “แม่ดอกรักเร่สีดำ” เรื่องราวของเธอเคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ดังมาแล้ว และยังเป็นหนังสือขายดีอีกด้วย โดยสิ่งที่น่าสนใจในคดีนี้คือ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาถึง 70 ปี แต่คดีก็ยังปิดไม่ลง และสาเหตุการตายของเธอก็ยังคงเป็นปริศนาคาใจคนทั้งสหรัฐฯ นับเป็นคดีในตำนานที่มีชื่อเสียง เทียบเท่ากับคดีแจ๊คเดอะริปเปอร์ของประเทศอังกฤษทีเดียวค่ะ 

และในวันนี้ พี่ซูมขอนำข้อมูลที่ได้มาสรุปให้ทุกคนได้อ่านกันสั้นๆ ใครที่สนใจ ก็ขอเชิญมาเปิดแฟ้มคดี ไขปริศนาไปพร้อมๆ กับพี่ได้เลยค่ะ 

 

ใครคือ "แม่ดอกรักเร่สีดำ"

Black Dahlia หรือ “แม่ดอกรักเร่สีดำ” เป็นฉายาของหญิงสาวเจ้าของชื่อ “เอลิซาเบธ ชอร์ต” (Elizabeth Short) จากบอสตัน แมสซาชูเซตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเป็นลูกสาวคนที่ 3 จากลูกสาวทั้งหมด 5 คน ของ นาย คลีโอ อัลวิน ชอร์ต (Cleo Short) และ นางโฟบี เม (ซอว์เยอร์) ชอร์ต (Phoebe Mae (Sawyer) Short) ฐานะทางบ้านของครอบครัวชอร์ตถือว่าค่อนข้างดี จากอาชีพนักออกแบบและรับจ้างสร้างสนามกอล์ฟขนาดเล็กของนายคลีโอหัวหน้าครอบครัว กระนั้นหายนะก็มาเยือน เกิดความพลิกผันเมื่อตอน เอลิซาเบธ อายุได้ 5 ขวบ ขณะนั้นตรงกับช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกากำลังประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ “วอลล์ สตรีท” ( หรืออีกชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Wall Street Crash 1929 : วิกฤติของตลาดหุ้นที่ดัชนีตกพรวดไปถึง 11 จุดในชั่วข้ามคืน และตกลงมาอย่างต่อเนื่อง มีคนจำนวนมากมายต้องตกงาน ขาดรายได้) สถานะทางการเงินในบ้านเริ่มฝืดเคือง ท้ายที่สุด นายคลีโอผู้เป็นบิดาหายตัวไป ทิ้งให้นางชอร์ตต้องเลี้ยงดูลูกสาวอีกห้าคนด้วยเงินช่วยเหลือจากสวัสดิการสังคมสงเคราะห์เพียงลำพัง

ภาพถ่ายจากเหตุการณ์ วิกฤติวอลล์ สตรีท หรือ Wall Street Crash of 1929

ด้วยความยากลำบากของชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน และสภาพยากจนข้นแค้นอดมื้อกินมื้อ เอลิซาเบธ จึงมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นดาราเพื่อยกระดับฐานะ หนีจากชีวิตอันขมขื่นโหดร้ายกล้ำกลืนนี้เสียที ราวกับละครหลังข่าว เธอต้องระหกระเหินไปมาอีกหลายครั้ง มีเรื่องอื้อฉาวกับชายหนุ่มราชนาวีก็บ่อย อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด เอลิซาเบธ ได้ตกลงคบหาดูใจกับ พันตรี แมตต์ กอร์แดน อย่างจริงจัง และเตรียมจะแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นที่น่าเศร้าว่าขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย พันตรีกอร์แดนต้องไปประจำการที่ประเทศอินเดีย และเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกขณะเดินทางกลับมาอเมริกา

พันตรี แมตต์ กอร์ดอน (ด้านขวาของรูป) เอลิซาเบธ ชอร์ต (ซ้ายของรูป)

เหตุใดทุกคนถึงเรียกเธอว่า “แม่ดอกรักเร่สีดำ”

