เจาะลึก 7 Workshop งาน DENT CU Open House 2024 น้องๆ ที่อยากเข้า ทันตะฯ จุฬาฯ ห้ามพลาด

สวัสดีค่ะน้องๆ ทุกคน มีน้องๆ คนไหนเลือกคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้เป็นคณะในใจแต่ยังลังเลอยู่บ้างมั้ยคะ วันนี้พี่จูนจูนมีรีวิวเจาะลึกกิจกรรม Workshop ในงาน DENT CU Open House 2024 มาฝากกันแบบละเอียดสุดๆ ชนิดที่ว่าอ่านบทความนี้จบแล้ว น้องๆ หลายคนน่าจะตอบตัวเองได้ว่า เราอยากเข้าคณะนี้ อยากทำงานสายนี้จริงหรือเปล่า

มาเริ่มที่ Workshop  แรกกันเลยค่ะ Workshop นี้ชื่อว่า  Oral surgery Lab หรือ ทันตกรรมศัลยกรรมช่องปาก  น้องๆ จะได้ฝึกเย็บแผลกับหนังเทียม โดยมีพี่ๆ คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดว่าต้องตัดด้ายยังไง หมุนมือยังไง เพราะถ้าเราเย็บแผลไม่ดี อาจจะทำให้แผลปริ แผลหายช้า หรือเลวร้ายที่สุดคือแผลติดเชื้อ  Workshop นี่เหมือนเป็นด่านแรกที่น้องๆ จะหาคำตอบให้ตัวเองได้ว่า เราชอบเนื้องานของอาชีพนี้มั้ย เพราะงานของทันตแพทย์เป็นงานละเอียด สเกลเย็บระดับมิลลิเมตรเอง ซี่ฟันในช่องปากเล็กมากๆ ด้วย

ฝึกเย็บแผลกับหนังเทียม โดยมีพี่ๆ คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ฝึกเย็บแผลกับหนังเทียม โดยมีพี่ๆ คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

 

กิจกรรมที่ 2 ที่พี่จูนจูนไปเข้าร่วมชื่อว่า Indirect Lab วิชานี้ต้องเรียนตอนปี 3 ค่ะ น้องๆ เคยสงสัยว่า กระจกกลมๆ หรือ Mouth Mirror ที่คุณหมอฟันใช้ส่องในช่องปากเรามันทำงานยังไง ทราบมั้ยคะว่าจริงๆ แล้วภาพที่เราเห็นผ่าน Mouth Mirror จะสลับด้านจากซ้ายเป็นขวาด้วยนะ 

Workshop นี้น้องๆ จะได้ลองนั่งทำงานในตำแหน่งจริงของทันตะแพทย์เลย ได้ฝึกตั้งแต่ท่านั่งที่ถูกต้อง ได้ลองใช้เครื่องมืออย่าง Mouth Mirror กับ Explorer และได้ฝึกการจดบันทึกรอยโรคด้วย ต้องบอกว่าห้อง Lab ที่นี่ทันสมัยและน่าเรียนมาก น้องๆ ที่แอบเล็งคณะทันตะไว้ในใจ หลังเข้ามาทำ Workshop นี้ต้องปักธงอันดับ 1 ให้ทันตะ จุฬาฯ แน่นอน

ห้องเรียนทันสมัยและน่าเรียนสุดๆ
ห้องเรียนทันสมัยและน่าเรียนสุดๆ 


 

ลองใช้เครื่องมืออย่าง Mouth Mirror กับ Explorer
ลองใช้เครื่องมืออย่าง Mouth Mirror กับ Explorer 

 

ฝึกใช้อุปกรณ์ ฝึกเย็บแผลไปแล้ว ทีนี้มาฝึกดัดลวดกันบ้างดีกว่าค่ะ เบื้องหลังการดัดฝันของคุณหมอก็เริ่มต้นจากกิจกรรม  ORTHODONTICS นี้แหละ  น้องๆ จะได้ฝึกดัดลวดให้ได้ตามรูปทรงที่กำหนด เริ่มจากทาบลวดกับภาพต้นแบบ เอาปากกามาจุดในตำแหน่งที่เราต้องดัด แล้วก็ลงมือดัดกันเลย คนที่ทำถูกต้อง ลวดจะต้องวางได้เรียบระนาบไปกับโต๊ะ ไม่เผยอ ไม่งอนะคะ 

ฝึกดัดลวดกันเถอะ เหมือนจะง่ายแต่จริงๆ แล้วยากมาก ต้องใช้สมาธิสุดๆ
ฝึกดัดลวดกันเถอะ เหมือนจะง่ายแต่จริงๆ แล้วยากมาก ต้องใช้สมาธิสุดๆ

 

ถ้าพูดถึงคุณหมอฟัน จะขาดคนไข้ฟันผุไม่ได้เลย กิจกรรม Operative ที่พี่จูนจูนไปเข้าร่วมมา เราจะได้สวมบทบาทคุณหมอกรอฟันและอุดฟันให้คนไข้ค่ะ อันดับแรกน้องๆ จะได้รับฟันปูนมาก่อน เราต้องใช้ Handpiece หรือหัวกรอจัดการกรอฟันให้สวยงาม แต่ต้องระวัง! ห้ามกรอลึกเกินไป เพราะถ้าเป็นฟันของคนไข้จริงๆ ก็มีโอกาสที่จะทะลุโพรงประสาทฟันแล้วต้องส่งคนไข้ไปรักษารากฟันต่อได้ แบบนี้หละเรื่องใหญ่เลย พอกรอฟันเรียบร้อยแล้ว เราก็ได้ลองเอาขี้ผึ้งไปใช้อุดฟันดู ถ้าทำได้เรียบร้อย จะเหมือนในภาพที่พี่จูนจูนถ่ายมาฝากเลยค่ะ

ได้ลองใช้ Handpiece หรือหัวกรอ จัดการกรอฟัน ต้องใจเย็นกะน้ำหนักมือดีๆ อย่ากรอลึกเกินไป
ได้ลองใช้ Handpiece หรือหัวกรอ จัดการกรอฟัน ต้องใจเย็นกะน้ำหนักมือดีๆ อย่ากรอลึกเกินไป

 

เทียบให้ดูเลย ซ้ายคือฟันที่ยังไม่ได้กรอ ขวาคือฟันที่กรอและอุดแล้ว
เทียบให้ดูเลย ซ้ายคือฟันที่ยังไม่ได้กรอ ขวาคือฟันที่กรอและอุดแล้ว

 

ทำ Workshop ที่เกี่ยวกับการทำงานของทันตแพทย์ไปเยอะแล้ว แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือการวินิจฉัยโรคค่ะ Workshop นี้ชื่อว่า Oral Medicine เกี่ยวกับการวินิจนัยโรคเกี่ยวกับฟัน เช่น ถ้าน้องๆ ปวดฟันแล้วไปหาหมอฟัน คุณหมอก็จะตรวจช่องปาก ชักประวัติ ก่อนวิเคราะห์โรค และส่งต่อไปแผนกอื่น กิจกรรมนี้น้องๆ จะได้ลองเป็นคุณหมอ ชักประวัติคนไข้ จำลองสถานการณ์เหมือนอยู่ในคลินิกเองจริงๆ เลย โดยพี่ๆ จะลองเล่นเป็นคนไข้ให้น้องๆ และคอยให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีกด้วยว่าต้องถามยังไงให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุด เรามีบทมาให้ว่าที่ทันตแพทย์ได้ฝึกซ้อมด้วยนะ  

 

คำถามที่คุณหมอฟันต้องใช้ตอนซักประวัติคนไข้
คำถามที่คุณหมอฟันต้องใช้ตอนซักประวัติคนไข้

 

หลังจากพักไปทำ Workshop เบาสมองกันมาแล้ว ก็กลับมาเข้า Workshop  ที่ต้องใช้การวิเคราะห์อย่าง  Forensic Dentistry เกี่ยวกับ “นิติทันตวิทยา” หรือการระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตจากฟันนั่นเอง ในบางครั้งที่ร่างของผู้เสียชีวิตเน่าเปื่อยหรือเสียหายเกินกว่าจะระบุตัวตนได้  นิติทันตวิทยานี่แหละที่ช่วยระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตและพาพวกเขากลับสู่ครอบครัวได้ 

Workshop นี้ พี่ๆ จะมีสถานการณ์จำลอง ให้น้องๆ ได้สวมบทบาทเป็นนักสืบ พิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้เสียชีวิตผ่านการดูฟันจากฟิล์มเอกซเรย์จริงๆ โดยพี่ๆ จะมี victim identification form จำลอง ให้น้องๆ ได้ลองบันทึกผลเองอีกด้วย เห็นมั้ยคะว่าสโคปงานของทันตแพทย์ ยังมีอีกหลายแง่มุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

พิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้เสียชีวิตผ่านการดูฟันจากฟิล์มเอกซเรย์จริงและลงบันทึกผล
พิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้เสียชีวิตผ่านการดูฟันจากฟิล์มเอกซเรย์จริงและลงบันทึกผล

 

มาถึง Workshop สุดท้ายกันแล้วค่ะ เราอาจจะทราบกันว่าปกติแล้วนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์จะต้องมีคลาสที่เรียนเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์โดยศึกษาผ่านร่างของอาจารย์ใหญ่ แต่รู้มั้ยคะว่าเรียนทันตะก็ต้องศึกษาร่างของอาจารย์ใหญ่เช่นเดียวกัน  ใน Workshop  Gross Lab น้องๆ จะได้สัมผัสบรรยากาศของห้องเรียนกายวิภาคศาสตร์ จะได้เห็นชิ้นส่วน และอวัยวะจริงๆ ของมนุษย์ ผ่านการศึกษาจากร่างอาจารย์ใหญ่ รวมทั้งน้องๆ จะได้ดูเนื้อเยื่อเล็กๆ ผ่านกล้องจุลทรรศน์อีกด้วย น้องๆ อาจสงสัยว่าทำไมคณะทันตะ ถึงต้องเรียนร่างกายของมนุษย์ทั้งร่างกาย ไม่ใช่แค่ฟัน คำตอบก็คือหมอฟันยังต้องคำนึงถึงโรคอื่นๆ ของผู้ป่วย ก่อนเริ่มการรักษานั่นเอง

ศึกษาเนื้อเยื่อเล็กๆ ผ่านกล้องจุลทรรศน์
ศึกษาเนื้อเยื่อเล็กๆ ผ่านกล้องจุลทรรศน์

 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น้องๆ  น่าจะเห็นภาพการเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์ชัดเจนมากขึ้นแล้วนะคะ  ลองสำรวจตัวเองดูอีกทีว่าเราโอเคกับสิ่งที่เราจะต้องเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และบางส่วนอาจจะเป็นงานที่เราจะต้องทำไปตลอดชีวิตมั้ย ถ้าโอเคแล้วก็ลุยกันเลย ตั้งใจเตรียมสอบแล้วพิชิตคณะในฝันมาให้ได้ หรือถ้าน้องๆ คนไหนมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถ Comment ไว้ได้เลยค่ะ พี่จูนจูนจะช่วยหาคำตอบมาให้เอง

 

สามารถติดตามข่าวสารของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาได้ที่

Facebook  https://www.facebook.com/Dentistrychula

 

พี่จูนจูน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด