Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

วิจารณ์เรื่องลอกคราบพุทธเเท้

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

วิจารณ์เรื่องลอกคราบพุทธแท้: ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย

เกริ่นไว้ก่อนว่าผู้วิจารณ์นี้ไม่ได้มีเจตนาร้าย และไม่ประสงค์ตั้งตนเป็นผู้รู้ หากแต่พอจะเคยค้นคว้าเรื่องพุทธศาสนามาบ้าง เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ เห็นว่ามีหลายประเด็นที่น่ากล่าวถึง แกนหลักและข้อสรุปของงานวิจัยนี้ชัดเจนดี แต่ผู้วิจารณ์ขอโต้แย้งรายละเอียดบางประการ และขอเสริมรายละเอียดฉันกัลยาณมิตร

ประการแรก ชนชั้นกลางไทยกับพระพุทธศาสนาเป็นหัวข้อที่ใหญ่มาก คำสำคัญที่ผู้เขียนควรขยายให้จะแจ้ง คือคำว่า “ชนชั้นกลาง” ในงานวิจัยนี้ วงความหมายของคำนี้ออกจะคลุมเครือ เพราะคุณอาสามิได้ชี้แจงไว้ก่อนว่าชนชั้นกลางนี้รวมพวกใดไว้บ้าง (เช่นนายทุน ข้าราชการ ฯลฯ) และพวกใดที่มิใช่ชนชั้นกลาง บุคคลในเอ่ยถึงบางคนนั้น ออกจะมีสถานะคลุมเครือ เช่น ”เจ้าชื่น สิโรรส“ เจ้าเมืองเหนือผู้สนับสนุนพุทธทาสคนสำคัญ จะนับว่าเป็นชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางเล่า ท่านกำเนิดมาเป็นเจ้า แต่ก็เป็นนายทุน เจ้าของโรงบ่มยาสูบ ฉะนั้น น่าจะกำหนดขอบเขตคำว่าชนชั้นกลางกว้าง ๆ ก่อนจะดิ่งสู่ประเด็นวิจัย อนึ่ง ชนชั้นกลางเองก็แตกต่างซับซ้อน มีพัฒนาการเรื่อยไปตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา หากตีกรอบเวลาแคบลงมาอาจจะช่วยให้งานลุ่มลึกขึ้น เพราะงานนี้มีขอบเขตกว้างเหลือเกิน คือนับแต่เริ่มตั้งธรรมยุติมาจนปัจจุบัน

เมื่อกล่าวถึงชนชั้นกลางไทยแล้ว จะไม่กล่าวถึง ”เจ๊ก“ เลยก็กระไรอยู่ น่าเสียดายที่งานนี้มิได้เอ่ยถึงงานศึกษาเรื่องเจ๊กเท่าไรเลย เป็นแต่กล่าวถึง อ.เสถียร โพธินันทะว่าเป็นลูกจีนสยามบ้างพอเป็นกระสาย แม้ว่าชนชั้นกลาง ≠ เจ๊ก แต่จีนสยามก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจ และมีผลต่อชนชั้นกลางไทยมาก การถูกรัฐไทยตัดขาดรากเหง้าจีน ก็มีส่วนมิใช่น้อยให้ชนชั้นกลางไทยเชื้อสายตึ่งนั้งเร่หาศาสนามาประคองใจ ฉะนั้น เราจึงมิพึงละเลยเจ๊กเมื่อกล่าวถึงชนชั้นกลางไทย

ต่อไปจะกล่าวถึงรายละเอียดงาน

งานนี้เสนอว่า แนวคิดแยกพุทธศาสนาแท้และเทียมออกจากกัน และพุทธแบบสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่นั้นนั้น เกิดขึ้นจากการปฏิรูปธรรมยุติและการรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางในภายหลัง เป็นความจริงอยู่ แต่อยากให้พึงสังวรว่า พระธรรมยุติเองนั้นก็ต่างกันมาก กรมพระยาปวเรศฯ นั้นยังทรงพระนิพนธ์ตำรายา ตำราดูหมาแมวเหมือนพระสงฆ์แต่ก่อน ในพระนิพนธ์ “พระราชประวัติในรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่แรกทรงพระผนวชตลอดสวรรคาลัยโดยความพิสดาร” ก็เล่าพระประวัติแสดงพระบุญญาภินิหารของพระจอมเกล้าฯ เต็มที่ มีอิทธิปาฏิหาริย์ร้อยแปด ไม่ต่างกับประวัติพระอาจารย์มั่นของท่านมหาบัวในยุคหลังมากเท่าไร ผู้นำการปฏิรูปนั้นก็ได้แก่วชิรญาณภิกขุและกรมพระยาวชิรญาณวโรรสนั่นเอง องค์อื่นดูจะไม่ทรงถือเป็นภารธุระสักกี่มากน้อย ยิ่งเรื่องชาติภพด้วยแล้ว ขอให้ไปอ่านเรื่อง “ตายเกิด ตายสูญ” ของกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น) มีเรื่องผีสางและกลับชาติมาเกิดไม่ต่างอะไรกับเรื่องเล่าสามัญที่เราได้ยินกันทั่วไป

ตามความเห็นของผู้วิจารณ์ องค์ความรู้เกี่ยวแก่ธรรมยุติในไทยที่ผ่านมานั้นออกจะ static ไป ดังนั้นการสรุปว่า “ธรรมยุติ” ทั้งหมดเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ อาจจะต้องตรองกันดูสักหน่อย เรื่องนี้ ผู้วิจารณ์มิได้กล่าวเจาะจงแต่จำเพาะงานของคุณอาสา แต่กล่าวถึงงานศึกษาพุทธศาสนาของไทยในภาพรวม


อีกส่วนหนึ่งกล่าวว่า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ไม่มีเรื่องนิพพานเลย ผู้วิจารณ์เห็นว่าก็ไม่ใช่ทีเดียวนัก เพราะใน “ธรรมวิจารณ์” ภาคปรมัตถปฏิปทา สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นก็กล่าวถึง นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน ไปตามลำดับ พรรณนาไปตามแนวคัมภีร์ หากกล่าวเช่นพระไพศาลในงาน “พุทธศาสนาไทยในอนาคตฯ” ว่าทรงให้ความสำคัญน้อยลง เห็นจะเหมาะกว่า อิทธิพลของปกรณ์พิเสสและอรรถกถายังเห็นได้ทั่วไป เช่นตำราสมถกัมมัฏฐานของกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ยังดำเนินตามวิสุทธิมรรค แม้สถานะของเนื้อความในพระไตรปิฎกจะชัดขึ้น เช่นในปฐมสมโพธิของพระสังฆราช (สา) สิ่งที่ผู้ปกครองธรรมยุติทำอย่างชัดเจนคือขจัดอิทธิพลของพวกชาดกนอกนิบาต อย่างปัญญาสชาดก และคัมภีร์นอกพระไตรปิฎกอย่างชมพูบดีสูตรออกไป ให้เหลือสถานะเป็น ”วรรณคดี“ เท่านั้น มิใช่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์

การใช้คำอีกแห่งที่ควรระวัง คือการสรุปว่า พระไตรปิฎกนั้นไม่เคยแปลออกสู่ภาษาไทยเลย จนกระทั่งฉลองกึ่งพุทธกาล พ.ศ.2500 และนั่นทำให้ความรู้พระไตรปิฎกไม่ถูกผูกขาดโดยพระสงฆ์อีกต่อไป (หน้า 51) ที่ถูกคือ ”พระไตรปิฎกครบชุด“ ต่างหาก เพราะในอดีต ธรรมบทและชาดก โดยเฉพาะเวสสันดรนั้น แปลไว้อ่านและเทศนากันมาตลอด อนึ่ง การแปลพระไตรปิฎกภาษาไทยชุดนี้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2483 ในรัชกาลในหลวงอานันท์ แต่มาแล้วเสร็จ ปี พ.ศ.2500 (อ้างอิงตามสารคดีพระตามรอยปิฎก อ.แม่ชีวิมุตติยา)

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่งานนี้มิได้กล่าวถึง คืออิทธิพลของการพิมพ์ (มาพร้อมกับตะวันตก ความรุ่งเรืองของชนชั้นกลาง ฯลฯ) เมื่อถึงยุค ร.5 วารสารธรรมะ ธรรมจักษุ ถือกำเนิดขึ้น ในนั้นมีหัวเรื่อง แปลพระสูตรและพรรณนาพระสูตรอยู่ แม้จะไม่ครบถ้วน แต่การแปลพระสูตรให้คนอ่านกันทั่วถึงมีมานานแล้ว ต่อมาภายหลังก็รวมคอลัมน์นี้ตีพิมพ์ขึ้นในชุด ธรรมสมบัติ ที่พุทธทาสกล่าวไว้ใน “เล่าไว้ในวัยสนธยา” ว่าตนอ่านตั้งแต่ก่อนบวช (แม้จะอยู่ถึงไชยาก็ยังมีหนังสือธรรมะอ่าน) จนวารสาร “พุทธสาสนา” ของสวนโมกข์ที่เริ่มออกปี 2476 เอง ก็แปลพระสูตรลงเป็นว่าเล่น ทำเป็นรูปบทกวีบ้าง คอลัมน์แยกบ้าง เริ่มแปลอริยสัจจากพระโอษฐ์ก่อน ทำไปได้หน่อยเดียว แล้วต่อมาพุทธทาสจึงหันไปจับ “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์” การกระจายความรู้ในคัมภีร์จึงเริ่มมีมาก่อนพระไตรปิฎกภาษาไทยครบชุดตีพิมพ์เป็นเวลานาน หนังสือธรรมะต่าง ๆ ก็เริ่มมีตีพิมพ์แล้ว การตีพิมพ์ยังมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่เรื่องราวของพระอาจารย์มั่นและพระเกจิอื่น ๆ จนยังให้กระแสตื่นพระอรหันต์แผ่ไปในวงกว้าง เพราะพระอาจารย์มั่นนั้นสอนแต่ในสังฆะ ไม่กล่าวถึงมรรคผลของตนต่ออนุปสัมบัน ฝีมือการเขียนของ อ.มหาบัวและ อ.วิริยังค์นั่นแลที่ดึงความสนใจชนทุกชั้นเข้ามา

คุณอาสายังกล่าวด้วยว่า พุทธทาสนั้นรับเอาความคิดมาจากการปฏิรูปธรรมยุติ และอิทธิพลอีกสายคือแนว Protestant Buddhism ของอนาคาริกธรรมปาละและวารสารมหาโพธิ ซึ่งสัมพันธ์กับการอุบัติแห่ง “ชนชั้นกลาง” ในศรีลังกาอย่างมาก วารสารพุทธสาสนาฉบับแรกสรรเสริญธรรมปาละ และมหาโพธิสมาคมอย่างเลิศลอย ทั้งที่ราชสำนักรัชกาลที่ 5 นั้นอุดหนุนกิจการของธรรมปาละอย่างขอไปที ออกจะรำคาญด้วยซ้ำเวลาธรรมปาละมาขอเงิน นับว่าเป็นจุดแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างสายธรรมยุติหลวงกับสายสวนโมกข์ บุคคลที่สำคัญอีกท่านคือ ธรรมทาส พานิช น้องชายพุทธทาสที่ใช้ชีวิตแบบ “ฆราวาสผู้ทรงธรรม” ช่วยพี่ชายออกวารสาร ก่อตั้งโรงเรียนพุทธนิคม เลียนแบบโรงเรียนคริสต์ สำหรับผู้วิจารณ์ เมื่อกล่าวถึงชนชั้นกลางไทยและพุทธศาสนา สมควรจะกล่าวถึงธรรมทาส พานิช ในฐานะผู้บุกเบิกวิถีชีวิตแบบฆราวาสผู้ทรงธรรมด้วย

ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันนี้ การอุบัติแห่งนวนิยายธรรมะ ที่มีแรงบันดาลใจมาจาก “กามนิต” ก็น่าสนใจ เช่นนวนิยายธรรมะของสุชีโวภิกขุ (สุชีพ ปุญญานุภาพ) นักเขียนหลายท่าน เช่นดอกไม้สด ก็สนใจพุทธศาสนา จนทางสวนโมกข์ติดต่อขอให้ท่านส่งเรื่องมาลงวารสารพุทธสาสนา ในนิยายของดอกไม้สดก็แทรกคติธรรม และพุทธศาสนสุภาษิตไว้เสมอ หนังสือนวนิยายเหล่านี้ เป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นกลาง มีส่วนเผยแพร่และก่อรูปทรรศนะต่อพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง มิพึงมองข้ามเลย

บุคคลอีกผู้ที่มีผลต่อทรรศนะของชนชั้นกลางที่ไม่มีชื่อปรากฏในหนังสือเล่มนี้เลยคือหลวงวิจิตรวาทการ ข้อเขียนของหลวงวิจิตรนั้นอ่านง่าย ด้านพุทธศาสนาก็มีเป็นจำนวนมาก พื้นเพของหลวงวิจิตรเคยเป็นมหากิมเหลียง ปธ 5 จึงรู้เรื่องพุทธศาสนาดี งานด้านนี้มีตั้งแต่เรื่องทศชาติชาดก เรื่องพุทธานุภาพกับจิตตานุภาพ ไปจนศาสนาเปรียบเทียบ

ต่อมาจะกล่าวถึงคึกฤทธิ์และพุทธทาส

คุณอาสากล่าวถึงคุณชายคึกฤทธิ์ว่าเป็นตัวแทนของพุทธแบบทางการและการปฏิรูปธรรมยุติ ข้อนี้ไม่มีอะไรโต้แย้ง เพียงแต่อยากจะเสริมว่าคุณชายนั้นบวชที่วัดบวรนิเวศ เป็นสัทธิวิหาริก (คนที่อุปัชฌาย์บวชให้) ของกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น) มีความสัมพันธ์อันดีกับธัมมวิตักโกภิกขุอดีตเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต ด้วยเคยเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 มาด้วยกัน คุณชายกล่าวถึงความสัมพันธ์ของตนกับพระเหล่านี้อย่างเปิดเผย เพิ่มอำนาจให้ปากกาคุณชายเอง นอกจากนี้ คุณชายยังเคยเขียนเรื่องทำนองพุทธศาสนา-วิทยาศาสตร์ไว้ด้วย คือ “ห้วงมหรรณพ” หากเพิ่มส่วนนี้เข้าไป งานนี้จะสมบูรณ์ขึ้นอีกไม่น้อย

ส่วนที่เกี่ยวแก่พุทธทาสภิกขุในหนังสือเล่มนี้ บางจุดรายละเอียดผิดอยู่บ้าง เช่น หน้า 101 ระบุว่าพุทธทาสแปล ”ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น“ แต่ที่จริงแล้ว เล่มนี้เป็นผลงานของ ธ.ธีรทาส หรือธีระ วงศ์โพธิ์พระ ผู้รู้ด้านพุทธศาสนาจีนนิกาย การถ่ายทอดงานนิกายเซ็นของพุทธทาสภิกขุ ทั้งสูตรของเว่ยหล่าง (ที่ถูกอ่านว่า ฮุ่ยเหนิง 慧能) คำสอนของฮวงโป และนิทานเซ็นต่าง ๆ ล้วนแปลมาจากภาษาอังกฤษ ต่างกับข้อมูลนิกายเซ็นของเสถียร โพธินันทะ นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง และคุณธีระที่แปลจากภาษาจีน

อีกตอนหนึ่งที่อาจจะต้องขยายความเพื่อเลี่ยงเข้าใจผิด คือหน้า 274 ที่เขียนว่า พุทธทาส “ปฏิเสธทัศนะที่ว่าผู้บรรลุนิพพานต้องเป็นภิกษุเท่านั้น พุทธทาสเห็นว่า แม้ฆราวาสเองก็สามารถเข้าสู่สภาวะนี้ได้” ทั้งนี้ ควรขยายด้วยว่า นิพพานที่พุทธทาสเสนอให้ฆราวาสอบรมจิตเพื่อเข้าถึง คือ “นิพพานชิมลาง” หรือ “นิพพานชั่วคราว” (พุทธทาสตีความศัพท์บาลี ตทงฺคนิพฺพาน ต่างกับอรรถกถาจารย์ และนำมาใช้เรียกปรากฏการณ์นี้) อันหมายถึงสภาวจิตที่ปลอดโปร่งเป็นครั้ง ๆ คราว ๆ มิใช่การถอนรากมูลกิเลสตัณหา ประเด็นนี้เอง คุณชายคึกฤทธิ์ซักพุทธทาสในคราววิวาทะเรื่องจิตว่างว่าคฤหัสถ์จะเป็นอรหันต์ได้อย่างไร พุทธทาสกล่าวว่า เมื่อจิตว่างมากเข้า ทนไม่ไหว ก็จะออกบวชเอง แสดงว่าพุทธทาส “ในฐานะภิกษุ” ก็ยังเห็นความสำคัญของการบรรพชาอุปสมบท เมื่อจะกล่าวถึงเรื่องนี้อาจต้องระวังสักหน่อย

เรื่องแนวคิดทางการเมืองของพุทธทาส คุณอาสาสรุปได้ดีว่าพุทธทาสไม่วิจารณ์โครงสร้างทางการเมือง และค่อนข้างเอียงขวา ในหนังสือกล่าวแต่เลา ๆ ว่าพุทธทาสในช่วงวัยหนุ่มกับวัยสนธยาแนวคิดต่างกัน แต่ก็ควรกล่าวออกมาตรง ๆ ว่าพุทธทาสช่วงหนุ่มนั้นสนับสนุนคณะราษฎรและระบอบรัฐธรรมนูญ ถึงกับไปเทศนาชาวบ้านเรื่องระบอบใหม่ (ดู เล่าไว้ในวัยสนธยา) ความลื่นไหลของพุทธทาส น่าจะเกิดจากทรรศนะว่าพุทธศาสนานั้นเป็นของกลางที่เข้าได้กับทุกระบอบการเมือง ความคิดนี้ปรากฏมาตั้งแต่ช่วงแรก คือทศวรรษ 2480 แล้ว (คุณอาสาว่าแนวคิดผสานรวมซ้ายขวาเกิดหลัง 14 ตุลา) ในนิราศลพบุรี พุทธทาสเปรียบพุทธศาสนาเหมือน “สมเสร็จ” ที่คล้ายกับสัตว์นานาชนิด และเข้าได้กับทุกระบอบการปกครองในโลก

ในด้านรายละเอียด ผู้วิจารณ์ใคร่ขอเสริมอีกสองประการ ในบรรดาฆราวาสสตรีนั้น อ.แนบ มหานีรานนท์ (และลูกศิษย์ที่คิดต่างกับอาจารย์ คือ อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์) เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกลางไม่น้อย อ.เสถียร โพธินันทะ ตลอดจนพระสงฆ์และฆราวาสจำนวนมากก็เป็นศิษย์เรียนพระอภิธรรมของ อ.แนบ อีกประการหนึ่ง ในหน้า 251 กล่าวถึงอาจารย์ชาว่า เป็นพระป่าสายหลวงปู่มั่น แต่แท้จริงแล้ว พระอาจารย์ชาเป็นพระมหานิกาย คนละคณะกับธรรมยุติอีสานของหลวงปู่มั่น แม้จะมีประวัติว่าพระอาจารย์เคยไปเฝ้าพระอาจารย์มั่นเป็นเวลาสามวันก็ตาม (ขอบคุณข้อมูลจากพี่นริศ)

สุดท้ายนี้ ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างสำนักสวนโมกข์และสำนักพุทธวจนที่งานวิจัยนี้อาจจะไม่กล่าวถึงก็คือ สายสวนโมกข์นั้นสนับสนุนการเรียนภาษาบาลีเพื่ออ่านพระไตรปิฎก ในเล่ม ทางทรายใกล้ทะเลสาบ ของ อ.โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) เล่าว่าท่านถูกพุทธทาส “ยุ” ให้เรียนบาลี จึงตั้งหน้าตั้งตาศึกษาจนอ่านพระไตรปิฎกจากภาษาต้นทางออก (จริง ๆ อดีตเขมานันทภิกขุ เคยเป็นดาวรุ่งในวงการพุทธศาสนาในยุคแสวงหา เป็นภูมิปัญญาที่แตกแขนงมาจากสวนโมกข์อีกที งานของเขมานันทะเองก็ถูกจริตปัญญาชนและชนชั้นกลางมาก) ส่วนสำนักพุทธวจนนั้นในช่วงแรกดูแคลนการเรียนภาษาบาลีอย่างยิ่ง กล่าวว่าสิ้นเปลืองเวลา ไม่จำเป็นต่อการศึกษาพระธรรม ต่อภายหลังท่าทีจึงอ่อนลง ผู้วิจารณ์เห็นว่า องค์ความรู้ของสำนักสวนโมกข์นั้นมีบรรยากาศเหมือนตะวันตกยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ส่วนอีกสำนักนั้นเหมือนยุคปฏิรูปคริสต์ศาสนาของโปรเตสแตนท์ที่คำตอบทุกสิ่งย้อนไปหาคัมภีร์เดียว (Sola scriptura) ในศตวรรษที่ 16 ไฉนพุทธศาสนาประเทศไทยจึงย้อนรอยถอยหลังเช่นนี้ก็น่าพิจารณากันต่อไป

เรื่องศาสนานี้พูดกันได้ทั้งวัน แต่เท่านี้ก็มากเกินไปแล้ว ขอจบแต่เพียงเท่านี้...


ที่มา : ภูริทัตต์ หงษ์วิวัฒน์

แสดงความคิดเห็น

>