หลังจากผู้ชายที่รักจากไป สภาพจิตใจของ เอลิซาเบ็ธ เข้าข่ายเลวร้าย เธอเริ่มมีพฤติกรรมแปลกประหลาดค่ะ อาทิ แต่งหน้าโดยใช้รองพื้นสีขาวโปะหน้า ทาปากให้ช้ำเป็นสีม่วงเข้มดูคล้ายผีหรือศพตายซาก ไว้ผมยาว สวมชุดดำ ซึ่งการกระทำของเอลิซาเบธ ตรงกับช่วงเวลาที่หนังฮอลลีวู้ดเรื่องBlue Dahlia หรือ “รักเร่สีฟ้า” ผลงานของผู้กำกับมากฝีมืออย่าง “เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์” กำลังออกฉายพอดี หลังเกิดเหตุฆาตกรรม นักข่าวจึงพากันตั้งสมญานามให้กับเธอว่า “แม่ดอกรักเร่สีดำ” หรือ The Black Dahlia ซึ่งได้มาจากประวัติที่พวกเขาไปสืบค้นเพื่อประกอบเนื้อหาข่าวนั่นเอง

เอลิซาเบ็ธตอนสาว สวยมาก เธอเคยเป็นดาราและนางแบบด้วย

 วาระสุดท้ายของชีวิต 

ชีวิตของ เอลิซาเบ็ธ ดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นเท่าไหร่นัก เธอตกเป็นข่าวอื้อฉาวแทบจะตลอดเวลา และควงผู้ชายไม่ซ้ำหน้า คงเพราะวิถีชีวิตแบบนี้ ทำให้ชีวิตของเธอไม่ปลอดภัย และส่งผลให้เธอต้องจากไปก่อนวัยอันควรด้วยอายุเพียง 22 ปี จากเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่ชาวอเมริกันทุกคนยังคงจดจำ โดยพยานคนสุดท้ายที่เห็นเธอมีชีวิตอยู่คือ พนักงานเฝ้าประตูของโรงแรมบิสท์มอร์ ลอสแอนเจลิส เขาให้การกับตำรวจว่า เอลิซาเบธ ไม่ได้เข้าพัก เธอเพียงแต่ใช้โทรศัพท์ในล็อบบี้ของโรงแรม และเตร็ดเตร่อยู่แถวนั้นหลายต่อหลายชั่วโมง ก่อนจะหายออกไปจากโรงแรมในที่สุด หลังจากนั้นไม่นาน แม่บ้านชื่อ "เบ็ตตี้ เบอซิงเกอร์" (ฺBetty Bersinger) เป็นผู้พบศพของเธอในพงหญ้าข้างทาง ขณะกำลังพาลูกสาวตัวน้อยวัยสามขวบไปที่ร้านซ่อมรองเท้า เบ็ตตี้แจ้งตำรวจทันที สภาพศพนั้นน่ากลัวมาก เพราะถูกชำแหละยับเยินจนขาดเป็นสองท่อน สันนิษฐานว่า ฆาตกรน่าจะมีจิตใจไม่ปกติ 
 

 เบตตี้ เบอซิงเกอร์ (Betty Bersinger) ผู้พบศพและแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ตกลงใครคือคนร้าย 

จนแล้วจนรอด ตำรวจก็ยังคงสืบไม่ถึงตัวฆาตกรคนนั้น และแฟ้มคดีของ เอลิซาเบ็ธ ก็ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ที่ สำนักงานใหญ่ Federal Bureau of Investigation” (หรือที่เราเรียกติดปากกันย่อ ๆ ว่า “เอฟบีไอ” แบบที่เห็นในภาพยนตร์หรือซีรี่ย์) สำหรับข้อสันนิษฐานที่ตำรวจวางไว้ก็เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของเอลิซาเบ็ธนั่นเอง ด้วยนิสัยคบหาผู้ชายมากมาย ควงผู้ชายไม่ซ้ำหน้า ทั้งยังชอบบริหารเสน่ห์ใส่บรรดาหนุ่มๆ เหล่านั้น ความเป็นไปได้จึงไม่พ้นเรื่องชู้สาว หึงสาพยาบาท หากเหตุผลที่ทำให้การหาตัวคนร้ายเป็นเรื่องยาก ก็เพราะผู้ต้องสงสัยในคดี มีมากถึง 50 กว่าคน นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้การสืบคดีเป็นเรื่องวุ่นวาย ก็เพราะในช่วงเวลาที่เกิดคดี มีคนโรคจิตโทรศัพท์เข้ามาแจ้งเบาะแสหลอก รวมถึงขอมอบตัวในฐานะฆาตกรกันเป็นว่าเล่น ทว่าหลังจากการสืบสวน พบว่าไม่มีใครเป็นตัวจริงเลยแม้แต่คนเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้จะเจอกับปัญหาจนทุลักทุเลอย่างหนัก แต่ตำรวจก็มีรายชื่อผู้ต้องสงสัยหลักๆ อยู่ในมือ ซึ่งทุกคนล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิดของเอลิซาเบ็ธทั้งสิ้น โดยพี่ซูมได้ยกตัวอย่างมาให้ทั้งหมด 7 คนก่อนก็แล้วกันค่ะ 
 

คนที่ 1 : วอลเตอร์ เบย์ลีย์ (Walter Bayley)

วอลเตอร์ เบย์ลีย์ หรือ ดร. วอลเตอร์ อลอนโซ เบย์ลีย์  (Dr. Walter Alonzo Bayley) ศัลยแพทย์รู้จักและสนิทสนมกับครอบครัวชอร์ตเป็นอย่างดี วอลเตอร์อาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่งห่างจากจุดที่พบศพเพียงไม่กี่เมตร หลังเกิดเหตุฆาตกรรม ชีวิตของหมอเบย์ลีย์มาถึงจุดตกต่ำขีดสุด ด้วยอาการป่วยจากโรคอัลไซเมอร์ ( มีอาการหลงลืม ความทรงจำไปเรื่อย ๆ เลวร้ายที่สุดคือการจำอะไรไม่ได้เลย) ต่อมาก็เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1948 ซึ่งการที่คุณหมอมีชื่อเข้าข่ายเป็นผู้ต้องสงสัยก็มาจากความสนิทสนมบวกกับความชำนาญในอาชีพจากการผ่านั่นเอง แต่นั่นก็แค่สันนิษฐาน ไม่มีหลักฐานมากไปกว่านี้ และสุดท้ายหลังจากสอบปากคำแล้วไม่พบความคืบหน้าใดๆ ข้อสันนิษฐานก็ถูกปัดตกไป

 ดร.วอลเตอร์ อลอนโซ เบย์ลีย์  (Dr. Walter Alonzo Bayley) 

คนที่ 2 : จอร์จ โนวตัน (George Knowlton)

จอร์จ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเนื่องจากตอนเกิดเหตุ เขาอยู่ที่ลอนแอนเจลิสพอดี ชายคนนี้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี ค.ศ. 1962 กระนั้นแทนที่เรื่องจะเงียบลง ก็กลับกลายเป็นเรื่องครึกโครม เมื่อ “เจนิซ” (Janice Knowlton) ลูกสาวของจอร์จได้อ้างว่าเธอเห็นบิดาฆาตกรรมเอลิซาเบ็ธกับมือ แถมเธอเป็นเขียนบทภาพยนตร์ Daddy was the black dahlia killer ที่เล่าเหตุการณ์การฆาตกรรมอย่างละเอียด อย่างไรก็ดี เรื่องที่เจนิซเล่าขาดหลักฐานและขาดความชัดเจน ที่สำคัญ เธอเคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า สมองมีความผิดปกติจนสร้างความทรงจำปลอมขึ้นมา ดังนั้นเรื่องข้อสันนิษฐานว่าจอร์จเป็นฆาตกรจึงเป็นอันตกไป
 

  เจนิซ โนว์ตัน (Janice Knowlton) ลูกสาวของจอร์จ

คนที่ 3 : เลสลี่ ดิลล่อน (Leslie Dillon)

เลสลี่ เป็นพนักงานยกกระเป๋าของโรงแรมไมอามี่ สิ่งที่ทำให้เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัยคือ จดหมายที่เขียนถึง ดร. พอล เดอ ริเวอร์ (Dr.Paul De River) คุณหมอผู้เชี่ยวชาญคดีเกี่ยวกับความผิดปกติทางเพศ เนื้อหาข้างในมีใจความว่า เจฟฟ์ คอนเนอร์ (Jeff Conner)  เพื่อนของตนอยู่ในซานฟรานซิสโก และเคยพบกับเอลิซาเบ็ธ ในปี ค.ศ 1947 ซึ่งพอเรื่องไปถึงหูตำรวจปุ๊ปพวกเขาสองคนโดนก็จับปั๊ป อย่างไรก็ตาม ในเมื่อไม่มีหลักฐานมากพอจะดำเนินคดี ทั้งสองก็ถูกปล่อยตัวไปในที่สุด 

พนักงานยกกระเป๋าโรงแรมไมอามี่
เลสลี่ ดิลล่อน (Leslie Dillon)

 

คนที่ 4 : แจ๊ค วิลสัน หรือ อาร์โนลด์ สมิธ (Jack Anderson Wilson / Arnold Smith)

ชายคนนี้ถือว่าติดอันดับผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากประวัติก่อคดี ตำรวจสาวไปถึงตัวของแจ๊ค เพราะจอห์น กิลมอร์ (John Gilmore) ผู้ประกาศว่า แจ๊ค เปิดปากเล่ารายละเอียดสำคัญที่มีแต่ฆาตกรเท่านั้นที่จะรู้ให้เขาฟัง เมื่อตำรวจรู้เรื่องเข้าก็ออกหมายจับแจ๊คในทันที น่าเสียดายที่ทุกอย่างช้าเกินไป แจ๊คเสียชีวิตที่โรงแรมฮอลแลนด์ ลอสแอนเจลิสในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1982 ด้วยเหตุไฟไหม้ และหลังจากนั้น จอห์น กิลมอร์ ก็เขียนหนังสือชื่อ The true story of black dahlia ออกวางจำหน่าย พร้อมรายละเอียดลึกลับจากปากของแจ๊คที่อ่านแล้วทุกคนต้องขนลุกเกรียว 

 แจ๊ค แอนเดอร์สัน วิลสัน (Jack Anderson Wilson) หรือ

อาร์โนลด์ สมิธ (Arnold Smith) 

คนที่ 5 : ดร.จอร์จ ฮิล โฮเดล (Dr. George Hill Hodel)

ดร.จอร์จ ฮิล โฮเดล หรือ หมอโฮเดล ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร สิ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันถึงกับช็อก ก็เพราะคำกล่าวหานั้นมาจากปากลูกชายแท้ๆ อย่าง สตีฟส์ โฮเดล อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนแอลเอ โดยสตีฟค้นพบหลักฐานมากมายจากมรดกที่พ่อยกให้เขาหลังจากเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1999 และเขามั่นใจมากว่าพ่อคือฆาตกรที่ฆ่าเธอ ต่อมา สตีฟส์ได้เขียนหนังสือเชิงสารคดีเรื่อง Black Dahlia Avenger – The true story ทว่าน่าเสียดายที่ข้อเท็จจริงในหนังสือ ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ที่สำคัญ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า... ทฤษฎีนี้เป็นความจริงหรือไม่ 

นายแพทย์จอร์จ ฮีล โฮเดล (Dr.George Hill Hodel) 

 

คนที่ 6 : วู้ดดี้ กูธรี (Woody Guthire)
คนที่ 7 : ออร์สัน เวลส์ (Orson Wells)  

นอกจากบุคคลทั้งห้าที่กล่าวไปข้างต้น คดีนี้ยังมีผู้ต้องสงสัยเป็นคนดังสองคนด้วยกัน ได้แก่ นักร้องอย่าง วู้ดดี้ กูธรี (Woody Guthire) และโปรดิวเซอร์อย่าง ออร์สัน เวลส์ (Orson Wells) ทั้งสองคนถูกเชิญมาสอบสวนด้วย แต่ก็ถูกปล่อยตัวทันทีเพราะไม่พบข้อสงสัยอะไร นอกจากสองคนนี้ ก็ยังมีลูกหลานคนใหญ่คนโตอื่นๆ อีกมากมายที่พัวพันกับเอลิซาเบ็ธ สร้างความปวดหัวให้กับตำรวจถึงขั้นสุด ถึงขั้นมีเสียงร่ำลือว่าแม้จะเกษียณราชการ หรือย้ายตำแหน่ง ไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับคดีอีกต่อไปแล้ว ทุกคนก็ยังคงจดจำเรื่องราวของแม่ดอกรักเร่สีดำไว้ในใจเสมอ

วู้ดดี้ กูธรี (Woody Guthire) ขวา
ออร์สัน เวลส์ (Orson Wells) ซ้าย

นอกจากนี้ ผู้ต้องสงสัยไม่ได้มีแค่บรรดาหนุ่มๆ เท่านั้น ยังมีหญิงสาวรวมอยู่ด้วย เพราะตำรวจสืบพบว่า ก่อนจะเสียชีวิต เอลิซาเบ็ธ ได้ไปพักอาศัยอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลังจากการสืบสวน ก็พบว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอ และต้องปล่อยตัวไปเหมือนกับทุกคนด้านบน

 เบาะแสที่มีกับความหวังที่ริบหรี่

หลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่ดูเป็นรูปเป็นร่างเชื่อถือได้จากฆาตกรโดยตรงคือ กล่องพัสดุปริศนาที่ถูกส่งไปที่ สำนักพิมพ์ลอสแอนเจอลิสเอ็กซ์แซมิเนอร์ (Los Angelis Examiner) เจ้ากล่องพัสดุที่ว่านี้ส่งกลิ่นน้ำมันหึ่ง มีกระดาษโน้ตสั้นๆ ไม่ได้เขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์ดีด ทว่าใช้การตัดคำจากกระดาษหนังสือพิมพ์แทน มีใจความว่า “นี่คือสมบัติส่วนตัวของดาห์เลีย และเอกสารที่เป็นเบาะแส” ซึ่งหลังจากตรวจสอบภายในกล่อง ตำรวจได้พบว่า ข้าวของทั้งหลายเป็นของใช้ส่วนตัวของเอลิซาเบ็ธจริงๆ รวมถึงมีไดอารี่ของหญิงสาวรวมอยู่ด้วย และที่น่าตกใจที่สุดคือ ภายในสมุด ได้มีหมายเลขโทรศัพท์ของหนุ่มๆ ที่เอลิซาเบ็ธเคยออกเดทด้วยทั้งหมด น่าเสียดายที่ของใช้ทุกชิ้นถูกเช็ดด้วยน้ำมันเบนซินอันเป็นที่มาของกลิ่นเหม็นหึ่ง เพื่อลบรอยนิ้วมือกลบเกลื่อนร่องรอยสำหรับการตามตัวไว้ใช้เป็นเบาะแสอย่างสมบูรณ์แบบดุจรอยเท้าบนหิมะที่ถูกกลบไปนั่นเอง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่อาจสืบสาวต่อ และไม่รู้ว่าใครกันที่เป็น "ผู้หวังดี" คนนั้น 

รูปจดหมายกับตัวกล่อง

จากเรื่องจริงสู่นิยายและจอเงิน

คดีในตำนานโด่งดังกันมานานนับทศวรรษ ได้รับความสนใจจากทั้งสื่อมวลชนและชาวอเมริกันจำนวนมาก มีหนังสือตีพิมพ์ออกมาหลายต่อหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเชิงสารคดีหรือแม้แต่ฉบับนิยาย ที่สร้างสรรค์โดยนักเขียน เจมส์ เอลด์รอย (James Ellroy) โดยเขาตั้งชื่อหนังสือตรงตัวว่า The Black Dahlia”  ต่อมานิยายเล่มนี้ได้ถูกนำไปดัดแปลง เป็นฉบับภาพยนตร์เรื่องยาว ออกฉายในปี ค.ศ. 2006  ผลงานกำกับของ ไบรอัน เดอ พาลมา (ฺBrian De Palma) ใช้ชื่อเดียวกันกับหนังสือต้นฉบับ โดยผู้รับบทเป็นเอลิซาเบ็ธ ชอร์ต คือ มีอา คิชเนอร์ (Mia Kirshner

ฉบับนิยาย (ขวาของรูป) ฉบับสารคดี (ซ้ายของรูป)

The Black Dahlia Movie (2006)

พี่ซูม

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก :

http://content.time.com/time/specials/packages/article/0,28804,1867198_1867170_1867291,00.html

https://www.biography.com/people/black-dahlia-21117617

https://www.fbi.gov/history/famous-cases/the-black-dahlia

https://www.theguardian.com/us-news/2016/may/26/black-dahlia-murder-steve-hodel-elizabeth-short

https://findery.com/MadameSpooky/notemaps/true-crime

http://www.nydailynews.com/news/national/don-black-dahlia-article-1.2498088

http://www.bbc.com/news/world-us-canada-38513320

http://stevehodel.com

https://www.goodreads.com/book/show/21706.Black_Dahlia_Avenger

http://www.komkid.com/ประวัติศาสตร์สังคม/วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ/

http://www.woody100.com/bio.htm

https://www.amazon.co.uk/Black-Dahlia-L-Quartet/dp/0099537869

http://blackdahlia.web.unc.edu/george-knowlton/

http://blackdahlia.web.unc.edu/leslie-dillon/

http://norsyahirahnazamdec5a.blogspot.com/p/the-suspect.html

https://www.kcet.org/shows/departures/the-black-dahlia-of-leimert-park

พี่ซูม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด