ไม่มีศาสนาก็อยู่ได้! เปิดเหตุผลคนเกาหลีรุ่นใหม่ ทำไมถึงไม่นับถือศาสนา

สวัสดีค่ะชาว Dek-D เราอาจเคยได้ยินว่า ‘เกาหลีใต้’ เป็นประเทศที่ถูกจดจำในฐานะชาติที่ประชาชนกว่าค่อนประเทศ(โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่)ไม่นับถือศาสนา เลยอาจชวนให้บางคนเข้าใจผิดไปว่าประเทศเกาหลีไม่มีศาสนารึเปล่า? ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลยค่ะ เพราะสังคมเกาหลีเรียกได้ว่าเป็น ‘Multireligious Society’ หรือ ‘สังคมพหุศาสนา’ เลยก็ว่าได้ ทั้งมีความหลากหลายทางศาสนาสูงมาก แล้วยังไม่นับลัทธิความเชื่อที่แตกยิบย่อยไปอีก! 

เดี๋ยวพี่ออมสินจะพาไปดูกันว่าศาสนาในเกาหลีมีมากแค่ไหน? แล้วเหตุผลหรือปัจจัยอะไรล่ะที่ทำให้ผู้คนในแดนกิมจิส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้เลือกที่จะไม่นับถือศาสนา? ตามมาดูกันเลยค่ะ

Photo Credit: Korea.net
Photo Credit: Korea.net

'Shamanism' หรือลัทธิบูชาผี
ศาสนาที่มีในเกาหลีตั้งแต่ยุคหิน

Photo Credit: Jeju weekly
Photo Credit: Jeju weekly

ช่วงนี้กระแสภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างระหว่างไทย-เกาหลี อย่างเรื่อง ‘ร่างทรง’ กำลังมาแรงมากเลยค่ะ และไม่ใช่แค่ที่ไทยนะ เพราะที่เกาหลีเค้าก็นับถือผีและมีร่างทรงเหมือนกัน (เห็นในซีรีส์บ่อยมากกก) ซึ่งลัทธิบูชาผี หรือ Shamanism นั้นเป็นศาสนาดึกดำบรรพ์ที่มีตัวตนอยู่ในสังคมเกาหลีมาตั้งแต่ยุคหิน เป็นรูปแบบความเชื่อที่เป็นระบบไร้โครงสร้างแต่สามารถซึมซาบเข้าสู่ชีวิตประจำวันของคนผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีทางในการดำเนินชีวิต โดยคนในสังคมมีความเชื่อว่าในทุกสรรพสิ่งมีวิญญาณสิงสถิตอยู่

แม้ว่าในเวลาต่อมาศาสนาพุทธหรือลัทธิขงจื๊อจะกลายเป็นเครื่องมือในการปกครองประชาชนของพวกผู้นำ แต่ว่าความเชื่อเรื่องผีไม่เคยหายไปไหน ‘หมอผี’ หรือที่เรียกว่า ‘มูดัง’ (무당) ยังคงอยู่และได้รับความไว้วางใจจากผู้คนเสมอ เป็นดั่งสื่อกลางที่เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์และโลกของวิญญาณ มีหน้าที่ปัดเป่าโชคร้าย และรักษาโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงคอยแก้ไขความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นของคนและวิญญาณ

พัคกึนฮเย อดีตประธานาธิบดีเกาหลีที่เคยเชื่อหมอผีในการบริหารประเทศ
พัคกึนฮเย อดีตประธานาธิบดีเกาหลีที่เคยเชื่อหมอผีในการบริหารประเทศ
Photo Credit: CNN
สรุปมหากาพย์ดราม่า ‘พัก กึนฮเย’

กระทั่งในปัจจุบันที่มีลัทธิ ความเชื่อ และศาสนาใหม่ๆ อุบัติขึ้นในสังคมเกาหลีอยู่เสมอ แต่พิธีกรรมทางไสยศาสตร์และการบูชาผีนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงมีบทบาทและโลดแล่นอยู่ในสังคมให้ได้พบเห็นกันทุกวัน

ศาสนาพุทธ

Photo Credit: Korea Post
Photo Credit: Korea Post

พระพุทธศาสนาเข้ามาในเกาหลีตั้งแต่สมัยที่เรียกว่าสามอาณาจักรแล้วล่ะค่ะ โดยที่ในปีคริสต์ศักราชที่ 372 อาณาจักรโกกูรยอพระที่ชื่อว่าซุนโด ผู้มาจากราชวงศ์ Qian Qin ของจีนได้นำมาเผยแพร่ ต่อมาในปี 384 ที่แพคเจได้รับอิทธิพลจากพระมาลานันดาที่มาจากราชวงศ์จินตะวันออก และในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 5 พระอาโดได้นำเอาศาสนาพุทธจากโกกูรยอเข้ามาในชิลลา 

นับจากนั้นศาสนาพุทธก็กลายมาเป็นศาสนาหลักที่ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากชนชั้นปกครองของทั้งสามอาณาจักร เนื่องจากเป็นสิ่งที่เข้ากันกับโครงสร้างสังคม โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาและที่พึ่งทางใจหนึ่งเดียวของประชาชน เหมือนกับที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวของรัฐชาตินั่นเองค่ะ

ในปีคริสต์ศักราช 668 เมื่อชิลลาสามารถรวมคาบสมุทรเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียว ศาสนาพุทธได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติและรุ่งเรืองถึงขีดสุด แม้ว่าในภายหลังจะเสื่อมลงเล็กน้อย แต่เมื่อราชวงศ์โครยอขึ้นมามีอำนาจแทนที่ศาสนาพุทธก็กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรมแบบพุทธก็ล้วนได้รับความสนใจอย่างมากจากบรรดาชนชั้นสูง 

Photo Credit: Korea Post
Photo Credit: Korea Post

แต่ว่าเมื่อถึงคราวที่ราชวงศ์โครยอเสื่อมอำนาจ และแม่ทัพอีซองกเยได้สถาปนาตนเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซอนในปี 1392 เขาได้พยายามกวาดล้างศาสนาพุทธให้หมดไป และนำเอาลัทธิขงจื๊อเข้ามามาแทนที่เพื่อเป็นแนวทางการบริหารงานบ้านเมืองและกำหนดแนวปฏิบัติของประชาชนด้วย

เมื่อจักรวรรดิเกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในปี 1910 ญี่ปุ่นได้พยายามจะหลอมรวมศาสนาพุทธแบบเกาหลีเข้ากันกับศาสนาพุทธแบบญี่ปุ่น แต่ความพยายามนั้นล้มเหลว และทำให้ศาสนาพุทธที่ถูกทำลายหายไปกลับคืนมาอยู่ในความสนใจของคนเกาหลีอีกครั้ง 

ปัจจุบันนี้ศาสนาพุทธในเกาหลีได้ถูกฟื้นฟูและนำมาปรับให้เข้ากับสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง พระภิกษุบางส่วนเก็บตัวทำสมาธิอยู่บนเขา บ้างก็มาเผยแพร่ศาสนาในตัวเมือง และบางส่วนก็เรียนต่อมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาค้นคว้างานวิจัย นอกจากนี้ชาวต่างชาติยังให้ความสนใจในแง่มุมการทำสมาธิตามแบบฉบับศาสนาพุทธในเกาหลีอีกด้วย

ลัทธิขงจื๊อ

ภาพขงจื๊อโดยจิตกรสมัยราชวงศ์ถัง
ภาพขงจื๊อโดยจิตกรสมัยราชวงศ์ถัง
Photo Credit: wikipedia

ลัทธิขงจื๊อก่อตั้งโดยขงจื๊อในสมัยศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล โดยพื้นฐานแล้วคือระบบจริยธรรม ความรัก ความเมตตา ความชอบธรรม มารยาท และการเป็นผู้นำที่ชาญฉลาด ถูกก่อตั้งมาเพื่อจุดประสงค์ในการจัดระเบียบสังคมและครอบครัวอย่างเป็นระบบ

ในสมัยชิลลาที่แม้จะมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เมื่อนักปราชญ์ที่ถูกส่งไปศึกษาลัทธิขงจื๊อยังราชวงศ์ถังเดินทางกลับมา ทางการจึงได้นำเอาแนวคิดแบบขงจื๊อมาเป็นปรัชญาและโครงสร้างหลักของการบริหารจัดการระบบสังคม

ต่อมาเมื่ออีซองกเยสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ และก่อตั้งราชวงศ์โชซอนในปี 1392 ลัทธิขงจื๊อได้กลายเป็นรากฐานของสังคม ทุกมิติของชีวิตประชาชนคือวิถีปฏิบัติของขงจื๊อ แม้กระทั่งในปัจจุบันลัทธิขงจื๊อก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเกาหลีที่ฝังรากลึกจนไม่สามารถแยกขาดจากกันได้เลยค่ะ ตัวอย่างที่เห็นกันง่ายๆ เช่น เรื่องความกตัญญูกตเวที สังคมแห่งการทำงานหนัก ค่านิยมผู้ชายทำงานและผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูก เป็นต้น

ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

Photo Credit: Unsplash by Andrea De Santis
Photo Credit: Unsplash by Andrea De Santis

ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเดินทางเข้ามาในดินแดนเกาหลีผ่านหนังสือของมิชชันนารี Matteo Ricci ในศตวรรษที่ 17 นอกจากหลักคำสอนแล้วหนังสือเล่มนี้ยังรวบรวมความรู้ของชาวตะวันหลายอย่าง เช่น ปฏิทินสุริยคติ ที่ดึงดูดบัณฑิตโชซอนในขณะนั้นเป็นอย่างมาก

จนถึงศตวรรษที่ 18 เหล่าบัณฑิตและนักวิชาการของโชซอนรวมถึงครอบครัวได้หันมาเลื่อมใสในศาสนาคริสต์ และยิ่งบาทหลวงชาวจีนนาม เจมส์ ชูมุนโร ได้เดินทางเข้ามาในเกาหลี ก็ทำให้จำนวนผู้เลื่อมใสยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี แม้ว่าศาสนาคริสต์ในตอนนั้นจะผิดกฎหมายก็ตาม และเมื่อ ‘แทวอนกุน’ ขึ้นสู่อำนาจ เขาที่เกลียดชังชาวต่างชาติก็ได้กวาดล้างผู้ศรัทธาในพระเจ้าจนมีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเลยล่ะค่ะ

ในช่วงสงครามเกาหลี (1950-1953) คริสตจักรคาทอลิกในเกาหลีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และในปี 1962 ทางคริสตจักรก็ได้เฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีขึ้นในประเทศ พร้อมต้อนรับการมาเยือนของพระสันตะปาปาจอนห์น ปอลที่ 2 รวมถึงมีพิธีแต่งตั้งผู้ที่พลีชีพและพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนนอกนครวาติกันด้วย ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีจำนวนนักบุญคาทอลิกมากเป็นอันดับ 4 ของโลก

ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์

Photo Credit: Korea.net
Photo Credit: Korea.net

ในปี 1884 เฮอเรซ เอ็น อัลเลน แพทย์ชาวอเมริกาและกลุ่มมิชชันนารีได้เดินเข้ามาในเกาหลี พวกเขามีส่วนช่วยในการสนับสนุนด้านการแพทย์ รวมถึงมีการจัดตั้งโรงเรียนเอกชนให้ เช่น โรงเรียนยอนฮี และโรงเรียนอีฮวา นอกจากจะสนับสนุนด้านการศึกษาแล้ว ยังปลุกจิตสำนึกให้คนต่อต้านความเชื่อเรื่องโชคลาง รวมถึงมีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงอีกด้วยล่ะค่ะ

ในปี 1905 มีการจัดประชุมศึกษาพระคัมภีร์ขนาดใหญ่ และ 4 ปีต่อมา มีแคมเปญที่เรียกว่า ‘A Million Souls for Christ’ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้คนเกาหลีหันมาเลื่อมใสในนิกายโปรแตสแตนท์มากขึ้นอีกด้วยค่ะ

นอกจากความเชื่อและศาสนาที่กล่าวไปข้างต้นนี้ ประเทศเกาหลีใต้ยังปรากฏลัทธิและความเชื่อยิบย่อยอีกมากมายให้เห็นอีกด้วยค่ะ เช่น ศาสนาอิสลาม พุทธศาสนาที่เรียกว่าวอน ลัทธิแดซูจินอีโฮ ชอนโดกโย แดจงกโย หรือลัทธิแปลกๆ ที่ถ้าใครจะไปเกาหลีอาจพบเจอและโดนชักชวนให้ไปร่วมพิธีกรรมก็ได้นะคะ

ลัทธิเผยแพร่ศาสนาแปลกๆ ในเกาหลี

ศาสนามากมาย แต่คนไม่นับถือมากกว่า

แม้ว่าความหลากหลายของศาสนาจะมีมาก หรือมีลัทธิยิบย่อยอุบัติขึ้นใหม่มากขนาดไหนก็ตาม แต่ประชากรกว่าครึ่งของเกาหลีใต้นั้นนิยามว่าตัวเองไม่ได้เข้ารีต หรือพูดง่ายๆ คือ พวกเขาไม่มีศาสนาที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวประจำตัวค่ะ และนับวันแนวโน้มคนกลุ่มนี้ก็ดูจะมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

Photo Credit: Characteristics of Religious Life in South Korea: A Sociological Survey
Photo Credit: Characteristics of Religious Life in South Korea: A Sociological Survey

จากตารางที่นำมาจากงานวิจัยเชิงสำรวจ Characteristics of Religious Life in South Korea: A Sociological Survey เขียนโดย Andrew Eungi Kim และตีพิมพ์ใน Review of Religious Research มิถุนายน 2002 ได้แสดงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติให้เห็นว่าประชากรชาวเกาหลีใต้ในปี 1995 มีผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดเลย 49.15% และมีประชากรที่นับศาสนารวมทั้งสิ้น 50.85% โดยกลุ่มที่มากที่สุดคือผู้ที่นับถือศาสนาพุทธคิดเป็น 23.2%

Photo Credit: Korea.net
Photo Credit: Korea.net

และในปี 2015 จำนวนผู้ที่ไม่นับถือศาสนานั้นมีมากถึง 56% ในขณะที่ประชากรที่นับถือศาสนาลดลงเหลือเพียง 44% และในจำนวนนี้ กลุ่มศาสนาที่คนนับถือมากที่สุดไม่ใช่ศาสนาพุทธแล้ว แต่เป็นศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์แทนค่ะ

ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหันหลังให้ศาสนา

Photo Credit: Unsplash by Markus Winkler
Photo Credit: Unsplash by Markus Winkler

ถึงแม้จะมีคำกล่าวที่ว่า “โบสถ์ของศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ในเกาหลีใต้มีมากกว่าร้านสะดวกซื้อเสียอีก” แต่จำนวนคนที่นับถือศาสนา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กลับลดลงมากขึ้นทุกปี จากผลสำรวจของ Gallup Korea ในปี 2015 พบว่าในคนช่วงอายุ 20 ปี ที่มีศาสนาลดลงจาก 46% เหลือเพียงแค่ 31% เท่านั้นค่ะ 

สำหรับเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ไม่นับถือหรือไม่เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ก็เพราะใช้เวลาไปกับการศึกษานั่นเองค่ะ ด้วยค่านิยมการเรียนที่หนักหน่วงในเกาหลีใต้เลยทำให้พวกเขาใช้ชีวิตกว่าครึ่งในรั้วโรงเรียนและสถาบันสอนพิเศษ เด็กมัธยมต้นก็ต้องขยันตั้งใจเรียนเพื่อทำเกรดให้ดีๆ ในขณะที่เด็กมัธยมปลายยิ่งต้องอุทิศเวลาทั้งหมดให้การอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้เวลาที่จะสนใจศาสนาลดลงตามไปด้วย

Photo Credit: hankookilbo
Photo Credit: hankookilbo

นอกจากนี้เมื่อเรียนจบก็ยังต้องเผชิญกับค่านิยมการทำงานหนัก เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปงานเช่นเดียวกัน บวกกับความคิดของคนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่ว่า “ศาสนาไม่ได้ทำให้พวกเขาอิ่มท้อง การทุ่มเททำงานจึงสำคัญกว่า” ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เคยหยุดนิ่งก็ได้ดึงเอาความสนใจพวกเขาออกจากศาสนาไปทีละน้อย 

“เห็นได้ชัดเลยว่าคนรุ่นใหม่สนใจศาสนาน้อยลงเพราะพวกเขาแทบไม่มีเวลา อีกทั้งสังคมปัจจุบันก็กลายเป็นปัจเจกนิยมที่ทำให้พวกเขามีการเข้าร่วมกับชุมชนน้อยลง” 

 

— อีแจวอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศเกาหลีใต้ 

“ฉันยุ่งมากกับการเลี้ยงลูกและต้องดูแลทำงานบ้าน ยุ่งจนไม่มีเวลาจะไปทำอะไรเลยค่ะ” 

 

— พัคจองฮยอน, 30

.........

สำหรับประเทศไทยเองในปัจจุบันก็เริ่มมีเด็กรุ่นใหม่ออกมาแสดงตัวว่าไม่นับถือในศาสนา ไม่อินและเข้าไม่ถึงต่อความเชื่อในหลักพระธรรมคำสอนต่างๆ ที่เคยถูกปลูกฝังกันมา แต่ศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนค่ะ เราไม่อินได้ สามารถตั้งคำถามต่อมันได้ แต่เราไม่อาจไปลบหลู่ ดูถูก หรือลดทอนความเชื่อของใคร เพราะคนเรามีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่ไม่เหมือนกัน :) 

 

 

SourcesAndrew Eungi Kim, Characteristics of Religious Life in South Korea: A Sociological Survey (Review of Religious Research Vol.43, No. 4, Jun 2002), 293.https://asiasociety.org/education/historical-and-modern-religions-koreahttps://www.korea.net/AboutKorea/Korean-Life/Religionhttps://www.aljazeera.com/features/2017/5/28/why-young-south-koreans-are-turning-away-from-religionhttps://koreajoongangdaily.joins.com/2016/12/19/economy/Fewer-Koreans-practicing-religion/3027628.htmlhttps://unsplash.com/photos/U6HOr6-CPSA?utm_source=unsplash&utm_medium=referral&utm_content=creditShareLinkhttp://www.koreapost.com/news/articleView.html?idxno=9318http://www.jejuweekly.com/news/articleView.html?idxno=2926https://www.hankookilbo.com/News/Read/A2021070414470005908?did=NAhttps://unsplash.com/photos/YmawptEadgc?utm_source=unsplash&utm_medium=referral&utm_content=creditShareLinkhttps://edition.cnn.com/2016/11/03/asia/south-korea-president-park-apology/index.htmlhttps://unsplash.com/photos/I7CdnZMkaoI?utm_source=unsplash&utm_medium=referral&utm_content=creditShareLink
พี่ออมสิน
พี่ออมสิน - Columnist Mirror mirror on the wall who is the fairest of them all : ME

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

มัณทนา [ถึงวันสิ้นโลกเพราะโควิด] Member 13 ก.ค. 64 13:33 น. 1

ไม่แปลกที่เกาหลีใต้จะเจริญก้าวหน้าล้ำไปไกลแล้ว


ส่วนประเทศกะลาแลนด์นั้นยังวนเวียนอยู่แต่จุดธูปขอหวย เอาอายุของคนตายมามโนเป็นหวย

ดื่มปัสสาวะแก้โรค สวดมนต์ไล่โควิด

0
กำลังโหลด
tanawoud 15 พ.ย. 64 13:03 น. 3

ศาสนาดูแล้วผู้กำหนดให้นับถือ ศาสนา หรือ ลัทธิอะไรก็ตามคือ ราชวงศ์ต่าง ๆ เพื่อจะปกครองผู้อื่นให้อยู่ใต้อำนาจตนเอง ส่วนผู้ที่ไม่มีอำนาจมิอาจกำหนดอะไรให้ใครนับถืออะไรได้ และส่งกันเป็นทอด ๆ โดยแผนเริ่มแต่เด็กแรกเกิด ปัจจุบันจะเห็นได้จาก สูจิบัตรเด็กแรกเกิด ต้องมีช่องศาสนาให้ระบุไว้ ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวไม่รู้อะไรเลย จึงไม่อาจเลือกนับถือได้แต่นั้นมา

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

มัณทนา [ถึงวันสิ้นโลกเพราะโควิด] Member 13 ก.ค. 64 13:33 น. 1

ไม่แปลกที่เกาหลีใต้จะเจริญก้าวหน้าล้ำไปไกลแล้ว


ส่วนประเทศกะลาแลนด์นั้นยังวนเวียนอยู่แต่จุดธูปขอหวย เอาอายุของคนตายมามโนเป็นหวย

ดื่มปัสสาวะแก้โรค สวดมนต์ไล่โควิด

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
tanawoud 15 พ.ย. 64 13:03 น. 3

ศาสนาดูแล้วผู้กำหนดให้นับถือ ศาสนา หรือ ลัทธิอะไรก็ตามคือ ราชวงศ์ต่าง ๆ เพื่อจะปกครองผู้อื่นให้อยู่ใต้อำนาจตนเอง ส่วนผู้ที่ไม่มีอำนาจมิอาจกำหนดอะไรให้ใครนับถืออะไรได้ และส่งกันเป็นทอด ๆ โดยแผนเริ่มแต่เด็กแรกเกิด ปัจจุบันจะเห็นได้จาก สูจิบัตรเด็กแรกเกิด ต้องมีช่องศาสนาให้ระบุไว้ ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวไม่รู้อะไรเลย จึงไม่อาจเลือกนับถือได้แต่นั้นมา

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด