เรื่องน่ารู้ “ถาดนับยา” ของเล่นในฝันวัยเด็ก สู่อุปกรณ์การสอบสุดโหดคณะเภสัชฯ

     สวัสดีค่ะ เชื่อว่าหลายคนคงเป็นเหมือน พี่ใบเฟิร์น แน่ ๆ ตอนเด็กเข้าร้านขายยาทีไร ก็จะเห็นของสิ่งหนึ่งที่เราอยากเล่นมาก ๆ ของสิ่งนี้เวลาเราสั่งยาคนขายก็จะหยิบมาใช้งานทุกที ภายหลังมารู้ว่าเขาเรียกว่า "ถาดนับยา" แต่ใครจะรู้ว่าถาดนับยานี่แหละ ของที่เราอยากเล่นตอนเด็ก แท้จริงแล้วเป็นอุปกรณ์การสอบสุดโหดประจำคณะเภสัชฯ กันเลยทีเดียว วันนี้ พี่ใบเฟิร์น จะพาไปรู้จักอุปกรณ์สิ่งนี้ ไปดูกันเลยค่ะ
 

 
ถาดนับยา ใช้เพื่อนับเม็ดยามีประโยชน์สามอย่าง
      “ถาดนับยา”  มีไว้ใช้ทำอะไร? ก็ตรงตัวตามชื่อเลย มีไว้สำหรับนับเม็ดยา ให้น้องๆ ลองนึกภาพ ยาที่อยู่ในขวดใหญ่ๆ หากจะนับเม็ดเม็ดเพื่อแบ่งใส่ซองให้คนไข้คงลำบากแน่ๆ ถาดนับยานี่แหละ จึงเป็นอุปกรณ์ตัวช่วยเรื่องนี้ และถ้าถามว่าทำไมต้องใช้ถาดนับยา? ถาดนับยาสำคัญต่อเภสัชกรอย่างไร? เหตุผลคือ ทำให้เภสัชกรที่จัดยาให้คนไข้นั้น นับยาได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และทำให้ยาที่จัดให้คนไข้นั้นสะอาด ปลอดภัย
 "ถาดนับยา" ยังเป็นหนึ่งในรายวิชาที่เด็ก คณะเภสัชฯ ต้องเจอ
     “พี่ปลาบ อรรถเดช  อุณหเลขกะ รุ่นพี่คณะเภสัชฯ จุฬาฯ” เล่าว่าการใช้ถาดนับยานั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิชาที่นิสิตนักศึกษาคณะเภสัชฯ ทุกคนจะต้องเรียน และต้องฝึก ให้ชำนาญโดยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีเรียนในวิชาหลักการจ่ายยา หรือวิชา Pharmacy Practice ซึ่งถ้าน้อง ๆ เป็นนิสิตที่นี่ก็จะได้เรียนกันในช่วงปี 3 - ปี 4 พี่ปลาบยังเล่าต่อไปอีกว่า "ในวิชาเรียนนั้นจะมีการสอบการใช้ถาดนับยาเป็นการสอบเพื่อเก็บคะแนน แต่การสอบที่ถือได้ว่าเป็นจุดพีคที่สุดของนิสิตนักศึกษาเภสัชฯ ก็คือ การสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ที่นิสิตนักศึกษาคณะเภสัชฯ ทุกคนจะต้องสอบผ่านให้ได้ เพื่อจะได้รับใบประกอบวิชาชีพไปเป็นเภสัชกรรม เรียกได้ว่าถาดนับอยู่ตั้งแต่การสอบระหว่างเรียน และสอบจบกันเลยทีเดียว"
 
ถาดนับยา ถูกใช้เป็นหนึ่งในการสอบวิชาชีพเภสัชฯ
     อย่างที่ พี่ปลาบ เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะมีการสอบครั้งสำคัญของนิสิตนักศึกษาเภสัชฯ ก็คือการสอบรับใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม การสอบนี้สำคัญตรงที่เด็กคณะเภสัชฯ ทุกคน ต้องสอบ เพื่อที่จะได้รับใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ที่เหมือนกับใบรับรองว่าเรานั้นเป็นเภสัชกร จริง ๆ การสอบจะจัดโดยสภาเภสัชกรรม สอบพร้อมกันทั่วประเทศ จะมีการสอบ 2 ครั้งคือ ตอนปี 4 ถ้าสอบปี 4 จะเป็นข้อสอบที่ใช้ความรู้ที่เคยเรียนมาตั่งแต่ปี 1 – 4 และ สอบตอน  ปี 6 จะเป็นข้อสอบที่ใช้ความรู้ที่เคยเรียนมาตั่งแต่ปี 1 – 6 รวมกันเลย"

     การสอบนั้นจะแบ่งข้อสอบเป็น 2 ส่วนหลักคือ 1.การสอบ MCQ (Multiple Choice Question) เป็นการสอบข้อเขียน คะแนนผ่าน 60 % สำหรับเนื้อหาในการสอบกับจำนวนข้อในการสอบนั้น จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทุกปี 2.การสอบ OSPE เป็นการสอบปฏิบัติ ต้องสอบได้คะแนนผ่าน 80 % และในการสอบ OSPE การสอบปฏิบัตินั้น จะแบ่งเป็นฐาน ๆ  และ “ถาดนับยา” ได้ถูกนำมาใช้ในการสอบประจำฐาน ๆ หนึ่งด้วย  บอกเลยว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ในการสอบผู้สอบจะต้องทำตามขั้นตอนการใช้อย่างวิธี ไม่ตกหล่น และทันเวลาที่กำหนด จะยาก จะโหดขนาดไหนตามพี่เฟิร์นไปดูกัน

 

 
สอบ “ถาดนับยา” มีเวลาให้ 4 นาที ต้องนับตามที่อาจารย์กำหนด
     จากที่ได้เกริ่นไปแล้วเรื่องการสอบรับใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จะต้องมีสอบ OSPE หรือการสอบปฏิบัติ โดยการสอบนี้ จะมีฐานการใช้ถาดนับยาอยู่ ขั้นตอนการสอบนับยามีดังนี้
  • ขั้นตอนที่ 1 คือ อ่านโจทย์ อ่านใบสั่งยา เพื่อที่จะได้จัดยาให้ตรงกับโจทย์ 
  • ขั้นตอนที่ 2 เลือกถาดยา โดยจะต้องแยกถาดยาที่อาจมียาทั้งยาทั่วไป ยาเพนิซิลลิน (Pennicillin) หรือยาซัลฟา เราต้องเลือกใช้ถาดนับยาให้ถูกต้อง ตรงตามประเภทของยาที่จะนับเพราะถ้าในสถานการณ์จริงนั้น หากแยกไม่ถูกอาจเกิดการปนเปื้อนได้  และอาจส่งผลต่อคนไข้บางราย ที่แพ้ยา อาจเป็นอันตรายต่อคนไข้มาก ๆ เลยทีเดียว
  • ขั้นตอนที่ 3 ทำความสะอาดถาดนับยา ด้วยการเช็ดแอลกอฮอล์ และรอให้ถาดแห้ง ระหว่างรอถาดแห้ง ก็หยิบขวดยาอ่านฉลากข้างขวดครั้งที่ 1 พอถาดแห้งเทยาลงในถาดจำนวนที่ใกล้เคียงกับที่ต้องการ แล้วทำการนับเม็ดยาทีละ 5 เม็ดลงในช่องด้านข้าง จนครบจำนวนที่ต้องการ เมื่อครบแล้วให้ปิดฝาถาดยา แล้วหยิบขวดยามาอ่านฉลากยาข้างขวดครั้งที่ 2 แล้วจึงเทยา ส่วนที่เหลือกลับลงในขวด เมื่อเทยาลงขวดเสร็จให้ปิดฝาขวดยาให้สนิท แล้วอ่านฉลากยาข้างขวดครั้งที่ 3  เขียนซองยาให้ถูกกับชนิดของยา โดยจะมีซอง 2 แบบระหว่างซองใสกับซองสีชา สำหรับยาที่ต้องป้องกันแสง
  • ขั้นตอนที่ 4  เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ เป็นอันเสร็จการสอบ โดยจะต้องทำทุกขั้นตอนภายใน 4 นาทีและทำให้ถูกต้อ

พี่ปลาบ อรรถเดช  อุณหเลขกะ รุ่นพี่คณะเภสัชฯ จุฬาฯ
 
นับครั้งละ 5 เม็ด คือ เคล็ดลับการใช้ถาดนับยาอย่างถูกวิธี
     พี่ปลาบ ได้บอกเคล็ดลับการใช้ถาดนับยาว่า ขั้นตอนการใช้ก็จะเหมือนกับการสอบ หลัก ๆ คือเราจะต้องมีการทำความสะอาดถาดก่อน รอจนถาดแห้งสนิท ถ้าถาดยังไม่แห้งเวลาเราเทยาลงไป ยาจะติดกับแอลกอฮอล์ที่ถาด และไม่สามารถใช้ได้ และการนับยาในถาดนับยา อาจนับครั้งละ 5 เม็ด และแยกลงในช่องใส่ยา ที่จะใส่ซองให้คนไข้ไว้ และ นับเพิ่มไปเรื่อย ๆ จนครบจำนวนที่ต้องการค่ะ 
 
     เป็นยังไงกันบ้างคะ กับ “ถาดนับยา” ที่ในวัยเด็กมองเป็นของเล่น ที่อยากลองเล่นทุกครั้ง เมื่อเข้าไปร้านขายยา แท้จริงแล้วกับเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมาก ๆ  สำหรับเด็ก คณะเภสัชฯ เพราะถูกนำมาใช้เป็นข้อสอบรับใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่สำคัญ ที่เป็นเหมือนใบยืนยันว่าเราเป็นเภสัชกรจริง ๆ นั่นเอง และเภสัชกรทุกคน ยังต้องใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบอาชีพอีกด้วย หากใครที่มีประสบการณ์กับถาดนับยา หรือมีถาดนับยาเป็นของเล่นในวัยเด็กก็มาแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันนะคะ
พี่ใบเฟิร์น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด